2/28/2556

Ideal Masculinities



Ideal Masculinities

การหาคำตอบต่อคำถามของมอนเตสกิเออ ที่ว่าธรรมชาติสร้างให้ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าหญิงใช่หรือไม่  คำถามเกี่ยวกับธรรมชาติของผู้หญิงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจมากในยุค Enlightenment ในศตวรรษที่ 18  ร่างกายของมนุษย์คือเรื่องสำคัญสำหรับข้อสมมุติฐานทางการแพทย์ ซึ่งเชื่อว่าร่างกายของเพศชายคือมาตรฐานที่ใช้ตรวจวัดสรีระของมนุษย์ แต่ร่างกายของเพศหญิงจะไม่มีมาตรฐาน

คำว่า เพศชาย และ เพศหญิง มีความหมายที่บ่งชี้ความแตกต่างทางชีววิทยาของเพศสภาพ ซึ่งเกิดจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในช่วงสมัยหนึ่ง ความรู้ประเภทนี้มิได้ยืนยันความเป็นกลางหรืออยู่คงทนถาวรตลอดไป  คำว่าความเป็นชาย” (masculine) และความเป็นหญิง” (feminine) เป็นคำที่ใช้เรียกบุคลิกลักษณะของมนุษย์โดยการแบ่งแยกประเภทที่ต่างกันสองแบบ  ความคิดของการแบ่งแยกคู่ตรงข้ามคือความคิดที่นำมาใช้ในการนิยามความแตกต่างทางเพศ โดยการให้คุณค่ากับเพศที่ไม่เท่ากัน ซึ่งจะมีเพศแบบหนึ่งดีกว่าอีกแบบหนึ่ง  กระบวนการสร้างความแตกต่างนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมบางแบบซึ่งพยายามจัดระเบียบผู้ชายและผู้หญิงให้มีช่วงชั้นทางสังคมที่ไม่เท่ากัน

การแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของร่างกายที่มีพลังมากอาจดูได้จากผลกระทบและสิ่งที่เกิดขึ้น  การแสดงด้วยคำพูดและภาษา ซึ่งมีทั้งการเน้นคุณค่า ตอกย้ำ  สำนวน เปรียบเปรย และอื่นๆ  คำพูดและภาษาเป็นสิ่งที่ถูกใช้ในหมู่ผู้มีการศึกษา ซึ่งจะมีการใช้คำพูดที่รับรู้เฉพาะในกลุ่มของตัวเองโดยที่คนอื่นจะไม่รู้  ภาพลักษณ์ของร่างกายคือสิ่งที่ทุกคนรับรู้ได้ แต่บางคนคิดว่าร่างกายเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด   ในบทความนี้จะเป็นการศึกษาการใช้คำของพวกชนชั้นขุนนางที่มีการศึกษาเพื่อที่จะดูว่าคำอธิบายต่อร่างกายมีความหมายอย่างไร   ภาพลักษณ์ของร่างกายจะเป็นเหมือนตัวแทนของประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งเราได้สร้างคำอธิบายต่อภาพลักษณ์เหล่านั้น 

ภาพลักษณ์ของร่างกายคือสิ่งที่เราใช้แยกความแตกต่างระหว่างตัวเรากับคนอื่น ใช้ตอกย้ำความเป็นตัวเอง ใช้บ่งชี้ว่าคนอื่นต่างจากเรา และทำให้เรามีตัวตน   อย่างไรก็ตามการร่างกายที่ถูกแสดงออกมาเป็นร่างในเชิงนามธรรม กล่าวคือ เป็นผลผลิตทางความคิดซึ่งมีเงือ่นไขทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นตัวหล่อหลอม  ผู้ที่สร้างภาพลักษณ์ของร่างกายมีเงื่อนไขทางสังคมของตนเอง ความหมายของร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นมามีเป้าหมายเพื่อใช้ทำบางสิ่งบางอย่าง  อาจกล่าวได้ว่าการสร้างความหมายต่อร่างกายที่มองเห็นได้ เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภายใต้การปรับเปลี่ยนวิธีคิดบางอย่าง

บทความเรื่องนี้มีข้อสมมุติฐานว่า ร่างกายแบบธรรมชาติไม่มีจริง เพราะร่างกายทุกแบบล้วนเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น  ร่างกายทุกแบบเป็นสิ่งที่ผ่านการแสดงซึ่งเต็มไปด้วยความคิดที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร่างกายแบบเชื้อชาติ สีผิว เผ่าพันธุ์ ชนชั้น และเพศสภาพ  ร่างกายของเรา และประสบการณ์ที่เรามีต่อร่างกายเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไข  ประเด็นที่น่าสนใจก็คือความเหลื่อมซ้อนกันระหว่างร่างกายที่เกิดจากแนวคิดทางการแพทย์กับแนวคิดทางศิลปะ ซึ่งถูกแสดงในเรื่องกายวิภาค  การแพทย์และศิลปะต่างใช้กายวิภาคเป็นตัวแสดงความหมายเหมือนกัน เนื่องจากกายวิภาคเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของกล้ามเนื้อหรือโครงกระดูก

บทความนี้จะพยายามทำความเข้าใจเรื่องโครงกระดูกมนุษย์ โดยจะศึกษาจากตัวอย่างความคิดของอัลบินัส ในเรื่อง Human Skeleton ซึ่งเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี ค..1747  เนื่องจากโครงกระดูกมนุษย์เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเป็นเพศชาย ซึ่งร่างกายของผู้ชายจะถูกแสดงออกโดยกายวิภาค  บทความนี้ต้องการรื้อทำลายคำอธิบายเกี่ยวกับภายวิภาค  คำอธิบายเหล่านั้นมิได้มีเพียงการสร้างในเชิงรูปธรรม แต่ยังเป็นการสร้างภาพตัวแทน บุคลิกท่าทาง สัดส่วน องค์ประกอบและรายละเอียดเกี่ยวกับร่างกาย  คำถามคือ มีทัศนะเกี่ยวกับความเป็นชายอะไรบ้างที่เกิดขึ้นจากความคิดทางการแพทย์และศิลปะ และทัศนะเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร  ในการศึกษาความคิดของอัลบินัสจึงต้องเปิดเผยให้เห็นรูปธรรมทางวัตถุที่ซ่อนอยู่

ความแตกต่างทางเพศโดยมีกายวิภาคเป็นเครื่องบ่งชี้ในช่วงศตวรรษที่16-17ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญ   จนถึงศตวรรษที่ 18 นักคิดทั้งหลายก็เริ่มพิจารณาความแตกต่างของกายวิภาคระหว่างชายหญิง ซึ่งพบความต่างในอวัยวะเพศ   การแสดงความแตกต่างระหว่างชายหญิงนี้จะเห็นได้จากการเลือกเพศมาเพื่อใช้วาด และเพื่อผ่าดูอวัยวะภายใน  ร่างกายของเพศชายจะถูกเลือกมาผ่าตัดเพื่อศึกษาอวัยวะภายใน และศิลปินก็นำไปวาดในแบบกายวิภาคซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับอวัยวะ ระบบประสาทและเส้นเลือด  ในขณะที่ร่างกายของเพศหญิงจะถูกใช้เพียงเพื่ออธิบายความต่างทางเพศ เช่น อวัยวะสืบพันธุ์และมดลูก

ข้อสมมุติฐานที่ซ่อนอยู่ในทัศนะทางการแพทย์ก็คือร่างกายของเพศชายและหญิงไม่มีความต่างกัน และกายวิภาคของเพศชายสามารถแสดงให้เห็นทั้งความเป็นหญิงและชายได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องแยกความต่างเรื่องการสืบพันธุ์     อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 สมมุติฐานนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นความคิดที่ยึดเอาความรู้ทางสรีระมาแบ่งแยกความแตกต่างทางเพศ และให้คุณค่าต่อเพศชายมากกว่า  ในปี ค..1775 แพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ปิแอร์ รุสเซ ออกมาอธิบายว่าเรื่องเพศมิอาจใช้อวัยวะเพียงแบบเดียวมาเป็นมาตรฐานได้ แต่ต้องแยกแยะให้เห็นความแตกต่างในรายละเอียด

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 โครงกระดูกของเพศชายจะใช้เป็นตัวแทนโครงกระดูกของมนุษย์  ภาพวาดสรีระของเพศหญิงเริ่มปรากฏครั้งแรกในปี ค..1583 โดยศิลปินชื่อแพล็ตเตอร์ และถูกวาดซ้ำใหม่โดยบูฮินในปี ค.. 1605 การศึกษารายละเอียดทางด้านสรีระของเพศหญิงจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18  ในปี ค..1774 สก็อต วิลเลียมส์ ฮันเตอร์ ได้พิมพ์ภาพร่างกายและอวัยวะของสตรีออกเผยแพร่ในชื่อได้เห็นคือการได้รู้ภาพวาดดังกล่าวเป็นภาพร่างกายตามธรรมชาติของสตรีซึ่งเป็นภาพตัวแทนของความจริงเกี่ยวกับสรีระของเพศหญิง  อาจกล่าวได้ว่าหลักฐานเชิงรูปธรรมเกี่ยวกับโครงกระดูกมนุษย์จะปรากฏในรูปแบบของภาพวาด ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับการพิสูจน์ความแตกต่างว่าผู้หญิงไม่เท่ากับชาย

ตลอดช่วงเวลายาวนานของผู้กำหนดความรู้ทางการแพทย์โดยไม่มีการตั้งคำถาม ทำให้โครงกระดูกของเพศชายกลายเป็นมาตรฐานในการกำหนดความถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ โครงกระดูกของผู้หญิงจะกลายเป็นสิ่งที่อยู่นอกมาตรฐาน  ผู้มีอำนาจทางการแพทย์และศิลปะต่างยอมรับคุณค่าของโครงกระดูกเพศชาย โดยเฉพาะนักกายวิภาคชื่อเบอร์นาร์ด ซิกฟรีด อัลบีนัส ผู้ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดเกือบ 300 ปี   บทความเรื่องนี้ต้องการพิสูจน์ว่าภาพวาดสรีระของมนุษย์คือผลผลิตทางวัฒนธรรม ซึ่งร่างกายของเพศชายและความเป็นชายที่ถูกสร้างขึ้นคืออดุมคติของสังคม

ท่วงท่าและสัดส่วน

กายวิภาคคือการแสดงให้เห็นร่างกายของมนุษย์ และร่างกายก็จะถูกแบ่งซอยไปตามโครงสร้างของกระดูก  ภาพวาดของอัลบินัส เป็นภาพมนุษย์ที่ยืนตัวตรงราวกับว่ายังมีชีวิตอยู่  ท่าทางของมนุษย์ในภาพวาดจะมีความหมายหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของการแสดงกิริยาอาการ เปิดเผยให้เห็นโครงสร้างของกระดูกที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกาย โดยภาพวาดจะใช้เป็นตัวแทนของมนุษย์  รูปมนุษย์จะปรากฏอยู่ในภูมิทัศน์ เช่น ภาพที่ชื่อ The Bones of the Human Body’ บ่งบอกให้ทราบถึงท่วงท่าของมนุษย์ที่กำลังกางแขน มือขวาแบ มือซ้ายชี้ลงดิน

ท่วงท่ามนุษย์ในภาพวาดของอัลบีนัสเกิดมาจากความตั้งใจ โดยใช้ความคิดแบบชนชั้นปกครองซึ่งเป็นสถานภาพทางสังคมของอัลบีนัส ซึ่งต้องการเลียนแบบท่วงท่าของเทพอพอลโล่ซึ่งมีอยู่ในงานประติมากรรมสมัยกรีก  วิงเคลแมนน์แสดงความเห็นว่างานศิลปะในสมัยกรีกมีลักษณะเป็นอุดมคติ ภาพวาดของอัลบีนัสจะให้ร่างมนุษย์เป็นตัวแทนของเทพแห่งพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา ศีลธรรม และเสน่ห์ทางเพศ    เคนเน็ธ คาร์ก กล่าวว่ารูปปั้นเทพอพอลโล่เป็นรูปปั้นที่งดงามเนื่องจากสัดส่วนของร่างกายถูกสร้างมาอย่างเหมาะสม และเป็นความงามที่ผ่านการคำนวณมาแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าอพอลโล่เป็นเทพแห่งความยุติธรรม และเอาชนะความชั่วร้ายทั้งหลาย ความยุติธรรมจึงดำรงอยู่ด้วยระบบเหตุผล

กายวิภาคของอัลบินัสจึงสะท้อนระบบคิดแบบเหตุผล ซึ่งปฏิเสธความโง่เขลาหรือสิ่งที่อยู่ในด้านมืด นั่นคือเพศหญิง การนำเสนอภาพลักษณ์แห่งท่วงท่าของชัยชนะหลังจากที่เทพอพอลโล่ปราบงูยักษ์สำเร็จแล้ว รูปปั้นของอพอลโล่ในความคิดของวิงเคลแมนน์จะเป็นตัวแทนของความงามและความดีอันสูงสุด  และสิ่งนี้ก็คือจินตนาการแห่งการเอาชนะคนอื่นและอารมณ์ปรารถนาที่ดีที่สุด  ในศตวรรษที่ 18 นักคิดอธิบายว่ารูปปั้นอพอลโล่คือสัญลักษณ์ของอำนาจที่สูงสุดซึ่งอยู่รวมกับความเปราะบาง สัญลักษณ์นี้จะถูกผลิตซ้ำในภาพลักษณ์ของโครงกระดูกเ ช่นเดียวกัน

เทพอพอลโล่ถูกสร้างขึ้นจากการคำนวณที่ถี่ถ้วน สัดส่วนต่างๆถูกต้องตามคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นธรรมความคิดแบบเรเนสซอง และอัลบีนัสก็เอามาใช้กับภาพโครงกระดูกของเขา  ความคิดเชิงกายวิภาคจะถูกนำไปรวมกับแนวคิดศิลปะในยุคกรีกซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักคิดแนวปรากฏการณ์นิยมในเนเธอร์แลนด์    อัลบินัสพูดถึงความคิดของเขาอย่างชัดเจนในหนังสือเรื่องโจรสลัด ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค..1749  อัลบินัสมีหลักคิด 2 ประการในการเลือกศพมาเป็นแบบวาดภาพ คือ หนึ่ง ศพนั้นต้องมีร่างกายที่สวยงาม โดยต้องไม่ดูอ่อนหวานเกินไปหรือแข็งทื่อเกินไป  ความคิดที่อัลบินัสใช้เพื่อเลือกร่างกายที่เหมาะสมจึงเป็นความคิดอุดมคติ มากกว่าการคำนึงถึงหลักวิทยาศาสตร์   หลักคิดอย่างที่สอง คือ เรื่องสัดส่วนร่างกายของเพศชายซึ่งทำให้เขาเลือกงานศิลปะในยุคกรีกมาเป็นแบบ

ความปรารถนาในสิ่งสวยงามที่ผ่านการเลือกสรรมาแล้ว จะมาพร้อมกับความปรารถนาในการตรวจวัดเชิงคณิตศาสตร์เพื่อสร้างสัดส่วนโครงกระดูกที่ถูกต้อง  วิธีการของอัลบินัสเป็นสิ่งที่แปลกใหม่และพิศดาร กล่าวคือ เขาจะใช้เชือกและรอกเพื่อจัดวางท่วงท่าของร่างกายของโครงกระดูก โดยจะให้โครงกระดูกยืนทิ้งน้ำหนักไปทางด้านขวา ซึ่งเป็นที่นิยมในงานศิลปะยุคกรีก  พร้อมกันนั้นจะใช้คนจริงๆยืนอยู่ข้างๆเมื่อเปรียบเทียบท่าทางที่ถูกต้อง  จากนั้นจึงจัดท่าทางของโครงกระดูกให้ดูเหมือนคนจริงๆโดยใช้เชือกรั้งและลิ่มตอก

ช่างแกะสลักภาพของอัลบินัสชื่อ เจน แวนดีลาร์ นอกจากนั้นอัลบินัสยังทำงานร่วมกับนักกายวิภาคและศิลปินหลายคน   แวนดีเลอร์ทำงานและอาศัยอยู่กับกับอัลบินัสเป็นเวลานาน ซึ่งเท่ากับต้องตกอยู่ใต้อำนาจของอัลบินัสอย่างเลี่ยงไม่ได้  กล่าวคือ แวนดีลาร์ต้องทำงานในพื้นที่ที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อการวาดภาพที่ถูกต้องได้สัดส่วน  อัลบินัสต้องตรวจวัดความถูกต้องตลอดเวลา การทำงานของแวนดีลาร์จึงต้องอยู่ในสายตาของอัลบินัส  การวัดมาตราส่วนของร่างกายที่ถูกต้องของอัลบินัส ได้อาศัยการทำตารางสี่เหลี่ยมเพื่อตรวจสอบสัดส่วน  โดยนำตารางไปวางไว้ข้างหน้าโครงกระดูก และอีกตารางหนึ่งซึ่งเล็กกว่า 10 เท่า นำไปวางห่างจากโครงกระดูกประมาณ 4 ฟุต   ศิลปินจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และเปรียบเทียบสัดส่วนภาพในตารางใหญ่กับตารางเล็กให้ถูกต้อง

เทคนิคดังกล่าวเป็นการวาดภาพที่ต้องใช้สายตาสังเกตจากของจริงโดยมองผ่านช่องสี่เหลี่ยม เพื่อวาดสัดส่วนให้ถูกต้อง  วิธีดังกล่าวนี้จะทำให้ภาพออกมาได้สัดส่วนทั้งแนวตั้งและแนวนอน  วิธีนี้สะท้อนให้เห็นว่าอัลบินัสใช้ความคิดทางวิทยาศาสตร์ในการทำงาน  แต่วิธีนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของศิลปินที่วาดรูป อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 18 อัลบินัสก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอิทธิพลในทางวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้ที่สร้างมาตรฐานความงามแห่งยุคสมัย  ความงามของอัลบินัสเกิดจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นความงามที่สมบูรณ์แบบ ลงตัว ได้สัดส่วน และความงามที่ได้รับการยอมรับก็คือความงามของเพศชาย   สัดส่วนของโครงกระดูกที่ถูกสร้างตามการคำนวณแล้วก่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบในอุดมคติ กล่าวคือขนาดของศรีษะจะต้องมีขนาด 1 ใน 8 ของสัดส่วนของร่างกาย

โครงกระดูกของอัลบินัส ถูกจัดวางด้วยภาพ  เมื่อภาพถูกนำไปพิมพ์ก็อาจทำให้สัดส่วนของโครงกระดูกคลาดเคลื่อนไปได้  ภาพพิมพ์โครงกระดูกจึงไม่เป็นที่สนใจทางการแพทย์เท่ากับรูปหล่อสามมิติซึ่งแสดงสัดส่วนอวัยวะภายใน เมื่อรูปหล่อได้รับความนิยมมากขึ้น ภาพพิมพ์ก็จะไม่ได้รับความนิยมในวงการศึกษาแพทย์อีกต่อไป   ในทางปฏิบัติภาพพิมพ์กายวิภาคของอัลบินัสไม่เป็นที่ต้องการของนักศึกษาแพทย์ แต่กลายเป็นที่นิยมในหมู่แพทย์ ขุนนาง และนักสะสม  ถึงแม้ว่าภาพพิมพ์ของอัลบินัสจะให้รายลเอียดเกี่ยวกับสัดส่วนและอวัยวะทางร่างกายของมนุษย์ แต่สิ่งนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของนักเรียนแพทย์เท่าใดนัก  ภาพของอัลบินัสจึงเป็นเพียงงานศิลปะที่แปลกประหลาด และเป็นผลพวงของระบบอุดมคติ

นอกจากนั้นภาพกายวิภาคของอัลบินัสมิได้มีความถูกต้องทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นแค่เพียงภาพของโครงกระดูกและร่างเปลือยของผู้ชาย  ภาพของอัลบินัสจึงเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่งซึ่งสะท้อนมุมมองและโลกทัศน์ที่ผู้ชายมีบทบาทสำคัญ  ภาพโครงกระดูกของอัลบินัสบ่งบอกถึงความภูมิใจและความมั่นใจในตัวเอง ทั้งในด้านที่เป็นเรือนร่างและความรู้ กล่าวคือผู้ชายในยุคนั้นพอใจกับการควบคุมตัวเองและควบคุมสภาพแวดล้อมรอบๆตัว  อำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆของผู้ชายคือความคิดที่ถ่ายทอดออกมาในภาพพิมพ์ซึ่งเกิดจากฝีมือของศิลปินและนักกายวิภาค  สิ่งนี้คือกระบวนการทำให้ร่างกายเป็นวัตถุซึ่งมนุษย์สามารถควบคุมและมีอำนาจเหนือธรรมชาติ  ธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่ถูกควบคุม มีระเบียบกฎเกณฑ์ สมบูรณ์แบบ และบริสุทธิ์
อย่างไรก็ตามการสร้างภาพพิมพ์แกะสลักต้องอาศัยความถูกต้องแม่นยำ เพราะถ้าเกิดข้อผิดพลาดแล้วจะแก้ไม่ได้  การแกะสลักอาจเปรียบเหมือนการผ่าตัด มีดที่ใช้แกะสลักอาจเหมือนมีดผ่าตัด  ลวดลายที่เกิดจากการแกะสลักคือภาพตัวแทนของวัตถุซึ่งมีนัยยะของความสะอาดและแจ่มชัด แต่ผู้ชมภาพจะไม่เห็นกระบวนการทำงานของศิลปินและขั้นตอนต่างๆซึ่งเต็มไปด้วยความเลอะเทอะเปรอะเปื้อน  ภาพพิมพ์แกะสลักจึงเป็นการทดสอบความอ่อนแอของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งความหวาดกลัวต่อเรือนร่างและการเสื่อมสภาพของร่างกาย

รูปปั้นอพอลโล่คือจำลองของความคิดเรื่องอำนาจของผู้ชาย และเป็นตัวแทนในอดุมคติของผู้ชาย  ส่วนภาพโครงกระดูกของอัลบินัสเป็นภาพตัวแทนของความคิดที่ตอกย้ำอำนาจของผู้ชาย  ในประวัติศาสตร์ความคิดของตะวันตก อพอลโล่คือตัวแทนของความเป็นอมตะ ต่อมาสิ่งนี้จะถ่ายทอดไปสู่พระเยซูในศาสนาคริสต์  ภาพของอัลบินัสจึงเป็นมรดกทางความคิดดังกล่าวและเป็นตัวแทนของอำนาจผู้ชายแบบอดุมคติ  ถ้าพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่าภาพโครงกระดูกจะมีความเด่นชัดและสง่างามบดบังทัศนียภาพที่อยู่ฉากหลัง ภูมิทัศน์ในภาพจะมีความต่ำต้อยกว่าหรืออยู่ต่ำกว่าโครงกระดูก ซึ่งหมายถึงมนุษย์สูงส่งและประเสริฐกว่าสิ่งใดๆในโลก

ท่าทางโครงกระดูกของอัลบินัสบ่งบอกถึงความมีอำนาจของผู้ชาย เช่นเดียวกับท่าทางของรูปปั้นอพอลโล่ในยุคกรีกซึ่งอัลบินัสเชื่อว่าเป็นท่วงท่าที่สมบูรณ์แบบและเป็นธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงผู้ชายที่มีอำนาจต้องแสดงท่วงท่าเช่นนี้  ภาพพิมพ์ของอัลบินัสยังเป็นเครื่องมือสำหรับการแสดงอำนาจของศิลปินที่หยิบยืมความคิดของนักกายวิภาคมาใช้ จนก่อให้เกิดภาพในอุดมคติของเพศชายที่เป็นที่ปรารถนาของสังคมในยุคนั้น จนกระทั่งศิลปินฝรั่งเศสก็นำท่วงท่านี้มาปั้นรูปเหมือนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  รวมทั้งรูปปั้นของผู้ดี ขุนนาง นักการเมืองทั้งหลายก็นิยมปั้นรูปตัวเองหรือวาดภาพตัวเองด้วยท่าทางของอพอลโล่ทั้งสิ้น 

ภาพพิมพ์ของอัลบินัสมิใช่อุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอนในวิชากายวิภาคอย่างแท้จริง  เนื่องจากนักกายวิภาคโต้แย้งว่าภาพของอัลบินัสมีภูมิทัศน์ประกอบอยู่ด้วยซึ่งทำให้เกิดความบิดเบือนความจริง  อัลบินัสอธิบายว่าภาพพิมพ์ของเขาจำเป็นต้องมีฉากหลังที่เป็นภูมิประเทศ เพราะทำให้ดูสวยงามมีมิติ และช่วยทำให้โครงกระดูกโดดเด่นขึ้นมา   ศิลปินของอัลบินัสที่วาดภาพภูมิทัศน์คือเจน แวนดีลาร์ซึ่งเป็นนักวาดภาพต้นไม้ ช่วยทำให้ภาพของอัลบินัสสมจริงมากขึ้น  แนวคิดที่วาดภาพภูมิทัศน์ประกอบรวมกับภาพโครงกระดูกมนุษย์มาจากความเชื่อของนักกายวิภาคที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาตินิยม ซึ่งสะท้อนวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และการค้นหาความจริงที่เที่ยงแท้ ภาพของอัลบินัสจึงสะท้อนโลกทัศน์ของวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าโลกมีระเบียบ มีเหตุผลและถูกควบคุมด้วยมนุษย์  อำนาจของวิทยาศาสตร์ที่ปรากฎในภาพของอัลบินัสถูกแสดงออกด้วยความสามารถทางศิลปะของแวนดีลาร์ซึ่งมีความรู้ทางพฤษศาสตร์  นอกจากนั้นภาพของอัลบินัสยังสะท้อนความคิดเกี่ยวกับพระเยซูโดยอาศัยสัญลักษณ์ของต้นไม้ที่มีหนาม

ลูดมิลล่า จอร์ดาโนว่า วิจารณ์ผลงานของอัลบินัสว่าเป็นการนำความตายมาเปิดเผยเพื่อที่จะทำให้ทุกๆคนเห็นว่าชีวิตคืออะไร แต่ภาพของอัลบินัสยังแฝงไว้ด้วยความคิดที่คนยังนึกไม่ถึง นั่นคือความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ และตอกย้ำอำนาจของผู้ชายที่เหนือกว่าผู้หญิงในช่วงศตวรรษที่ 18 ของสังคมตะวันตก

แปลและเรียบเรียงโดย  ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก Anthea Callen. “Ideal Masculinities An Anatomy of Power.” , in Nicholas Mirzoeff (ed.) The Visual Culture Reader. Routledge, London. 1998. Pp.603-615.

ไม่มีความคิดเห็น: