2/27/2556

งานวิจัยเกย์ไทย



งานวิจัยเกย์ไทย กับความเข้าใจเชิงญาณวิทยา

ดร.นฤพนธ์  ด้วงวิเศษ 

บทนำ

                บทความเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ส่วนที่หนึ่งเป็นการอธิบายว่าอะไรคือญาณวิทยา และมีความสำคัญอย่างไรต่อการทำวิจัยทางสังคมศาสตร์ ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่าในแวดวงวิชาการปัจจุบันกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนของกระบวนทัศน์ในการแสวงหาความรู้  กรอบความคิดทฤษฎีต่างๆที่เคยเชื่อถือว่าจะนำไปสู่ความรู้ที่จริงแท้ ไม่บิดเบือน เป็นกลาง และตรวจสอบได้ กำลังกลายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน  มีการท้าทายความรู้และคำถามเกี่ยวกับความจริงในเชิงปรัชญาเกิดขึ้น  ผู้เขียนจะเปรียบเทียบให้เห็นสถานภาพของการตรวจสอบความรู้ด้วยญาณวิทยา หรือ Epistemology  ในโลกตะวันตก ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา 
                นอกจากนั้นจะชี้ให้เห็นถึงกรอบความคิดทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้อธิบายเรื่องเพศวิถี (sexuality) และอัตลักษณ์ทางเพศของเกย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจว่าทฤษฎีเหล่านี้ได้สร้างการครอบงำหรือการปลดปล่อยความรู้เกี่ยวกับเกย์หรือไม่  มีทฤษฎีอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อการอธิบายความเป็นเกย์ และทฤษฎีนั้นๆตกอยู่ใต้กระบวนทัศน์แบบไหน  นักวิชาการที่สนใจศึกษาอัตลักษณ์ของเกย์ได้สร้างข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีไว้อย่างไรบ้าง ข้อถกเถียงเหล่านั้นก้าวไปสู่เรื่องการแสวงหาความรู้และความจริงมากน้อยเพียงไร   ผู้เขียนจะนำข้อสังเกตเหล่านี้ไปพิจารณาวิเคราะห์งานวิจัยเกย์ไทย ในส่วนที่สอง
                ส่วนที่สองจะเกี่ยวกับงานวิจัยที่เลือกมาศึกษา 5 เรื่อง งานวิจัยเหล่านี้จะพูดถึงเรื่องเกย์ในสังคมไทย โดยใช้วิธีวิทยาเชิงคุณภาพ ผู้เขียนจะอธิบายว่างานวิจัยแต่ละเรื่องมีโจทย์อะไร ใช้ทฤษฎีอะไร ใช้ข้อมูลแบบไหน จากแหล่งใด วิธีการเก็บข้อมูลเป็นอย่างไร และการวิเคราะห์ข้อมูลทำให้เกิดความรู้อะไรบ้าง  การใช้กรอบคิดทฤษฎีกับข้อมูลไปด้วยกันได้หรือไม่ มีข้อค้นพบหรือข้อขัดแย้งระหว่างทฤษฎีและข้อมูลเกิดขึ้นหรือไม่ และผู้วิจัยตระหนักถึงข้อจำกัดในงานศึกษาของตนมากน้อยเพียงไร  ทั้งนี้จะเปรียบเทียบให้เห็นว่างานวิจัยแต่ละเรื่องมีจุดต่างและจุดเหมือนกันตรงไหนบ้างเพื่อที่จะนำไปสู่การสังเคราะห์ในส่วนที่สาม
                ส่วนที่สาม จะเป็นการวิพากษ์เชิงสังเคราะห์งานวิจัยทั้ง 5 เรื่องภายใต้คำถามเชิงญาณวิทยา เพื่อชี้ให้เห็นว่างานวิจัยเหล่านี้สะท้อนวิธีการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับเกย์ไทยอย่างไร  งานวิจัยเชื่อมั่นความจริงในแบบไหนและความเชื่อนั้นสะท้อนออกมาในกระบวนการสร้าง “ความรู้” อย่างไร  ผู้เขียนต้องการตรวจสอบฐานคิดของนักวิจัยซึ่งแอบแฝงอยู่ และปรากฎออกมาในการสร้างวาทกรรมและการเขียน  กระบวนการสร้างความรู้ที่เกิดจากกรอบคิดทฤษฎีบางแบบอาจนำไปสู่การสร้างความจริงบางแบบ ความจริงเหล่านั้นถูกผลิตซ้ำหรือถูกท้าทายมากน้อยเพียงใด  งานวิจัยเกย์ไทยจะนำไปสู่การสร้างภาพตัวแทนของความเป็นเกย์ หรือรื้อทำลายภาพตัวแทนเหล่านั้น  คำถามเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการแสวงหาความรู้
สิ่งที่ผู้เขียนปรารถนาจะเห็นในบทความเรื่องนี้ ก็คือ การตระหนักรู้ว่า “เรา” ในฐานะนักวิจัยที่สร้างความรู้ให้สังคมจะยืนอยู่บนมายาคติของความรู้แบบใด และเรากำลังตระหนักถึงมายาคติเหล่านั้นหรือไม่  ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเราจะปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง หากแต่เราอาจต้องสำรวจตรวตสอบตัวเองให้มากขึ้น   การทำความเข้าใจญาณวิทยาอาจเปลี่ยนโฉมหน้างานวิจัย จากเดิมที่งานวิจัยพยายามจะบอกว่าอะไรที่เป็นความรู้บ้าง เปลี่ยนไปสู่การบอกว่าสิ่งที่เป็นความรู้นั้นมาจากผู้ผลิตความรู้และบริบทของการสร้างความรู้
งานวิชาการในคริสต์ศตวรรษที่ 21 อาจมิได้ให้คำตอบสำเร็จรูปของการนำความรู้ไปใช้ในแบบผลงานทางวิทยาศาสตร์  แต่งานวิชาการแนวใหม่อาจกระตุ้นเตือนให้มนุษย์ใช้สติปัญญามากขึ้น มิใช่การทำให้มนุษย์เป็นเพียงผู้คล้อยตามความรู้หรือถูกชี้นำโดยผู้ผลิตความรู้  การทำให้มนุษย์รู้จักคุณค่าของใช้ความรู้อย่างมีสติน่าจะเป็นคุณูปการของการศึกษาญาณวิทยา  บทความเรื่องนี้อาจสะท้อนให้เห็นปัญหาบางอย่างที่สังคมเชื่อว่าความรู้ที่แท้จริงคืออะไร และความรู้เกี่ยวกับเกย์ไทยก็มีมายาคติมากมายปรากฎอยู่ในงานวิจัยหลายเรื่อง  ผู้เขียนไม่ต้องการให้งานวิจัยเกย์เป็นแค่การถกเถียงในเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่ควรยกระดับไปสู่การท้าทายกระบวนทัศน์ที่ทฤษฎีเหล่านั้นถูกหล่อหลอมมายาวนาน

การมาถึงของญาณวิทยา (Epistemology)

                หากถามว่าญาณวิทยาคืออะไร อาจตอบได้ว่าคือการศึกษาระบบและทฤษฎีของความรู้[1] โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างของความรู้ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการสร้าง การผลิต ข้อจำกัด บริบท เวลา สถานที่ และการนำความรู้ไปใช้ ญาณวิทยาเป็นสาขาหนึ่งของวิชาปรัชญา จึงทำให้เกิดการสำรวจตรวจสอบสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” การศึกษาดังกล่าวมิได้มุ่งจะนิยามว่าความรู้คืออะไร แต่ต้องการที่จะพินิจพิเคราะห์ถึงที่มาของความรู้ ซึ่งเป็นเรื่องของความคิดและสติปัญญา  ในทางปรัชญาการถามว่า “ความรู้” “ความจริง” คืออะไรเป็นเรื่องของการตัดสิน เป็นระบบคุณค่าที่มิใช่แค่การตรวจวัดเชิงกายภาพหากแต่เป็นการตระหนักรู้จากภายใน เช่นถามว่าอะไรที่ทำให้ความรู้เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ ในวงวิชาการด้านปรัชญามีข้อถกเถียงกันว่าทฤษฎีของความรู้นั้นต้องเป็นวิทยาศาสตร์ แต่นักปรัชญาบางสำนักโต้แย้งว่าญาณวิทยานั้นตายไปแล้ว[2] 
                แรงขับที่ทำให้ญาณวิทยามีพลังก็คือ วิธีการตั้งข้อสงสัย (Scepticism) ซึ่งเดคาร์ตได้วางรากฐานไว้ตั้งคริสต์ศตวรรษที่ 17  ซึ่งเป็นช่วงที่คริสตจักรมีอำนาจมากและศาสนาก็ครอบงำการสร้างความรู้ของมนุษย์  เดคาร์ตพยายามปฏิเสธความคิดแบบศาสนาและเสนอแนวทางการแสวงหาความรู้แบบใหม่ที่สนใจสิ่งที่พิสูจน์ได้  แต่นักวิชาการในยุคหลังวิจารณ์ว่าวิธีการตั้งข้อสงสัยแบบเดคาร์ตเพื่อที่จะสร้างสิ่งที่ตรวจวัดได้ซึ่งศาสนาไม่สามารถทำได้ แต่สิ่งที่เดคาร์ตเชื่อว่าเป็นความรู้ใหม่แบบวิทยาศาสตร์ เป็นเพียงการครอบงำชนิดใหม่ที่เข้ามาแทนที่ศาสนา[3]  อย่างไรก็ตามวิธีการตั้งข้อสงสัยแบบเดคาร์ตก็ทำให้ระบบเหตุผลเติบโตขึ้นและเป็นฐานความคิดสำคัญในญาณวิทยาและปรัชญาแบบตะวันตก  นักวิชาการบางคนเชื่อว่าปรัชญาแบบตะวันตกเป็นแค่เพียงธรรมเนียมทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง   ในสังคมอื่นๆก็จะมีวิธีการทางปรัชญาของตัวเองซึ่งอาจต่างไปจากตะวันตก
                ปัญหาสำคัญญาณวิทยาแบบตะวันตกก็คือ วิธีคิดแบบความสัมพันธ์เชิงเหตุแผละผล (Causal Relation) วิธีคิดนี้ได้กำหนดวิธีการมองโลกไว้อย่างตายตัว นั่นคือการมองหาสิ่งที่สอดคล้องกัน เช่น มองหาว่าอะไรทำให้เกิดอะไร วิธีการนี้ฝังอยู่ในทฤษฎีของความรู้ ซึ่งอธิบายว่าอะไรที่ทำให้เกิดความรู้ ความรู้มาจากไหน   วิธีคิดดังกล่าวทำให้เชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่จับต้องได้   แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าการแสวงหาความรู้คือ คำถามเกี่ยวกับ “ความจริง”  นักปรัชญาสายเพลโตมีความเชื่อว่าความจริงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เช่น หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่นักปรัชญาบางกลุ่มโต้แย้งว่าสิ่งที่เรียกว่าความจริงเป็นสิ่งสมมุติ และความจริงก็อาจมาจากวิธีอื่นๆที่มิใช่คณิตศาสตร์เท่านั้น[4]
                อย่างไรก็ตามการตั้งคำถามเชิงญาณวิทยา มาพร้อมกับกระแสโพสต์มอเดิร์นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และชัดเจนในทศวรรษที่ 1980  ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ได้แก่ การเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตเพื่อภาพลักษณ์  การเปลี่ยนปัจจัยสี่ให้เป็นสินค้าเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์  การติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยให้เวลาและสถานที่ไม่ใช่อุปสรรค บทบาทของสื่อที่ขับเคลื่อนวัฒนธรรม และระบบทุนนิยมข้ามชาติที่ทำให้เงินตราถ่ายเทไปทั่วโลก[5]  สิ่งเหล่านี้คือบริบทของการสร้างวิกฤตของความรู้ ซึ่งมุ่งไปตั้งคำถามถึงการพัฒนาที่ผ่านมาภายใต้กระบวนทัศน์แบบสมัยใหม่ (Modernity)  ตั้งคำถามต่อกรอบความคิดกระแสหลักของวิทยาศาสตร์ ระบบเหตุผล แนวคิดประจักษ์นิยม และความก้าวหน้า วิทยาศาสตร์ทำให้ชีวิตมนุษย์มีความสุขขึ้นจริงหรือไม่ 
                ความแตกต่างระหว่างกระบวนทัศน์สมัยใหม่ กับหลังสมัยใหม่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ญาณวิทยาถูกยกขึ้นมาถกเถียงในหมู่นักวิชาการ  นักวิชาการหลายคนเชื่อว่ากระบวนทัศน์สมัยใหม่เติบโตในยุควิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม การเกิดขึ้นของทุนนิยม การเกิดเมือง และการสร้างรัฐชาติ สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนไปด้วยระบบเหตุผล (Rationalization) ปรากฎอยู่ตั้งแต่ระดับบุคล ครอบครัว ชุมชน สถาบันทางสังคม และประเทศชาติ  กระบวนทัศน์นี้เชื่อมั่นว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ความรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้นต้องมาจากการพิสูจน์เชิงประจักษ์ (Empiricism) อะไรที่พิสูจน์ไม่ได้หรือเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติเป็นสิ่งที่มิใช่ความรู้  นักวิทยาศาสตร์ที่วางรากฐานของเหตุผลไว้ เช่น ฟรานซิส เบคอน, กาลิเลโอ, ไอแซค นิวตัน เป็นต้น  วิทยาศาสตร์กลายเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรคือความจริงแท้  การใช้ “เหตุผล” กลายเป็นเครื่องมือชี้วัดความจริง ความจริงของวิทยาศาสตร์เป็นความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ มีกฎตายตัว เมื่อมนุษย์ค้นพบกฎเหล่านี้ก็จะเข้าถึงความจริงได้  ดังนั้นความจริงจึงมีอยู่ในตัวของมันเอง[6] 
                นักคิดหลังสมัยใหม่ออกมาตั้งคำถามว่าความจริงที่วิทยาศาสตร์อ้างนั้น เป็นความจริงประเภทไหน และใครคือผู้สถาปนาความจริงเหล่านั้น การใช้กรอบความคิดแบบวิทยาศาสตร์มาอธิบายสังคมและชีวิตมนุษย์เป็นเรื่องที่เชื่อถือได้หรือไม่  ความจริงในโลกกายภาพกับโลกอัตวิสัยเป็นความจริงแบบเดียวกันหรือไม่  คำถามเหล่านี้ทำให้ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เริ่มสั่นคลอน  ความรู้ที่มาจากการพิสูจน์เชิงประจักษ์เป็นความรู้ที่มีอคติหรือไม่ เพราะนักวิทยาศาสตร์มิได้สร้างทฤษฎีขึ้นในอากาศแต่มีสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมเกี่ยวข้องด้วย ถ้าความรู้แบบวิทยาศาสตร์ปฏิเสธความรู้แบบศาสนา โดยอ้างว่าศาสนามิได้ใช้เหตุผล เท่ากับว่าวิทยาศาสตร์กำลังมองความจริงเพียงด้านเดียวที่ตัดขาดมิติทางจิตใจของมนุษย์  วิทยาศาสตร์จะอธิบายความรักหรือความพึงพอใจทางอารมณ์ของมนุษย์อย่างไร ถ้าสิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์รู้จักตัวเองพอๆกับที่รู้จักโลกทางวัตถุที่มองด้วยตา
                ข้อจำกัดของกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ คือการมองความจริงแบบวัตถุเท่านั้น  นักคิดหลายคนอธิบายว่าการมองโลกด้วยสายตาวิทยาศาสตร์ คือการมองที่ใช้วัตถุเป็นตัวตั้ง มนุษย์จะกลายเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่พัฒนาตัวเองด้วยการสร้างความเจริญทางวัตถุ ความคิดแบบวิทยาศาสตร์เข้าครอบงำการศึกษาทางสังคม ทำให้การวิจัยทางสังคมอธิบายมนุษย์จากกายภาพ เช่นพฤติกรรม การกระทำ มองเห็นสังคมเป็นโครงสร้างที่แยกส่วนต่างๆ และแต่ละส่วนดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง นักวิจัยจะถูกแยกออกจากผู้ที่ถูกวิจัย ในฐานะที่เป็นการค้นหาความจริงที่อยู่ในสังคม  นักวิจัยเชื่อว่าตนเองไม่มีอิทธิพลต่อการสร้างความจริงเหล่านั้น  ปัญหาเหล่านี้คือปัญหาของกระบวนทัศน์ที่แยกโลกทางวัตถุออกจากโลกทางความคิด  การแบ่งลำดับชั้นของสิ่งต่างๆจากล้าหลังไปสู่ก้าวหน้า จากเรียบง่ายไปสู่ซับซ้อน จากมืดไปสู่สว่าง จากไร้ระเบียบไปสู่การมีระเบียบ  กระบวนทัศน์นี้มองสังคมมนุษย์แบบช่วงชั้นและต้องพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์
                นักคิดที่วิพากษ์กระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ หรือ ความคิดแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) อธิบายว่าในยุคแรกๆของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ นักคิด นักปรัชญาทั้งหลายพยายามอ้างความรู้แบบเหตุผลว่าเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนามนุษย์ไปสู่ความเจริญ และสามารถกำจัดความชั่วร้ายทางสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม ความยากจน การกดขี่ข่มเหง ความอดยาก และความไม่เท่าเทียม  การศึกษาสมัยใหม่จึงกลายเป็นเครื่องมือของระบบเหตุผลและปฏิฐานนิยม  ความรู้ทางวิทยาศาสตร์กลายเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกกึงการเติบโตของเสรีภาพและความยุติธรรม รวมถึงการให้คุณค่าและยอมรับศักดิ์ศรีของมนุษย์   ดังนั้นการพัฒนาสังคมจึงมุ่งที่จะทำให้สังคมมีระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อให้สมาชิกในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น[7] อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงการอธิบายบนโลกทัศน์ทางปรัชญาแบบหนึ่งซึ่งมุ่งที่จะสร้าง “ความจริง” ที่อยู่ภายนอก  โลกทัศน์นี้แอบแฝงอยู่ในกรอบคิดทฤษฎีต่างๆ ที่ถูกใช้ในการวิจัยทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ ทฤษฎีสัญลักษณ์ ทฤษฎีสื่อสาร จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ และพบได้ทั้งงานวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ
                การะบวนทัศน์ที่เสนอการอธิบายความจริงต่างไปจากปฏิฐานนิยม เสนอว่ายังมีความจริงแบบอื่นๆที่วิทยาศาสตร์มองข้ามไป ในขณะเดียวที่ปฏิฐานนิยมมองข้ามบริบทของการสร้างความจริงซึ่งมีผลต่อความจริงนั้นๆ   แต่กระบวนทัศน์กระแสต้านเสนอให้สนใจบริบทที่แวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย เงื่อนไขของการเก็บข้อมูล ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ศึกษากับผู้ถูกศึกษา กระบวนการตีความและการเขียนในฐานะเป็นวิธีการนำเสนอความจริง  รวมถึงฐานะทางสังคม ความเชื่อ และทัศนคติส่วนตัวของนักวิจัยที่มีผลต่อการสร้างความรู้ต่างๆ   กระบวนทัศน์กระแสต้านในที่นี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสำนักคิดหลังสมัยใหม่ ซึ่งมีนักคิดหลายคนบุกเบิกไว้ เช่น ไฮเด็กเกอร์, ฟูโก้,  เลียวทาร์ด, โบดริยาร์ด, เดอร์ริดา, ฮาเบอร์มาส, เดอลูซ เป็นต้น 
                กระบวนทัศน์กระแสต้านเสนอให้มองความจริงแบบสัมพัทธ์ (Relative)[8] หรือการมองมิติทางสังคมวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เวลา สถานที่ บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งมีผลต่อการอธิบายความจริงที่แตกต่างกัน   ความจริงจะเป็นที่สิ่งซับซ้อนมากขึ้น มากกว่าที่จะเป็นสากล แก่นแท้หนึ่งเดียวคงที่ เพราะความจริงของสังคมหนึ่งอาจมิใช่ความจริงของสังคมอื่น ความจริง ณ เวลานี้อาจมิใช่ความจริง ณ เวลาอื่น  ความซับซ้อนเหล่านี้ทำให้การตั้งคำถามว่าความรู้มาจากไหน ถูกสร้างมาอย่างไร ต้องได้รับการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ การทำวิจัยทางสังคมในกระบวนทัศน์กระแสต้านจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อญาณวิทยา เช่น ถามว่าตัวเราในฐานะผู้วิจัยมีวัฒนธรรมต่างไปจากผู้ถูกวิจัยอย่างไร  การวิเคราะห์ข้อมูลของเรามีอคติอย่างไร จุดยืนทางศีลธรรมของเราต่องานวิจัยอยู่ตรงไหน เป็นต้น
                นอกจากนั้น กระบวนทัศน์กระแสต้านให้ความสนใจกับมิติทางความคิด เช่น ประสบการณ์ส่วนบุคคล การแสดงอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งถูกแสดงออกภายใต้สถานการณ์ต่างๆ เช่น ความขัดแย้ง การถูกกดขี่ข่มเหง การถูกชมเชย หรือการถูกกระตุ้นเร้า   การมองชีวิตมนุษย์จะเปลี่ยนไปจากการเห็นแต่กิริยาท่าทาง ไปสู่การเรียนรู้อารมณ์ของมนุษย์ด้วย  มนุษย์มิใช่ Objective Thing หากแต่เป็น Emotional Thing  สิ่งต่างๆที่กระทบต่อมนุษย์จะมีผลต่อการอธิบายความจริง  ดังนั้นการศึกษามนุษย์ต้องศึกษาแบบองค์รวม (Holism)   เราไม่สามารถแยกมนุษย์ออกจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมได้ หรือตัดทิ้งประสบการณ์ของมนุษย์ออกไปได้ อย่างที่ Reductionism เคยอธิบายไว้ว่าความซับซ้อนของสรรพสิ่งสามารถแยกเป็นส่วนๆอย่างเอกเทศ  การแยกส่วนจะทำให้ไม่ความใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัตถุวิสัยและอัตวิสัย   การมองสังคมในฐานะเป็น “กระบวนการ” อาจช่วยให้เราเห็นความไม่คงที่ของความจริงต่างๆ[9]
                กรอบแนวคิดทฤษฎีในการมองสังคมและมนุษย์ในกระแสโพสมอเดิร์น เติบโตอยู่ในกลุ่มนักคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Theory) ซึ่งก่อตัวในสกุลความคิดแบบแฟรงค์เฟิร์ต ในประเทศเยอรมันในทศวรรษที่ 1930  แม็กซ์ ฮอร์คไฮเมอร์คือคนแรกที่ออกมาวิพากษ์ความคิดแบบวิทยาศาสตร์และปฏิฐานนิยมซึ่งครอบงำการสร้างความรู้ในเวลานั้น  การคิดเชิงวิพากษ์ต้องการมองมิติประวัติศาสตร์และอาศัยแนวคิดจากศาสตร์ต่างๆมาอธิบายสังคมมนุษย์เพื่อที่จะทำให้เข้าใจสังคมได้ดีขึ้น  และเพื่อที่จะอธิบายว่าความจริงต่างๆถูกสร้างขึ้น มิใช่ความจริงที่มีแก่นแท้ (Essentialism)   กระแสความคิดนี้รู้จักในนาม Social Constructionism หรือการผลิตสร้างทางสังคมกระแสความคิดนี้อธิบายว่ามนุษย์ในแต่ละสังคมจะมีการอธิบายความจริงของตัวเอง  แต่ความจริงนั้นมาจากวัฒนธรรม โลกทัศน์และความเชื่อ  ในแต่ละช่วงเวลาความจริงนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อความเชื่อใหม่ปรากฎขึ้น ความจริงแบบนี้ยังขึ้นอยู่กับการตีความและการให้ความหมายด้วย ซึ่งเป็นไปได้ที่การตีความจะทำให้เกิดการสร้างความจริงใหม่ หรือนำความจริงแบบเดิมมาอธิบายใหม่
                นักวิชาการที่มองแบบการผลิตสร้างทางสังคม จะอธิบายสังคมต่างไปจากความคิดปฏิฐานนิยม กล่าวคือสังคมของมนุษย์จะเป็นการสร้างความหมายที่มีพลวัตรต่อเนื่อง และมีความหมายหลายแบบประกอบขึ้นจากประสบการณ์  มนุษย์จะมีจินตนาการ รับรู้โลกทางกายภาพและโลกทางความคิดด้วยสัญลักษณ์หรือความหมาย เพื่อจะบอกว่าสิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าอย่างไร และสำคัญอย่างไรต่อการแสดงตัวตนทางสังคมของมนุษย์  เครื่องมือสำคัญในการสร้างความหมายคือภาษา    ภาษาและเรื่องเล่า (Narrative) ที่มนุษย์ใช้อธิบายสิ่งต่างๆจะสะท้อนวิธีคิดที่มนุษย์มีต่อสิ่งเหล่านั้น                จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่ากรอบความคิดแบบการผลิตสร้างทางสังคม พยายามมองมนุษย์ในหลายๆมิติแตกต่างไปจากฐานความคิดทางวิทยาศาสตร์  ในทางญาณวิทยาของการคิดแบบหลังสมัยใหม่  การผลิตสร้างทางสังคมไม่ได้ยืนยัน “ความจริง” ในแบบเดียวกับที่วิทยาศาสตร์เสนอ  หากแต่ชี้แนะว่าความจริงไม่ใช่สิ่งถาวร      ในหัวข้อต่อไปผู้เขียนจะทบทวนการศึกษาเกย์ที่ผ่านมาว่ามีการอธิบายความจริงเกี่ยวกับเกย์อย่างไรบ้าง และการศึกษาเหล่านั้นตั้งคำถามเชิงญาณวิทยาหรือไม่อย่างไร        

ญาณวิทยาในงานวิจัยเกย์ที่ผ่านมา
               
                จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้การศึกษาเกย์ต้องทบทวนตัวเองมากขึ้น คือในปี ค.. 1990 หนังสือของอีฟ โคซอฟสกี เซจวิค เรื่อง Epistemology of the Closet[10] ได้เสนอข้อโต้แย้งว่าฐานคิดแบบแบ่งแยกขั้วสองด้าน (Binary Opposition) เป็นสิ่งที่ปิดกั้นอิสรภาพและความเข้าใจเกี่ยวกับเพศวิถี (Sexuality)   เซจวิคเชื่อว่าการแบ่งเพศวิถีเป็นสองแบบคือรักต่างเพศกับรักเพศเดียวกันนั้นเป็นการแบ่งที่หยาบเกินไป เพราะเพศวิถีของมนุษย์ยังมีความซับซ้อน ไม่สามารถบ่งชี้ชัดว่าแบบไหนถูกหรือผิด  แต่การแบ่งแยกชายจริงหญิงแท้ ให้อยู่ตรงข้ามกับเกย์หรือเลสเบี้ยนเป็นการสร้างด้วยวาทกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้อำนาจในสังคมที่ยกย่องรักต่างเพศ และเหยียดหยามคนรักเพศเดียวกัน แต่ปัญหาที่ยากกว่านั้นคือ ในสังคมของโฮโมเซ็กช่วลเองก็นำความคิดแบบแบ่งแยกขั้วมานิยามตัวเอง เห็นได้จากการตอกย้ำอัตลักษณ์ทางเพศและเรียกตัวเองว่าเกย์เพื่อให้อยู่ตรงข้ามกับชายหญิง
ก่อนหน้านั้นในปีค..1988  เดวิด กรีนเบิร์ก เขียนหนังสือเรื่อง The Construction of Homosexuality[11]  ซึ่งอธิบายว่าการรับรู้และความเข้าใจต่อบุคคลที่รักเพศเดียวกันหรือโฮโมเซ็กช่วลในแต่ละยุคสมัย มีความแตกต่างกัน ในช่วงสังคมศักดินา ยุคฟิวดัลในยุโรป ศาสนาคริสต์จะมีอำนาจในทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง  ทำให้พฤติกรรมชายรักชายถูกมองว่าเป็นบาป หรือเป็นการทำผิดกฎธรรมชาติ   ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 วิทยาศาสตร์อธิบายว่าโฮโมเซ็กช่วลคือผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต หรือมีความบกพร่องทางระบบประสาท จนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ก็เริ่มอธิบายใหม่ว่าโฮโมเซ็กช่วลมิใช่โรคจิต แต่เป็นวิถีชีวิตที่ต่างไปจากชายหญิง ซึ่งเกี่ยวข้องกับฐานคิดของรักต่างเพศ
                ในทางสังคมศาสตร์ช่วงทศวรรษที่ 1960  การศึกษาโฮโมเซ็กช่วลตกอยู่ใต้ความคิดแบบ Essentialismเริ่มจากการมองว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นคนที่มีปัญหา มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน และจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทางจิต ในทางสังคมวิทยาจึงมีการวิจัยที่ใช้ทฤษฎีเบี่ยงเบนอธิบายบุคคลประเภทนี้เพื่อที่จะบอกว่าพวกเขาควรได้รับการรักษาเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นผู้ชายปกติตามที่สังคมยอมรับ  นักสังคมวิทยาที่ใช้กรอบคิดแบบปฏิฐานนิยมจึงออกแบบการวิจัยด้วยการออกไปหาสาเหตุที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล เช่น สืบประวัติในครอบครัว พัฒนาการในวัยเด็ก หรือการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อม เพื่อที่เปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลให้กลายเป็นปกติ  แนวทางการศึกษาแบบนี้ทำให้โฮโมเซ็กช่วลกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เป็นพฤติกรรมที่เสื่อมถอย และทำให้บุคคลกลายเป็นผู้ที่มีปัญหาและทำผิดศีลธรรม[12]
                ทฤษฎีเบี่ยงเบนทำให้สังคมเชื่อว่าเกย์หรือโฮโมเซ็ช่วลเป็นคนที่ชั่วร้าย  เพราะทฤษฎีนี้มองไม่เห็นประสบการณ์ส่วนตัวของเกย์ที่มีการสร้างความหมายที่ต่างไปจากสังคมผู้ชายผู้หญิง ทฤษฎีเบี่ยงเบนจึงเป็นการมองแบบแยกส่วน ศึกษาแต่พฤติกรรม มองข้ามความคิด เป็นกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ที่จัดประเภทเกย์ว่าเป็นคนที่ผิดปกติ  นักวิชาการที่เชื่อมั่นในทฤษฎีเบี่ยงเบนจึงทำตัวเหมือนคนทีปกป้องสังคมมิให้เสื่อมศีลธรรม หรือป้องกันมิให้โฮโมเซ็กช่วลเข้าไปทำร้ายสังคม     เดวิด กรีนเบิร์กอธิบายว่าทฤษฎีเบี่ยงเบนคือทฤษฎีที่ตีตรา ทำให้เกย์กลายเป็นคนชั่วร้าย โดยไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน
                นักวิจัยที่นำทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินมาอธิบายพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล เชื่อว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจะปรรับตัวให้อยู่ในกฎทางสังคมเพื่อที่จะให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เฉกเช่นสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงกว่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่วนสิ่งที่ชีวิตที่อ่อนแอก็จะถูกกำจัด  แนวคิดวิวัฒนาการมองที่การกระทำและการต่อสู้ดิ้นรน  แต่การต่อสู้ดิ้นรนของโฮโมเซ็กช่วลมิได้หมายความว่าความรู้สึกรักเพศเดียวกันของผู้ที่อ่อนแอจะถูกกำจัดไป  ความรู้สึกยังเกิดขึ้นได้ทุกเวลา เพียงแต่จะถูกปลดปล่อยออกมาหรือไม่  ทฤษฎีวิวัฒนาการจึงมองไม่เห็นความซับซ้อนของอารมณ์ที่มนุษย์มี[13] 
                ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของจอห์น แอดดิงตัน ไซม่อน พบว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลสามารถสืบย้อนกลับไปถึงยุคกรีก และมีความต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การศึกษาแนวนี้เป็นการมองประวติศาสตร์เป็นเส้นตรงและเชื่อมั่นในแก่นแท้ของพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล โดยไม่เข้าใจว่าแนวคิดเรื่อง “โฮโมเซ็กช่วล” เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19  ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายในยุคกรีกจึงมีความหมายต่างไปจากคำว่าโฮโมเซ็กช่วลในยุตสมัยใหม่  ในประเด็นนี้เดวิด เฮลเพอริน (2002)[14] ได้ชี้ให้เห็นปัญหาของการมองประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่องและมีรากเหง้าเดียวกัน เป็นการบิดเบือนพฤติกรรมรักเพศเดียวกันที่มิได้นิยามว่าเป็นโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งอาจเกิดขึ้นนอกสังคมตะวันตก
                ทฤษฎีโครงสร้างทางสังคมอธิบายว่าการยอมรับหรือกีดกันโฮโมเซ็กช่วลขึ้นอยู่กับโรงสร้างทางสังคมในแต่ละที่  แต่การนำแนวคิดตะวันตกเรื่องเพศสภาพ (Gender) และเพศวิถี (Sexuality) ไปอธิบายในสังคมอื่นก็เป็นเรื่องที่อันตราย การแสดงออกในพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลอาจไม่เกี่ยวข้องกับการยอมรับหรือการกีดกันถ้าพฤติกรรมนั้นไม่ถูกมองว่าผิดศีลธรรมหรือผิดปกติ  แนวคิดเรื่องการกีดกันหรือยอมรับจึงเป็นความคิดตะวันตกที่มองว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นคนที่ผิดศีลธรรม  ในสังคมอื่นๆ เช่นเอเชีย แอฟริกา หมู่เกาะในมหาสมุทร อาจนิยามพฤติกรรมรักเพศเดียวกันในมิติของความเชื่อที่สำคัญต่อพิธีกรรมบางอย่าง หรือการเปลี่ยนสถานะของบุคคลจากเด็กเป็นผู้ใหญ่โดยการแสดงออกแบบคนรักเพศเดียวกัน  เดวิด กรีนเบิร์กกล่าวว่าความหมายที่สังคมหยิบยื่นให้กับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันมาจากวัฒนธรรม  ควาหมายเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมพฤติกรรมทางเพศซึ่งเมื่อเวลาเปลี่ยนไป ความหมายนี้ก็อาจมีคุณค่าแบบใหม่[15]
                การศึกษาทางมานุษยวิทยา คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าพฤติกรรมชายรักชายในวัฒนธรรมอื่นๆ มีความหมายต่างไปจากแนวคิดโฮโมเซ็กช่วลในโลกตะวันตก ถือเป็นการนำความคิดแบบสัมพัทธ์นิยม และมิติวัฒนธรรมมาสู่วงการศึกษาเกย์เป็นครั้งแรก  อย่างไรก็ตามการศึกษาทางมานุษยวิทยาในระยะแรกๆ ยังคงได้รับอิทธิพลความคิดเรื่องโฮโมเซ็กช่วล มีความพยายามที่จะบอกว่าพฤติกรรมชายรักชายในสังคมชนเผ่าเป็นพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล เช่นการศึกษาของกิลเบิร์ต เฮิร์ด[16] ซึ่งศึกษาพิธีกรรมย่างเข้าวัยหนุ่มและพิธีรับน้ำอสุจิของเด็กชายในนิวกินี การศึกษาของเฮิร์ดเป็นการศึกษาแรกที่พูดถึงพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลในวัฒนธรรมมีลานีเซียน   สิ่งสำคัญจากการศึกษาทางมานุษยวิทยา คือการยืนยันว่าอารมณ์ พฤติกรรม และการเกี้ยวพาราสีแบบคนรักเพศเดียวกันมีความหลากหลาย เป็นการโต้แย้งกับความคิดแบบ Essentialism    อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีความหลากหลาย แต่รูปแบบที่สำคัญของพฤติกรรมรักเพศเดียวกันมีด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ ความรักเพศเดียวกันที่มาจากโครงสร้างอายุ  มาจากโครงสร้างเพศสภาพ และ รูปแบบที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศ[17]   ต่อมากรีนเบิร์ก(1988) ได้เพิ่มรูปแบบความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันอีก 1 แบบ คือความสัมพันธ์ที่เกิดจากความไม่เทียมทางสังคม หรือความสัมพันธ์ที่มีโครงสร้างทางชนชั้น 
                สิ่งสำคัญที่การศึกษาทางมานุษยวิทยาได้มอบให้ในการศึกษาโฮโมเซ็กช่วลในปัจจุบัน คือการชี้ให้เห็นบริบททางสังคมและการนำเสนอภาพของโฮโมเซ็กช่วล  นิยามเกี่ยวกับความรักของคนเพศเดียวกันขึ้นอยู่กับความรู้ท้องถิ่นเป็นสำคัญ   พฤติกรรมที่คล้ายๆกันอาจมีความหมายต่างกันในบริบทที่ต่างกัน ตัวอย่างในวัฒนธรรมตะวันตก ผู้ชายสองคนจูบกันในเขตเมือง อาจเป็นเกย์  แต่ผู้ชายสองคนกอดกันจูบกันในสนามกีฬาเพราะดีใจที่แข่งขันชนะ อาจเป็นการกระทำของเกย์หรือไม่ก็ได้  การตีความขึ้นอยู่กับความหมาย  หน้าที่ของนักมานุษยวิทยาคือการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นโดยพิจารณาถึงความหมายและบริบทของสิ่งนั้น  นิยามของโฮโมเซ็กช่วลอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความรู้ท้องถิ่น หรือคำถามจากการวิจัย
                จากประเด็นนี้จะเห็นว่า ญาณวิทยาของการศึกษาเกย์เกิดจากการได้เห็นพฤติกรรมชายรักชายในแบบอื่นๆที่อยู่นอกตะวันตก ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า “ความจริง” เกี่ยวกับเกย์ หรือโฮโมเซ็กช่วลเป็นความจริงของชาวตะวันตกใช่หรือไม่ คำถามนี้แจ่มชัดมากในการศึกษาของมิเชล ฟูโก้[18]   ปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศคือประเด็นที่ฟูโก้ชี้ว่าเป็นเรื่องทางการเมืองของตะวันตก   “ความเป็นเกย์” ถูกผลิตสร้างขึ้นเพื่อให้เกย์ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ     การศึกษาของเจฟฟรีย์ วีคส์ (1981) และโจนาธาน เคตซ์ (1976) ก็บ่งชี้ว่าอัตลักษณ์เกย์เป็นเรื่องเฉพาะของวัฒนธรรมและเปลี่ยนไปตามยุคสมัย     ฟูโก้ได้นำกรอบเรื่อง Social Construction[19] มาสู่วงการศึกษาเกย์ ต่อมารู้จักในนาม Queer Theory ที่เสนอการมองเรื่องเพศแบบใหม่ว่าเพศสภาพ เพศวิถี และตัวตนทางเพศมิใช่แก่นแท้ หรือมีอยู่ในธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นเพื่อที่จะจัดระเบียบ จัดประเภท และควบคุม ดังนั้นเพศอะไรที่อยู่นอกระเบียบสังคมก็จะถูกมองว่าผิด  ซึ่งนักวิชาการหลายคนขานรับและนำไปศึกษาวิถีชีวิตของเกย์ในรูปแบบต่างๆ
                ข้อถกเถียงในวงวิชาการด้านเกย์ศึกษาในปัจจุบัน  ชี้ว่าตัวตนทางเพศ ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอารมณ์ และพฤติกรรมทางเพศ  การบ่งบอกว่าบุคคลเป็นเกย์ มิได้วัดจากพฤติกรรมเสมอไป   นักวิชาการที่ยึดมั่นในกรอบคิดแบบการผลิตสร้างทางสังคมแบบสุดขั้ว (Radical Constructionist)[20]  ไม่เชื่อเรื่องความเป็นเกย์ที่บริสุทธิ์ แม้แต่อารมณ์ทางเพศก็เป็นสิ่งที่สร้างจากวัฒนธรรม   ฉะนั้นความจริงเกี่ยวกับเกย์ มิได้มาจากการค้นพบในธรรมชาติ แต่เกิดจากบริบทที่หลากหลาย แม้แต่ประสบการณ์ชีวิตของผู้ที่ศึกษาเอง

กรณีศึกษางานวิจัยเกย์ไทย 5 เรื่อง
               
                งานวิจัยเกย์ 5 เรื่องที่นำมาอภิปรายในบทความนี้ประกอบด้วย 1 วาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย พ..2508-2542 โดยเทอดศักดิ์ ร่มจำปา (2545)  2 การสื่อสารเพื่อการเปิดเผยตนเองของกลุ่มชายรักชาย โดยไชโย นิธิอุบัติ (2546)  3 คาราโอเกะคลับ พื้นที่และตัวตนของเกย์อ้วน โดยเอกศาสตร์ สรรพช่าง (2546)   4 เกย์ กระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศ โดยปุรินทร์ นาคสิงห์(2547)  และ 5 ชีวิตติดเบอร์ ตัวตนและเพศวิถีของเกย์ “ควิง”ในซาวนา M โดย จตุพร บุญ-หลง (2548) งานวิจัยทั้ง 5 เรื่องนี้เป็นวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตที่ใช้การศึกษาเชิงคุณภาพ ซึ่งมาจาก 5 สาขาวิชา ประกอบด้วยงานศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ได้แก่ งานของเทอดศักดิ์ งานศึกษาด้านสื่อสาร ได้แก่งานของไชโย งานศึกษาเชิงสังคมวิทยา ได้แก่งานของปุรินทร์ การศึกษาเชิงมานุษยวิทยา ได้แก่งานของเอกศาสตร์ และงานศึกษาเชิงสตรีนิยม ได้แก่งานของจตุพร
                ประเด็นในการวิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัย ประกอบด้วย
                1 การตั้งโจทย์การวิจัยเป็นอย่างไร
                2 โจทย์วิจัยสัมพันธ์กับวิธีวิทยาอย่างไร
                3 บริบทของการวิจัยเป็นอย่างไร
                4 กรอบความคิดทฤษฎีในงานวิจัยเป็นอย่างไร
                5 เป้าหมายของการวิจัยคืออะไร
                6 งานวิจัยได้ข้อค้นพบอะไรบ้าง
                7 การสังเคราะห์ญาณวิทยาจากงานวิจัยทั้ง 5 เรื่อง

1 การตั้งโจทย์การวิจัยเป็นอย่างไร
               
                จากการอ่านงานวิจัยทั้ง 5 เรื่องพบว่าผู้วิจัยแต่ละคนมีจุร่วมอย่างเดียวกันคือการชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังคงกดทับ ปิดกั้น ไม่ยอมรับและไม่เปิดโอกาสให้เกย์ได้มีพื้นที่ทางสังคม  ดังนั้นคำถามและโจทย์งานวิจัยทั้ง 5 เรื่องจึงเป็นการค้นหาอัตลักษณ์เกย์ (Gay Identity) และประสบการณ์ชีวิตของเกย์ (Gay Personal Experience) เพื่อจะบอกว่าเกย์มีความคิด ความเชื่อ พฤติกรรม และการแสดงออกอย่างไร เกย์สร้างความหมายให้กับตัวเองอย่างไร  เกย์เจอปัญหาในชีวิตอย่างไร  มีการปรับตัวอย่างไร มีการเปิดเผยหรือปกปิดตัวตนอย่างไร มีการรวมตัวทางสังคมอย่างไร มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่นอย่างไร  ทั้งนี้นักวิจัยแต่ละคนจะอธิบายปัญหาของเกย์จากเอกสารเกี่ยวกับเกย์ และการสัมภาษณ์บุคคลที่เป็นเกย์เป็นหลัก
                 โจทย์การศึกษาของเทอดศักดิ์[21]  คือการค้นหาวาทกรรมกระแสหลักที่ดูหมิ่นเหยียดหยามเกย์  โดยใช้การเก็บข้อมูลเอกสาร หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และวารสารเพื่อที่จะดูว่าสังคมพูดถึงเกย์อย่างไร ด้วยทัศนคติอย่างไร ความเชื่อแบบไหน  โดยเก็บศึกษาเอกสารตั้งแต่พ..2508 จนถึง พ..2542 หรือประมาณ 34 ปี      ก่อนที่เทอดศักดิ์จะอธิบายวาทกรรมเกย์ เขาได้ให้ภาพเกี่ยวกับคำเรียกและสรรพนามที่สังคมใช้อธิบายบุคคลที่เป็นกะเทยซึ่งบัญญัติไว้ในพจนานุกรมของบาทหลวงปาลเลอกัวร์ ในกฎหมายตราสามดวง   พงศาวดาร  พระไตรปิฎก  และวรรณคดี เพื่อตรวจสอบว่าสังคมไทยมีทัศนะอย่างไรต่อกะเทย ซึ่งพบว่าสังคมยอมรับพฤติกรรมแบบนี้ แต่จะมองเป็นตัวตลก หรือคนที่ไม่น่าเชื่อถือ จนกระทั่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือพิมพ์แพร่หลายและมีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ของนักโทษชายในเรือนจำ ซึ่งถูกมองว่าอุตริพิศดาร  รวมทั้งมีความรู้ทางจิตวิทยามาอธิบายว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศ เป็นความผิดปกติทางจิต  หลังจากนั้นจะมีคำเรียก “ลักเพศ” “รักร่วมเพศ” ที่ส่อไปในเชิงลบ
โจทย์การศึกษาของปุรินทร์ นาคสิงห์[22] เป็นการค้นหากระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศของเกย์      มีเป้าหมายที่จะอธิบายขั้นตอนของการนิยามตัวเองของเกย์ ศึกษาประสบการณ์ของบุคคลที่ขณะที่กำลังพัฒนาเอกลักษณ์เกย์ และดูความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์กับการใช้ชีวิตทางเพศของเกย์  โดยการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์จากเกย์ 8 คน มีอายุระหว่าง 22-32 ปี  บุคคลทั้งแปดนี้เป็นผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรี 4 คน ปริญญาโท 3 คน และปวช. 1 คน ถือได้ว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างของกลุ่มปัญญาชน เป็นคนที่มีความรู้  จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีปฏิสังสรรค์สัญลักษณ์ (Symbolic Interactionsim) และความเบี่ยงเบน โดยมีสมมติฐานว่าอัตลักษณ์เกย์เป็นความเบี่ยงเบนแบบหนึ่ง  
การศึกษาของไชโย  นิธิอุบัติ[23] เรื่องการสื่อสารเพื่อการเปิดเผยตนเองของกลุ่มชายรักชาย โจทย์คือการเปรียบเทียบข้อแตกต่างในการสื่อสารเพื่อเปิดเผยตัวของชายรักชายต่อคนในครอบครัว โดยสัมภาษณ์ตัวอย่าง 55 คน การสัมภาษณ์นี้ใช้แบบสอบถามที่กำหนดขึ้น มีแนวคำถามตามทฤษฎีที่ใช้ในงานวิจัย รวมทั้งเก็บข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของชายรักชายในหนังสือและนิตยสาร   การเปรียบเทียบวิธีสื่อสารในที่นี้ได้ใช้เรื่องอายุ อาชีพ  วิธีการสื่อสาร และลักษณะของครอบครัว  แนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการวิจัยเรื่องนี้ คือทฤษฎีสื่อสาร ซึ่งอธิบายแต่ละบุคคลจะมีการเปิดเผยหรือปกปิดตัวเอง  การเปิดเผยจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลเริ่มสนิทคุ้นเคยกับคนอื่น แต่บุคคลจะมีเรื่องปกิดหรือเป็นความลับ ในขณะเดียวกันคนอื่นที่สื่อสารด้วยจะรู้ว่าคนๆนั้นเป็นอย่างไรในสายตาของเขา แม้ว่าคนๆนั้นจะไม่ยอมรับในสิ่งที่คนอื่นมองก็ได้ รวมทั้งปมด้อยที่อยู่ในตัวบุคคลนั้นด้วย
การศึกษาของเอกศาตร์ สรรพช่าง[24] เรื่องคาราโฮเกะคลับ พื้นที่และตัวตนของเกย์อ้วน โจทย์คือการค้นหาวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มเกย์อ้วน  โดยศึกษาเกย์ 8 คนที่เข้าไปใช้พื้นที่ในร้านคาราโอเกะ แต่เกย์กลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีรูปร่างอ้วน     กลุ่มเกย์อ้วนรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม Thai Chub Club (TCC) ก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ..2536    แรกเดิมทีเกย์อ้วนเหล่านี้มาเจอกันในการแข่งกีฬาซูโม่ ต่อมามีการเปิดเว็บไซต์ไทยชับคลับ  ไทยแบร์ และชับบี้บางกอกทำให้มีสมาชิกเข้ามาเพิ่มขึ้น และเชื่อมโยงไปต่างประเทศด้วย    ในเว็บไซต์จะมีกระดานข่าวชื่อชมรมรักคนอ้วน และห้องสนทนาหรือแช็ต เช่น ห้องเกย์อ้วนน่ารัก   เป็นช่องทางการสนทนาพูดคุยของเกย์อ้วน   
ส่วนร้านคาราโอเกะของเกย์อ้วน แรกเริ่มอยู่ในซอยสาทร 1 ซึ่งอยู่ใกล้กับซาวน่าเกย์ชื่อดัง  ร้านแห่งนี้จะมีลูกค้าหนาแน่นในช่วงปีใหม่ ตรุษจีน คริสต์มาส จะมีเกย์ต่างชาติมาเที่ยว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ต่อมาร้านได้ย้ายทำเลใหม่ไปอยู่ที่ซอยทองหล่อ มีพื้นที่ใหญ่กว่าเดิม มีทั้งสระว่ายน้ำ ร้านอาหาร และซาวน่า    แต่ร้านใหม่เปิดได้วันเดียวก็ต้องปิด เพราะขัดผลประโยชน์กับผู้มีอิทธิพล   เกย์อ้วนก็จึงพบกันตามร้านอาหารอื่นๆ จนถึง ปี พ..2546   มีการเปิดร้านใหม่แถวหลังสวน   แต่อยู่บนชั้นสองของผับแห่งหนึ่ง จุคนได้ประมาณ 150 คน    เกย์อ้วนมีคำสรรพเรียกชื่อ เช่น “ชับบี้” หมายถึงคือเกย์ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน  “จูเนียร์ชับ”หรือคัพ คือ เกย์อ้วนที่ไม่อ้วนมาก  “บิ๊กชับ” คือ เกย์อ้วนที่ร่างกายใหญ่โตหรือน้ำหนักเกิน 140 กิโลกรัม  “แบร์” คือเกย์ที่รูปร่างใหญ่มีขนตามร่างกาย ไว้หนวดเครา   นอกจากนั้นยังมีคำแสลงเรียกความสัมพันธ์ของเกย์อ้วน เช่น ซีซี หมายถึง เกย์อ้วนที่ชอบเกย์อ้วน   ซีเอส หมายถึงเกย์อ้วนที่ชอบคนผอม  ซีเอ หมายถึงเกย์อ้วนที่ชอบทั้งคนอ้วนและผอม[25]    
เกย์อ้วนที่มาเที่ยวคาราโอเกะต้องจ่ายค่าเข้า 150 บาท    ผู้ที่มาเที่ยวจะรู้จักกัน ถ้ามีเวลาว่างก็จะนัดเจอกัน
เอกศาสตร์อธิบายว่าเกย์อ้วนจะรู้สึกว่าตนเองมีค่าเมื่ออยู่ในร้านคาราโอเกะ เพราะภายในร้านมีแต่คน “พวกเดียวกัน”  ร้านคาราโอเกะในการวิเคราะห์ของเอกศาสตร์จึงเป็นพื้นที่พิเศษ หรือพื้นที่แห่งพิธีกรรมของเกย์อ้วนที่ต้องการปลดปล่อยตัวเอง “เกย์”    อย่างไรก็ตาม เอกศาสตร์เชื่อว่า “ความอ้วน” ของเกย์ส่งผลด้านลบและทำให้เกย์หมดความมั่นใจในตัวเอง  หรือทำให้ตนเองรู้สึกว่าผิดปกติ หรือเป็นเกย์ที่ผิดปกติ  ความอ้วนกลายเป็นปมด้อย   เอกศาสตร์กล่าวว่าเกย์อ้วนจะเป็นคนผิดปกติทั้งสายตาของคนทั่วไปและสายตาของเกย์ที่มีรูปร่างปกติ   ผลกระทบนี้นำไปสู่การแสวงหาพื้นที่ใหม่ๆ เช่น ร้านคาราโอเกะ เพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างความมั่นใจ สร้างโลกส่วนตัว เกย์อ้วนในพื้นที่นี้จะปลดปล่อยตัวเองโดยการร้องเพลงบนเวทีให้คนในร้านฟัง
การศึกษาของจตุพร บุญ-หลง[26] เรื่อง ชีวิตติดเบอร์ ตัวตนและเพศวิถีของเกย์ “ควิง” ในเซานา M  โจทย์การศึกษาคือการวิเคราะห์บทบาทของเซานาที่ช่วยสร้างตัวตนให้กับเกย์  โดยใช้แนวคิดของสตรีนิยมผิวสี ที่ให้ความสำคัญต่อภาวะอารมณ์ และความรู้สึกของปัจเจก การศึกษาจึงมุ่งไปที่ประสบการณ์ โดยใช้เรื่องเล่า (Narrative) เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงประสบการณ์ของปัจเจก  ในขณะเดียวกันจตุพรก็พยายามสะท้อนประสบการณ์ของตัวเองไปพร้อมๆกับเรื่องเล่าของผู้ถูกศึกษาในแบบการย้อนทบทวนตัวเอง (Reflexivity) เพื่อเป็นกระจกสะท้อนกันและกัน   จตุพรอธิบายว่ากระบวนการเล่าเรื่องจะอาศัยประสบการณ์ชีวิต เป็นกระบวนการเชิงอำนาจเพื่อต่อรองกับบริบทของการเล่า  ประสบการณ์เป็นที่สร้างตัวตนและอัตลักษณ์ของผู้เล่าโดยอาศัย “ภาษา” เป็นเครื่องมือ    ตัวตนจากเรื่องเล่าเป็นตัวตนของ Gender ที่เกิดจากสังคมซึ่งยึดถือแบบแผน “รักต่างเพศ”  
เซาน่าที่ศึกษาเปิดดำเนินการมานานกว่า 20 ปี  รองรับลูกค้าได้ถึง  750 คนต่อวัน  มีเกย์มาใช้บริการวันละประมาณ 200 คน   แต่วันสุดสัปดาห์และงานเทศกาลจะมีคนมาจำนวนมาก   ภายในจะมีบริการต่างๆ เช่น ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ห้องอาหาร คอฟฟีช็อป ร้าตัดผม บาร์เหล้า มุมอ่านหนังสือ อินเตอร์เน็ต ห้องอาบน้ำ และห้องนอน   จตุพรมองว่าเซาน่าคือพื้นที่แห่งพิธีกรรมที่เอื้อให้เกย์สร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง ทำให้เกย์รู้จักรหัสทางสังคมของเกย์ เช่น ภาษาพูด  ท่าทาง  การใช้น้ำหอม  ฯลฯ
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าผู้วิจัยแต่ละคนมุ่งที่จะทำความเข้าใจวิถีชีวิตและแบบแผนการดำเนินชีวิตของเกย์ การอธิบายในแนวนี้เกิดจากความรู้สึกที่ว่าสังคมไทยยังคงไม่เข้าใจบุคคลที่เป็นเกย์  สังคมยังคงสับสนระหว่างคนที่เป็นเกย์กับกะเทย  สังคมยังคงคิดว่าเกย์เป็นคนผิดปกติหรือมีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ  ผู้วิจัยทั้ง 5 คนจึงนำประสบการณ์ของเกย์มาถ่ายทอดให้สังคมรับรู้  โจทย์การวิจัยในทำนองนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้วิจัยเชื่อว่าวัฒนธรรมเกย์เป็นวัฒนธรรมที่อยู่ชายขอบที่ถูกสังคมปิดกั้น เป็นการมองว่าโลกของคนรักเพศเดียวกับแตกต่างจากโลกของคนรักต่างเพศซึ่งเป็นกระบวนทัศน์แบบแยกขั้ว การมองในลักษณะนี้อาจมีข้อจำกัดในการอธิบายว่าวัฒนธรรมเกย์สัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นๆอย่างไร เพราะเพศวิถีของเกย์ก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเช่นเดียวกันเพศวิถีแบบรักต่างเพศ ในประเด็นนี้ ผู้วิจัยทั้ง 5 คนยังไม่ได้มีการตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ซึ่งเป็นข้อถกเถียงสำคัญในแวดวงเควียร์ศึกษา

2 โจทย์วิจัยสัมพันธ์กับวิธีวิทยาอย่างไร

                ในการศึกษาทั้ง 5 เรื่อง มีการถกเถียงเรื่องวิธีวิทยาด้วยความเข้มข้นในระดับที่ต่างกัน  กล่าวคือบางเรื่องมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้และความจริงทางสังคม  บางเรื่องก็ไม่ได้พูดถึงทำให้มองปรากฎการณ์เกี่ยวกับเกย์ว่าเป็นความจริงในตัวเอง โดยมิได้ตั้งคำถามว่าการเข้าถึงความจริงเหล่านั้นอาศัยฐานคิดอะไร  การศึกษาทั้ง 5 เรื่องจึงมีขอบเขตของการตรวจสอบความจริงที่ต่างกัน    ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นสำนักธรรมศาสตร์ พยายามอธิบายวิธีการเข้าถึงความจริง   ได้แก่การศึกษาของปุรินทร์และจตุพร     และ  กลุ่มสอง เป็นสำนักจุฬาฯและศิลปากรซึ่งมิได้อธิบายถึงการแสวงหาความจริง ได้แก่การศึกษาของเทอดศักดิ์  ไชโย และเอกศาสตร์
                ในการศึกษาของปุรินทร์   อธิบายว่าการเข้าถึงความจริงทางสังคมในโลกเชิงประจักษ์ จะทำให้เข้าใจกระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศของเกย์  ดังนั้นปุรินทร์จึงเลือกใช้ทฤษฎีปฏิสังสรรค์สัญลักษณ์  เพื่อที่จะเข้าใจระบบความหมายที่เกย์สร้างขึ้น  ทฤษฎีนี้พยายามมองมนุษย์ในมิติทางความคิดมากกว่าที่จะเห็นมนุษย์เป็นเพียงวัตถุ     ปุรินทร์พยายามเข้าใจว่าสังคมแบ่งแยกเพศเป็น 2 เพศ คือชายหญิง ส่วนเพศที่แตกต่างไปจะถูกมองว่าเบี่ยงเบน หรือวิปริต  เกย์จะถูกสังคมประณามว่าเป็นคนที่ผิดปกติ ปุรินทร์กล่าวว่าการศึกษาเกย์จำเป็นต้องทำความเข้าใจความคิดและความรู้สึกของเกย์ด้วย และเอกลักษณ์ของเกย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ ปุรินทร์เชื่อว่าการที่เกย์เข้าไปใช้ชีวิตในสังคมเกย์ ได้รู้จักกับเกย์คนอื่นในบาร์ หรือสถานเริงรมย์  และมีประสบการณ์ทางเพศแบบชายรักชาย มีส่วนช่วยให้เกย์ยอมรับตัวเอง    ฉะนั้นการพูดคุยกับเกย์โดยตรงจะทำให้เข้าใจวิถีชิวตของเกย์ และที่สำคัญจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจโลกทางความหมายของผู้ถูกศึกษา ซึ่งวิธีการนี้เชื่อว่าข้อมูลเชิงประจักษ์จะทำให้การศึกษาถูกต้อง  ปุรินทร์กล่าวว่าการศึกษาแนวนี้สนใจมนุษย์ในระดับประสบการณ์และชีวิตประจำวัน   เป็นการมองหาความจริงที่มาจากการตีความของมนุษย์  การตีความนี้จะเกิดขึ้นแบบกลุ่มหรือแต่ละคนจะตีความการกระทำของคนอื่น การตีความจะทำให้เกิดความหมายระหว่างบุคคลกับผู้อื่น แต่ความหมายจะเปลี่ยนไปเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน
                การแสวงหาความจริงในการศึกษาของปุรินทร์มีลักษณะเดียวกับการศึกษาของจตุพร กล่าวคือจตุพรพยายามมองว่ากระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยมมองข้ามประสบการณ์ของผู้ทำวิจัยและขาดมิติความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย  ในการศึกษาของจตุพรจึงอาศัยการเข้าถึงความจริงด้วยการศึกษาประสบการณ์ชีวิตของเกย์ ขณะเดียวกันก็สะท้อนตัวตนของตัวเองลงไปในการศึกษาด้วย   จตุพรอาศัยแนวคิดแบบสตรีนิยมที่สนใจมิติอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์  และการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้จะทำได้โดยการพูดคุยสนทนา เป็นกระบวนการเรียนรู้ระหว่างผู้ศึกษากับผู้ถูกศึกษา กระบวนการนี้เชื่อว่าจะช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้วิจัยกับผู้ให้ข้อมูล 
                ส่วนกลุ่มสองที่มิได้อธิบายกระบวนการแสวงหาความจริง จะพูดถึงวิธีการเก็บข้อมูลในฐานะเป็นการได้ความจริงในตัวเอง การศึกษาของเทอดศักดิ์พูดถึงการศึกษาเชิงวาทกรรมว่าเป็นการศึกษาโครงข่ายของอำนาจ ผลประโยชน์ อุดมการณ์ ระบบความคิดที่แอบแฝงอยู่ในสังคมและมีผลต่อความเข้าใจของผู้คน  วาทกรรมจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การมองลักษณะนี้ทำให้เทอดศักดิ์เชื่อว่าวาทกรรมคือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ จะปรากฎอยู่ในเรื่องแต่ง ข้อเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตามเทอดศักดิ์มิได้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาแนวนี้มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับญาณวิทยาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะข้อถกเถียงที่มาจากโพสต์มอเดิร์น ส่วนการศึกษาของเอกศาสตร์ไม่ได้พูดถึงวิธีวิทยาและญาณวิทยา พูดแต่เพียงว่าใช้การศึกษาอย่างมีส่วนร่วมและสัมภาษณ์แบบเจาะลึก มิได้อธิบายว่าการศึกษาแนวนี้สามารถเข้าถึงความจริงและความรู้ได้อย่างไร และแตกต่างจากการศึกษาแนวอื่นๆอย่างไร 
เช่นเดียวกับการศึกษาของไชโยอธิบายถึงระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นเรื่องของกลุ่มตัวอย่าง ประชากร วิธีการเก็บข้อมูล แหล่งข้อมูล และเครื่องมือในการวิจัย ซึ่งกรอบการวิจัยแนวนี้มีลักษณะเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ แต่ไชโยอ้างว่างานของตนเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เพราะได้ใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก  อย่างไรก็ตาม ไชโยยังคงใช้ระเบียบวิธีแบบปริมาณในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้แบบสอบถาม การกำหนดแนวคำถามที่มีโครงสร้างตายตัว การแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นช่วงอายุ รวมถึงการแบ่งแยกประเภทการสื่อสาร  สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้อมูลต่างๆถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว  อาจกล่าวได้ว่างานศึกษาของไชโยไม่มีความเข้าใจว่ากระบวนทัศน์ในการศึกษาเชิงคุณภาพแตกต่างจากเชิงปริมาณอย่างไร โดยเฉพาะข้อถกเถียงเรื่องการแสวงหาความจริงที่ควรจะพูดถึง

3 บริบทของการวิจัยเป็นอย่างไร

                งานวิจัยทั้ง 5 เรื่องเป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยที่ “ความเป็นเกย์” ถูกนำเสนอผ่านสื่อจำนวนมาก ทั้งในภาพยนตร์ ละคร นิตยสาร รวมถึงแหล่งบันเทิงต่างๆ  สังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2540 เป็นช่วงที่อินเตอร์เน็ตกำลังแพร่หลาย เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมีความก้าวหน้า เกย์ในสังคมไทยมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ทำให้เห็นว่าเกย์ในที่อื่นๆของโลกมีวิถีชีวิตอย่างไร  ในแง่วงวิชาการ พบว่าเกิดนักวิจัยรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนใจที่จะนำเรื่องราวเกี่ยวกับเกย์มาศึกษาอย่างจริงจัง  นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ทำวิจัยเรื่องนี้มักจะยอมรับว่าตนเองเป็นเกย์และกล้าที่จะเปิดเผยตัวเองต่อสังคม   นักวิชาการเกย์รุ่นใหม่ ที่มีบทบาททำให้การศึกษาเกย์มีพื้นที่ในวงวิชาการ เช่น นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ซึ่งริเริ่มโครงการวิจัยเกี่ยวกับเกย์ขึ้นที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในปี พ..2544  และเขียนบทความเผยแพร่ในวารสารวิชาการหลายฉบับ รวมทั้งสร้างเวทีให้นักวิชาการนำเรื่องเกย์มาพูดต่อสาธารณะ  นับว่าเป็นแรงผลักที่สำคัญที่ทำให้เกิดการถกเถียงในประเด็นเกย์และวัฒนธรรมทางเพศในสังคมไทย 
                อาจกล่าวได้ว่า บริบทของการวิจัยเกย์ทั้ง 5 เรื่อง คือบรรยากาศทางสังคมที่พูดถึงเกย์อย่างกว้างขวาง บรรยากาศนี้ขับเคลื่อนไปพร้อมกับการมาถึงของแนวคิดทฤษฎีเรื่องเพศ การเกิดขึ้นของหลักสูตรสตรีศึกษา การเกิดขึ้นขององค์กรเกย์ เช่นสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย  การมีบทบาทสำคัญของเกย์ในอาชีพต่างๆ เช่น ครีเอทีพ  วงการภาพยนตร์  แฟชั่น ศิลปะ ฯลฯ  การเกิดขึ้นของบางกอกเกย์เฟสติวัลในปี พ..2542    และที่สำคัญคือการขยายตัวของวัฒนธรรมบริโภคที่เกย์สามารถเข้าถึงแหล่งสินค้าและบริการต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นซาวน่า บาร์ คาราโอเกะ สปา นวด ฟิตเนส ร้านอาหาร ผับ และดิสโก้เธค   ภาคธุรกิจสำหรับเกย์เหล่านี้หล่อมหลอมให้เกย์เกิดความมั่นใจที่จะแสดงตัวตน   เกย์รุ่นใหม่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์เกย์ที่ถูกมองว่าเป็นคนเก็บกด มีปมด้อย  ไปสู่การเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีความคิดสร้างสรรค์    ข้อมูลที่ปรากฎในงานวิจัยทั้ง 5 เรื่องต่างสะท้อนให้เห็นว่าเกย์ในสังคมไทยกำลังปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น เกย์อ้วนที่สร้างชุมชนของตนองในร้านคาราโอเกะ การแสวงหาคู่ในซาวน่า บาร์ หรือดิสโก้เธค  เป็นต้น
                บริบทที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “การนำเกย์ไปสู่พื้นที่สาธารณะ” กล่าวคือ บุคคลที่เป็นเกย์เริ่มตระหนักว่าอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองต่างจากคนอื่นๆ พวกเขามีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง ทั้งนี้อ้างอิงกับวัฒนธรรมบริโภคที่จับต้องได้ เห็นเป็นรูปธรรม มีแบบแผนพฤติกรรมที่ชัดเจน  นับได้ว่าเป็นช่วงที่อัตลักษณ์เกย์ก่อตัวได้อย่างมั่นคง ทำให้เป็นแหล่งข้อมูลได้อย่างดีสำหรับนักวิจัย

4 กอบความคิดทฤษฎีในงานวิจัยเป็นอย่างไร

ในงานวิจัยทั้ง 5 เรื่องพยายามใช้แนวคิดทฤษฎีตามศาสตร์ที่ตนเองสังกัด ได้แก่ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา สื่อสารมวลชน และสตรีศึกษา  แต่การนำทฤษฎีมาใช้ นักวิจัยแต่ละคนมีข้อถกเถียงที่ลุ่มลึกแตกต่างกันไป ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้วิจัยมักจะอ้างข้อมูลที่ตนเองได้มาเพื่อยืนยันว่าเป็นไปตามทฤษฎี  ยังไม่มีการศึกษาเรื่องไหนที่นำข้อมูลมาหักล้างทฤษฎี หรือตั้งคำถามต่อทฤษฎีที่ตนเองนำมาใช้ 
การศึกษาของเทอดศักดิ์มิได้ยกทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งมาใช้ แต่เป็นการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Approaches) อาศัยการตีความจากเอกสาร การวิเคราะห์ความหมายจากข้อเขียนต่างๆ ซึ่งเทอดศักดิ์เรียกว่าเป็น “วาทกรรม”  สิ่งที่เทอดศักดิ์น่าจะอภิปรายเพิ่มก็คือการศึกษาเชิงวาทกรรม (Discourse) มีความสำคัญอย่างไรและมีแนวการวิเคราะห์อย่างไร  สิ่งที่เทอดศักดิ์ทำจึงเป็นเพียงการนำเอกสารที่พูดถึงเกย์มาเล่าโดยบอกว่าสังคมไทยในช่วง พ..2500-2520 เป็นช่วงที่สังคมกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับความหมายและพฤติกรรมของโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งมีแนวคิดทฤษฎีทางการแพทย์และจิตวิทยาเป็นตัวกำกับ บุคคลที่รู้สึกว่ามีความผิดปกติทางเพศในช่วงเวลานี้จึงตกอยู่ในสภาพทุกข์ทรมาน และต้องการคนเข้าใจ บางคนบอกว่าไม่ใช่กะเทย แต่เป็นชายปกติซึ่งมีความรู้สึกชอบเพศเดียวกันซึ่งในเวลานั้นผู้ชายกลุ่มนี้อาจใช้คำว่า “เกย์” เพื่อเป็นสรรพนามเรียกตัวเอง   คนกลุ่มนี้ไม่ต้องการให้สังคมกล่าวหาว่าเป็นคนวิตถาร หรือเป็นคนป่วยทางจิต  จึงพยายามอ้างถึงคนประเภทเดียวกันในโลกตะวันตกที่สังคมให้การยอมรับ  ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็ต้องการคนรักหรือคู่ชีวิตที่สามารถเติมเต็มในสิ่งที่เขาขาดายไป  การเป็นคนรักเพศเดียวกันในช่วงนี้มีบรรยากาศของการอ้างว้าง โดดเดี่ยวและต้องการคำปรึกษา   จะเห็นได้ว่าคอลัมน์ตอบปัญหาในหนังสือพิมพ์ เช่นคอมลัมน์ตอบปัญหาของ “ศุขเล็ก” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะมีจดหมายของคนรักเพศเดียวกันส่งมาระบายความในใจจำนวนมาก ซึ่งทำให้สื่อในเวลานั้นเชื่อว่าอาการของผู้ชายประเภทนี้คือโรคที่กำลังระบาดไปทั่ว[27] 
ข่าวเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วลในช่วงพ..2508 เผยให้เห็นว่ากลุ่มชายรักชายในสังคมไทยเริ่มมีสังคมของตัวเองแต่เป็นสังคมแบบลับๆ  สื่อให้ความสนใจชีวิตของผู้ชายกลุ่มนี้และเริ่มทำข่าวสัมภาษณ์เจ้าของกิจการบาร์เกย์ย่านพัฒน์พงศ์และสุรวงศ์  เช่น กรณียศวดีที่เปิดบาร์เกย์และเรียกตัวเองว่าเกย์ควีน[28] เนื่องจากชอบแต่งตัวเป็นหญิง[29]  บาร์เกย์ของยศวดีจะเปิดบริการให้กับสมาชิกเท่านั้นซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ (ฝรั่ง) กิจกรรมภายในบาร์ได้แก่การเต้นรำตามจังหวะเพลง การดื่ม และการพบปะพูดคุย  สมาชิกในบาร์อาจเป็นผู้ชายที่ต้องการมาหาคู่ หรืออาจเป็นผู้ชายที่ต้องการขายบริการทางเพศให้กับชาวต่างชาติ  ชาวต่างชาติที่มาแสวงหาความสุขทางเพศในประเทศไทยในช่วงเวลานั้นส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปซึ่งมักจะรับเลี้ยงดูเด็กหนุ่มๆที่เป็นคนไทย
พื้นที่ทางสังคมของชายรักชายในสังคมไทยมีการบ่มเพาะมาในช่วงเวลาที่ชาวตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาพำนักในประเทศไทยในช่วงสงครามอินโดจีนจนถึงสงครามเวียดนาม (..1957-1975) พร้อมๆกับความรู้ทางการแพทย์และจิตเวชตะวันตกที่นักวิชาการไทยหยิบยืมมาอธิบาบพฤติกรรมของชายรักชาย มีการเขียนตำราทางจตเวชซึ่งได้สร้างตราประทับให้กับกลุ่มชายรักชายว่าเป็นคนป่วยทางจิต เป็นโรคประสาท วิกลจริต กามวิปริต กามวิตถาร หรือ ผิดธรรมชาติ   คนพวกนี้ต้องได้รับการบำบัดรักษา  เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ถูกมองว่าผิดศีลธรรมไม่ควรเป็นเยี่ยงอย่างให้เยาวชน   ในขณะเดียวกันเกย์ก็ถูกมองว่าเป็นคนที่มีทุกข์ ผิดหวัง ซึมเศร้า ว้าเหว่ และถูกสังคมรังเกียจ   ซึ่งปรากฎอยู่ในคอลัมน์ของโก๋ ปากน้ำ ที่เผยแพร่ในนิตยสารแปลก ในทศวรรษ 2510
อย่างไรก็เกย์ค่อยๆเรียนรู้จากเพื่อน คนรอบข้าง ชาวต่างชาติ แหล่งบันเทิง นิตยสาร และสื่อซึ่งหล่อหลอมให้เกย์มีอัตลักษณ์ของตัวเอง สื่อที่มีบทบาทที่ทำให้เกย์มองตัวเองว่ามิใช่คนป่วยทางจิต คือนิตยสารเกย์ เช่น มิถุนา  มรกต  นีออน มิดเวย์ ฯลฯ นิตยสารเหล่านี้นำเสนอบทความวิชาการและประสบการณ์ของบุคคลที่เป็นเกย์ในช่วง พ..2525-2535 ช่วงนี้เป็นช่วงรุ่งเรืองของนิตยสารเกย์   ในช่วงนี้เกิดคำสรรพนามที่ใช้เรียกชายรักชายมากมาย เช่น เพศที่สาม รักร่วมเพศ ลักเพศ กะเทยชาย เกย์คิง เกย์ควีน  โฮโมเซ็กช่วล  ชาวเรืองแสง  และอีแอบ เป็นต้น  คำเหล่านี้มีการใช้สลับไปสลับมา ไม่มีความหมายที่ชัดเจน  ช่วงนี้ยังมีความพยายามที่จะแยกแยะว่า พฤติกรรมกับจิตใจต้องแยกกจากกัน เพราะผู้ชายที่มีเซ็กซ์กับชาย เช่นในคุก ในค่ายทหาร อาจมิใช่ผู้ที่มีจิตใจเป็นเกย์   มีความคิดที่ว่าการเป็นเกย์ต้องมาจากข้างใน หรือเป็นจากจิตวิญญาณ มิใช่แค่การกระทำ  คอลัมนิสต์ในนิตยสารเกย์จึงเป็นผู้ที่ทำให้เกย์ยอมรับสภาพจิตใจของตัวเอง หรืออย่าปฏิเสธชีวิตของตัเวอง
สำหรับทฤษฎีเบี่ยงเบนที่ปุรินทร์นำมาใช้คือ ทฤษฎีปฏสังสรรค์สัญลักษณ์(Symbolic Interactionism) ซึ่งมองว่าความเบี่ยงเบนมีลักษณะสัมพัทธ์ หรือความเบี่ยงเบนที่มิได้มาจากหลักเกณฑ์ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับทัศนคติของมนุษย์ที่ให้ความหมายต่อปรากฎการณ์ทางสังคม  ด้วยแนวคิดนี้ทำให้ปุรินทร์มองว่าเกย์ก็เป็นผู้นิยามความเบี่ยงเบนของตัวเองด้วย ทำให้ความหมายของการเบี่ยงเบนเป็นการต่อรองทำให้บุคคลไม่ตกอยู่ใต้รอยมลทินที่สังคมกล่าวหา  จากการสัมภาษณ์ของปุรินทร์ทำให้ทราบว่า ความเป็นกะเทย คือความหมายของการเบี่ยงเบนแรกๆที่บุคคลรับรู้ และปฏิเสธที่จะนำมาเป็นเอกลักษณ์ของตน แต่เมื่อได้รู้จักกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมคล้ายกันก็จะเรียนรู้และปรับเอกลักษณ์ตัวเอง  เอกลักษณ์ที่ชัดที่สุดคือการเป็นกะเทยที่แสดงออกทางกิริยาท่าทาง คำพูด การแต่งหน้าทาปาก การแต่งกายแบบผู้หญิง จนกระทั่งการเปลี่ยนสรีระด้วยการกินยาฮอร์โมน
ปุรินทร์เชื่อว่าสื่อมวลชนมีส่วนทำให้บุคคลเรียนรู้ความหมายของการเป็นเกย์  ทำให้รู้ว่าเกย์กับกะเทยต่างกันอย่างไร เมื่อบุคคลได้ทดลองมีเพศสัมพันธ์กับชาย เขาจะนำประสบการณ์ทางเพศนี้มาเปรียบเทียบหรือตรวจสอบกับความรู้สึกของตนเองเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าตนเองเป็นเกย์หรือไม่  เมื่อความรู้สึกตรงกับการกระทำก็จะทำให้บุคคลยืนยันเอกลักษณ์เกย์ได้  หลังจากนั้นเขาก็จะมีไลฟสไตล์แบบเกย์ ซึ่งขับเคลื่อนไปบนชีวิตทางเพศ เช่น หาคู่นอนทางอินเตอร์เน็ต ในสวนสาธารณะ ซาวน่า ห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้น  ปุรินทร์เชื่อว่าชีวิตทางเพศทำให้เอกลักษณ์เกย์ดำรงอยู่ได้  อีกนัยหนึ่งก็คือความเป็นเกย์จะมีได้ก็ต่อเมื่อบุคคลยึดมั่นในชีวิตทางเพศ
ทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษาของไชโยเป็นทฤษฎีสื่อสารและแนวคิดเกี่ยวกับการเปิดเผยตนเอง  โดยมีหลักคิดว่าการสื่อสารระหว่างบุคคลจะเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยตัวตน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ ความรู้สึกร่วม  ช่วงเวลา และโอกาส   ไชโยอธิบายว่ารูปแบบของการสื่อสารในครอบครัว มีหลายแบบ เช่น การถ่ายทอดสาร การโต้แย้ง การวางแปน การทำงานร่วมกัน การเล่นหัว การเพิกเฉย ฯลฯ ครอบครัวมีทั้งส่วนเสริมความเป็นปึกแผ่นและสร้างความแตกร้าวให้คนในครอบครัว  ไชโยได้อ้างทฤษฎีการสื่อสารในครอบครัว 3 ประเภท คือ 1)ครอบครัวแบบเปิด หมายถึง ครอบครัวที่ให้สมาชิกทุกคนร่วมตัดสินใจ มีความยืดหยุ่น ผ่อนคลาย ไม่มีการปิดกั้น  2) ครอบครัวแบบปิด หมายถึงครอบครัวที่เข้มงวด มีระเบียบกฎเกณฑ์ พ่อมีอำนาจควบคุมสิ่งต่างๆ และ 3) ครอบครัวแบบปล่อย หมายถึง สมาชิกในครอบครัวทำตามใจตัวเอง และรับอิทธิพลจากบุคคลภายนอกมาก 
นอกจากนั้นยังอ้างทฤษฎีการสื่อสารระหว่างบุคคลที่ประกอบด้วยผู้รับและผู้ส่งสาร  ลักษณะสาร ความหมายของสาร สารที่เป็นคำพูดกับไม่ใช่คำพูด  ลักษณะของการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างแบบเห็นหน้ากับใช้สื่อ ปัจจัยที่มีผลต่อการสื่อสาร เช่น รูปร่างหน้าตา ความใกล้ชิด ความแตกต่างของคู่สื่อสาร เป็นต้น   ไชโยยังอธิบายถึงบรรทัดฐานทางสังคมที่ทำให้บุคคลแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น เชื่อฟังเคารพผู้ใหญ่ หรือเมื่อเห็นสัญญาณไฟแดงก็หยุดรถ เป็นต้น   รวมทั้งพูดถึงพัฒนาการของบุคลิกภาพตามช่วงวัยซึ่งแบ่งเป็น 8 ช่วงตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา    ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ เช่น ความต้องการทางกาย ต้องการความรัก  ความปลอดภัย ต้องการด้านสุนทรียะ และการตระหนักแท้ในตนเอง เป็นต้น   พูดถึงทฤษฎีการเลือกอาชีพเพื่อสนองความต้องการของบุคคล ทฤษฎีเหล่านี้มีฐานคิดมาจากจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้เห็นว่าบุคคลจะมีปมปัญหาทางจิตที่ทำให้เกิดการปกปิดหรือเปิดเผยตัวตน
เอกศาสตร์ใช้กรอบความคิดเกี่ยวกับตัวตนและอัตลักษณ์  โดยกล่าวว่าอัตลักษณ์ไม่มีตำแหน่งแห่งที่แน่นนอน แต่มีความสัมพันธ์กับสังคมเพราะถูกกำหนดด้วยศีลธรรมและกฎเกณฑ์ต่างๆ  เอกศาสตร์ใช้แนวคิดของสจ๊วต ฮอลล์เพื่อมองว่าอัตลักษณ์เป็นเครื่องมือของบุคคลในการต่อสู้กับสังคม โดยเฉพาะอัตลักษณ์ของคนชายขอบหรือคนที่ถูกสังคมกดทับ อัตลักษณ์จึงถูกใช้เชิงการเมืองเพื่อต่อรองกับอำนาจ   นอกจากนั้นยังใช้กรอบความคิดเรื่องพิธีกรรม ซึ่งนักมานุษยวิทยามักสนใจศึกษาประเพณีวัฒนธรรม  เพื่อดูว่าเกย์มีกระบวนการทางสังคมอย่างไร เนื่องจากพิธีกรรมเปรียบเสมือนช่วงเวลาพิเศษที่บุคคลจะเปลี่ยนผ่านสถานะจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง  ทั้งนี้เอกศาสตร์จะวิเคราะห์สัญลักษณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในร้านคาราโอเกะที่เกย์กระทำขึ้น  โดยมองว่ากิจกรรมในร้านคาราโอเกะเปรียบเสมือนพิธีกรรมของเกย์อ้วน          
แนวคิดทฤษฎีที่จตุพรใช้ศึกษา เป็นแนวอัตชาติพันธุ์วรรณนา (Autoethnography) ที่การพูดถึงตัวตนของผู้วิจัยในงานวิจัยจะสะท้อนความจริงได้  แนวคิดนี้มองว่าการถ่ายทอดตัวตนเป็นเรื่องของการสร้างความหมาย ด้วยเหตุนี้จตุพรจึงพูดอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองในงานวิจัยอย่างชัดเจน และได้ศึกษาประสบการณ์ชีวิตและเรื่องเล่าของเกย์ 2 คน คือเซบาสเตียนและเก๋  พบว่าตัวตนและเพศวิถีของเกย์มีความลื่นไหลและหลากหลาย ในขณะที่เซบาสเตียนนิยามว่าตนเป็นเกย์รุก แต่เก๋นิยามว่าตนเองเป็นฝ่ายรับ อย่างไรก็ตามทั้งสองก็สามารถสลับเป็นรุกและรับได้แล้วแต่โอกาส  การสลับบทบาทนี้เรียกว่า “ควิง”   สิ่งนี้ยังสัมพันธ์กับชนชั้น เพศสถานะ และชาติพันธุ์  ผู้ถูกศึกษาทั้งสองเป็นชนชั้นกลางมีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และมีความสามารถในการทำงาน ทำให้ได้รับการยอมรับ คนทั้งสองให้คุณค่ากับการสร้างสัมพันธ์กับชาวตะวันตกเพื่อตอกย้ำอัตลักษณ์ทางเพศ  ทั้งคู่มาเที่ยวเซาน่าเพื่อที่จะสำรวจและค้นหาตัวเอง

5 เป้าหมายของการวิจัยคืออะไร

                ดั่งที่กล่าวมาแล้วว่า ผู้วิจัยทั้ง 5 คนมีจุดร่วมอย่างเดียวกันคือต้องการที่จะทำความเข้าใจวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของเกย์ ดังนั้นเป้าหมายการศึกษาของทั้งห้าคนนี้จึงมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ ทำให้สังคมลดอคติต่อบุคคลที่เป็นเกย์   คำถามก็คือ การวิจัยทั้งห้าเรื่องนี้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่  ข้อพิจารณาในเรื่องนี้คือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ตามแนวคิดทฤษฎีที่วางไว้สามารถทำให้เห็นแง่มุมใหม่ๆที่สังคมยังไม่เคยเข้าใจวิถีชีวิตของเกย์หรือไม่  ผู้วิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างรอบด้านและมีความุ่มลึกในการวิเคราะห์มากน้อยแค่ไหน
                การศึกษาของเทอดศักดิ์ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเข้าใจการเปลี่ยนวาทกรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศในสังคมไทยทั้งในกระแสหลักและกระแสโต้ที่เกย์เป็นผู้สร้าง  ในประเด็นนี้เทอดศักดิ์ได้อ้างหลักฐานจากข้อเขียนต่างๆมากมายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงวาทกรรมได้ดีพอสมควร    เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งคือการเข้าใจบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อวาทกรรมเกี่ยวกับเกย์  ในประเด็นนี้เทอดศักดิ์มองว่าการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมและการเติบโตของเมืองมีผลทำให้การแสดงออกของเกย์ชัดเจดมากขึ้น ทั้งอาศัยจากการตีความจากเอกสารในแต่ละยุคสมัย
                การศึกษาของปุรินทร์มีเป้าหมายที่จะเข้าใจพัฒนาการของการนิยามพฤติกรรมและความเป็นเกย์ให้กับตนเอง โดยศึกษาจากประสบการณ์ทางเพศของเกย์แต่ละคน ซึ่งปุรินทร์ได้เข้าไปสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลตามแหล่งที่เกย์ใช้ชีวิตอยู่  ในประเด็นนี้ปุรินทร์ทำได้อย่างน่าพอใจ เพราะสามารถเปิดเผยพฤติกรรมทางเพศของเกย์ที่สังคมไม่เคยรับรู้มาก่อน เช่น การหาคู่ในห้องน้ำสาธารณะ หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น  เช่นเดียวกับการศึกษาของจตุพรที่มีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของเกย์ และการใช้ชีวิตในซาวน่าของเกย์เพื่อที่จะนิยามว่าตนเองเป็นใคร   จตุพรสามารถนำประวัติชีวิตของเกย์ที่สัมภาษณ์มาถ่ายทอดได้ดี และยังทำให้เห็นว่าตัวผู้ศึกษาเองก็สะท้อนตัวตนทางเพศในขณะที่สัมภาษณ์หรือเข้าไปใช้ชีวิตในซาวน่า
                การศึกษาของเอกศาสตร์มีเป้าหมายที่จะเข้าใจการรวมกลุ่ม วิธีคิด ทัศนคติ และการยอมรับตัวเองของเกย์อ้วน และต้องการให้สังคมเข้าใจเกย์กลุ่มนี้มากขึ้น  เอกศาสตร์ได้สัมภาษณ์เกย์อ้วนและเข้าไปสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมในสถานที่ที่เกย์อ้วนมาพบปะกัน  ซึ่งทำให้เห็นประสบการณ์ของเกย์เหล่านี้ได้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือทำให้เห็นสัญลักษณ์ สรรพนาม และความเชื่อที่เกย์อ้วนสร้างขึ้นเพื่อทำให้กลุ่มตัวเองมีคุณค่า สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่น่าสนใจในงานของเอกศาสตร์  สำหรับการศึกษาของไชโย มีเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคการสื่อสารระหว่างเกย์กับสังคมและครอบครัว  รวมทั้งเพื่อหาวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมสำหรับเกย์ในการเปิดเผยตัวต่อคนอื่นๆ  ประเด็นนี้ไชโยได้สัมภาษณ์บุคคลที่เป็นเกย์ว่ามีวิธีการสื่อสารกับครอบครัว และเพื่อนอย่างไร  ทำให้เป็นประสบการณ์ที่ข่มขื่นของเกย์แต่ละคนที่ต้องเผชิญกับการดูหมิ่นเหยียดหยาม  ทั้งนี้ไชโยได้เสนอว่าวิธีการสื่อสารของเกย์ที่ดีต้องยอมรับบรรทัดฐานทางสังคมที่วางไว้ และการเปิดเผยตัวต้องรู้จักกาละเทศะที่เหมาะสม แม้ว่าการเสนอในแนวนี้จะมีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่มาก แต่ก็เป็นการตีความจากประสบการณ์ชีวิตของเกย์เองที่ต้องทำตัวดีกับพ่อแม่เพื่อแลกกับการเปิดเผยตัว เช่น ต้องเรียนหนังสือให้เก่ง หรือแสดงความสามารถพิเศษ เป็นต้น
                อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาทั้งห้าเรื่องจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แต่การบรรลุเป้าหมายอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ ถ้าผู้วิจัยตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนเองกำลังศึกษาให้มากขึ้น โดยเฉพาะการทำให้สังคมยอมรับเกย์นั้นเป็นการสร้างความลำเอียงให้กับตัวเองได้หรือไม่   คำถามนี้อาจสะท้อนว่าวิถีชีวิตของเกย์ตอกย้ำภาพด้านลบที่สังคมมองอยู่หรือเปล่า หรือวัฒนธรรมเกย์กำลังต่อต้านกับอำนาจทางศีลธรรมและกฎระเบียบทางสังคมในแง่ไหนบ้าง สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เป้าหมายการศึกษาเป็นมากกว่าการลดอคติที่มีต่อเกย์ แต่จะเขยิบไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมเกย์ในฐานะเป็นอำนาจชนิดหนึ่ง

6 งานวิจัยได้ข้อค้นพบอะไรบ้าง

การแสวงหาคำตอบและการได้ข้อค้นพบในงานวิจัยทั้ง 5 เรื่อง เป็นทั้งการยืนยันทฤษฎีที่ถูกใช้ในการศึกษาและเป็นการเน้นย้ำว่าวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของเกย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม
การศึกษาของเทอดศักดิ์ เป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจวิธีคิดของสังคมที่มีต่อบุคคลที่เป็นเกย์ และกะเทย ในขณะเดียวก็นำเสนอวิธีคิดของบุคคลที่เป็นเกย์ในสื่อต่างๆ   อย่างไรก็ตาม วิธีคิดของคนไทยในแต่ละยุคสมัยสะท้อนบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ความรู้ทางการแพทย์และจิตวิทยาได้ยึดครองพื้นที่สาธารณะได้และทำให้วาทกรรมเกี่ยวกับเกย์สื่อเป็นไปในทางลบมากกว่าบวก  เทอดศักดิ์ชี้ว่าสื่อที่เกย์ผลิตขึ้นมาเองเป็นเครื่องมือที่ใช้ตอบโต้กับวาทกรรมกระแสหลัก ซึ่งเป็นการให้คำตอบแบบแบ่งแยกขั้วโดยไม่ได้วิเคราะห์ต่อไปว่าสื่อที่เกย์ผลิตมีส่วนตอกย้ำวาทกรรมกระแสหลักด้วยหรือไม่ หรือประเภทของสื่อที่เกย์ทำขึ้นมานั้นเป็นไปในทางเดียวกันหรือไม่ มีความคิดที่แตกต่างกันอย่างไร
เทอดศักดิ์ชี้ว่านิตยสารเกย์กำลังโต้กับวาทกรรมกระแสหลักที่มองว่าเกย์เป็นโรคจิต  นิตยสารเกย์กำลังสร้างนิยามใหม่ที่บอกว่าเกย์เป็นคนปกติ  และมิได้มีจิตใจเป็นหญิง แต่มีความเป็นชายปกติเพียงแต่มีความรักกับเพศเดียวกัน  มีการแยกว่าเกย์ต่างจากกะเทย   ไลฟสไตล์ของเกย์ต่างจากกะเทย  เกย์ไม่แสดงความเป็นหญิง แต่กะเทยมีความเป็นหญิง  ท่ามกลางการนิยามเกย์ในเชิงบวกก็มีเหตุการณ์เกี่ยวกับโรคเอดส์เกิดขึ้น ส่งผลให้สังคมมองเกย์ในเชิงลบต่อไป ในช่วงที่โรคเอดส์เพิ่งเกิดใหม่ๆ สังคมไทยหวาดกลัวมาก เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้ต้องตาย ไม่มียารักษา  สังคมเริ่มจับตามองพฤติกรรมทางเพศของเกย์  บาร์เกย์ และซาวน่าเกย์กลายเป็นที่น่ารังเกียจเพราะถูกมองว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อเอชไอวี เจ้าของกิจการเหล่านี้จึงรวมตัวกันเพื่อที่จะทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อลบภาพด้านลบ การรวมตัวนี้เกิดขึ้นในปี พ..2531 ภายใต้ชื่อกลุ่มเกย์สร้างสรรค์แห่งประเทศไทย  นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเส้นสีขาวของทนี ธีระโรจนพงษ์ เป็นกลุ่มการแสดงที่รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ในสถานบริการของเกย์  ต่อมาในปี พ..2532 นทีได้ตั้งกลุ่มชื่อภราดรภาพยับยั้งโรคเอดส์แห่งประเทศไทย
เทอดศักด์กล่าวว่าในปี พ..2536 เกิดนิตยสารเกย์แนวใหม่ คือมีขนาดใหญ่ขึ้น (ขนาดเอ 4) แตกต่างจากขนาดพ็อกเก็ตบุ้คในยุคแรกๆ  นิตยสารที่ออกใหม่ เช่น เมล, เกรซ,  จีอาร์ ฯลฯ ช่วงนี้ถือว่าสังคมรับรู้ความเป็นเกย์กว้างขวางมากขึ้น  สถานบริการของชาวเกย์เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่สังคมก็ยังมองเกย์แบบลบๆ เป็นการต่อสู้กันระหว่างวาทกรรมกระแสหลักและกระแสรอง เทอดศักดิ์เชื่อว่าตัวแทนของวาทกรรมกระแสหลักคือ ดร.วัลลภ ปิยมโนธรรม ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาที่ออกมาโจมตีเกย์  ส่วนตัวแทนของวาทกรรมกระแสรองคือ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ซึ่งออกมาอธิบายว่าเกย์คือใคร  การตอบโต้กันของวาทกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่เกย์เริ่มขยายตัวไปสู่พื้นที่สาธารณะมากขึ้น
การศึกษาของปุรินทร์พบว่ากระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์เกย์มี 3 ขั้นตอน คือ 1 เริ่มจากความรู้สึกว่าตนเองต่างจากผู้ชายคนอื่น เช่น ถูกล้อเลียนว่าเป็นกะเทย เป็นตุ๊ด ชอบเล่นกับผู้หญิง  2 ขั้นสงสัยว่าตนเองเป็นเกย์ แต่ยังไม่ยอมรับเพราะสังคมมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี  ในขั้นนี้บุคคลเริ่มสนใจเพศเดียวกัน เช่น แอบชอบเพื่อนที่หน้าตาดี ดูรูปโป๊ของผู้ชาย อยากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หรือมีเซ็กซ์กับผู้ชายด้วยความบังเอิญ  ฯลฯ  3  ขั้นยอมรับว่าตนเองเป็นเกย์  เปิดเผยตัวต่อสังคม เข้าสู่ชุมชนและวัฒนธรรมเกย์ รวมไปถึงความคาดหวังเรื่องคนรักและชีวิตคู่
จากการศึกษาของไชโยพบว่าการสื่อสารเพื่อเปิดเผยตัวของชายรักชายมีทั้งทางอ้อมและทางตรง  ซึ่งระดับของการยอมรับ มีทั้ง ยอมรับได้มาก ปานกลางและไม่ยอมรับ    การเปิดเผยแบบทางอ้อม ได้แก่การแสดงกิริยาท่าทางแบบอ่อนช้อย หรือแต่งตัวเหมือนผู้หญิง เพื่อให้คนในครอบครัวเข้าใจ  แต่คนในครอบครัวอาจมีการกล่าวตำหนิหรือห้ามปรามบ้าง ในกรณีที่ครอบครัวไม่ยอมรับจะมีการต่อต้านด้วยการด่าทำร้ายร่างกาย จนถึงขั้นตัดความสัมพันธ์  ส่วนการสื่อสารทางตรง คือบุคคลจะพูดคุยกับคนในครอบครัวที่เขาวางใจมากที่สุด แต่ถ้าเปิดเผยกับพ่อแม่ อาจทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจหรือไม่พอใจ  ไชโยพบว่าเมื่อบุคคลเปิดเผยกับเพื่อนมีแนวโน้มที่จะสบายใจที่สุด เพราะเพื่อนจะไม่ล้อเลียนหรือตำหนิ
จากการศึกษาของไชโยทำให้เข้าใจว่าชายรักชายมักจะใช้วิธีการสื่อสารทางอ้อมเพื่อเปิดเผยตัวเอง โดยเฉพาะการแสดงออกทางกิริยาท่าทางและคำพูด ใช้คำพูดแทนตัวเองเป็นผู้หญิง หรือใช้คำว่า ค่ะ หรือ ฮ่ะในการสนทนา และวิธีการนี้บุคคลก็ยังใช้เพื่อทำให้ผู้ชายที่ตนเองหลงรักหันมาสนใจ  รูปแบบการสื่อสารของแต่ละคนจะแตกต่างกันซึ่งไม่อาจใช้เป็นมาตรฐานในการเปิดเผยได้        ข้อค้นพบของไชโยก็คือชายรักชายจะเปิดเผยตัวตั้งแต่เป็นเด็ก สภาพแวดล้อมครอบครัวที่ให้อิสระหรือไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์มากจะเอื้อให้บุคคลเปิดเผยตัวได้ดีกว่า   อย่างไรก็ตามครอบครัวส่วนใหญ่จะไม่ค่อยยอมรับในพฤติกรรมชายรักชาย เพราะเห็นว่าขัดแย้งกับบบรทัดฐานทางสังคม     ข้อสังเกตอีปประการหนึ่งคือกลุ่มชายรักชายที่ไชโยศึกษาเป็นกลุ่มที่แสดงออกแบบ “กะเทย” และอยู่ในสายอาชีพช่างทำผม ช่างแต่งหน้า หรือนางโชว์ อาชีพเหล่านี้เอื้อให้มีการเปิดเผยตัวเองได้ง่ายกว่า
ไชโยกล่าวว่าวิธีการชดเชยที่ทำให้บุคคลได้รับการยอมรับ ได้แก่การเรียนหนังสือให้เก่ง ทำงานดีๆ หรือสร้างชื่อเสียงจากการทำงาน เป็นความพยายามของชายรักชายที่ต้องการความรัก การให้คุณค่า เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและสังคม   การปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมก็มีส่วนให้ได้รับการยอมรับ เช่น ประพฤติตัวเป็นคนดี วางตัวดี การแสดงความสามารถ ฯลฯ  อย่างไรก็ตามการเปิดเผยตัวเป็นกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์และโอกาส
การศึกษาของเอกศาสตร์ชี้ให้เห็นตัวตนที่ซ้อนทับกันสองแบบระหว่าง การเป็น “เกย์” กับการเป็น “คนอ้วน” ซึ่งแบบหลังจะมีความสำคัญกว่า และบางครั้งอาจปกปิดความเป็นเกย์ของคนๆนั้น  คำอธิบายดังกล่าวทำให้เข้าใจว่าปัญหาเรื่องตัวตนของบุคคลนิยามจากเรื่องร่างกาย หรือรสนิยมทางเพศ  ถ้าความเป็นเกย์นิยามจากรสนิยมทางเพศ ดังนั้น เกย์อ้วนจะรู้สึกว่ามีตัวตนเหมือนเกย์คนอื่นอย่างไร  เอกศาสตร์ให้คำตอบว่าเกย์อ้วนมีความกังวลต่อร่างกายของตัวเองและไม่สนใจเรื่องเซ็กซ์มากนักเนื่องจากความอ้วนเป็นปมด้อย       คำอธิบายดังกล่าวจะเป็นคำตอบสำหรับเกย์อ้วนทุกคนหรือไม่   เกย์อ้วนทุกคนรู้สึกมีปมด้อยใช่หรือไม่ คนอ้วนที่เป็นชายหญิงจะมีปมด้อยเหมือนกับเกย์อ้วนหรือไม่ ถ้าความอ้วนทำให้เกย์ไม่มั่นใจในชีวิตทางเพศ แล้วเกย์อ้วนแสวงหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร    มีพื้นที่อื่นๆหรือไม่ที่ทำให้เกย์อ้วนปลดปล่อยตัวเอง[30] เพราะแม้แต่ร้านคาราโอเกะก็ยังมีเกย์รูปร่างดีเข้าไปใช้บริการ    ดังนั้นร้านคาราโอเกะจะเป็นพื้นที่พิเศษของเกย์อ้วนได้หรือไม่  ในสังคมของเกย์อ้วนเองอาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เราจะเข้าใจสังคมแบบ “ตัวแทน” กับสังคมที่ถูกสร้างภายใต้วาทกรรมทุนนิยมอย่างไร  เกย์ใช้วาทกรรม “ความอ้วน” ในเชิงบวกและลบอย่างไร  คำถามเหล่านี้ยังต้องศึกษาต่อไป
การศึกษาของจตุพรเป็นการตรวจสอบวิธีคิดของตัวเองต่อเรื่องราวที่ถูกศึกษา    โดยกล่าวว่าตนเองเป็นเกย์ “ควิง” คือได้ทั้งรุกและรับ   แต่ก่อนหน้าหน้าเคยเป็นกะเทย  และเป็นเกย์ควีน  อัตลักษณ์ดังกล่าวผูกโยงกับเพศวิถี ซึ่งประเด็นนี้จตุพรเชื่อว่ากิจกรรมบนเตียง หรือบทบาทเป็นรุกและรับคือเพศวิถี (Sexuality) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนไปจากทฤษฎีเรื่องเพศวิถี[31]  อย่างไรก็ตาม จตุพรก็สรุปว่าตนเองมีตัวตน 3 แบบ คือการเป็นเกย์ควิง  เป็นนักศึกษา และเป็นนักแสดง  ตัวตนเหล่านี้จะเกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ศึกษาเก็บข้อมูลในเซานา เช่นในระหว่างการสนทนากับเกย์คนอื่นๆ จะมีการถามถึงเรื่องการทำวิจัย จตุพรเล่าว่าเมื่อต้องเปิดเผยว่าเป็นนักศึกษา ทำให้เขารู้สึกแปลกแยก และเริ่มแยกแยะว่าการเป็นคนใน กับเป็นคนนอกต่างกัน
จตุพรอธิบายว่าตนเองรู้สึกอึดอัดกับการแสดงบทบาทางเพศ เพราะมีความชอบที่จะเป็นฝ่ายรับ แต่ก็สามารถเป็นรุกได้ในบางโอกาส รวมถึงการหันมาเล่นกล้ามให้ดูเป็นผู้ชาย   บทบาทนี้คือสิ่งที่จตุพรเชื่อว่าเป็นการค้นพบตัวเอง และแหวกแบบแผนเกย์ควีนซึ่งต้องมีบทบาทรับอย่างเดียว   จตุพรเลือกเป็นเกย์ควิงเพราะมีความยืดหยุ่นต่อการแสดงบทบาทเพศวิถี และรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสรีระและจิตใจ   เซานาในความคิดของจตุพรเป็นดินแดนแห่งพิธีกรรมทางเพศวิถีและเป็นโลกทุนนิยม แต่จตุพรพอใจที่จะอยู่ในดินแดนนี้เพราะทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น    เซานาเอ็มเป็นพื้นที่ของวาทกรรม เพราะถูกให้ความหมายจากเกย์กลุ่มต่างๆ ทำให้เกย์มีตัวตนที่หลากหลายและคลุมเคลือ  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จตุพรเชื่อว่าเซานาเป็นพื้นที่ของการช่วงชิงความหมายทางอัตลักษณ์ เป็นทั้งพื้นที่ที่ให้อิสระและสร้างความขัดแย้ง  การเป็นอิสระคือการให้อำนาจในการนิยามตัวเอง ความขัดแย้งคือการสร้างความหมายตัวตนที่ไม่เหมือนกัน

7 การสังเคราะห์ญาณวิทยาจากงานวิจัยทั้ง 5 เรื่อง

ตัวอย่างการศึกษาที่กล่าวมาทั้ง 5 เรื่อง ทำให้เห็นถึงวิธีการอธิบาย “เกย์” ในสังคมไทย ซึ่งสนใจกระบวนการสร้างตัวตน หรืออัตลักษณ์ทางเพศ มีการอธิบายให้เห็นกระบวนการการเปลี่ยนผ่าน จากผู้ที่ปิดตัวเองไปสู่การเปิดเผยตัว  วิธีการวิเคราะห์และการใช้ข้อมูลอาศัยทั้งเอกสารและการสัมภาษณ์ หลังจากนั้นผู้วิจัยก็นำข้อมูลมาอธิบายตามทฤษฎีที่ตั้งไว้   การศึกษาทั้ง 5 เรื่องนี้เป็นความพยายามที่จะ “หาทางออก” เพื่อให้สังคมเข้าใจบุคคลที่เป็นเกย์มากขึ้น หรือกำลังสร้างภาพด้านบวกให้กับเกย์      อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับวิธีวิทยาและญาณวิทยา โดยเฉพาะการทบทวนการศึกษาที่เกี่ยวข้อง  จะพบว่างานวิจัยเหล่านี้ยังมิได้วิพากษ์งานวิจัยที่ยกมาอย่างรอบด้านนัก เป็นแค่เพียงการนำมาสนับสนุนโจทย์ของการวิจัย และแยกแยะว่างานวิจัยแบบไหนที่เป็นไปในทางดียวกับตน และแบบไหนที่มีข้อจำกัด   จากจุดนี้ทำให้งานวิจัยอาจจะไม่ได้เสนออะไรที่ต่างไปจากเดิม นอกจากนำทฤษฎีใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยใช้มาอธิบาย หรือแสวงหากลุ่มตัวอย่างใหม่เพื่อจะทดสอบทฤษฎี
ประเด็นสำคัญและน่าตั้งคำถามมากที่สุดคือ นักวิจัยมองเห็น “องค์ความรู้” เกี่ยวกับเกย์ที่มีการศึกษาไว้ก่อนหน้านั้นด้วยทัศนะแบบไหน และงานวิจัยของเขาจะเป็นการท้าทายหรือตอกย้ำองค์ความรู้เดิม ถ้าต้องการท้าทาย เขาจะใช้ญาณวิทยาแบบไหน  คำถามเหล่านี้ยังคลุมเคลือมาก  ถึงแม้ว่างานวิจัยทั้ง 5 เรื่องจะพยายามให้ “เสียง” แก่บุคคลที่เป็นเกย์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการผลิตวาทกรรมเกี่ยวกับ “เกย์” ในอีกลักษณะหนึ่งซึ่งถูกมองข้ามไปว่า “เกย์” เป็นอัตลักษณ์ที่มีอยู่ได้ด้วยตัวเองจริงหรือ และบุคคลก็จะค้นพบสิ่งนี้ได้ด้วยกระบวนการบางอย่างใช่หรือไม่  แม้ว่างานวิจัยบางเรื่องจะสนใจประสบการณ์ชีวิตและเรื่องเล่า แต่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเพียงข้อสนับสนุนทางทฤษฎี   งานวิจัยเหล่านี้ยังมองไม่เห็นมิติทางวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในประสบการณ์จึงทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกย์ไทยเป็นเรื่องของการ “ยอมรับ” หรือ “ปฏิเสธ” 
บริบททางวัฒนธรรมและวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมไทย ซึ่งน่าจะมีพลังมากในงานวิจัยเชิงคุณภาพถูกบดบังด้วยทฤษฎีตะวันตก  ทั้งๆที่ข้อวิพากษ์จากโพสต์มอเดิร์นชี้ให้เห็นแล้วว่าการแสวงหาความจริงแบบปฏิฐานนิยมละเลยมิติทางวัฒนธรรม    ฉะนั้น งานวิจัยทั้ง 5 เรื่องที่ยกมานี้ย่อมสะท้อนปัญหาของญาณวิทยาหลายประการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

1 Identity Approaches

การศึกษาเกย์ที่ผ่านมามีการโต้แย้งระหว่างทฤษฎีเบี่ยงเบนกับอัตลักษณ์ทางเพศ  กล่าวคือทฤษฎีเบี่ยงเบนมองว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ ส่วนทฤษฎีอัตลักษณ์มองว่าบุคคลจะสร้างตัวตนผ่านพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อตอบโต้ว่าเกย์มิใช่สิ่งที่เลวร้าย   การศึกษาด้วยแนวคิดอัตลักษณ์มีการศึกษามายาวนานตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่ความรู้วิทยาศาสตร์กำลังเติบโตและทำให้สังคมเข้าใจว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นผู้บกพร่องทางจิตหรือมีความผิดปกติของระบบประสาท   นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการหลายคน เช่น อุลริชส์, เฮิร์ชเฟลด์, ไซมอนด์, คาร์เพนเตอร์ ล้วนออกมาต่อสู้เรื่องสิทธิของโฮโมเซ็กช่วล พร้อมกับมีการอธิบายว่าอัตลักษณ์ทางเพศของโฮโมเซ็กช่วลคืออะไร[32]  การยกเรื่องอัตลักษณ์ขึ้นมาจึงเป็นเรื่องทางการเมืองของตะวันตก  อัตลักษณ์ทางเพศของโฮโมเซ็กช่วลในยุคแรกๆมีชื่อเรียกว่าเยอร์นิ่ง หรือยูเรเนียน ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองคำว่าเกย์ก็เกิดขึ้น    “เกย์” เป็นคำที่บ่งบอกถึงบุคคลที่เปิดเผยตัวและต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหง  คำว่า “เกย์” มีพลังมากในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของโฮโมเซ็กช่วลในอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980  แต่หลังจากนั้นการเคลื่อไหวของ Gay Liberation ก็ค่อยๆแผ่วลงไปเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์
ดังนั้นการพูดถึงอัตลักษณ์ “เกย์” ในวัฒนธรรมไทยจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง  งานวิจัยทั้ง 5 เรื่องมองข้ามประเด็นนี้ไปทำให้เกิดความเข้าใจว่า “เกย์” ไทยไม่ต่างจากเกย์ในตะวันตกหรือที่อื่นๆ  ทั้งๆที่ “เกย์” เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม    ในการศึกษาทั้ง 5 เรื่องพยายามแยกว่าเกย์ต่างจากกะเทย แต่สังคมยังคงมีความสับสน  ไม่มีการถามต่อไปว่าความสับสนระหว่างเกย์กับกะเทยสะท้อนความคิดเรื่องเพศในสังคมไทยอย่างไร และในช่วงที่สังคมไทยติดต่อกับโลกภายนอก “คำว่าเกย์” ถูกนำมาใช้อย่างไร   การศึกษาของเทอดศักดิ์ชี้ว่า “เกย์” ในสังคมไทยมาพร้อมกับความรู้ทางการแพทย์ซึ่งคำว่าเกย์ในยุคแรกๆใช้เรียกอาชีพผู้ชายขายตัว มาสู่คำที่เรียกผู้ชายที่ชอบแสดงออกแบบผู้หญิง ไปจนถึงผู้ชายที่ชอบแต่งตัวและเล่นกล้าม   คำว่าเกย์ในสังคมไทยจึงส่อไปในเชิงลบ และใช้เรียกพฤติกรรมทางเพศที่อยู่ระเบียบศีลธรรม    อย่างไรก็ตามงานของเทอดศักดิ์จะน่าสนใจมากถ้าชี้ว่าเมื่อคำว่าเกย์ถูกใช้ในเชิงบวก  สังคมของเกย์ไทยได้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง และต่างจากตะวันตกอย่างไร 
งานศึกษาของไชโย ใช้คำว่า “เอกลักษณ์”เฉพาะตน เพื่ออธิบายถึงผู้ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศและมิได้ผ่าตัดซึ่งมีจิตใจชอบเพศชาย เช่นเดียวกับงานศึกษาของปุรินทร์ที่ใช้คำว่า “เอกลักษณ์” เพื่อบอกว่าบุคคลจะนิยามตัวเองด้วยชุดคำแบบไหนเพื่อให้สอดคล้องกับความรู้สึกและพฤติกรรมของตัวเอง           เอกลักษณ์ทางเพศในงานของปุรินทร์จึงเป็นการแสวงหาเอกภาพระหว่างคำเรียกชื่อ ความรู้สึก และพฤติกรรม สามส่วนนี้จะลงตัวได้เมื่อบุคคลได้พอใจในสิ่งที่ตนเองแสดงออก   งานศึกษาของเอกศาสตร์พยายามเชื่อมโยงอัตลักษณ์เกย์กับการแสดงออกถึงความเป็นชาย    การศึกษาของจตุพร อธิบายว่าอัตลักษณ์เกย์ดูได้จากพฤติกรรมบนเตียง เช่น เป็นฝ่ายรุกคือเกย์คิง ฝ่ายรับคือเกย์ควีน  ส่วนเป็นได้ทั้งรุกและรับเรียกเกย์ควิง   จะเห็นว่างานวิจัยเหล่านี้เชื่อว่าการแสดงออกทางพฤติกรรมเป็นบ่อเกิดของอัตลักษณ์
การอธิบายด้วยแนวคิดอัตลักษณ์อาจมองที่ “พฤติกรรม” เป็นหลัก   แต่อัตลักษณ์กับพฤติกรรมเป็นเรื่องที่แยกจากกันได้  ข้อสังเกตจาก Queer Theory ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าอัตลักษณ์ทางเพศไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพฤติกรรมและอารมณ์[33]   ดังนั้นการศึกษาอัตลักษณ์เกย์น่าจะเป็นเรื่องของการเรียกชื่อพฤติกรรมทางเพศแบบหนึ่ง แต่ละยุคสมัย แต่ละวัฒนธรรมก็อาจเรียกชื่อต่างกัน    การศึกษาทางมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมต่างๆมีการเรียกชื่อพฤติกรรมของชายรักชายต่างกันไป[34]  และสิ่งนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ  ในหลายๆวัฒนธรรมพบว่าอัตลักษณ์ของบุคคลเกี่ยวข้องกับ “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง” หรือเป็น Gender Role  ซึ่งเชื่อมโยงกับเพศทางชีววิทยา สำหรับบุคคลที่แสดงออกข้ามเพศก็ยังคงใช้ความเป็นหญิงและชายเพื่อบ่งบอกว่าตัวเองต่างจากคนอื่น ซึ่งเป็น Gender Identity ที่ไม่คำนึงถึงเพศทางสรีระ[35] 
แนวคิดเรื่องอัตลักษณ์จึงเป็นความลักลั่นระหว่าง “การแสดงออก” กับ “ความคิด”    งานวิจัยทั้ง 5 เรื่องมิได้ตั้งคำถามกับสิ่งนี้   เพราะเชื่อว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวคนอยู่แล้ว ทำให้การอธิบายอัตลักษณ์เกย์มีข้อจำกัดต่อการทำความเข้าใจความซับซ้อนที่มากไปกว่าพฤติกรรม  ความรู้สึกรักเพศเดียวกันกับการมีเซ็กซ์กับคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่ต้องแยกพิจารณา  คำถามคือสังคมไทยมีคำเรียกสองสิ่งนี้หรือไม่   และการนำสองสิ่งนี้มาปนกันเพื่อจะทำให้เห็นแต่ “อัตลักษณ์” ก็เคยถูกวิจารณ์ว่าเป็นการมองตัวตนของมนุษย์ที่มีเอกภาพเกินไป  ถ้างานวิจัยทั้ง 5 เรื่องถกเถียงเรื่องปัญหา “อัตลักษณ์” ก็จะทำให้เห็นข้อจำกัดของแนวคิดทฤษฎีที่ตนเองนำมาศึกษา  ถึงที่สุดแล้วแนวคิดอัตลักษณ์เป็นผลผลิตจากกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยม ซึ่งอธิบายว่าพฤติกรรมและการแสดงออกทางเพศของมนุษย์มีความกลมเกลียวและหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจ อารมณ์ และความคิด ซึ่งต่อมากระแสโพสต์มอเดิร์นโจมตีว่าตัวตนของมนุษย์ไม่มีเอกภาพอย่างที่เข้าใจ[36]  นอกจากนั้นอัตลักษณ์ยังถูกใช้เพื่อการเมืองในยุคของ “สิทธิมนุษยชน” และประชาธิปไตยเพื่อจะให้คนชายขอบถูกปลดปล่อย  คำว่าเกย์ก็ถูกใช้เพื่อการปลดปล่อยเช่นเดียวกัน แต่เกย์พอใจที่จะปลดปล่อยตัวเองด้วยการแสดงออกแบบผู้ชาย[37] 
               
                2 Sexuality Paradigm

ประเด็นเรื่องเพศวิถี (Sexuality) เป็นเรื่องใหญ่ในวงการศึกษาเพศ เนื่องจากมีข้อโต้แย้งระหว่าง Essentialist ที่เชื่อว่าเพศวิถีมีอยู่ในพันธุกรรม กับ Social Constructionist เชื่อว่าเพศวิถีเป็นสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้น มิได้มีอยู่ในธรรมชาติ   ข้อถกเถียงนี้ได้รับความสนใจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา  มิเชล ฟูโก้ได้ปูทางเอาไว้ว่าสังคมได้กำหนดว่ารักต่างเพศเป็นสิ่งที่ดี  ส่วนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ผิด[38]  การวิจัยเกี่ยวเกย์ที่ผ่านมาจึงดำเนินรอยตามข้อโต้แย้งของฟูโก้  นักวิชาการกลุ่มหนึ่งอธิบายว่าเพศวิถีของเกย์เป็นสิ่งที่สังคมปฏิเสธ ดังนั้นเกย์ต้องงออกมาต่อสู้ นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งอธิบายว่าเกย์ตกอยู่ใต้ความคิดเดียวกับรักต่างเพศ  การปลดปล่อยเกย์ให้เป็นอิสระภายใต้ความคิดของรักต่างเพศจึงเป็นไปไม่ได้  กล่าวคือ  ความคิดเรื่องการแยกเพศออกเป็นสองขั้วระหว่างเพศปกติ กับเพศผิดปกติเป็นเรื่องทางการเมือง   ถ้าเกย์ต่อสู้เพื่อให้สังคมยอมรับก็เท่ากับยอมรับความเป็นเพศผิดปกติ และยอมจำนนต่อคำอธิบายที่บอกว่าเพศมีสองขั้ว
งานวิจัยทั้ง 5 เรื่อง ก็มีน้ำเสียงและทัศนะที่เชื่อว่าเกย์ต้องออกมาต่อสู้ หรือแก้ไขเพื่อทำให้สังคมยอมรับ การศึกษาของเทอดศักดิ์ชี้ว่านิตยสารของเกย์เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกย์ต่อสู้กับสังคม เพื่อสร้างภาพด้านบวกและให้สังคมยอมรับ  การศึกษาของไชโยชี้ว่าการสื่อสารเพื่อเปิดเผยตัวของชายรักชาย เป็นการต่อสู้กับคนในครอบครัวที่มีทัศนคติเชิงลบต่อเกย์และกะเทย   การศึกษาของปุรินทร์อธิบายว่าการพัฒนาเอกลักษณ์เกย์เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ทางสังคมซึ่งเต็มไปด้วยความคิดเชิงลบ เพราะสังคมบอกว่าเกย์เป็นพวกเบี่ยงเบน ในขณะที่เกย์ก็ตระหนักว่าตนเองแตกต่างไปจากคนอื่นเพราะไม่ได้แสดงบทบาทตามที่สังคมคาดหวัง    การศึกษาของเอกศาสตร์ชี้ว่าเกย์ต้องการพื้นที่ทางสังคมเพื่อปลดปล่อยตัวตน เพราะเมื่ออยู่ในสังคม เกย์ไม่สามารถแสดงออกได้  สังคมยังมองว่าเกย์สำส่อนทางเพศและเป็นพาหะของโรคเอดส์   การศึกษาของจตุพรอธิบายคล้ายๆกับเอกศาสตร์ว่าเกย์ใช้เซานาเพื่อค้นหาตัวเอง แม้ว่าเกย์ในเซานาจะมีหลายแบบก็ตาม   เซานากลายเป็นที่ให้อิสระแก่เกย์ราวกับหนีไปอยู่ในโลกส่วนตัวที่ห่างไกลจากการดูหมิ่นเหยียดหยาม  เหมือนเกย์ต้องการที่หลบซ่อนเพื่อที่จะเยียวยาตัวเอง
การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ตั้งคำถามเรื่อง “เพศวิถี”  เพราะคิดว่าความเป็นเกย์หรือโฮโมเซ็กช่วล เป็นขั้วตรงข้ามกับรักต่างเพศ     และอธิบายจากมุมมองและประสบการณ์ของผู้ที่เป็นเกย์ว่าถูกกระทำจากสังคมอย่างไร ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงสังคม   การศึกษาเกย์ไทยจึงมีลักษณะตอกย้ำว่าเกย์เป็นคนที่ผิดปกติ ทั้งๆที่ผู้วิจัยไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะตอกย้ำเรื่องนี้ก็ตาม     หากแต่ญาณวิทยาที่มองเพศวิถีเป็นเรื่องธรรมชาติปรากฎอยู่ในงานวิจัยเหล่านี้  ทำให้การอธิบายชีวิตของเกย์เป็นชีวิตของผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง หรือเป็นคนทีมีปมด้อย  อาจกล่าวได้ว่าการวิจัยที่ต้องการทำความเข้าใจชีวิตของเกย์ กำลังสร้างภาพ “ความเป็นอื่น” ให้กับเกย์โดยไม่รู้ตัว พร้อมๆกับทำให้ขั้วตรงข้ามระหว่างเพศปกติ และเพศผิดปกดำเนินต่อไป
การศึกษาของเซดจ์วิค (1990) ชี้ว่า การปิดบังตัวเอง หรือการเปิดเผยความลับที่มีอยู่ในโฮโมเซ็กช่วล ทำให้เกิดการสร้าง “โครงสร้างความคิด” ที่แน่นหนาเกี่ยวกับเรื่องระบบคุณค่า และความรู้ในสังคมตะวันตก ซึ่งเป็นความคิดแบบ Modernity   ความสัมพันธ์หลายๆแบบระหว่างความรู้ อำนาจ และเรื่องเพศจึงถูกเปิดเผยในการรับรู้ทางวิชาการในข้อเขียนเกี่ยวกับความผิดปกติทางเพศภาวิถี[39]    การวิจัยเกย์จึงเป็นการต่อขยายความคิดแบบ Positivism ที่จัดจำแนกความปกติและความผิดปกติทางเพศ   งานวิจัยเกย์ทั้ง 5 เรื่อง  ยืนอยู่ในฟากที่ตรงข้ามกับเพศปกติเพื่อที่จะต่อสู้กับบรรทัดฐานของรักต่างเพศ

3 Progress Paradigm

ในการศึกษากระบวนการสร้างอัตลักษณ์เกย์ในงานวิจัยของปุรินทร์  ไชโย  และจตุพร พบว่าพัฒนาการและขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคิดของบุคคลจะมีจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้าย การอธิบายพัฒนาการแนวนี้มีลักษณะการมองเป็นเส้นตรงหรือระนาบเดียว มองดูความต่อเนื่องแบบมีลำดับขั้น[40]  เช่นการอธิบายแบบวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เริ่มจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง  หรือเริ่มจากความเรียบง่ายไปสู่ความซับซ้อน  จากความเจือจางไปสู่ความเข้มข้น เส้นทางของลำดับขั้นและพัฒนาการดังกล่าวเป็นกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์  ซึ่งเชื่อเรื่อง “ความก้าวหน้า” (Progress)[41]  กระบวนทัศน์นี้มองว่าสังคมและมนุษย์จะพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆโดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์  และการขึ้นเรื่องความก้าวหน้า การทำให้ดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น ชัดเจนขึ้น แฝงอยู่ในโครงสร้างความคิดของนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ด้วย
ปุรินทร์อธิบายกระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์ของเกย์แบบสูตรสำเร็จ  แม้แต่คำว่า “เอกลักษณ์” ก็ยังให้ภาพที่ตายตัว    ปุรินทร์อธิบายว่ากระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์เกย์เป็นกระบวนการที่มีลำดับขั้น เริ่มจากขั้นที่หนึ่ง เกิดความรู้สึกแตกต่างจากผู้อื่น ขั้นที่สองความสงสัยและคิดว่าตนเองเป็นคนรักเพศเดียวกัน และขั้นที่สาม คือการยอมรับเอกลักษณ์ของเกย์  ขั้นตอนดังกล่าวนี้คือเส้นทางชีวิตที่เกย์ทุกคนต้องเผชิญจากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดสุดท้าย ซึ่งทำให้เชื่อว่า ความเป็น“เกย์”  มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน   การศึกษาของไชโยก็เชื่อว่าการสื่อสารเพื่อเปิดเผยตัวของชายรักชายจะมีขั้นตอนจากการแสดงออกทางอ้อม เช่นการแต่งกาย แสดงกิริยาอาการไปจนถึงการบอกตรงๆกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน   และปลายทางของการสื่อสารมีสองแบบคือ การยอมรับและการปฏิเสธ  ไชโยจะจัดประเภทครอบครัวเป็น 3 แบบที่เป็นเงื่อนไขของการเปิดเผยตัว ระหว่างครอบครัวที่ให้อิสระ ครอบครัวที่ใช้กฎระเบียบ และครอบครัวที่ไม่สนใจว่าใครทำอะไร  ทำให้เห็นว่าพัฒนาการของเกย์อยู่ในระเบียบบางอย่าง เช่น กฎเกณฑ์ของครอบครัว หรือรูปแบบของการสื่อสาร  
การศึกษาของจตุพรชี้ว่าบุคคลสามารถจัดระเบียบอัตลักษณ์ของตัวตนในสถานการณ์ต่างๆ และพื้นที่เซานาคือคำตอบสุดท้ายที่จะทำให้เกย์ได้เรียนรู้เพศของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบทบาทบนเตียง หรือความรัก  โดยมองข้ามไปว่าการตระหนักรู้ถึงตัวตนทางเพศอาจอาศัยช่องทางอื่นๆที่มิใช่เซานาอาจเป็นไปได้  จตุพรพยายามใช้ประสบการณ์ชีวิตของตัวเองและผู้ถูกศึกษาเพื่อบอกว่าเกย์มีพัฒนาการทางความคิดมาอย่างไร มีการเปลี่ยนผ่านอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกย์แสดงตัวตน  การอธิบายเชิงพัฒนาการนี้มองว่าจิตวิทยาของบุคคลมีขั้นตอนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง  จตุพรพยายามชี้ว่าตัวแบบเกย์ 3 แบบ คือ เกย์คิง เกย์ควีน และเกย์ควิง คือผลลัพธ์สุดท้ายที่บุคคลจะเลือกปฏิบัติ ซึ่งก่อให้เกิดความสงสัยว่าตัวแบบเหล่านี้คือการจัดจำแนกเพศอีกแบบหนึ่งใช่หรือไม่  และเราสามารถจัดจำแนกได้อย่างง่ายๆเช่นนี้หรือไม่
ปัญหาเรื่องแนวคิดความก้าวหน้าและพัฒนาการมาพร้อมกับการจัดจำแนกประเภทพฤติกรรมของมนุษย์ออกเป็นกลุ่มๆ  โดยมองไม่เห็นความเหลื่อมซ้อนของพฤติกรรม ซึ่งบางอย่างอาจจัดประเภทไม่ได้    นอกจากนั้นการหาจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของพฤติกรรมก็เป็นเรื่องสมมุติ    ในการวิจัยเกย์ การบอกว่าคนเป็นเกย์เริ่มจากการสงสัยตัวเองอาจใช้ไม่ได้ทุกกรณี  ผู้ชายบางคนอาจไม่มีปัญหากับข้อสงสัยนี้ และไม่ได้อยู่ในเส้นทางพัฒนาการของการเป็นเกย์ตามทฤษฎีของปุรินทร์หรือจตุพร    แต่ประสบการณ์ทางเพศของผู้ชายบางคนอาจทำลายความเชื่อเดิมๆที่บอกว่าการเป็นเกย์ต้องใช้ชีวิตทางเพศเท่านั้น   ผู้ที่บอกว่าตัวเองเป็นเกย์อาจไม่ต้องอาศัยเรื่องเพศเสมอไป     ตัวอย่างการศึกษาของกิลเบิร์ต เฮิร์ช[42] เกี่ยวกับการเปิดเผยตัวของเกย์ในอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ชุมชนของเกย์ที่มีส่วนผลักดันหรือส่งเสริมให้เกย์รุ่นใหม่รู้จักตัวเองเร็วขึ้น  โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องเพศด้วยตัวเอง

บทสรุป ปฏิฐานนิยมที่ซ่อนเร้น

                การสังเคราะห์งานวิจัยทั้ง 5 เรื่องนี้อาศัยวิธีคิดเชิงญาณวิทยา ซึ่งเป็นการตรวจสอบว่างานวิจัยเหล่านี้มีวิธีการสร้างความรู้เกี่ยวกับเกย์อย่างไร ใช้กระบวนทัศน์แบบไหน  ภายใต้กระบวนทัศน์นั้นใช้ทฤษฎีอะไรเป็นเครื่องมือเพื่ออธิบายความจริงเกี่ยวกับเกย์  และความจริงภายใต้กระบวนทัศน์นั้นทำให้เราเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของเกย์อย่างไรบ้าง    การสังเคราะห์ในที่นี้มิได้มีเป้าหมายเพื่อที่จะปฏิเสธความรู้ที่งานวิจัยสร้างขึ้น หากแต่ต้องการตรวจสอบสถานะของ “ความรู้” เกี่ยวกับเกย์ศึกษาในสังคมไทยว่าเดินมาถึงจุดไหนแล้ว  ความรู้เหล่านั้นท้าทายในเชิงกระบวนทัศน์และแนวคิดทฤษฎีหรือไม่ อย่างไร  
จากบทสังเคราะห์ที่กล่าวมาแล้ว ผู้ศึกษาพบว่าความรู้จากงานวิจัยทั้ง 5 เรื่อง  แม้จะมีแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเกย์ในสังคมไทย โดยเฉพาะการนำประสบการณ์ระดับปัจเจกมาฉายภาพให้เห็นว่าเกย์มิได้เป็นฝ่ายถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว แต่เกย์ยังเป็นผู้สร้างความหมาย ต่อรอง ตอบโต้ และมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสังคมในสถานการณ์ สถานที่ และเวลาที่เปลี่ยนแปลง  ทำให้มองเห็นภาพเคลื่อนไหวของสังคมเกย์ไทย   ในขณะเดียวกันงานวิจัยทั้ง 5 เรื่องเป็นภาพสะท้อนของการมองเกย์ในแง่บวก คือเกย์เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม มีอุดมการณ์ มีโลกทัศน์ มีสังคมและวัฒนธรรมของตัวเอง การอธิบายในลักษณะนี้ทำให้เชื่อว่าเกย์พยายามดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและแสวงหาคุณค่าให้กับตัวเอง  
ข้อค้นพบที่ผู้ศึกษาได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยทั้ง 5 เรื่อง สามารถสรุปได้ดังนี้
1 ในระดับของญาณวิทยาจะพบว่างานวิจัยเหล่านี้พยายามแสวงหาความรู้แบบ Inductive Reasoning  หมายถึงการอาศัยกระบวนการตามธรรมชาติเข้าไปค้นหาสิ่งที่เกิดขึ้นในปรากฎการณ์  และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อสร้างทฤษฎี  กล่าวคือมีการใช้ประสบการณ์ของเกย์บางคนเพื่อที่จะค้นหาว่าเกย์คนอื่นๆน่าจะมีประสบการณ์คล้ายๆกัน เช่น ประสบการณ์ทางเพศ ความกดดันในชีวิต การเปิดเผยตัวตน การพัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศ  ความสัมพันธ์ทางสังคม ไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิต และทัศนคติเกี่ยวกับความรัก เป็นต้น  วิธีนี้เป็นการอุปมานจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่เพื่อสร้างคำอธิบายทั่วไปถึงวิถีชีวิตของเกย์
                วิธีการอุปมานแบบนี้พบเห็นทั่วไปในงานวิจัยเชิงคุณภาพ  จากตัวอย่างงานวิจัยเกย์ที่ยกมานี้ ทำให้เห็นว่าการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเกย์แฝงไปด้วยเจตนารมย์ที่จะ “ปลดปล่อย” เกย์ให้เป็นอิสระ ถ้าดูผิวเผินก็อาจเห็นว่าเป็นเจตนารมย์ที่ดีที่พยายามนำเสนอมิติทางความคิดของบุคคลที่เป็นเกย์  แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามต่อไปว่าคำว่า “เกย์” ก็มีปัญหาในตัวเอง   หากมองในมิติวัฒนธรรมก็จะพบว่าสังคมไทยรับรู้ความหมาย “เกย์” มาจากตะวันตก นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าความเป็นเกย์ถ่ายทอดมาจากวัฒนธรรมอเมริกันและส่งต่อไปจากที่อื่นๆ โดยอาศัยวัฒนธรรมบริโภค วัฒนธรรมป็อป เช่น ภาพยนตร์ ละคร บทเพลง แฟชั่น และอินเตอร์เน็ต[43]  และในสังคมที่รับเอาคำว่าเกย์มาใช้ก็ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างความรู้เรื่องเพศที่มีอยู่เดิมกับความรู้เรื่องเพศชุดใหม่  การปะทะต่อรองหรือครอบงำซึ่งกันและกันนี้ยังมีความคลุมเคลือมาก ความหมายของเกย์จึงมิได้เป็นของสำเร็จรูปที่จะหาข้อสรุปแบบง่ายๆ

                2 งานวิจัยทั้ง 5 เรื่อง อธิบาย “ประสบการณ์”  ของเกย์ที่ขาดบริบททางวัฒนธรรมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาแบบ Relativism   ทำให้งานวิจัยได้แยกประสบการณ์ออกมาอยู่ลำพัง ตัดขาดจากบริบท โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นวิธีคิดเรื่องเพศและการปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทย  บริบทนี้ปรากฎอยู่แค่เรื่องเล่าจากประสบการณ์หรือเรื่องแต่งในเอกสาร ดังนั้นความเข้าใจของเกย์จึงถูกลดถอนลงเหลือเพียงประสบการณ์ส่วนบุคคล    การศึกษาแบบสัมพัทธ์นิยมจำเป็นต้องเข้าใจความหมายของวัฒนธรรมในแง่ที่เป็นองค์รวมและความซับซ้อนของปรากฎการณ์ ซึ่งการแสวงหาคำอธิบายทั่วไปอาจทำได้ยากขึ้น  การลดถอนวัฒนธรรมให้เหลือเพียงปัจเจกบุคคลจึงเป็นวิธีคิดแบบเดียวกับปฏิฐานนิยม
การใช้ประสบการณ์เป็นศูนย์กลางของการทำความเข้าใจเกย์ คือการมองว่าระดับความคิด อารมณ์ ความรู้สึกที่อยู่ภายใน จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น เป็นเรื่องนามธรรม สิ่งเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดออกมาในสัญลักษณ์และความหมายบางอย่าง ดังนั้นนักวิจัยจึงมุ่งไปหาทฤษฎีที่ตรวจสอบระบบความคิดของปัจเจก ดังเช่น ปุรินทร์ใช้ทฤษฎีปฏิสังสรรค์สัญลักษณ์  เอกศาสตร์ใช้ทฤษฎีพิธีกรรม  ไชโนใช้ทฤษฎีสื่อสาร  เทอดศักดิ์ใช้การวิเคราะห์วาทกรรม และจตุพรใช้การวิเคราะห์เรื่องเล่า  จะเห็นว่าแนวคิดทฤษฎีเหล่านี้สนใจระบบความหมายที่ซ่อนอยู่ และเชื่อว่าถ้าเข้าใจความหมายนั้นก็จะเข้าใจตัวมนุษย์ด้วย   ทั้งนี้ระบบความคิดเป็นเรื่อง Subjective ซึ่งเคยถูกมองข้ามไปจากปฏิฐานนิยม แต่การแยกระบบความคิดออกจากบรบิททางวัฒนธรรม ทำให้วิธีศึกษามีลักษณะเป็น
Value-oriented rationality[44]  หรือเป็นการมองระบบเหตุผลที่อยู่ในระดับความคิด ซึ่งเป็นแนวการศึกษาแนวหนึ่งของปฏิฐานนิยม
                ที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าเค้าโครงความคิดแบบปฏิฐานนิยมยังคงมีอิทธิพลต่อการศึกษาในงานวิจัยทั้ง 5 เรื่อง  คำถามก็คือการข้ามพ้นไปจากความคิดแบบนี้จะเป็นไปได้ไหม และเค้าโครงความคิดนี้ส่งผลต่อคำอธิบายเชิงคุณภาพอย่างไร  การหันมาสนใจมิติประสบการณ์และความคิดของมนุษย์มิได้หมายความว่าจะหลุดพ้นไปจากกรอบคิดแบบวิทยาศาสตร์เสมอไป  เพราะ “ตัวตน” ของมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์เชิดชูมาตั้งแต่ยุคของเรเน่ เดส์คาร์ต[45] การศึกษาประสบการณ์ของมนุษย์ถ้ามองข้ามบริบทที่มนุษย์ดำรงอยู่ก็ไม่ต่างจากการเห็นมนุษย์เป็นวัตถุที่แยกอยู่ลำพัง     นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่าการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกย์เป็นการสร้างความรู้เกี่ยวกับเกย์  วัฒนธรรมเกย์จึงเป็นเรื่องของการแข่งขันต่อสู้ทางการเมืองและทางสติปัญญา การทำวิจัยเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกย์จึงหลีกหนีไม่พ้นการถกเถียงเรื่องการเมืองและความรู้[46]   ฉะนั้นการตระหนักรู้ถึงปัญหาของการแสวหาความรู้แบบปฏิฐานนิยมและสัมพัทธ์นิยมจึงมีความสำคัญ ไม่เฉพาะแต่การอธิบายความจริงเกี่ยวกับเกย์ แต่ยังรวมถึงข้อจำกัดของความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

การศึกษาเกย์ที่ข้ามพ้นไปจากปฏิฐานนิยม

                ในที่นี้ ผู้ศึกษาขอนำเสนอแนวทางการศึกษาเกย์ที่หลุดพ้นไปจากการอธิบายแบบแบ่งขั้ว (Binary Approach) ที่ตกอยู่ในกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยม   โดยจะอาศัยกรอบความคิดของนักวิชาการหลังยุคสมัยใหม่ที่วิพากษ์การแบ่งคู่ตรงข้ามและการจัดประเภทมนุษย์เป็นรักต่างเพศ และรักเพศเดียวกัน    นักวิชาการสายนี้ตั้งข้อสังเกตว่าฐานคิดแบบปฏิฐานนิยมเป็นฐานคิดกระแสหลักในการศึกษาเกย์  ทำให้เกย์ลายเป็น “สูตรสำเร็จ” และชูมิติทางเพศให้เหนือกว่ามิติทางความคิด    สิ่งนี้เป็นการตอกย้ำความแปลกแยกให้กับเกย์มากขึ้น      ปีเตอร์ นาร์ดีตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้นักวิชาการหลายคนจะออกมาสนับสนุนให้เกย์มีสิทธิเสรีภาพ แต่การสนับสนุนนี้ก็วางอยู่บนความเชื่อเดิมๆที่เห็นว่า “เพศวิถี” ของเกย์เป็นสิ่งที่สังคมปฏิเสธ[47]  การศึกษาแบบกระแสหลักนี้มองข้ามการถกเถียงเรื่องเพศวิถีในฐานะที่เป็นอำนาจครอบงำจากสังคมรักต่างเพศ (Heterosexual Norm)  และทำให้เห็นว่ากลุ่มเกย์เปรียบเสมือน “ชนกลุ่มน้อย” ที่ถูกกดขี่ข่มเหง
                การหันมาศึกษามิติทางวัฒนธรรมจะทำให้เห็นวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศของคนรักเพศเดียวกันซึ่งอาจไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นเกย์ แต่อาจแสดงความเป็นชายหรือความเป็นหญิงผ่านความสัมพันธ์ทางสังคม  การแสดงออกทางเพศเหล่านี้มิได้มีพรมแดนที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกและสถานการณ์  นักวิชาการสายหลังโครงสร้างทั้งหลายจึงสนใจที่จะวิเคราะห์บริบทของการแสดงออกทางเพศ และบุคคลที่เป็นเกย์ก็ได้หยิบยืมความหมายของการแสดงตัวตนทางเพศมาจากหลายส่วน ทั้งค่านิยมของท้องถิ่นและค่านิยมสากลที่ผ่านมาทางสื่อชนิดต่างๆ  ทำให้เกิดความซับซ้อนของการแสดงตัวตนทางเพศ   เฮนริเอตต้า มัวร์[48] กล่าวว่าเรื่องเพศเป็นการกระทำต่อ “เรือนร่าง” (body) ซึ่งเชื่อมโยงกับความหมายทางสังคม ทั้งที่เป็นจินตนาการและรูปธรรมทางวัตถุ   ดังนั้น ความเข้าใจเรื่องเพศของมนุษย์จึงมิใช่เป็นแค่เรื่องทางสังคม หรือชีววิทยา แต่เป็นเรื่องของการเกี่ยวข้องพัวพันอย่างซับซ้อนระหว่างพฤติกรรมสังคม วัตถุวิสัย ระบบความหมาย จินตนาการ ซึ่งล้วนแสดงออกโดยวาทกรรมต่างๆ
                ผู้ศึกษาเชื่อว่าข้อสังเกตของนาร์ดี และมัวร์ นำไปสู่คำถามใหม่ๆในการศึกษา “เกย์”  ซึ่งมุ่งที่จะทำความเข้าใจพฤติกรรม  การสร้างความหมาย การสร้างตัวตน ในบริบทของวัฒนธรรม  การศึกษาแนวนี้มิได้แบ่งแยกว่าใครคือเกย์ ใครไม่ใช่เกย์ แต่เป็นการศึกษาว่าความหมายของเกย์ถูกถ่ายทอด ถูกรื้อสร้าง ถูกขัดยืนโดยบุคคลอย่างไร  สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นภายใต้พิธีกรรม หรือช่วงเวลาพิเศษที่บุคคลนำตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น  การข้ามพ้นไปจากปฏิฐานนิยมจึงเป็นการเปิดพรมแดนของความซับซ้อนในวัฒนธรรมของคนรักเพศเดียวกัน   การศึกษาเกย์ที่ยึดมั่นในเรื่องอัตลักษณ์จะมองไม่เห็นความซับซ้อนของพฤติกรรมทางเพศ     ดังนั้นการมาถึงของกระบวนทัศน์หลังสมัยใหม่จะรื้อทำลายความคิดเดิมๆที่มองว่าเกย์เป็นสากลหรือมีเอกภาพ  และมองว่าความหมายของเกย์และเพศวิถีเป็นพรมแดนที่ยังไม่ลงตัว[49]        

บรรณานุกรม

จตุพร บุญ-หลง. ชีวิตติดเบอร์ ตัวตนและเพศวิถีของเกย์ “ควิง” ในเซานา M. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
(สตรีศึกษา). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,กรุงเทพฯ 2548.
ไชโย นิธิอุบัติ. การสื่อสารเพื่อการเปิดเผยตนเองของกลุ่มชายรักชาย. วิทยานิพนธ์สาขานิเทศศาสตร์พัฒนาการ
ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ. 2546.
เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. วาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย พ..2508-25042. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต,
สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2545.
ปุรินทร์ นาคสิงห์. เกย์ กระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศ. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและ
มานุษยวิทยามหาบัณฑิต (สังคมวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2547.
เอกศาสตร์ สรรพช่าง. คาราโอเกะคลับ พื้นที่และตัวตนของเกย์อ้วน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ. 2546.

Carole S. Vance. “Anthropology Rediscovers Sexuality: A Theoretical Comment.” In Jennifer Robinson. (ed).
                Same –Sex Cultures and Sexualitites. Blackwell, Oxford. 2005.
David Greenberg. The Construction of Homosexuality. University of Chicago Press, Chicago. 1988.
David Halperin. How to do the History of Homosexuality. University of Chicago Press, Chicago. 2002.
Duncan Pritchard. What is this thing called knowledge?. Routledge, London. 2006.
Eve Sedgwick. Epistemology of the Closet. University of California Press, Berkeley. 1990.
Evelyn Blackwood.(ed.) The Many Faces of Homosexuality: Anthropological Approaches to Homosexual
                Behavior. Harrington Park Press. 1986.
Gert Hekma. “Queering Anthropology” in Theo Sandfort and Others (eds.) Lesbian and Gay Studies. SAGE
Publication, London. 2000.
Gilbert H. Herdt (ed.). Ritualized Homosexuality in Melanesia. University of California Press, Berkeley. 1984.
Gilbert Herdt. (ed.). Gay Culture in America. Boston: Beacon Press. 1992.
Guy Hocquenghem, Homosexual Desire, Daniella Dangoor, trans, London, Allison and Busby, 1968.
Henrietta L.Moore, “Gender and Other Crises in Anthropology,” in Henrietta L.Moore.(ed.),
Anthropological Theory Today, Cambridge UK, Polity Press, 1999. Pp.151-171.
John Money. Gay, Straight, and In-between: The Sexology of Erotic Orientation. Oxford University Press, 1988.
Leo Bersani, Homos, Cambridge, MA and London, Harvard University Press, 1995.
Martin Hollis. The Philosophy of Social Science. Cambridge University Press, Cambridge. 1994.
Mark J. Smith. Social Science in Question. Sage, London. 1998.
Mats Alvesson. Postmodernism and Social Research. Open University Press, Buckingham. 2002.
Michael Bronski, The Pleasure Principle. St.Martin’s Press, New York. 1998.
Michael Williams. Problems of Knowledge. Oxford University Press, Oxford. 2001.
Michel Foucault [French publication: 1976], The History of Sexuality, Vol. I: An Introduction, translated by
                Robert Hurley, Pantheon, New York.1978.
Nikki Sullivan. A Critical Introduction to Queer Theory. New York, New York University Press, 2003. 
Peter Nardi. “The Mainstreaming of Lesbain and Gay Studies?” in Diane Richardson and Steven Seidman (ed.)
                Handbook of Lesbian and Gay Studies. Sage, London. 2002. p.49.
Pip Jones. Introducing Social Theory. Polity Press, Cambridge. 2003.
Rudi C. Bleys. The Geography of Perversion. New York University Press, New York. 1995.
Valerie Malhotra Bentz and Jeremy J. Shapiro. Mindful Inquiry in Social Research. Sage, London. 1998.
Will Roscoe. “Writing Queer Culture” in Ellen Lewin and William L. Leap. (eds). Out in the Field. University
of Illinois Press, Chicago. 1996.
Yvonna S. Lincoln, Egon G. Guba. Naturalistic Inquiry. Sage, London. 1985.
               
                 

               


[1]               Duncan Pritchard. What is this thing called knowledge?. Routledge, London. 2006. p.4.
[2]               Michael Williams. Problems of Knowledge. Oxford University Press, Oxford. 2001. p.1.
[3]               Michael Williams..2001 Ibid. p.4.
[4]               Michael Williams..2001 Ibid. p.7.
[5]               Valerie Mallhotra Bentz abd Jeremy J. Shapiro. Mindful Inquiry in Social Research. Sage, London. 1998. p. 20.
[6]               Martin Hollis. The Philosophy of Social Science. Cambridge University Press, Cambridge. 1994. p. 3.
[7]               Valerie Mallhotra Bentz abd Jeremy J. Shapiro. 1998. Ibid. p.29.
[8]               Mark J. Smith. Social Science in Question. Sage, London. 1998. p.13.
[9]               Valerie Mallhotra Bentz abd Jeremy J. Shapiro. 1998. Ibid. p.28.
[10]             Eve Kosofsky  Sedgwick. Epistemology of the Closet. University of California Press, Los Angeles.1990.
[11]             David Greenberg. The Construction of Homosexuality. University of Chicago Press, Chicago. 1988.
[12]             David Greenberg. 1988. Ibid. p.2.
[13]             David Greenberg. 1988. Ibid. p.10.
[14]             David Halperin. How to do the History of Homosexuality. University of Chicago Press, Chicago. 2002.
[15]             David Greenberg. 1988. Ibid. p.19.
[16]             Gilbert H. Herdt (ed.). Ritualized Homosexuality in Melanesia. University of California Press, Berkeley. 1984.
[17]             Gert Hekma. “Queering Anthropology” in Theo Sandfort and Others (eds.) Lesbian and Gay Studies. SAGE Publication, London. 2000.pp.81-93.
[18]             Michel Foucault [French publication: 1976], The History of Sexuality, Vol. I: An Introduction, translated by  Robert Hurley, Pantheon, New York.1978.
[19]             Carole S. Vance. “Anthropology Rediscovers Sexuality: A Theoretical Comment.” In Jennifer Robinson. (ed). Same –Sex Cultures and Sexualitites. Blackwell, Oxford. 2005. p.18.
[20]             Carole S. Vance.2005. Ibid. p.20.
[21]             เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. วาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย พ..2508-25042. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต,สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2545.
[22]             ปุรินทร์ นาคสิงห์. เกย์ กระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศ. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (สังคมวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2547.
[23]             ไชโย นิธิอุบัติ. การสื่อสารเพื่อการเปิดเผยตนเองของกลุ่มชายรักชาย. วิทยานิพนธ์สาขานิเทศศาสตร์พัฒนาการ ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ. 2546.
[24]             เอกศาสตร์ สรรพช่าง. คาราโอเกะคลับ พื้นที่และตัวตนของเกย์อ้วน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ. 2546.
[25]             ซีซี ย่อมาจาก Chub like Chub  ซีเอส ย่อมาจาก Chub like Slim  ซีเอ ย่อมาจาก Chub like All
[26]             จตุพร บุญ-หลง. ชีวิตติดเบอร์ ตัวตนและเพศวิถีของเกย์ “ควิง” ในเซานา M. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต(สตรีศึกษา). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,กรุงเทพฯ 2548.
[27]             เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. อ้างแล้ว. 2545. หน้า 76-84.
[28]             คำว่าควีนในชุมชนเกย์ในโลกตะวันตก มีที่มาไม่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าสังคมเกย์มักจะนิยมจัดงานเลี้ยงเต้นรำ ซึ่งเกย์นิยมแต่งกายเป็นหญิงในชุดอลังหาร เกย์จึงเรียกพฤติกรรมการแต่งกายลักษณะนี้ว่า “queen”  สันนิษฐานว่าเมื่อกะเทยไทยติดต่อกับชาวตะวันตกจึงได้นำคำว่า “เกย์ควีน” มาเรียกแทนเพื่อทำให้รู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากกะเทยแบบเก่า   อาจกล่าวได้ว่าความหมายของเกย์ควีน เป็นคำที่กลุ่มกะเทยที่มีการศึกษาหรือมีฐานะใช้เรียกตัวเองเพราะเป็นคำที่ดูโก้หรู
[29]             เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. อ้างแล้ว. 2545. หน้า 88.
[30]             เอกศาสตร์อ้างถึงพื้นที่อินเตอร์เน็ตด้วย หากอธิบายโลกทัศน์ของเกย์อ้วนต่ออินเตอร์เน็ตเปรียบเทียบกับคาราโอเกะอาจทำให้เห็นความขัดแย้งในตัวตนของเกย์อ้วนมากขึ้น
[31]             เพศวิถีหรือ Sexuality เป็นคำที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คนที่พูดถึงเพศวิถีครั้งแรกคือคาร์ล เฮนริช อุลริชน์ ชาวเยอรมัน โดยใช้คำว่า sexual orientation   ปัจจุบันคำว่า sexuality ถูกมองว่าเป็นการสร้างทางสังคม ที่อธิบายว่ามนุษย์จะมีความโน้มเอียงทางจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกที่จะสนใจคนเพศเดียวกัน คนต่างเพศหรือทั้งสองอย่าง  Sexuality จึงเป็นเรื่องทางอารมณ์มากกว่าจะเป็นกิจกรรมทางเพศ
[32]             Rudi C. Bleys. The Geography of Perversion. New York University Press, New York. 1995. pp.213-229.
[33]             Guy Hocquenghem, Homosexual Desire, Daniella Dangoor, trans, London, Allison and Busby, 1968. Leo Bersani, Homos, Cambridge, MA and London, Harvard University Press, 1995. Nikki Sullivan. A Critical Introduction to Queer Theory. New York, New York University Press, 2003.  Foucault, Michel  [French publication: 1976], The History of Sexuality, Vol. I: An Introduction, translated by Robert Hurley, Pantheon, New York. 1978.
[34]             Evelyn Blackwood.(ed.) The Many Faces of Homosexuality: Anthropological Approaches to Homosexual Behavior. Harrington Park Press. 1986. Gert Hekma. “Queering Anthropology” in Theo Sandfort and Others (eds.) Lesbian and Gay Studies. SAGE Publication, London. 2000.pp.81-93.
[35]             John Money. Gay, Straight, and In-between: The Sexology of Erotic Orientation. Oxford University Press, 1988.
[36]             Mats Alvesson. Postmodernism and Social Research. Open University Press, Buckingham. 2002.
[37]             Michael Bronski. The Pleasure Principle. St.Martin’s Press, New York. 1998. Pp.54-63.
[38]             Foucault, Michel [French publication: 1976], The History of Sexuality, Vol. I: An Introduction, translated by Robert Hurley, Pantheon, New York.1978.
[39]             Eve Sedgwick. Epistemology of the Closet. University of California Press, Berkeley. 1990.
[40]             Yvonna S. Lincoln, Egon G. Guba. Naturalistic Inquiry. Sage, London. 1985.p.21.
[41]             Valerie Malhotra Bentz and Jeremy J. Shapiro. Mindful Inquiry in Social Research. Sage, London. 1998. p.28.
[42]             Gilbert Herdt. (ed.). Gay Culture in America. Boston: Beacon Press. 1992.
[43]             Michael Bronski, The Pleasure Principle. St.Martin’s Press, New York. 1998. Pp.140-147.
[44]             Pip Jones. Introducing Social Theory. Polity Press, Cambridge. 2003. p.169.
[45]             Valerie Malhotra Bentz and Jeremy J. Shapiro. Mindful Inquiry in Social Research. Sage, London. 1998. p.22.
[46]             Will Roscoe. “Writing Queer Culture” in Ellen Lewin and William L. Leap. (eds). Out in the Field. University of Illinois Press, Chicago. 1996. Pp.200-208.
[47]             Peter Nardi. “The Mainstreaming of Lesbain and Gay Studies?” in Diane Richardson and Steven Seidman (ed.) Handbook of Lesbian and Gay Studies. Sage, London. 2002. p.49.
[48]             Henrietta L.Moore, “Gender and Other Crises in Anthropology,” in Henrietta L.Moore.(ed.), Anthropological Theory Today, Cambridge UK, Polity Press, 1999. Pp.151-171.
[49]             Carole S. Vance. 2005. Ibid. p.19.

ไม่มีความคิดเห็น: