2/27/2556

ตรรกะของการแปลงเพศ



“ตัดทิ้ง” แล้ว “สร้างใหม่” : 
ตรรกะของการแปลงเพศและความสวย

เขียนโดย ดร.เจย์ พรอสเซอร์ (1998)
แปลและเรียบเรียงโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

            บทกวีของชารอน โอลด์ เรื่อง Outside the Operating Room of the Sex-Change Doctor สะท้อนให้เห็นเรื่องราวขององคชาตที่ถูกตัดทิ้ง ซึ่งเป็นเศษชิ้นส่วนร่างกายที่เกิดจากการผ่าตัดแปลงเพศ ถึงแม้ว่าจะไม่เหมือนกับการทารุณกรรมมนุษย์ในแบบอื่นๆที่โลกเคยรู้จักมา แต่การตัดองคชาตที่ดูน่าสยดสยองในที่นี้ก็ถูกเล่าด้วยบทกวีที่ชี้ให้เห็นความโหดร้ายน่ากลัว จนแทบมองไม่เห็นว่ามันคือการผ่าตัดแปลงเพศ ภาพลักษณ์ขององคชาตที่ถูกตัดทิ้งในบทกวีไม่ได้บ่งชี้ว่ามันคือการผ่าตัดร่างกายจากชายไปเป็นหญิง (ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การผ่าตัดแบบนี้เป็นการตัดเฉพาะอัณฑะ จะมิใช่การตัดองคชาต  แต่หนังที่อยู่รอบๆองคชาตจะถูกชำแหละออกเพื่อนำไปเป็นเนื้อเหยื่อของโยนีที่จะถูกสร้างขึ้นใหม่) แต่บทกวีนี้นำเสนอเรื่องราวการผ่าตัดแปลงเพศในฐานะเป็นการเปลี่ยนความหมาย เป็นการทำลายการมีเพศมากกว่าจะเป็นการทำให้ “เกิดเพศ” บทกวีนี้ไม่ได้สนใจร่างกายที่เกิดขึ้นใหม่ของคนที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ แต่สนใจอวัยวะเพศที่ถูกตัดทิ้งไป   “ร่างกาย” ที่ถูกเล่าในบทกวีนี้ทำให้องคชาตที่ถูกตัดทิ้งไปแล้วมีชีวิตใหม่ขึ้นมาอีก กล่าวคือ องคชาตที่ถูกตัดทิ้งจะเป็นภาพสะท้อนความคิดของคนที่เคยเป็นเจ้าขององคชาตนั้น ราวกับว่าองคชาตกำลังพูดแทนเจ้าของที่ตัดมันทิ้ง ราวกับว่า “ความจริง” ของตัวตนไม่ได้อยู่ในร่างกายใหม่ของคนผ่าตัดแปลงเพศ แต่อยู่กับอวัยวะเพศที่ถูกตัดทิ้งไปแล้ว และราวกับว่าองคชาตคือประจักษ์พยานของ “เพศที่แท้จริง” ของคนที่แปลงเพศแล้ว จากคำอธิบายนี้ทำให้เข้าใจว่ามีกระบวนการตีตราคนที่แปลงเพศ และมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนปรากฎอยู่ในเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ ความเข้าใจที่ว่านั่นคือ การแปลงเพศจะเป็นเรื่องของการตัดอวัยวะของร่างกายที่โหดร้าย ซึ่งการผ่าตัดแปลงเพศไม่ได้ทำให้เกิดการมีเพศใหม่ แต่จะเป็นการทำให้ชายและหญิงกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่ไร้เพศโดยผ่านการตัดอวัยวะเพศที่ธรรมชาติสร้างมาให้
            ไม่ต้องแปลกใจเลยที่การผ่าตัดแปลงเพศคือ “ตัวการ” ที่ทำให้สังคมมองว่าการแปลงเพศเป็นเรื่อง “ผิดธรรมชาติ” ในจินตนาการทางวัฒนธรรม  ตรรกะของการตัดอวัยวะ คือ เมื่อร่างกายถูกผ่าตัดแล้ว มันจะไม่ถูกทำให้บาดเจ็บหรือเสียรูปทรง แต่การผ่าตัดนั่นแหละจะถูกทำให้เสียหายเสียเอง  การผ่าตัดแปลงเพศแตกต่างจากการผ่าตัดเพื่อการเยียวยารักษา ในแง่ที่ว่าการแปลงเพศไม่ใช่การแก้ปัญหาความผิดปกติของร่างกายเหมือนกับการผ่าตัดแบบอื่นๆที่ไม่ใช่การผ่าตัดตามปกติ การผ่าตัดแปลงเพศจะเข้าไปเกี่ยวกับเรื่องอวัยวะเพศโดยตรง ซึ่งทำให้การผ่าตัดแปลงเพศเป็นการทำให้ร่างกายที่สมบูรณ์ต้องเสียโฉมไป ความเกี่ยวโยงระหว่างการผ่าตัดแปลงเพศกับเรื่องความสวยงาม เอื้อให้บริษัทประกันด้านสุขภาพหลายแห่งพยายามจัด “การผ่าตัดแปลงเพศ” ให้อยู่ในกลุ่มการรักษาโรคชนิดหนึ่งซึ่งถูกควบคุมโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์อเมริกัน โดยชี้ว่าความเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์  หากมองเชิงประชดประชัน จะพบว่าความคิดเรื่องการแปลงเพศที่ถูกมองว่าเป็น “เรื่องเล็กๆ” และเป็นแค่ “การตัดอวัยวะ” ได้ผนวกรวมเข้ากับความคิดเรื่องศัลยกรรมความงามย่างแนบเนียน  จากการศึกษาของแคธี เดวิส พบว่าการศัลยกรรมความงามถูกประเมินว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีความสำคัญมากในทางการแพทย์ ในขณะที่การทำศัลยกรรมเพื่อแก้ไขความบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งเริ่มต้นมาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้ในสงครามในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้รับการยอมรับในฐานะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแก้ไขร่างกายที่ไม่สมประกอบหรือพิการ  ส่วนศัลยกรรมความงามถูกมองว่าเป็นมาตรการสำหรับการปรับปรุงความสวยงามให้กับร่างกายที่แข็งแรงอยู่แล้ว การประเมินศัลยกรรมความงามให้ต่ำกว่าการทำศัลยกรรมแบบอื่นๆ เห็นได้จากการใช้คำว่า “ความงาม” คำๆนี้แตกต่างจากคำว่า “ความบกพร่อง”  ถึงแม้ว่าวิธีการที่ใช้กับศัยกรรมความงามและศัยลกรรมเพื่อแก้ไขความบกพร่องจะเหมือนกัน แต่คำว่า “ความงาม” ก็สื่อให้เห็นถึงสิ่งที่ไม่สำคัญทางการแพทย์ ราวกับว่าศัลยกรรมความงามเข้าไปเกี่ยวข้องเฉพาะ “พื้นผิว” ของสิ่งที่เป็นตัวตน ศัลยกรรมความงามจึงถูกมองในฐานะเป็น “สิ่งที่อยู่พื้นผิว”
            เมื่อศัลยกรรมความงามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอวัยวะที่เป็นพื้นผิว (ชนเผ่าแอนซิอูเชื่อว่าตัวตนของมนุษย์ดำรงอยู่บริเวณผิวหนัง) ดังนั้น มิติของการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความบกพร่องที่ปรากฎอยู่ในการผ่าตัดแปลงเพศ (การจัดระเบียบเต้านมและอวัยวะเพศใหม่ และทำให้ผิวหนังของอวัยวะเหล่านั้นเปลี่ยนรูปร่างไป) ก็คือการทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม  ในกรณีของการทำศัลยกรรมความงาม เดวิสวิเคราะห์ว่าเหตุผลของการผ่าตัดเพื่อปรับแก้โครงสร้างร่างกายเป็นเรื่องของจิตใจและความรู้สึกมากกว่า  การรับรู้ถึงการมีอัตลักษณ์ที่คาดหวังถึงการปรับแต่งพื้นผิวของร่างกาย เป็นการรับรู้ตัวตนผ่านผิวหนัง ผิวหนังในที่นี้เป็นผิวหนังที่อยู่ลึกลงไปในร่างกาย การผ่าตัดแปลงเพศคือจินตนาการของการทำให้ร่างกายกลายเป็นตัวตนของคนๆนั้น แต่ตัวตนนี้จะดำรงอยู่บนพื้นผิวหนัง ถ้าการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของร่างกายเป็นเรื่องที่ปรากฎขึ้นบริเวณผิวหนัง ดังนั้นการผ่าตัดแปลงเพศก็จะเปรียบเสมือนการปลดปล่อยบางสิ่งออกจากผิวหนังนี้ จากคำบอกเล่าของธอมป์สันผู้ที่เคยผ่าตัดเอาเต้านมออก เขาบอกว่า “เต้านมเป็นเหมือนเสื้อผ้าที่ใส่แล้วไม่สบายตัว น่ารำคาญ พอตัดมันทิ้ง ฉันก็เป็นตัวของตัวเอง” เช่นเดียวกับมาร์ติโน ที่เคยผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงไปเป็นชาย เปรียบเปรยว่า “เต้านมไม่ใช่ตัวตนของฉัน” เต้านมเสมือนเสื้อผ้าที่สวมทับบนตัวตนที่เป็นร่างกายภายนอกซึ่งจะถูกตัดทิ้งไป “ฉันตื่นมาด้วยความงัวเงียหลังจากเสร็จการผ่าตัด และสงสัยว่าเต้านมที่ไม่น่ามองนั้นยังอยู่บนร่างกายของฉันหรือเปล่า” การสร้างเพศชายจากผิวหนังที่ถูกทำใหม่โดยการตัดเต้านมทิ้งไป ช่วยทำให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระมากกว่าเดิม  ทั้งมาร์ติโนและธอมป์สันอธิบายว่าความสบายหลังจากการผ่าตัดก็คือพวกเขาไม่ต้องเอาผ้ามารัดเต้านมและซ่อนมันไว้ในเสื้ออีกต่อไป  ประสบการณ์ทางสรีระของการได้สวมใส่สิ่งห่อหุ้มน้อยชิ้นลง เป็นผลมาจากการตัดเต้านมทิ้งและทำให้ร่างกายที่ไร้เต้านมสามารถเคลื่อนไหวได้อิสระ  ภาพลักษณ์ของร่างกายเป็นทั้งผลลัพธ์และต้นเหตุของประสบการณ์ทางสรีระ
            การทำศัลยกรรมทำให้ร่างกายเปลือยเปล่าเหมือนกับที่มันเคยเป็น เรื่องเล่าของคนแปลงเพศได้จารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศว่าเปรียบเสมือนการกลับบ้าน เป็นการเดินทางผ่านร่างกายเพื่อที่จะมีตัวตน ในกรณีที่คนแปลงเพศไม่สามารถสร้างตัวตนบนร่างกายได้ การผ่าตัดจะเข้ามาช่วยสร้างสิ่งที่ “ไม่ใช่ตัวตน” ให้กลายเป็นตัวตนที่คนๆนั้นต้องการ  เสมือนกับการบูรณะฟื้นฟูร่างกายที่ “เหมาะสม” หลังจากที่คนข้ามเพศอยู่ในร่างที่ผิดที่ผิดทาง การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทำให้เรื่องเล่าของคนแปลงเพศดูสมเหตุสมผลขึ้นมาได้  หากมองต่างออกไป จะพบว่าเรื่องราวของคนแปลงเพศคือสิ่งท้าทายความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับการตัดอวัยวะซึ่งคนแปลงเพศมองว่านั่นคือการปรับแต่งร่างกาย การพูดถึงภาพลักษณ์ของร่างกายที่ครบถ้วนและการสร้างร่างกายใหม่คือคำอธิบายเกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศและผลของการผ่าตัด เช่น “ฉันมีความสุข ในที่สุดฉันก็ทำสำเร็จ” “ฉันเป็นในสิ่งที่เป็น” “ชีวิตใหม่ในร่างกายของผู้ชายที่สมบูรณ์”  การอุดช่องว่างนี้คือการเอาส่วนเกินออกไป การผ่าตัดแปลงเพศทำให้ภาพลักษณ์ของร่างกายของคนแปลงเพศดูสมจริงมากขึ้น  คิม ฮาร์โลว์ ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงอธิบายว่าการผ่าตัดช่วยทำให้เธอมีตัวตนที่สมบูรณ์และจับต้องได้จริงเหมือนเป็นร่างกายของผู้หญิง  ก่อนการผ่าตัดแปลงเพศ คิมเคยคิดว่าเธออยากจะตัดทิ้งส่วนล่างของร่างกายตั้งแต่เอวลงไป เมื่อใกล้จะผ่าตัด เธอคิดถึงแต่เรื่องการผ่าตัดและไม่ได้นึกถึงอวัยวะเพศหญิงที่เธอต้องการ “เมื่อการผ่าตัดยังไม่พร้อม ฉันก็ยังเป็นคนที่ไร้เพศ” หลังจากการผ่าตัด ร่างกายของเธอถูกหุ้มด้วยผ้าพันแผล เธอยังมองไม่เห็นอวัยวะเพศหญิงที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ เวลานั้นคิมเริ่มคิดเป็นครั้งแรกว่า “ร่างกายเปลือยของเธอจะมีอวัยวะเพศหญิงปรากฎอยู่” การผ่าตัดมีส่วนต่อการสร้างภาพลักษณ์ของร่างกาย และในเวลาเดียวกันมันก็ทำให้เห็นว่ามีอวัยวะบางส่วนของร่างกาย “หายไปแล้ว”
            สิ่งที่ทำให้คนแปลงเพศสามารถจอมจำนนต่อคมมีดได้  ก็คือแรงขับที่อยากจะมีร่างกายใหม่ ร่างกายที่เขาอยากจะเป็นตามความคิด  สิ่งที่ทำให้การผ่าตัดแปรเปลี่ยนเป็นเรื่องราวของการเยียวยารักษาก็คือการสร้างความทรงจำทางร่างกายของคนแปลงเพศ การผ่าตัดทำให้เกิดสำนึกของการจดจำขึ้นมาใหม่ ซึ่งการจดจำนี้เป็นแรงขับที่พบเห็นได้ทั่วไปในการทำศัลยกรรมเพื่อแก้ไขความบกพร่องของร่างกายในคนไข้ที่ไม่ใช่คนแปลงเพศ และบางทีแรงขับนี้จะมีอยู่ในความคิดเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมเพื่อการปรับปรุงแก้ไขอวัยวะต่างๆทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นการเสริมจมูก ไปจนถึงการผ่าตัดแก้ไขรูปร่างของเต้านม ตัวตนของผู้ที่ถูกผ่าตัดจะปรากฎอยู่ในการผ่าตัดราวกับว่ามันคือร่างกายในอุดมคติที่มีอยู่ในอดีต  ตัวอย่างเช่น ลูซี เกรียลี อธิบายถึงกระบวนการผ่าตัด 30 ครั้งเพื่อแก้ไขสภาพใบหน้าที่เป็นมะเร็งของเธอว่าเปรียบเสมือน “การเดินทางบนใบหน้า” เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนใบหน้าที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้อีกแล้ว เพราะตอนที่เธอเป็นเด็ก ฟันกร้ามของเธอถูกถอนออกไปหมด การบันทึกเรื่องราวชีวิตของลูซีที่สนใจการแก้ไขร่างกายที่ไม่สมประกอบ (หรือใบหน้าที่ไม่สมประกอบ) มากกว่าที่จะสนใจเรื่องทางการแพทย์ที่ช่วยแก้ไขใบหน้า ทำให้ประสบการณ์ของลูซีใกล้เคียงกับชีวิตของคนแปลงเพศ กล่าวคือ ลูซีถูกขังอยู่ในร่างของตัวเอง เธอรู้สึกอับอายและรู้สึกแปลกแยกจากภาพลักษณ์ของตัวเอง  เธอต้องการดิ้นรนไปสู่สิ่งสมบูรณ์แบบ และสิ่งที่คนแปลงเพศต้องการในความทรงจำเกี่ยวกับร่างกายอาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้พิเศษอะไร
            ความทรงจำเป็นสิ่งสำคัญต่อการที่เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายของเราเอง การศึกษาของแซ็คเรื่อง “อวัยวะที่ลวงตา” ได้ชี้ว่าความทรงจำเกี่ยวกับร่างกายเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์เกี่ยวกับร่างกาย  อวัยวะที่ลวงตา (เช่น คนแปลงเพศ และปรากฎการณ์ที่ภาพลักษณ์ของร่างกายไม่สอดคล้องกับสรีระที่มีอยู่จริง) อาจเปรียบเสมือนเป็นความทรงจำของอวัยวะที่ถูกทำลายไปแล้ว เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับการมีอยู่ของปัจจุบันซึ่งยังคงตกค้างอยู่ในสิ่งที่ไม่มีอยู่อีกแล้ว การศึกษาเรื่องการสร้างภาพลวงตา (Phantomization) ช่วยเปิดเผยให้เห็น “ร่างกาย” ที่ดำรงอยู่ในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะไม่ลืมภาพลักษณ์ของร่างกายที่เคยเป็นมาดั้งเดิม การสร้างภาพลวงตาอาจจะเหมือนกับภาพที่กลับด้านของความจำเสื่อมที่อยู่ในกระจกเงา ความจำเสื่อมคือภาพตัวแทนของการหลงลืมภาพลักษณ์ของร่างกายที่ทำให้เจ้าของร่างรู้สึกว่าตนเองพิกลพิการ (ผู้ที่ไม่สมหวังจากการได้มีร่างกายตามความนึกคิด)  ปรากฎการณ์ของอวัยวะที่ลวงตาทำให้เห็นถึงความทรงจำเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของร่างกายซึ่งสูญหายไปแล้ว ในกรณีของคนแปลงเพศ ร่างกายของเขาจะถูกสร้างใหม่ผ่านใต้การผ่าตัดแปลงเพศ ร่างกายใหม่นี้ไม่เคยมีมาก่อนและจะถูกจดจำใหม่ในเรื่องเล่า แต่ร่างกายใหม่จะถูกทำให้มีอยู่ เพราะการผ่าตัดแปลงเพศได้ทำให้สิ่งที่ไม่เคยมีอยู่กลายเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ร่างกายของคนแปลงเพศถูกสร้างขึ้นจากความปรารถนาที่ต้องการมีอดีตที่สมบูรณ์ สิ่งนี้ไม่ใช่ความทรงจำแต่เป็นการโหยหาอดีต กล่าวคือ เป็นความต้องการแสวงหาสิ่งที่เคยเป็น แต่ไม่ต้องการที่จะกลับไปอยู่กับสิ่งนั้น การโหยหาเป็นความต้องการที่จะสร้างจินตนาการถึงสิ่งที่เคยเป็น ความทรงจำเป็นส่วนเล็กๆที่มีอยู่ในจินตนาการ และการโหยหาอดีตซึ่งพยายามประติดประต่อเรื่องราวในอดีตที่กระจัดกระจาดให้เข้ามารวมกันภายใต้จินตนาการเดียวกัน   กรอซได้ชี้ให้เห็นว่าปรากฎการณ์เกี่ยวกับอวัยวะที่ลวงตาทำให้เห็นถึงการโหยหาความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างกาย โดยกล่าวว่า “ภาพลวงตา คือการแสดงออกของการรำลึกถึงอดีตเพื่อที่จะได้มาซึ่งความสมบูรณ์ครบถ้วนของร่างกาย มันคือการแสวงหาความลงตัวแบบเบ็ดเสร็จ ภาพลวงตาคือความทรงจำของอวัยวะที่หายไปแล้ว มันเป็นตัวแทนของสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว"
            แนวคิดสองแบบที่ซ้อนกันอยู่ ระหว่างการผ่าตัดแปลงเพศในฐานะเป็นการโหยหาอดีตเกี่ยวกับเค้าโครงที่เป็นอวัยวะเพศที่เคยมีมาก่อน กับความคิดเรื่องการสร้างภาพลวงตาในฐานะเป็นการแสดงออกถึงการโหยหาร่างกายที่เป็นอุดมคติที่ไม่มีอยู่แล้ว อาจช่วยทำให้เราเข้าใจว่าร่างกายของคนแปลงเพศเป็นเหมือนกับร่างกายที่เคยมีมาก่อนแต่เป็นสิ่งที่ลวงตาได้หรือไม่ ?  ถึงแม้ว่าอวัยวะที่ลวงตาจะถูกมองว่าเป็นการทำให้ความรู้สึกถึงร่างกายที่จะถูกตัดทิ้งเบาบางลงไป ซึ่งมันเคยเป็นความรู้สึกเจ็บปวดของคนแปลงเพศ  แซ็คได้ชี้ให้เห็นถึงมิติที่มีพลังของภาพลวงตาเพื่อที่จะศึกษาคนที่มีร่างกายไม่สมประกอบ ภาพลวงตาจึงมีเรื่องเชิงบวกปนอยู่  การใช้อวัยวะเทียมช่วยให้คนพิการรู้สึกว่าตนเองมีตัวตนใหม่ ดังนั้น คนพิการต้องการภาพลวงตาที่มาทดแทนอวัยวะตามธรรมชาติที่ขาดหายไป  คนไข้คนหนึ่งของแซ็คซึ่งถูกตัดขาออกไปข้างหนึ่งเล่าว่า ขาเทียมที่เป็นภาพลวงตาช่วยให้เขาเดินได้อีกครั้ง การใช้ขาเทียม เจ้าของร่างกายจะต้องฝึกเดินให้เหมือนกับการใช้ขาจริง สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนแปลงเพศจะต้องรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอวัยวะใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายของเขาเพื่อที่จะบอกว่าอวัยวะใหม่นั้นคือ “จู่” หรือ “จิ๋ม” ของพวกเขาใช่หรือไม่ ?  คนแปลงเพศจะสามารถรับรู้ถึงอวัยวะที่ถูกสร้างใหม่ได้อย่างไร นอกเสียจากอวัยวะนี้จะเป็นภาพลวงตา ? สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของจินตนาการ สำหรับคนแปลงเพศที่จะต้องเรียนรู้ที่จะคุ้นเคยกับอวัยวะเพศใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการสร้างภาพลวงตาของอวัยวะเพศ อวัยวะใหม่นี้ไม่ได้มีไว้เพื่อการสึกกร่อน แต่มีไว้เพื่อการมีตัวตนเชิงจินตนาการในทุกๆพื้นที่ของการไม่มีตัวตน  ถ้าอวัยวะเพศตามกำเนิดเป็นเครื่องแสดงถึงความจำเสื่อมหรือเป็นสิ่งแปลกประหลาดสำหรับคนแปลงเพศ (เป็นร่างที่ผิดที่ผิดทาง) คนแปลงเพศก็จะเรียนรู้ร่างกายตามธรรมชาติของตนในฐานะเป็นเศษเสี้ยวที่พวกเขาไม่อยากจดจำ เพราะอวัยวะเพศที่แท้จริงของคนแปลงเพศคือสิ่งที่จะถูกลืม ร่างกายที่พวกเขาคิดว่าไม่ใช่ตัวตนของพวกเขาเป็นร่างกายที่จะถูกผ่าตัดเพื่อแก้ไขอวัยวะเพศเสียใหม่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจว่าการที่ไม่ต้องการจะจดจำตัวตนในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะเพศที่ลวงตา ซึ่งคนแปลงเพศคิดว่ามันคือตัวตนที่แท้จริง เป็นอวัยวะที่สร้างใหม่ที่ช่วยทำให้พวกเขารู้สึกถึงความครบถ้วนสมบูรณ์ 
            การสร้างภาพลวงตาเกี่ยวกับอวัยวะเพศจะเกิดขึ้นพร้อมๆกับการไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง (การสูญเสียความจำ) สภาพทั้งสองแบบนี้ทำให้เกิดภาพลักษณ์ของร่างกายที่ไม่สอดคล้องกับร่างกายตามธรรมชาติ กล่าวคือภาพลักษณ์นี้ได้ผลักสิ่งที่เป็นร่างกายในอดีตให้หายไป และทำให้คนแปลงเพศก้าวผ่านข้อจำกัดของร่างกายตามธรรมชาติ  สภาวะทั้งสองแบบนี้นำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ของร่างกายที่ถูกคิดว่าเป็น “ความจริง” ซึ่งทำให้คนแปลงเพศแสวงหาหนทางที่จะสร้างร่างกายของตัวเองใหม่  การผ่าตัดแปลงเพศอาจเป็นการเยียวยารักษาและการเปลี่ยนตัวตนของคนแปลงเพศ ซึ่งเหมือนกับเป็นยาแก้พิษสำหรับการบิดเบี้ยวของภาพลักษณ์แห่งตัวตน ในเวลาเดียวกันมันก็มีผลต่อการตัดอวัยวะที่ไม่ต้องการออกไปและการตระหนักรู้ว่ามีอวัยวะลวงตาเกิดขึ้นมาแทนเรียบร้อยแล้ว การผ่าตัดทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อแตกกระจัดกระจายไปเป็นร่างกายใหม่ของภาพลักษณ์ตัวตนของคนแปลงเพศโดยอาศัยการสร้างอวัยวะเทียมให้ปรากฎอยู่ในรูปร่างแห่งร่างกายที่เหมือนผีแต่มีความรู้สึก การตัดการต่ออวัยวะทำให้คนแปลงเพศเป็นวัตถุที่ใช้อ้างอิงเกี่ยวกับการมีร่างกายแห่งจิตนาการหรือเป็นภาพลวงตา ซึ่งเป็นการฟื้นฟูสภาพร่างกายของคนแปลงเพศ อวัยวะเทียมได้กลายเป็น “ตราประทับ” สำหรับคนแปลงเพศหลังจากที่เขาผ่านการผ่าตัดไปแล้ว  สำหรับคนแปลงเพศที่ผ่านการผ่าตัด อวัยวะเพศลวงตาของเขาไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนสภาพของตัวเองไปร่างกายที่สมบูรณ์ “ถ้าฉันสามารถมีชีวิตได้เหมือนกับที่ฉันอยากจะเป็น ฉันก็จะไม่พึ่งการผ่าตัดแปลงเพศ”  ธอมป์สันกล่าว   แต่เขาก็ไม่สามารถเป็นอย่างที่เขาคิดฝัน  อวัยวะเพศไม่ได้มีอยู่ในจินตนาการ แต่มันมีอยู่ในเนื้อหนังมังสา จะต้องมองเห็นเป็นรูปเป็นร่างและพิสูจน์ได้บนร่างกาย ในความหมายของการผ่าตัดแปลงเพศ มันคือการตระหนักว่าร่างกายของเราเป็นแค่สสารที่มีความสำคัญต่อการสร้างอวัยวะเพศ ซึ่งสสารแห่งร่างกายนี้ง่ายต่อการเปลี่ยนสภาพและการต่อเติมเสริมแต่ง
            การร่วมมือกันระหว่างการผ่าตัดในฐานะเป็นการกระทำต่อร่างกายและภาพลักษณ์ของร่างกายในฐานะเป็นการสร้างภาพลวงตาของอวัยวะเพศ เป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อทำให้คนแปลงเพศรู้สึกถึง “การแปลงเพศ” แคธรีน คัมมิ่ง เล่าถึงความรู้สึกของตัวเองหลังจากการผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง “มันดูน่าอัศจรรย์ เหมือนกับมันเป็นอวัยวะเพศหญิงของฉัน” คำว่า “จิ๋มของฉัน” คือตราประทับและความคิดที่ตอบสนองต่อการผ่าตัดแปลงเพศ ในขณะที่อวัยวะในร่างกายถูกตัดต่อใหม่ มันก็ถูกเชื่อว่าคือ “ตัวตน” และ “อวัยวะเพศ” คนแปลงเพศหลายคนคิดเหมือนกับแคธรีน โดยคิดว่า “จิ๋ม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากองคชาตของเขาได้เปิดเผยให้เห็นความสำคัญของการร่างกายและอารมณ์ที่ขับเคลื่อนอยู่ในการแปลงเพศ  การผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง จะเป็นการผ่าตัดที่ต้องเก็บหนังที่ห่อหุ้มองคชาตไว้เพื่อนำไปสร้างเป็นอวัยวะเพศหญิง และจะนำส่วนที่เป็นหัวขององคชาตไปปรับแต่งให้มีรูปร่างเหมือนปากช่องคลอดของเพศหญิง ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้คนๆนั้นมีความรู้สึกทางเพศ  การทำเลียนแบบคือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงทำให้เกิดอวัยวะเพศใหม่เท่านั้น แต่ยังทำให้อวัยวะเพศยังคงใช้งานได้ต่อไปอีกด้วย การผ่าตัดจะต้องคำนึงถึงการสร้างรูปร่างอวยัวะเพศให้เหมือนจริงและจะต้องตอบสนองความรู้สึกทางเพศ การผ่าตัดเพื่อปรับแต่งเนื้อเยื่อขององคชาตให้กลายเป็นโยนีตามที่สาวประเภทสองอยากจะได้นั้นยังขึ้นอยู่กับจินตนาการและความรู้สึกที่สาวประเภทสองมีต่ออวัยวะเพศของตนเอง เช่นเดียวกันการผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย ก็ต้องคำนึงถึงการทำให้เหมืององคชาตและต้องใช้งานได้ โดยเนื้อเยื่อของโยนีจะถูกปรับแก้ให้เป็นผิวหนังขององคชาตหรือซ่อนไว้ใต้องคชาต ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อกับเส้นประสาทที่นำมาจากอวัยวะอื่นๆ เช่น ข้อศอก ต้นขาหรือหน้าท้อง จากนั้นอวัยวะดังกล่าวก็จะถูกปรับสภาพให้กลายเป็นองคชาตเทียม ตราบเท่าที่ภาพลักษณ์ของร่างกายยังตอบสนองต่ออารมณ์และสรีระที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ (สรีระในที่นี้คือผิวหนังและเนื้อเยื่อส่วนที่ห่อหุ้มร่างกาย) การผ่าตัดก็จะช่วยยืนยันภาพลักษณ์ของร่างกายโดยการตัดแต่งเนื้อเยื่อของอวัยวะเพศซึ่งจะถูกเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม และเจ้าของร่างกายนั้นก็จะสึกถึงการเปลี่ยนแปลงนี้
            สิ่งสำคัญก็คือความสอดคล้องกันระหว่างอารมณ์และร่างกายที่เป็นผลมาจากการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งการลงทุนเพื่อสร้างภาพลักษณ์แห่งร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อเริ่มมีการผ่าตัดและยังไม่มีการสร้างองคชาตและโยนีที่เสร็จสมบูรณ์  ในช่วงท้ายๆของการผ่าตัดแปลงเพศ ธอมป์สันรู้สึกว่าตนเองไม่มีสติ องคชาตเทียมที่สร้างจากเนื้อเยื่อต้นขาของเขาจะถูกประดิษฐ์ให้เป็นมีรูปร่างคล้ายท่อเล็กๆที่กระดิกได้  “องคชาตเทียม” จะถูกนำไปปลูกถ่ายบนเนื้อเยื่อตรงหว่างขา และปลายอีกด้านหนึ่งจะถูกปลูกถ่ายบนสะโพก ส่วนที่เป็นตรงกลางขององคชาตจะถูกปล่อยให้เป็นอิสระ ช่วงเวลานี้ องคชาตเทียมจะดูคล้ายๆกับหูหิ้วกระเป๋าเดินทางเพราะปลายทั้งสองข้างของมันยังติดอยู่กับร่างกาย  ขั้นตอนต่อไปคือการผ่าตัดองคชาตเทียมออกจากสะโพกของธอมป์สันและปล่อยให้มันห้อยตามธรรมชาติ ซึ่งโคนขององคชาตยังคงติดอยู่กับหว่างขาของเขา ความเสี่ยงในขั้นตอนนี้ก็คือเนื้อเยื่อขององคชาตเน่า (เนื้อตาย) ซึ่งอาจเป็นไปได้เมื่อเนื้อเยื่อขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เมื่อแพทย์อะไรเรื่องนี้ให้ธอมป์สันฟัง เขารู้สึกวิตกกังวลเพราะเขาที่ได้ผ่านขั้นตอนการผ่าตัดใหญ่ๆมาแล้ว 3 ครั้งในช่วง 18 เดือน
            ธอมป์สันเริ่มคิดที่จะหยุดการผ่าตัดเพื่อสร้างองคชาตใหม่ “องคชาตเทียม” เป็นชิ้นเนื้อเล็กๆที่ห้อยติดอยู่บริเวณด้านขวาของร่างกายของธอมป์สัน ซึ่งมันดูไม่เหมือนองคชาต เคลื่อนไหวไม่ได้ และยึดหดตัวไม่ได้ “ถึงแม้ว่ามันจะไม่เหมือนอวัยวะเพศตามธรรมชาติ แต่ฉันก็เริ่มจะคุ้นเคยกับมันแล้ว ฉันไม่อยากสูญเสียมันไป” ในขั้นตอนนี้ ถ้าเนื้อเยื่อที่มีรูปร่างคล้ายท่อเล็กๆนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เนื้อเยื่อนี้ก็จะเปลี่ยนสภาพไปเป็นอวัยวะเพศ  การผ่าตัดจะช่วยทำให้ธอมป์สันมีองคชาตเทียมที่ทำจากกล้ามเนื้อต้นขาของเขาเอง เหมือนกับที่แคธรีนได้จิ๋มเทียม  วัฏจักรชีวิตของคนแปลงเพศ การมีองคชาตเทียมที่เหมือนหูหิ้วกระเป๋าติดอยู่ในร่างกายคือการปรากฎตัวขององคชาตที่ลวงตาที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์แห่งรางกายให้คนแปลงเพศ “ฉันเพ่งมองดูจู๋ของฉัน(ชิ้นเนื้อที่กระดิกได้) ราวกับว่ามันมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง มันเหมือนกับคนตัวเล็กๆ มันจะมีชีวิตเมื่อฉันสูดลมหายใจเข้าไปหล่อเลี้ยงมัน จู๋ที่ควรจะอยู่กับฉันเสมอและควรอยู่มาตั้งแต่ฉันเกิด มันทำให้ฉันเป็นผู้ชาย” ไม่ใช่เพียงการนำองคชาตเทียมไปติดกับร่างกายของคนแปลงเพศและทำให้เขาคิดว่ามันคือจู๋เท่านั้น แต่มันยังทำให้คนแปลงเพศรู้สึกถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา องคชาตเทียมคือประจักษ์พยานสำหรับการมีตัวตนทางเพศภาวะที่จับต้องได้  การยืนยันและการตระหนักว่ามีองคชาตคือสิ่งที่ขัดแย้งกับอวัยวะเพศหญิงที่ธอมป์สันไม่อยากจะได้มัน  เรื่องเล่าชีวิตของธอมป์สันจะไม่เอ่ยถึงการมีประจำเดือน มีจิ๋มและเต้านม ถ้าการไม่อยากจำคือการไม่อยากรับรู้ถึงสิ่งต่างๆที่เคยเป็น ดังนั้นการสร้างภาพลวงตาก็จะเป็นการอยากรับรู้ในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
            ความรู้สึกหลังจากผ่าตัด  คนแปลงเพศจะสร้างตัวตนลงไปในอวัยวะเพศที่ถูกสร้างใหม่ ราวกับว่าพวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของมัน เมื่อผ่านพ้นการผ่าตัดไปแล้ว ชีวิตใหม่ของคนแปลงเพศจะต้องพึ่งพิงอวัยวะเพศเทียมนี้ไปตลอด  การรู้สึกถึงตัวตนที่แรงกล้าจะปรากฎอยู่บนอวัยวะเพศเทียม หากพิจารณาในประเด็นนี้จะเห็นว่าอวัยวะเพศเทียมคือของหายาก(ไม่ได้มาง่ายๆ) และการมีตัวตนบนอวัยวะเพศเทียมก็เป็นเรื่องที่การแพทย์ให้ความสนใจ  อย่างไรก็ตามการรับรู้ถึงตัวตนของคนแปลงเพศ ยังเกี่ยวข้องกับร่างกายที่ถูกแปรสภาพไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าต่อการสร้างตัวตนที่ชัดเจนที่สุด  การแปลงเพศคือการบูรณะซ่อมแซมร่างกาย ในมิติของเทคนิคทางการแพทย์ อวัยวะที่ถูกสร้างใหม่คือสิ่งที่แปลกปลอม คนแปลงเพศจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ถูกตัดต่อใหม่  ปัญหาของแคธรีนหลังจากที่เธอผ่านการแปลงเพศแล้วก็คือขนาดของปากช่องคลอดเทียม(เธอต้องดูแลช่องคลอดเทียมมิให้ตีบตัน) ซึ่งเธอรู้สึกว่าตัวเองไม่คุ้นเคยกับอวัยวะเพศเทียมนี้ เธอยอมรับว่าจิ๋มปลอมไม่ได้ทำให้เธอมีความรู้สึกทางเพศและมันมีรูปทรงที่ไม่เหมือนจิ๋มตามธรรมชาติ  เมื่อเธอไม่มีความรู้สึกว่าตนเองมีจิ๋ม เธอจึงไม่มั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ช่วงขยายปากช่องคลอดนั้นจะได้ผล ของจำกัดของอวัยวะเพศเทียมนี้ยังเป็นสิ่งที่น่าฉงน หากเปรียบเทียบกับองคชาตเทียมที่สามารถมีเลือดมาหล่อเลี้ยงหลังจากการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อบนสะโพกของธอมป์สันแล้ว จะพบว่าธอมป์สันรู้สึกว่าจู๋ปลอมของเขาเคลื่อนไหวได้เองหลังจากที่ถ่ายปัสสาวะแล้ว ธอมป์สันมีวิธีการจัดการกับจู๋ปลอมของเขาอย่างไร เขาควรจะปล่อยให้มันห้อยโตงเตงตามธรรมชาติหรือว่าจะเอามือไปช่วยพยุงเวลามันขยายตัวขึ้น ช่วงเวลาหลังการผ่าตัดแปลงเพศเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงในเรื่องเล่าของคนแปลงเพศทั้งหลาย ซึ่งมีทั้งการเล่าแบบตลกขบขันและแบบน่าสยดสยอง ช่วงเวลาหลังผ่าตัดเป็นช่วงที่ร่างกายใหม่แปลกแยกจากเจ้าของเฉกเช่นเดียวกับร่างกายก่อนการผ่าตัดที่เจ้าของไม่อยากจะได้มัน ในขณะที่ร่างกายเดิมที่เข้าของไม่อยากได้ถูกมองว่ามันเป็นสิ่งประหลาด ร่างกายใหม่หลังผ่าตัดก็เป็นสิ่งที่เจ้าของยังไม่คุ้นเคยกับมัน ถึงแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งมีค่าต่อการมีตัวตนของเขาก็ตาม
            ถ้าการแก้ไขเพศภาวะคือพิธีกรรมของการสร้างตัวตนของคนแปลงเพศ ซึ่งนักมานุษยวิทยาอย่างแอนน์ โบลิน เคยอธิบายไว้ในเรื่องการแปลงเพศจากชายเป็นหญิง (การผ่าตัดคือเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความเป็นปกติ ในที่สุดคนแปลงเพศจะถูกปฏิบัติราวกับว่าเขาเป็นผู้หญิง คุณค่าของพิธีกรรมจะอยู่ที่การสร้างตัวตนใหม่ที่เจ้าของยินยอม) การสร้างตัวตนนั้นจะเกิดขึ้นในระดับของความรู้สึก  การผ่าตัดแปลงเพศคือพิธีกรรมของการสร้างตัวตนทางสังคม เพราะมันทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นบนร่างกาย การผ่าตัดแปลงเพศทำให้บุคคลสามารถเข้าไปอยู่ในโลกของความจริงที่มีเพศภาวะ ผิวหนังของร่างกายจะกลายเป็นบันทึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของเพศภาวะ ซึ่งเปลี่ยจากการแสดงบทบาททางเพศไปสู่การมีอวัยวะเพศที่จับต้องได้   ดอว์น แลงลีย์ ซิมมอนส์ เล่าว่าเมื่อเธอได้สัมผัสจิ๋มเทียม เธอรู้สึกราวกับว่าประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนเพศ “ไม่มีใครเห็นความแตกต่าง เมื่อฉันรู้ว่าฉันเหมือนกับผู้หญิงคนอื่นๆ มันไม่มีตำหนิ ไม่มีรอยแผลเป็น รูปร่างของจิ๋มเทียมสมบูรณ์แบบมาก” การเปลี่ยนผ่านทางร่างกายนี้ คนแปลงเพศจะรู้สึกลึกลงไปในจิตใจมากกว่าจะมองเห็นแค่ผิวหนัง การแยกไม่ออกถึงความแตกต่างที่พบเห็นบนผิวหนังช่วยทำให้คนแปลงเพศมีความปลอดภัยเนื่องจากเขาเหมือนกับคนอื่นๆ กล่าวคือ จินตนาการเกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศอยู่ที่ว่ามันช่วยทำให้คนแปลงเพศเป็นเหมือนกับเพศชายหญิงตามธรรมชาติ การผ่าตัดช่วยปกปิดร่างกายเดิมของคนแปลงเพศด้วยร่างกายใหม่ได้อย่างแนบเนียน ในทางการแพทย์มองว่าการผ่าตัดแปลงเพศจะช่วยให้คนที่มีจิตใจตรงข้ามกับเพศกำเนิดเปลี่ยนร่างกายของตนไปสู่การเป็นชายหรือหญิงที่สมบูรณ์ บางคนอาจกล่าวว่าการเป็นคนแปลงเพศที่สมบูรณ์นั้นก็ต่อเมื่อเขาได้ทิ้งอัตลักษณ์เดิมของตัวเองไปแล้ว ซึ่งร่างกายเดิมของเขาจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
            ในมุมมองของคนแปลงเพศ การผ่าตัดแปลงเพศคือพิธีกรรมของการสร้างตัวตนในอีกความหมายหนึ่ง นั่นคือการไขว่ขว้าวัตถุแห่งร่างกาย จากประสบการณ์เฉียดตาย ประสบการณ์ความผิดพลาดทางการแพทย์ ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในการผ่าตัด ความเจ็บปวด อาการช็อค การขยับร่างกายไม่ได้ การหดหู่และการพักฟื้น และการรักษาบาดแผลทางร่างกาย สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้การผ่าตัดแปลงเพศมีโครงสร้างแห่งพิธีกรรมที่ชัดเจน ซึ่งมันจะเกิดขึ้นในประสบการณ์ของคนแปลงเพศทุกคน พิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่านจากเพศหนึ่งไปเป็นอีกเพศหนึ่งจะอาศัยการผ่าตัดช่วยทำให้ร่างกายของคนๆนั้นเปลี่ยนสภาพไปโดยสมบูรณ์  ก่อนที่ธอมป์สันจะได้รับอนุญาตให้ผ่าตัดจากแพทย์ด้านจิตเวชของเขา เขาจะต้องแสดงการยืนยันว่าจะอดทนต่อความเจ็บปวดทรมานที่เกิดขึ้นระหว่างการผ่าตัดแปลงเพศ นั่นคือประสบการณ์ของการผ่าตัดและกฎข้อบังคับซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเชิงสัญลักษณ์ให้คนแปลงเพศต้องพบกับการเปลี่ยนผ่าน มันเปรียบเสมือนเครื่องหมายของการเปลี่ยนเพศ ซึ่งความเจ็บปวดทางร่างกายแบบนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลยเมื่อเทียบกับความชอกช้ำจากร่างกายตามธรรมชาติของคนที่แปลงเพศที่ไม่ต้องการมัน

แหล่งอ้างอิง
Jay Prosser. (1998) “From Mutilation to Integration: The Poetics of Sex Reassignment Surgery” in Second Skins: the Body Narratives of Transsexuality. New York, Columbia University Press. Pp.80-90.

ไม่มีความคิดเห็น: