2/27/2556

คนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



พื้นที่ทางวัฒนธรรมของ “คนข้ามเพศ” และ 
“คนรักเพศเดียวกัน”

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Cultural Spaces and Sexual Behaviors of  Cross Gender and Same-Sex Relations
in Southeast Asia

ดร.นฤพนธ์  ด้วงวิเศษ  

          ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเขตที่มีกลุ่มวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลายทั้งในเขตพื้นทวีปและเขตมหาสมุทร   กลุ่มคนแต่ละกลุ่มจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของตนเองซึ่งสัมพันธ์กับการแสดงออกทางเพศ การแสดงบทบาทชาย หญิง และสถานะทางสังคมของบุคคล เรื่องที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มคนในภูมิภาคนี้คุ้นเคยกับการแสดงออกแบบ “ข้ามเพศ” หรือ พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงบทบาททางเพศตรงข้ามกับเพศสรีระหรือเพศกำเนิด เช่น ผู้ชายแสดงบทบาทและอารมณ์ความรู้สึกแบบผู้หญิง แต่งตัวเป็นหญิง ทำหน้าที่เหมือนกับสตรี  พฤติกรรมดังกล่าวนี้พบได้ในหลายกลุ่มและได้รับการยอมรับทางสังคม เช่น อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น    ก่อนที่จะมีความคิดเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีแบบตะวันตกซึ่งเข้ามาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กลุ่มคนในภูมิภาคนี้ยอมรับการแสดงพฤติกรรม “ข้ามเพศ” แต่หลังจากที่อิทธิพลความรู้แบบตะวันตกแพร่เข้ามา ผู้ปกครองในดินแดนแถบนี้เริ่มนำเอาวิธีคิดเรื่องเพศแบบตะวันตกมาอธิบายและควบคุมการแสดงบทบาททางเพศของหญิงชาย ส่งผลให้การแสดงพฤติกรรม “ข้ามเพศ” กลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากสังคม
                บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า วิธีคิดและโลกทัศน์เรื่องเพศที่ปรากฎอยู่ในท้องถิ่นของกลุ่มคนต่างๆในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แตกต่างไปจากวิธีคิดเรื่องเพศแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตกที่แพร่หลายเข้ามาในยุคอาณานิคมและการแสวงหาผลประโยชน์ของคนผิวขาวในช่วงหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา     อิทธิพลความรู้แบบตะวันตกมีผลต่อความคิดของคนท้องถิ่นในหลายเรื่อง และเรื่องเพศก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คนท้องถิ่นได้ซึมซับเอาวิธีคิดแบบคนผิวขาวผ่านการพัฒนาสมัยใหม่ โดยเฉพาะการศึกษาแบบตะวันตกได้เผยแพร่ความคิดเรื่องเพศในเชิงวิทยาศาสตร์ไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ คนชั้นกลาง และคนเมือง ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆของเอเชียอาคเนย์ พลเมืองรุ่นใหม่จึงเติบโตมาพร้อมกับวิธีคิดแบบ “ฝรั่ง” และนำเอาทัศนคติและวิธีคิดเรื่องเพศแบบตะวันตกมาเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิต เช่น การยกย่องสถาบันครอบครัวของรักต่างเพศ การให้คุณค่ากับระบบผัวเดียวเมียเดียว การควบคุมพฤติกรรมทางเพศของสตรี เด็ก และคนชรา  และการปฏิเสธการแสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศสรีระ เช่น พฤติกรรมข้ามเพศของกะเทย เป็นต้น
                การย้อนกลับไปทบทวนวิธีคิดเรื่องเพศของคนกลุ่มต่างๆในดินแดนแถบนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้เข้าใจว่าความรู้สึกรังเกียจหรือการมีอคติต่อคนข้ามเพศและการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศสรีระเป็นผลผลิตทางสังคมที่เกิดขึ้นมาภายหลัง    บุคคลที่มีพฤติกรรมข้ามเพศและมีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันค่อยๆกลายเป็น “ตัวประหลาด” หรือถูกมองว่า “ผิดปกติ” หลังจากที่รัฐสมัยใหม่นำเอาบรรทัดฐานเรื่องเพศแบบตะวันตกมาใช้ควบคุมพฤติกรรมทางเพศของพลเมืองของตน  ปฏิบัติการของรัฐชาติและการพัฒนาแบบตะวันตกได้เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องเพศของคนท้องถิ่นไปจากเดิม ส่งผลให้พื้นที่การแสดงออกทางสังคมและวัฒนธรรมของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันแคบลงเรื่อยๆ และกลายเป็นเป้าโตมตีจากผู้ปกครองที่พยายามปฏิเสธการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่สอดคล้องกับความรู้วิทยาศาสตร์    ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นการรวมตัวของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (เกย์ เลสเบี้ยน) คนข้ามเพศ (กะเทย สาวประเภทสอง) เพื่อออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง สิ่งนี้เป็นปรากฎการณ์สมัยใหม่ที่สะท้อนให้เห็นว่าความคิดเรื่องเพศเกี่ยวข้องกับสิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม  เมื่อกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศต่างไปจากชายหญิงต้องการให้สังคมยอมรับหรือให้สิทธิแก่พวกเขามากขึ้น  สังคมก็จำเป็นต้องทบทวนว่าการรังเกียจหรือการเลือกปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นนำไปสู่การละเมิดความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้าง
                การทำความเข้าใจสถานการณ์การเรียกร้อสิทธิของเกย์ กะเทย และเลสเบี้ยนในปัจจุบัน จำเป็นต้องมองดูบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนยุคอาณานิคมมาจนถึงยุคโลกาภิวัตน์ของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารสมัยใหม่ ในแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  กลุ่มเกย์ กะเทย เลสเบี้ยนมีการรวมตัวและแสดงตัวตนที่ต่างกัน กลุ่มคนเหล่านี้อาศัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมในการแสดงออก ขณะเดียวกันก็อาศัยความคิดสมัยใหม่เรื่องสิทธิมนุษยชนและการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนทางสังคม     อย่างไรก็ตาม  ในเวลาเดียวกันองค์กรของคนเหล่านี้ก็จำเป็นต้องเรียนรู้บริบททางวัฒนธรรมของตนเองที่เคยให้พื้นที่กับการแสดงพฤติกรรม “ข้ามเพศ” และ “รักเพศเดียวกัน” เพื่อที่จะทำความเข้าใจวิธีคิดเรื่องเพศที่เคยปรากฎอยู่ในท้องถิ่น และเปรียบเทียบวิธีคิดแบบตะวันตกที่มาทีหลัง    ถึงแม้ว่ารูปแบบและแนวทางการต่อสู้เรื่องสิทธิของเกย์ กะเทย และเลสเบี้ยนในปัจจุบันจะได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา     แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่องค์กรเกย์ กะเทย เลสเบี้ยนควรจะนำเอาพื้นที่ทางวัฒนธรรมของตนเองมาเป็นกระจกสะท้อนการแสดงตัวตนทางเพศร่วมสมัย เพื่อมองหาลักษณะเฉพาะและความเป็นสากลของการยอมรับและเห็นคุณค่าของบุคคลที่มีพฤติกรรม “ข้ามเพศ” และรักเพศเดียวกัน

ความเข้าใจเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                บทความของไมเคิล พีเล็ตซ์(2006) ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาเพศภาวะ (gender)  และเพศวิถี (sexuality) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงที่ผ่านมามักจะสนใจประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และมักจะใช้แนวคิดสตรีนิยมมาศึกษาประสบการณ์ของผู้หญิงโดยมองข้ามประสบการณ์ของผู้ชาย   ทั้งนี้ นักวิชาการที่สนใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะนำประเด็นเรื่อง “เพศภาวะ” ไปเป็นตัวแทนของการศึกษาผู้หญิง (รักต่างเพศ) จนทำให้มองไม่เห็นเพศภาวะแบบอื่นๆที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้  พีเล็ตซ์จึงพยายามเปิดพื้นที่ในการมองเรื่องเพศในดินแดนแถบนี้โดยนำความคิดเรื่อง พหุลักษณ์ของเพศภาวะ (gender pluralism) มาเป็นแนวทางในการมองมิติวัฒนธรรมของเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีของผู้คนในอุษาคเนย์  ความคิดดังกล่าวจะช่วยให้เข้าใจถึงความหลากหลายในการแสดงออกทางเพศซึ่งไม่ใช่มีเพียงผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น  
                 การศึกษาของพีเล็ตซ์ได้ย้อนกลับไปถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งผู้คนในดินแดนแถบนี้ยึดความเชื่อทางศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต  ความเชื่อทางศาสนาเกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น วิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่สิงสถิตย์อยู่ในธรรมชาติ  ความเชื่อเหล่านี้ได้เปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางวัฒนธรรมให้กับคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศ ที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมและติดต่อกับวิญญาณ  สถานะของคนข้ามเพศจึงเป็นสภานะศักดิ์สิทธิ์เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิง  เรื่องทางโลกกับเรื่องทางศาสนา  และ ภาวะทางวัตถุกับภาวะทางจิตวิญญาณ  การศึกษาเรื่องคนข้ามเพศ หรือคนที่ไม่ได้จัดอยู่ในเพศหญิงหรือเพศชาย เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเข้าใจแบบข้ามวัฒนธรรม     Ramet (1996) เคยชี้ให้เห็นว่าสังคมที่ให้ความสำคัญกับเพศภาวะ มักจะจัดแบ่งมนุษย์ออกเป็นกลุ่มๆตามพฤติกรรมที่แสดงออก การศึกษาเรื่องนี้มักจะพูดถึง gender culture ที่มองว่าเพศภาวะของมนุษย์เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น สังคมจะมีวิธีการนิยามเพศภาวะของบุคคลโดยดูจากการแสดงพฤติกรรมทางสังคม นักวิชาการบางคนเรียกว่า gender code และ gender ideology เพื่ออธิบายพฤติกรรมทางเพศที่มีแบบแผน หรือถูกควบคุมจัดระเบียบภายในสถาบันทางสังคม เช่น ครัวเรือน ศาสนา การเมือง ความเชื่อ เป็นต้น ดังนั้นในแต่ละสังคมจึงไม่จำเป็นต้องมีระบบการจัดจำแนกเพศภาวะเหมือนกัน 
                ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีวัฒนธรรมหลายแห่งที่แบ่งเพศภาวะมากกว่าชายหญิง ซึ่งมีการแยกบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ชายและผู้หญิงไว้เป็นอีกจำพวกหนึ่ง  เช่น คนแต่งตัวข้ามเพศ (cross-dressing) คนที่มีเพศภาวะแบบนี้มักจะปรากฎตัวในบริบทของความเชื่อทางศาสนา และมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมและติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์  บางสังคม คนที่มีเพศภาวะแบบนี้ปรากฎอยู่ในพื้นที่การแสดงและละคร เป็นผู้ให้ความบันเทิงเริงรมย์ และทำงานเกี่ยวกับความสวยงาม  Ramet(1996)อธิบายว่าหน้าที่ทางสังคมของคนข้ามเพศ หรือคนที่มีสองเพศ ได้แก่การรักษาระเบียบของสังคมเพราะคนข้ามเพศสามารถทำงานแบบชายและหญิงได้ หากสังคมต้องการแรงงานจากผู้ชาย คนข้ามเพศก็จะไปทำงานแทนได้  ในการศึกษาของโบลิน(1996) พบว่ารูปแบบของคนข้ามเพศที่พบเห็นในแต่ละวัฒนธรรม           อาจแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบ คือ 1) คนข้ามเพศเพราะปัจจัยทางเพศสรีระ หรือคนที่เกิดมามีระบบสืบพันธุ์ทั้งชายและหญิง (Hermaphroditic Genders) คนกลุ่มนี้เกิดมามีเพศสรีระที่คลุมเคลือ ซึ่งสังคมจะมองว่าเป็นคนพิเศษและมีอำนาจวิเศษ เมื่อเกิดมามักจะถูกเลี้ยงให้เป็นเด็กผู้หญิง  แบบที่ 2 คือ Two-Spirit หมายถึงบุคคลที่แสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับเพศสรีระ เช่น เพศชายแต่งตัวเป็นหญิงและมีเพศสัมพันธ์กับเพศชาย ในการศึกษาทางวัฒนธรรมพบว่า เพศภาวะแบบข้ามเพศเป็นบทบาทที่เพิ่มให้กับชายหญิง ซึ่งอาจจะมีการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศได้     แบบที่ 3 Cross-Gender หมายถึงหญิงชายที่แสดงออกตรงข้ามกับบทบาททางสังคม โดยไม่จำเป็นต้องแต่งตัวข้ามเพศ เช่น ผู้ชายที่อ่อนหวานและมีจิตใจอ่อนแอ ผู้หญิงที่แข็งแรงและมีจิตใจห้าวหาญ  แบบที่ 4 คือ Woman-Marriage /Boy -Marriage หมายถึง การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันซึ่งอาจไม่มีเรื่องเซ็กส์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การแต่งงานแบบนี้จะเกิดขึ้นในสังคมที่ผู้หญิงเป็นหมันและไม่สามารถมีลูกได้  หรือสังคมที่มีผู้หญิงน้อย ผู้ชายจึงจับคู่กัน โดยฝ่ายหนึ่งจะมีอายุมากกว่า อีกฝ่ายหนึ่งอายุน้อยกว่า   แบบที่ 5 คือ Cross-Gender Ritual หมายถึง การแสดงพฤติกรรมข้ามเพศเฉพาะเมื่ออยู่ในพิธีกรรม เช่นชายแต่งหญิง หญิงแต่งชาย การแสดงออกแบบนี้จะเป็นสภาวะก่ำกึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์เมื่ออยู่ในพิธีกรรม รูปแบบของคนข้ามเพศนี้เป็นเพียงการแบ่งอย่างหยาบๆ และยังมีความคิดเห็นที่หลากหลายของนักวิชาการเกี่ยวกับการจัดประเภทของคนข้ามเพศ อย่างไรก็ตาม  รูปแบบดังกล่าวนี้ก็อาจช่วยทำให้เห็นลักษณะของคนข้ามเพศ และการจัดแบ่งเพศภาวะที่อยู่ในเอเชียอาคเนย์ได้ชัดเจนขึ้น
                ส่วนการศึกษาเรื่องคนรักเพศเดียวกัน นักมานุษยวิทยาได้จัดประเภทของความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ 1) ความสัมพันธ์ที่มาจากโครงสร้างอายุ โดยในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่น บุคคลจะมีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะแต่งงานมีครอบครัวทำหน้าที่พ่บ้านและเป็นสามีของภรรยา  แบบที่ 2 คือ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากหน้าที่การงาน โดยที่บุคคลสามารถมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันได้ เช่น ร่างทรง หรือโสเภณี  แบบที่ 3 คือ การเป็นคนข้ามเพศซึ่งมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันผ่านการนิยมบทบาทการเป็นฝ่ายรุกและฝ่ายรับ  แบบที่ 4 การแสดงบทบาทแบบเท่าเทียมกัน เช่น เกย์ในสังคมตะวันตกที่แต่ละฝ่ายไม่มีความแตกต่างของอายุหรือเพศภาวะ รูปแบบนี้เป็นผลผลิตของสังคมสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20   อย่างไรก็ตาม   รูปแบบความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันนี้อาจแยกไม่ได้ง่ายๆเหมือนกับทฤษฎีที่วางไว้ เพราะหลายๆวัฒนธรรม บุคคลอาจแสดงความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อน (Sullivan, 2001)

บริบทสังคมกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                การศึกษาพีเล็ตซ์ (2006)ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อชาวยุโรปเดินทางเข้ามาติดต่อทางการค้าและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ไปจนถึงยุคอาณานิคมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ดินแดนต่างๆในอุษาคเนย์ตกอยู่ใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์    การเข้ามาของชาวยุโรปทำให้เกิดท่าทีดูหมิ่ดูแคลนพฤติกรรมของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน เพราะศาสนาคริสต์ไม่ยอมรับพฤติกรรมดังกล่าว     สิ่งนี้เป็นความแตกต่างจากศาสนาอิสลามที่แพร่หลายในเขตหมู่เกาะ ซึ่งยอมรับในพฤติกรรมทางเพศของคนพื้นเมือง  ชาวยุโรปได้นำเอาวิธีคิดแบบตะวันตกมาสู่ดินแดนแถบนี้โดยผ่านระบบการค้า มิชชันนารี การเมืองและการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ทำให้เจ้าผู้ครองนครต่างๆต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเจ้าอาณานิคม  วิธีคิดแบบตะวันตกนั้นถือเอาระบบรักต่างเพศเป็นใหญ่และให้อำนาจกับผู้ชายในฐานะเป็นผู้ควบคุมสั่งการเรื่องทางสังคม   เมื่อผู้ปกครองท้องถิ่นรับเอาวิธีคิดตะวันตกมาปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดการควบคุมพฤติกรรมทางเพศของผู้คน  การแสดงพฤติกรรมของคนข้ามเพศ คนรักเพศเดียวกันในพื้นที่ทางวัฒนธรรมจึงกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจและไม่ได้รับการยอมรับ  คนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันจึงถูกลดบทบาทและคุณค่าลง
                การศึกษาเพศภาวะและเพศวิถีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การเข้ามาของศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ลัทธิอาณานิคม  แนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่  และระบบการเมืองการปกครองในคริสต์ศตวรรษที่20  ซึ่งล้วนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องเพศ และการควบคุมเพศด้วยกระบวนทัศน์แบบตะวันตก  พีเล็ตซ์ชี้ให้เห็นว่าหลังจากที่ชาวยุโรปเข้ามาในดินแดนแถบนี้ทำให้พื้นที่ทางวัฒนธรรมของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันหดหายไป และถูกแทนที่ด้วยบรรทัดฐานรักต่างเพศ  พื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เคยรองรับการแสดงบทบาทคนข้ามเพศ เช่น ในพิธีกรรมทางศาสนา และการบูชาวิญญาณ  ถูกให้คุณค่าใหม่ด้วยศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม สิ่งนี้ทำให้สถานะพิเศษและสภาวะศักดิ์สิทธิ์ของคนข้ามเพศสูญสิ้นไป  เมื่อวิธีคิดแบบตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้    สถานะของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันจะถูกมองเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” หรือกลายเป็นเรื่อง “ทางโลก” ส่งผลให้กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกันต้องแสวงหาเครื่องมือใหม่ๆมาใช้ในการสร้างการยอมรับ  อย่างไรก็ตาม  เครื่องมือใหม่ๆนี้มาพร้อมกับวัฒนธรรมบริโภค ระบอบประชาธิปไตย และอุดมการณ์ของสิทธิมนุษยชน  พื้นที่ทางวัฒนธรรมเดิมที่สัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติค่อยๆเปลี่ยนไปสู่พื้นที่วัฒนธรรมใหม่ที่สัมพันธ์กับสินค้า บริการ แฟชั่น ไลฟสไตล์ และการเมืองเรื่องอัตลักษณ์   การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นประสบการณ์เชิงลบที่มีต่อคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งผลผลิตของการตกอยู่ใต้ความคิดของตะวันตกที่แย่ที่สุดคือการที่สังคมออกกฎหมายลงโทษคนเหล่านี้ เช่น สังคมมาเลเซีย เป็นต้น
                การให้คุณค่ากับการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกัน ซึ่งปรากฎอยู่ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเรื่องที่ท้าทายความคิดแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตก เพราะการให้คุณค่าต่อพฤติกรรมทางเพศดังกล่าวมาจากวิธีคิดเรื่องเพศและตัวตนของมนุษย์ ซึ่งผู้คนในอุษาคเนย์มองว่ามนุษย์ต้องเคารพธรรมชาติ  ธรรมชาติเปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ชีวิตมนุษย์ได้  การยอมรับสถานะของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันจึงเป็นการแสดงความเคารพต่ออำนาจเหนือธรรมชาติที่มีวิญญาณสิงสถิตย์อยู่ เพราะคนข้ามเพศเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจวิเศษและวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์     วิธีคิดเหล่านี้บ่งบอกให้ทราบว่า ผู้คนในดินแดนแถบนี้มองชีวิตเป็นองค์รวม  กล่าวคือ มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ มองเห็นสิ่งต่างๆในโลกธรรมชาติว่าเป็นสภาวะศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์ต้องกราบไหว้บูชา   หลังจากที่ความคิดเหล่านี้หายไปพร้อมกับการให้คุณค่าต่อสถาบันรักต่างเพศและอำนาจชายเป็นใหญ่  ส่งผลให้ความสัมพพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติของผู้คนในแถบนี้เปลี่ยนแปลงไป  เพราะธรรมชาติกลายเป็น “วัตถุ” ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ มิติทางจิตวิญญาณของธรรมชาติหดหายไป  เช่นเดียวกับคุณค่าของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันที่ถูกทำลายไปภายใต้ทฤษฎีเพศแบบชีววิทยาและจิตเวชศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20
                นอกจากนั้น การทำความเข้าใจวิธีคิดเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีในอุษาคเนย์ จำเป็นต้องทำความเข้าใจวิธีการจัดจำแนกเพศของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งต่างไปจากวิธีคิดแบบตะวันตกที่แยกเพศสรีระเป็นเพียงสองแบบ คือชายและหญิงเท่านั้น      การศึกษาทางมานุษยวิทยาในดินแดนแถบนี้พบว่า ผู้คนให้นิยามและจัดแบ่งเพศที่มากกว่าชายหญิง โดยเฉพาะการจัดให้คนสองเพศ หรือคนข้ามเพศมีพื้นที่ของตัวเอง     สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความเป็นชายและความเป็นหญิงไม่ได้ผูกติดอยู่กับอวัยวะเพศ กล่าวคือ คนข้ามเพศ หรือคนสองเพศสามารถแสดงความเป็นชายและหญิงได้ในเวลาเดียวกัน สิ่งนี้เป็นความยืดหยุ่นของการมองเพศภาวะที่แยกจากเพศสรีระ และทำให้คนข้ามเพศสามารถยืนยันบทบาททางเพศของตนได้ชัดเจนขึ้นและมีความปลอดภัยที่จะแสดงบทบาททั้งชายและหญิงในพื้นที่สาธารณะ       ตรงข้ามกับความรู้ตะวันตกที่พยายามนำเอาเพศภาวะไปรวมอยู่กับเพศสรีระ ซึ่งมีผลทำให้บุคคลที่แสดงเพศภาวะไม่ตรงกับเพศสรีระไม่สามารถแสดงออกทางเพศในแนวทางของตนเองได้ และกลายเป็นคนที่ “เบี่ยงเบน” และไม่ได้รับการยอมรับ   นอกจากนั้น วิธีคิดเรื่องเพศในเอเชียอาคเนย์ สนใจเรื่องบทบาทหน้าที่มากกว่าอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ    ดังนั้น การจำแนกเพศของบุคคลจึงเกิดจากการแสดงความเป็นหญิงชายที่สัมพันธ์กับบทบาททางสังคม  โดยไม่สนใจว่าบุคคลนั้นจะมีเพศวิถีแบบไหน ไม่ว่าจะชอบเพศเดียวกันหรือต่างเพศ   มีการตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิด Homosexuality และ Transgenderism เป็นแนวคิดของตะวันตกซึ่งต่างไปจากวิธีคิดเรื่องของคนที่อาศัยอยู่ในที่อื่นๆ  เช่นเดียวกับผู้คนในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีวิธีคิดเรื่องเพศต่างไปจากตะวันตก กล่าวคือ การแสดงพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกันไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอัตลักษณ์ แต่เป็นการแสดงบทบาทที่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคมและบริบทความเชื่อ ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายให้เห็นในลำดับต่อไป

พื้นที่พิธีกรรมและศาสนา กับการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศ

                ในการศึกษาของโคลแมนและคณะ(1997) พบว่าในสังคมพม่ามีความเชื่อเรื่องวิญญาณ หรือ Nat ซึ่งมีมาก่อนความเชื่อของศาสนาพุทธ  กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพม่ามีความเชื่อเรื่องวิญญาณและให้ความเคารพในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต โชคชะตาหรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวสัมพันธ์กับการให้คุณให้โทษจากวิญญาณ  เพราะวิญญาณมีอำนาจที่จะดลบันดาลให้บุคคลได้รับพรหรือการลงโทษ    วิญญาณที่สำคัญของพม่ามีมากถึง 37 วิญญาณ สิงสถิตย์อยู่ในธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น    ดังนั้น การทำพิธีกรรมบูชาและบวงสรวงวิญญาณ หรือ Nat Pwe จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะจัดพิธีกรรมนี้เป็นประจำทุกปีในช่วงข้างขึ้นของเดือนสิงหาคม หรือธันวาคม    พื้นที่พิธีกรรมนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงและ “คนข้ามเพศ” ทำหน้าที่เป็นร่างทรงหรือผู้ที่ติดต่อกับวิญญาณ หรือ Nat Kadaw  สถานะของร่างทรงจึงเป็นสถานะพิเศษทางสังคมที่ได้รับการเคารพนับถือ  บุคคลที่มีพฤติกรรมข้ามเพศ โดยเฉพาะผู้ชายที่มีการแสดงออกแบบผู้หญิงจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมดังกล่าวนี้  ในสังคมพม่า บุคคลที่มีพฤติกรรมข้ามเพศรู้จักในนาม Acault หมายถึงผู้ชายที่แต่งตัวและแสดงกิริยาท่าทางเหมือนผู้หญิง  คนข้ามเพศในพม่าหลายคนจะเลือกทำหน้าที่เป็นร่างทรงโดยเชื่อว่าวิญญาณของสตรีชื่อ Manguedon จะมาเข้าฝันทำให้เกิดนิมิตว่าเจ้าแม่ต้องการให้เขาทำหน้าที่เป็นร่างทรง
                ผู้ชายที่เป็น Acault ซึ่งได้รับการติดต่อจากเจ้าแม่ “มันกีดอน” จะต้องเข้าพิธีสมรสกับเจ้าแม่เป็นที่จะรับพลังอำนาจและทำหน้าที่เป็นร่างทรงในพิธีกรรมบางสรวงวิญญาณ พิธีสมรสกับเจ้าแม่คือสัญลักษณ์ทางสังคมที่ประกาศให้คนในครอบครัวและชาวบ้านรับรู้ว่าคนๆนี้ได้มีสถานะพิเศษที่สามารถติดต่อกับเจ้าแม่ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้  เมื่อผ่านพิธีสมรสแล้ว บุคคลที่เป็น Accault จะร่วมงานเฉลิมฉลองนานถึง 3 วัน จากนั้นชาวบ้านก็จะรับรู้ว่าเขามีวิญญาณของเจ้าแม่(สตรี)สิงอยู่ ทุกคนจะให้ความเคารพและพวกเธอ (Acault) สามารถมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายโดยไม่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ในขณะที่ผู้ชายที่ร่วมประเวณีกับพวกเธอก็จะเชื่อว่าเขากำลังมีเพศสัมพันธ์กับวิญญาณของผู้หญิง   ในทางสังคม Accault จะได้รับการยอมรับและมักจะถูกเชิญจากเศรษฐีให้ไปประกอบพิธีกรรมบูชาวิญญาณซึ่งพวกเธอจะได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวนมาก  ในพิธีกรรมติดต่อกับวิญญาณ บุคคลที่เป็น Acault จะแต่งตัวเป็นผู้หญิงในชุดที่สวยงามและทำท่าร่ายรำประกอบเสียงดนตรีที่มีจังหวะเร็วเร้าใจ  การร่ายรำนี้เป็นสัญญาณบอกว่าวิญญาณได้มาประทับร่างของเธอแล้ว เจ้าของบ้านที่จัดพิธีสามารถขอพรจากวิญญาณนั้นได้     อาจกล่าวได้ว่าตัวตนของ  Acault คือตัวตนของผู้หญิงที่ปรากฎอยู่บนสรีระของเพศชาย ซึ่งถือเป็นสภาวะพิเศษทางวัฒนธรรม   โลกของวิญญาณและพิธีกรรมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพม่าจึงเปิดพื้นที่ให้คนข้ามเพศสามารถแสดงตัวตนได้ รวมไปถึงเปิดโอกาสให้คนข้ามเพศ (Acault) สามารถใช้ชีวิตเหมือนกับผู้หญิงที่อยู่กินกับผู้ชายในฐานะสามี
                ในวัฒนธรรมของชาวบูกิส ชาวอีบัน ชาวนกาจู ดายัค ในเขตตอนใต้ของซูราเวสีของอินโดนีเซีย   มีการนับถือร่างทรงที่เป็นคนสองเพศ หรือ  รู้จักในนาม bissu   ผู้ที่เป็นร่างทรงจะมีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษและถือว่าเป็นสายตระกูลที่ได้รับการยกย่องทางสังคม มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมในราชสำนัก และติดต่อกับวิญญาณ (dewata) ในพิธีกรรมต่างๆ   ในวัฒนธรรมของชาวบูกิส มองว่าผู้ที่เป็นบิสซูจะมีสถานะพิเศษ ไม่ถือว่าเป็นชายหรือเป็นหญิง    การศึกษาของชารีน เกรแฮม(2006) อธิบายว่าวิธีคิดเรื่องเพศภาวะของชาวบูกิสได้แบ่งแยกการแสดงออกทางเพศของมนุษย์เป็น 5 ประเภท คือ ผู้ชาย (oroane)  ผู้หญิง (makunrai) ผู้หญิงที่ดูเหมือนชาย (calabai)  ผู้ชายที่ดูเหมือนหญิง (calabai) และผู้ที่เป็นทั้งชายและหญิง (bissu)   ผู้ที่มีเพศภาวะเป็นบิสซูจะถือว่ามีอำนาจวิเศษ มีพรสวรรค์ และมีทักษะในงานศิลปะด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในทางเพศสรีระจะพบว่าผู้ที่เป็นบิสซูจะเกิดมาเป็น “กะเทยแท้” คือมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งชายและหญิงในคนๆเดียว หรือเป็น Intersex ตามทฤษฎีทางการแพทย์  ในทางวัฒนธรรม   บิสซูจะมีการแสดงออกทางเพศทั้งหญิงและชาย มีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของหญิงและชาย ซึ่งไม่ใช่การแต่งตัวตรงข้ามกับเพศสรีระในความหมายของ cross-dress  แต่เป็นการรวมสองเพศในคนๆเดียว นอกจากนั้น บิสซูยังมีสภาพเป็นทั้งมนุษย์และวิญญาณ เป็นการผสมรวมระหว่างโลกทางธรรมชาติกับโลกเหนือธรรมชาติ  โลกของชีวิตและโลกของความตาย
                การดำรงเพศภาวะที่เป็นทั้งหญิงและชาย คือสถานะพิเศษที่ไม่เหมือนผู้ชาย หรือผู้หญิง  ชาวบูกิสจะให้การเคารพนับถือบิสซูเทียบเท่ากับเป็น “ผู้วิเศษ” หรือคนที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือเป็นเหมือนกับนักบวช หน้าที่ของบิสซูจึงเกี่ยวข้องกับการเป็นร่างทรง  ติดต่อกับวิญญาณ  และประกอบพิธีกรรมสำคัญๆ เช่น พิธีเพาะปลูก พิธีกรรมเกี่ยวการเกิด การตาย และการเปลี่ยนสถานะของบุคคล เมื่อบิสซูร่ายรำหรือท่องบทสวด อำนาจวิเศษจะดลบันดาลให้เกิดผลต่อชีวิต       ส่วนเพศภาวะแบบคนข้ามเพศ หรือ calabai  คือบุคคลที่มีเพศสรีระแบบหนึ่งแต่มีการแสดงออกตรงข้ามกับเพสสรีระ เช่น ชายแต่งหญิง หรือ หญิงแต่งชาย   ในวัฒนธรรมของชาวบูกิส เชื่อว่าคนข้ามเพศจะทำหน้าที่จัดพิธีแต่งงานให้กับบ่าวสาว หรือเป็นคนเตรียมงานสมรสให้กับผู้ที่จะแต่งงาน     อย่างไรก็ตาม   แต่หลังจากศาสนาอิสลามมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของชาวบูกิส ความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจวิเศษของบิสซูและบทบาทของคาลาไบ ก็ค่อยๆลดน้อยลง และสถานะของบิสซูก็กลายเป็นคนที่แปลกประหลาด
          ในประเทศฟิลิปปินส์ พฤติกรรมแต่งตัวข้ามเพศพบเห็นได้ในพิธีกรรม บุคคลที่แต่งตัวข้ามเพศจะได้รับการยอมรับและมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรม เช่น เป็นร่างทรงติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เผ็นผู้ทำนายโชคชะตาราศี  เป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งทางสังคม  หมอรักษาโรค หรือเป็นหัวหน้าชุมชน   บุคคลเหล่านี้จะมีชื่อเรียก ได้แก่ bayoguin, bayok, agi-agin, asog, bido, binabae  คนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์เชื่อว่าคนข้ามเพศเป็นผู้มีอำนาจวิเศษเพราะมีวิญญาณของชายและหญิงในเวลาเดียวกัน   เทพเจ้าของคนพื้นเมืองในเขตฟิลิปปินส์จะมีความเป็นชายและหญิงอยู่รวมกัน ได้แก่ เทพเจ้าบาทาล่าและมายารี ซึ่งได้รับการเคารพนับถือในหมู่คนข้ามเพศ  เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองนกาจูดายัคบนเกาะบอร์เนียวนับถือเทพเจ้าชื่อ มหาตาลา-ชายา ซึ่งมีทั้งเพศหญิงและเพศชายอยู่ในร่างเดียว    ในชนเผ่าอีบันดายัค จะมีร่างทรงที่เป็นคนข้ามเพศ ซึ่งเรียกว่า manang bali  ผู้ชายที่จะกลายเป็นร่างทรงมักจะฝันว่าตนเองกลายเป็นหญิงและได้รับการติดต่อจากเทพเจ้าให้ทำหน้าที่เป็นร่างทรง     การศึกษาของการ์เซีย(2008) อธิบายว่าก่อนยุคอาณานิคม พฤติกรรมข้ามเพศ หรือการแสดงออกแบบชายแต่งหญิง (bayoguin หรือ asog) พบเห็นได้ทั่วไปในฟิลิปปินส์  แต่หลังจากที่ชาวสเปนได้เข้ามาปกครอง พฤติกรรมข้ามเพศกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ
                ในอินโดนีเซีย การแสดงพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกันได้รับการยอมรับและมีรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและพิธีกรรม  การศึกษาของโอเตโมและอีมอนด์(1991) ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันรู้จักในนาม banci และwaria  ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ไม่เหมือนกับโฮโมเซ็กช่วลสมัยใหม่  พฤติกรรมของ banci และ waria เป็นพฤติกรรมข้ามเพศที่มีอยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนพื้นเมือง (Offord and Cantrell, 2001, p.243.) คนกลุ่มนี้จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการแสดง แต่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มองว่าคนกลุ่มนี้ทำงานขายบริการทางเพศ ทั้งๆที่ waria มีความหลากหลายในการทำงานด้านต่างๆ
                การแสดงบทบาทข้ามเพศยังเกิดขึ้นในพิธีกรรมเปลี่ยนสถานภาพของบุคคล เช่น ในวัฒนธรรมเขมรจะมีพิธีที่เรียกว่า hau bralin เป็นพิธีเตรียมตัวให้เด็กชายเข้าสู่ศาสนา     การศึกษาของแอชลีย์ ทอมป์สัน(1996) อธิบายให้เห็นว่าก่อนที่เด็กชายจะบวชเป็นพระ จะต้องเปลี่ยนสถานะของตัวเองเป็น “นาค” สถานะดังกล่าวนี้จะอยู่ตรงกลางระหว่างการเป็นมนุษย์กับการเป็นพระ  สภาวะนี้จะทำให้บุคคลไร้ตัวตน สามารถที่จะแสดงบทบาทของคนข้ามเพศได้ เช่น แต่งตัวเป็นหญิง ช่วงเวลาของการบวชนาคจึงเป็นช่วงเวลาพิเศษที่ความเป็นชายและความเป็นหญิงสามารถเกิดขึ้นในตัวบุคคล การแต่งตัวเป็นหญิงของนาคจึงเป็นการสัญลักษณ์ของสภาวะคลุมเคลือและความศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่ผู้ชายจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นพระสงฆ์   ธรรมเนียมดังกล่าวนี้ยังพบในการบวชนาคของชาวมอญ ซึ่งก่อนบวชเป็นพระหนึ่งวันถือเป็นวัน “สุกดิบ” หรือเป็นวันที่ผู้ชายต้องบวชเป็นนาคและต้องแต่งกายแบบสตรี คือสวมผ้านุ่งและสไบสีสดใส พร้อมกับแต่งหน้าทาปากเหมือนผู้หญิง ทัดดอกไม้ที่หู ใส่ต่างหู สวมเครื่องประดับของสตรี จากนั้นจะมีขบวนแห่นาคไปทำพิธีเคารพเจ้าที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และฟังเทศน์ที่วัด พอถึงเวลากลางคือ นาคจะกลับมาบ้านเพื่อและทำขวัญนาค เรียกว่า “ตกเบ็ด” โดยจะมีอุปกรณ์ไม้ผูกติดกับสายสิญจน์ เหมือนเบ็ดตกปลา ปลายเบ็ดจะเป็นแหวน ญาติพี่น้องจะเข้ามานำเบ็ดไปแตะตามที่ต่างๆเพื่อให้รู้ว่านาคกำลังจะเป็นพระแล้ว รุ่งเช้านาคก็จะโกนผมและแห่นาคไปทำพิธีที่อุโบสถ

พื้นที่ละครและมหรสพ กับบทบาทของคนข้ามเพศ

                การศึกษาของเรย์แบ็ค(1986) พบว่าชาวมาเลย์ดั้งเดิมยอมรับการแสดงพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน  กลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันในดินแดนมาเลเซียจะมีชุมชนของตัวเองและยั่งชีพด้วยการทำงานเป็นนักแสดงในการแสดงพื้นบ้านที่รู้จักในนาม Mak Yong  ชาวบ้านจะยอมรับในความสามารถในการแสดงของคนข้ามเพศ เพราะการแสดงนี้ต้องอาศัยทักษะส่วนตัว   การแสดง  Mak Yong แพร่หลายในเขตเคลันตันของมาเลเซีย แต่ต่อมาถูกห้ามไม่ให้มีการแสดงในช่วงปี 1991 เมื่อพรรคการเมือง Pan-Malaysian Islamic เข้ามาปกครองเพราะเห็นว่าการแสดงนี้มีรากเหง้ามาจากศาสนาฮินดูและความเชื่อไสยศาสตร์  ในอดีตก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่เข้ามา  การแสดงดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้า Semar และการบูชาวิญญาณ (Semah Kumpung) เพื่อให้ปกปักษ์รักษาพืชพันธุ์ที่เพาะปลูก ซึ่งจะมีร่างทรงที่เป็นคนข้ามเพศทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ร่างทรงหรือหมอผีจะรู้จักในนาม pawang  ซึ่งจะมีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษภายในตระกูลของร่างทรง     นอกจากนั้นการแสดงนี้ยังใช้ในพิธีกรรมรักษาโรค   นักแสดงจะร่ายรำและเชิญวิญญาณมาเข้าร่างเพื่อที่จะใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์รักษาผู้ป่วย       อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้การแสดงดังกล่าวถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่แต่มีความหมายเปลี่ยนไป โดยมุ่งเน้นเพื่อความบันเทิงมากกว่าเป็นพิธีกรรม และเปลี่ยนมาใช้ผู้หญิงเป็นนักแสดง  พร้อมๆกับร่างทรงและนักแสดงที่เป็นคนข้ามเพศค่อยๆหายไปจากวัฒนธรรมมาเลย์   ในสังคมมาเลย์ บุคคลที่มีพฤติกรรมข้ามเพศจะได้รับฉายาว่า “Pondan” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่แสดงกิริยาท่าทางและแต่งกายเป็นหญิง บุคคลดังกล่าวนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้เจ้าสาวและดูแลการจัดงานสมรส ชาวบ้านจะรู้ดีว่า Pondan จะเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับการจัดงานแต่งงานให้กับหนุ่มสาว
                ในประเทศไทย การแสดงออกในพฤติกรรมข้ามเพศพบเห็นได้ในการแสดงละครชาตรี โนรา ละครนอก ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  และจะใช้นักแสดงที่เป็นเพศชายล้วน ตัวละครที่เป็นหญิงจะแสดงโดยเพศชายจะสวบทบาทเป็นผู้หญิง ละครประเภทนี้แพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน เป็นความบันเทิงที่ตอบสนองอารมณ์ชาวบ้าน เพราะผู้เล่นจะมีลีลาสนุกสนานและขบขัน    ในภาคใต้ของไทย ละครชาตรีได้รับความนิยมมากซึ่งจะมีนักแสดงเพียง 3 ตัว คือ ตัวพระ ตัวนาง และตัวตลก    ชีวิตของนักแสดงชายในคณะละครอาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะนักแสดงที่รับบทเป็นผู้หญิงมักจะมีความสัมพันธ์กับนักแสดงชายหรือผู้ชาย เพราะผู้แสดงบทหญิงมักจะมีกิริยาท่าทางอ่อนหวานเหมือนผู้หญิง หรือเป็น “กะเทย”   หลักฐานที่มีการบันทึกไว้ได้แก่สมัยรัชกาลที่ 3  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศซึ่งทรงดูแลกรมวัง พระองค์ทรงโปรดตัวละครนอกที่เล่นบทบาทเป็นหญิง และโปรดไปบรรทมด้วยเป็นประจำ
                นอกจากนั้น ในงานมหรสพและงานวัดจะมีการจัดเวทีรำวง ซึ่งกะเทยมักจะเป็นนางรำเพื่อที่จะให้ผู้ชายมาเป็นคู่รำ ถ้ากะเทยคนไหนสวยก็จะได้รับความนิยมมาก  เวทีรำวงเปิดโอกาสให้กะเทยแสดงออกได้อย่างอิสระ เช่น แต่งตัวเป็นหญิงได้เต็มที่ และแสดงความสนใจต่อเพศชาย การที่เอากะเทยมาเป็นสาวรำวง ก็เพราะไม่ต้องการให้เกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ชาย ถ้าเอาผู้หญิงมาเป็นนางรำวงแล้วอาจนำไปสู่การแย่งผู้หญิงและผู้ชายอาจชกต่อยกันทำให้เสียบรรยากาศ กะเทยจึงกลายเป็นผู้ควบคุมไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทในงานมหรสพ  พื้นที่ที่กะเทยสามารถแสดงตัวตนได้อิสระอีกพื้นที่หนึ่งคือ การประกวดนางฟ้าจำแลง ซึ่งเมื่อมีงานวัดหรืองานเทศกาลต่างๆ กะเทยทั้งหลายก็จะแต่งตัวอย่างสวยงามเพื่อเข้าประกวด

ตารางเปรียบเทียบคำเรียกท้องถิ่นของพฤติกรรมข้ามเพศ ในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศ
คำเรียกพฤติกรรมข้ามเพศ
มาเลเซีย
Pondan
อินโดนีเซีย
Waria,  Banci, Calabai
สิงคโปร์
Ah-qua
พม่า
Acault
ฟิลิปปินส์
Bakla, Bayoguin, Asog
ไทย
Kathoey
กัมพูชา
Khteuy

พื้นที่วัฒนธรรมใหม่ของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน

          หลังจากที่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกอยู่ในอาณานิคมของชาวยุโรป และอเมริกัน วิธีคิดเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีแบบตะวันตกค่อยๆเข้ามามีอิทธิพลต่อเรื่องเพศของคนท้องถิ่น โดยอาศัยระบบการศึกษาสมัยใหม่ การพัฒนาประเทศ การสร้างรัฐชาติ และระบอบประชาธิปไตย (Garcia, 2008, p.167)  ในประเทศฟิลิปปินส์  ความคิดเรื่องเพศสมัยใหม่มาพร้อมกับอิทธิพลของอเมริกัน ซึ่งพยายามอธิบายเพศด้วยความรู้เพศวิถีที่แบ่งแยกรักต่างเพศออกจากรักเพศเดียวกัน  ความรู้นี้ปรากฎอยู่ในเรื่องสุขภาพอนามัย จิตเวชศาสตร์ การวางแผนครอบครัว และระบบผัวเดียวเมียเดียว  ทำให้บุคคลที่มีพฤติกรรมข้ามเพ ศ (bakla) และรักเพศเดียวกันต้องกลายเป็นคนชายขอบ และถูกจัดให้เป็น “โฮโมเซ็กช่วล” ตามทฤษฎีตะวันตก  ปัจจุบันคนข้ามเพศในฟิลิปปินส์ถูกมองว่าเป็นเกย์ที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เพราะสังคมตัดสินจากพฤติกรรมเซ็กส์ที่คนข้ามเพศแสดงออก มากกว่าจะสนใจบทบาททางสังคมที่ bakla สามารถแสดงความเป็นชายและความเป็นหญิงได้  การ์เซีย(2008) อธิบายว่าการกลายสภาพของบากล่าเป็นโฮโมเซ็กช่วลคือการผสมผสานระหว่างความคิดเรื่องเพศที่มีมาก่อนกับความคิดแบบตะวันตก โดยบุคคลที่เป็นคนข้ามเพศหรือบากล่ามีวิธีการสร้างตัวตนขึ้นมาโดยอาศัยนิยามใหม่ของการเป็นเกย์และเพศวิถี รวมเข้ากับการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศที่มีมาแต่เดิม 
                ปัจจุบันบากล่าประกอบอาชีพเกี่ยวกับความสวยงาม เช่น ช่างทำผม และช่างแต่งหน้า  ทำงานในบาร์เบียร์ รวมทั้งการขายบริการทางเพศ   ปัจจุบัน บากล่าจะรวมตัวกันเพื่อจัดงานประกวดสาวประเภทสอง หรือ Miss gay Philippinesซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ คือ  Hairdressers and Cosmetologists Association of the Philippines มีสมาชิกสาวประเภทสองประมาณ 15,000 คน       ส่วนเกย์ในฟิลิปปินส์จะต่างไปจากบากล่า เพราะส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและเรียนหนังสือต่างประเทศ  กลุ่มเกย์จะใช้ชีวิตอยู่ในบาร์และสถานเริงรมย์เพราะได้รับอิทธิพลจากอเมริกัน นอกจากนั้น ฟิลิปปินส์ไม่มีกฎหมายลงโทษพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล ทำให้เกย์หลายคนสามารถเปิดเผยตัวเองได้ในที่สาธารณะ       ในช่วงทศวรรษ 1970 กลุ่มเกย์ในฟิลิปปินส์รวมตัวกันภายใต้กลุ่มชื่อ Kakasarian สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและต้องการเรียกร้องสิทธิเกย์ รวมทั้งพยายามสร้างอัตลักษณ์ที่ต่างไปจากกลุ่มบากล่าที่แต่งตัวเป็นหญิง  ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 เกิดกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนอีกหลายกลุ่ม เช่น Pro-Gay, LesBond, Lesbian Collective, Can't Live in the Closet, และ BANANAโดยมีการเคลื่อนไหวเชิงการเมืองและบางกลุ่มก็ทำงานป้องกันโรคเอดส์       สิ่งที่น่าสนใจก็คือในช่วงนี้ นักศึกษาเกย์เลสเบี้ยนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้จัดตั้งเป็นกลุ่มเพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิของเกย์เลเสบี้ยน  กลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยบาเบย์ลัน   สภาพดังกล่าวนี้ทำให้เกย์ฟิลิปปินส์มีสำนึกเรื่องสิทธิและสำนึกเชิงการเมืองอย่างเข้มข้น   จนกระทั่งในปี 1994 ได้มีการเดินพาเหรดเกย์ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในเอเชีย     ปัจจุบัน ฟิลิปปินส์มีกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศหลายกลุ่ม ทั้ง เกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสอง(bakla) ไบเซ็กช่วล (silahis) ทอมบอย เป็นต้น แต่ละกลุ่มก็ประกอบด้วยชนชั้นและชาติพันธุ์ที่ต่างกัน  การศึกษาของไมเคิล ตัน(2001) อธิบายว่าการเป็นเกย์ในฟิลิปปินส์อาศัยการอ้างอิงความแตกต่างจากบากล่าเพื่อที่จะทำให้เกย์แสดงความเป็นชาย และบากล่าแสดงความเป็นหญิง
          ในการศึกษาของยิค คุน เต (2008) อธิบายว่าคำเรียกการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศ (ชายแต่งหญิง) ภาษามาเลย์เรียกว่า “mak nyah” หมายถึงการแสดงพฤติกรรมที่เหมือนผู้หญิง ซึ่งเป็นคำเรียกที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 1987 โดยกลุ่มสาวประเภทสองที่ผ่าตัดแปลงเพศ ที่ออกมาสร้างกลุ่มของตัวเองและเรียกตัวเองว่า “มัก นีย่า”  คำนี้ต่างจาก “pondan” ซึ่งหมายถึงผู้ชายที่มีท่าทางเป็นหญิงที่ใช้เรียกเกย์  กลุ่มของมักนีย่าจึงมีอัตลักษณ์ที่ต่างไปจากกลุ่มพอนแดน   กลุ่มของมักนีย่าส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศ และจะมีฐานะยากจน เป็นชนชั้นแรงงาน มีการศึกษาน้อย  อาชีพขายบริการทางเพศสามารถสร้างรายได้ให้กับพวกเธอง่ายกว่าการทำอาชีพอื่น  ในช่วงอาณานิคมอังกฤษ กลุ่มสาวประเภทสองในมาเลย์จะมีความสุขมากเพราะได้ทำงานเกี่ยวกับความสวยงาม เช่น เป็นผู้เตรียมงานสมรสให้บ่าวสาวในหมู่บ้าน  เป็นนักเต้นรำ นักปรุงอาหาร และศิลปิน นอกจากนั้น รัฐบาลอิสลามก็ไม่ได้เข้ามาควบคุมพวกเธอมากนัก พวกเธอจึงรู้สึกว่ามีอิสระและสามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการ หลังจากที่รัฐบาลมหาธีร์เข้ามาบริหารประเทศในปี 1983 มีกฎระเบียบใหม่ห้ามชาวมุสลิมผ่าตัดแปลงเพศ รวมทั้งห้ามการแต่งตัวข้ามเพศด้วย ยกเว้นกรณีที่บุคคลเกิดมาโดยมีสองเพศตามธรรมชาติ รัฐจะอนุญาตให้เป็นกรณีพิเศษ
                ในศาสนาอิสลามแยกเพศเป็น 4 แบบ คือ ชาย หญิง กะเทยแท้ และ mukhannis  บุคคลที่เป็นมัคกันนีสจะเป็นผู้ชายที่มีพฤติกรรมเหมือนผู้หญิง คนกลุ่มนี้จะถูกห้ามจากรัฐบาลไม่ให้ผ่าตัดแปลงเพศ ทำศัลยกรรม หรือกินฮฮร์โมนเพศหญิง  ด้วยเหตุนี้ทำให้สาวประเภทสองหลายคนต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปผ่าตัดแปลงเพศ (ส่วนใหญ่เดินทางมาประเทศไทย)  นอกจากนั้น รัฐบาลของมหาธีร์ยังปิดกั้นการสร้างชุมชนของสาวประเภทสองเพราะรัฐมองว่าพวกเธอบ่อนทำลายศาสนาอิสลาม หรือทำให้สังคมเสื่อมทรามลง  ปัจจุบันนี้ สาวประเภทสองหลายคนใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวเพราะเกรงว่าหลังจากที่เธอเสียชีวิตลงจะไม่มีใครไปงานศพของเธอ และกลัวว่าวิญญาณจะไม่ได้ไปอยู่กับพระเจ้า  ในมาเลเซียยังมีกฎหมาย Syariah ที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพลเมือง รวมทั้งมาตรา 377a  ระบุว่าการที่บุคคลนำองชาตไปใส่ทวารหนักหรือปากของคนอื่นถือว่าเป็นการกระทำทางเพศที่ฝ่าฝืนธรรมชาติ  มาตรา 377b ระบุว่า บุคคลใดก็ตามกระทำการทางเพศที่ผิดธรรมชาติจะถูกจองจำเป็นเวลา 20 ปี และนำตัวไปเฆี่ยน     แต่สาวประเภทสองมักจะไม่ถูกลงโทษด้วยกฎหมายนี้ ยกเว้นถูกทำร้ายจากตำรวจและเจ้าหน้าที่ทางศาสนา  สาวประเภทสองหลายคนจึงหันไปแต่งตัวเป็นผู้ชายเพื่อที่จะไม่ถูกทำร้าย
                สำหรับกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนในมาเลเซีย  มักจะถูกอธิบายว่าเป็น pondan คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการยอมรับในครอบครัวเพราะชาวมาเลย์มองว่าความเป็นเกย์และเลสเบี้ยนเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่ลุกลามเข้ามาภายหลัง  ในกลุ่มเกย์เองจะนิยามตัวเองเป็นชายหรือ jantan  ในปี 1987 มีการตั้งองค์กรชื่อ The Pink Triangle โดยกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนที่ต้องการทำงานป้องกันโรคเอดส์ โดยได้รับงบประมาณจากรัฐ แต่รัฐไม่ได้ส่งเสริมให้องค์กรนี้ทำกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเกย์เลสเบี้ยน เช่น การส่งเสริมอัตลักษณ์หรือการให้คำปรึกษาแก่เกย์เลสเบี้ยนในการใช้ชีวิต  ส่งเสริมให้สังคมยอมรับและเข้าใจผู้ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน     สำหรับเกย์เลสเบี้ยนทั่วไปจะใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มเพื่อนและต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งส่วนใหญ่ต้องแต่งงานมีครอบครัวเหมือนบุคคลที่เป็นชายหญิง (Baba, 2001, p.161.)  นอกจากนั้น กลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสองในมาเลเซียจะรวมตัวกันในเทศกาล Seksualiti Merdeka เป็นเทศกาลเกี่ยวกับศิลปะการแสดง สิทธิมนุษยชน และสิทธิทางเพศ ซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่เป็นชายขอบหรือถูกละเมิดสิทธิได้แสดงออกและพบเจอกัน
                ในประเทศอินโดนีเซีย  องค์กรและสิ่งพิมพ์ของเกย์และเลสเบี้ยนเกิดขึ้นในปี 1982 ในช่วงเวลานี้รัฐได้มีกฎหมายห้ามบุคคลแสดงพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมและผิดหลักศาสนาอิสลาม บุคคลที่เป็นเกย์หลายคนมักจะถูกจับในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ  นอกจากนั้น กลุ่มทางศาสนาก็พยายามต่อต้านบุคคลที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนซึ่งบางครั้งนำไปสู่การทำร้ายร่างกายคนเหล่านั้น     จนกระทั่งในปี 2003 กฎหมายดังกล่าวนี้ก็ถูกยกเลิกไป  องค์กรเกย์และเลสเบี้ยนที่ตั้งขึ้นองค์กรแรกคือ Lambda Indonesia ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิของเกย์เลสเบี้ยน ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 มีองค์กรเกย์และเลสเบี้ยนเกิดขึ้นอีกหลายองค์กร ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศแรกที่มีองค์กรเกย์เลสเบี้ยนที่เก่าแก่ที่สุดและมีจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งมีมากกว่า 30 องค์กร    ปัจจุบันองค์กรที่มีชื่อเสียงและมีผลงานโดดเด่นคือ Gaya Nusantara เป็นองค์กรเกย์ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิและการป้องกันโรคเอดส์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   นอกจากนั้นยังมีองค์กร Yayasan Srikandi Sejati ที่ทำงานด้านสิทธิและสุขภาพของคนข้ามเพศ และเครือข่าย Chandra Kirana ที่ทำงานเกี่ยวกับหญิงรักหญิง (Offord and Cantrell, 2001, p.243.)  สำหรับสาวประเภทสองในอินโดนีเซีย ปัจจุบันจะทำงานเกี่ยวกับความสวยงามและมีการจัดเวทีประกวดสาวประเภทสอง ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบัน Yayasan Putri Waria Indonesia  ผู้ที่ได้รับตำแหน่งจะเป็นตัวแทนและทำหน้าที่รณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันโรคเอดส์และการท่องเที่ยว
          ในประเทศสิงคโปร์ การแสดงพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกัน ถูกเรียกว่า ah-qua ซึ่งเป็นคำจากภาษาจีนและกลายเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่เป็นเกย์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในสังคมสิงคโปร์ การปรากฎตัวของเกย์และคนข้ามเพศ(สาวประเภทสอง) มาพร้อมกับสถานบริการประเภทบาร์และไนท์คลับในย่านถนนบูกิสและออร์ชาร์ดในช่วงทศวรรษ 1960  ย่านดังกล่าวนี้เป็นย่านธุรกิจและศูนย์รวมของนักท่องเที่ยวที่สำคัญของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เกย์ที่ไปเที่ยวบาร์ส่วนใหญ่ยังเป็นชาวตะวันตกที่เดินทางมาอยู่หรือมาเที่ยวสิงคโปร์  เพราะเกย์ที่เป็นชาวสิงคโปร์เองยังไม่กล้าเปิดเผยตัว ยกเว้นเกย์สิงคโปร์ที่เคยเรียนหนังสือในตะวันตกและใช้ภาษาอังกฤษได้จะนิยมมาเที่ยวบาร์ ซึ่งรู้จักในนาม “Orchard Road Queen”  (Russell Heng Hiang Khng, 2001, p.82.)  นอกเหนือจากบาร์ที่มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น  ชาวเกย์สิงคโปร์ไม่มีสถานที่นัดพบกันและไม่มีชุมชนที่เปิดเผย การสร้างชุมชนเกย์จะค่อยๆเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980  ช่วงเวลานี้ สิงคโปร์มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและบรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างมีเสรีภาพมากขึ้น ทำให้ชาวเกย์สิงคโปร์กล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตและหาคู่ในบาร์และพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น สวนสาธารณะฮ่องลิมหรือสระว่ายน้ำ   รวมถึง การแสดงออกในวิชาชีพต่างๆ เช่น นักเขียน ศิลปะ งานโฆษณา งานสร้างสรรค์ การออกแบบแฟชั่น เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาควบคุมการแสดงออกทางเพศของเกย์มากขึ้น เช่น ห้ามมิให้เกย์หาคู่ในพื้นที่สาธารณะและเข้าไปตรวจค้นบาร์ในคืนที่มีเกย์มาเที่ยว  ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 เกิดกลุ่มเกย์รวมตัวกันเพื่อส่งเสริมคุรภาพชีวิตของคนรักเพศเดียวกันในสิงคโปร์ กลุ่มนี้มีชื่อว่า People Like Us(PLU) ก่อตั้งในปี 1993 และเริ่มทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิของเกย์เลสเบี้ยนในสิงคโปร์  กลุ่มพีแอลยูพยายามจัดตั้งเป็นบริษัทแต่ถูกปฏิเสธจากทางการเพราะมองว่ากลุ่มพีแอลยูมีภาระกิจที่ขัดต่อกฎระเบียบอันดีงามของสังคม  ต่อมาจึงพยายามจดทะเบียนเป็นสมาคม แต่ทางการยังไม่ยอมออกใบอนุญาต  สาเหตุสำคัญคือ กฎหมายสิงคโปร์ยังคงลงโทษบุคคลที่เป็นโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งบัญญัติขึ้นในสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ   รวมทั้งรัฐบาลมองว่าเกย์เลสเบี้ยนเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาบ่อนทำลายวัฒนธรรมของเอเชียให้จางหายไป    เมื่อไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล ความพยายามของกลุ่มเกย์สิงคโปร์จึงมุ่งไปสู่ช่องทางสื่อสารสมัยใหม่ เช่น อินเตอร์เน็ต ช่องทางนี้เป็นที่รวมตัวของคนรักเพศเดียวกันที่สะดวกปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมาก (Russell Heng Hiang Khng, 2001, p.92.)
                ในประเทศพม่า การแสดงพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลถือว่าผิดกฎหมายและอาจถูกลงโทษจองจำนานถึง 10 ปีและต้องเสียเงินค่าปรับ   กลุ่มนักศึกษาพม่าที่เรียกตัวเองว่า All Burma Students' Democratic Front  พยายามต่อสู้และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ในขณะที่กลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน และสาวประเภทสองในพม่ารวมตัวกันแบบเงียบๆและลับๆในชื่อกลุ่ม Committee for Lesbigay Rights in Burma  ซึ่งก่อตั้งในปี 1996 โดย  อัง เมียว มิ้น  และมีที่ทำงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ของไทย    กลุ่มนี้จะสนับสนุนเกย์เลสเบี้ยนและสาวประเภทสองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมสันทนาการและพบปะกันระหว่างสมาชิก  กลุ่มนี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า Rainbow Colors of Burma    เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองภายใต้เผด็จการทหาร ทำให้กลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน และสาวประเภทสองไม่สามารถจัดตั้งเป็นองค์กรแบบเผิดเผยได้ รวมถึงไม่มีแหล่งรวมตัว เช่น บาร์หรือไนท์คลับของเกย์   คนกลุ่มนี้จึงเข้าร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ต่างประเทศเพื่อทำงานเชิงรณรงค์ด้านสิทธิ
                ในประเทศกัมพูชาไม่มีกฎหมายลงโทษบุคคลที่เป็นโฮโมเซ็กช่วล   พฤติกรรมข้ามเพศรู้จักในนาม “กะเทย” ซึ่งแบ่งเป็นกะเทยผมสั้น (sak klay) หมายถึงผู้ชายที่มีเซ็กส์กับผู้ชาย  และสามารถแต่งงานอยู่กินกับผู้หญิงได้   และกะเทยผมยาว (sak veng) หรือเรียกว่า srei sros หมายถึง ผู้ชายที่แสดงกิริยาท่าทางและแต่งตัวเป็นผู้หญิง  ทั้งนี้ วิธีคิดเรื่องเพศของชาวกัมพูชาจะสนใจการแสดงความเป็นหญิง (charek srei) และความเป็นชาย (charek pros) มากกว่าสนใจเรื่องอารมณ์ทางเพศ (CCHR,2010)  กะเทยผมยาวจะไม่ชอบให้คนอื่นเรียกเขาว่า khteuy  เพราะเป็นการดูถูก     กะเทยผมยาวจะแสดงตัวอย่างเปิดเผยแต่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม กะเทยผมยาวบางคนอาจถูกผู้ชายทำร้ายร่างกายหรือถูกข่มขืน    ปัจจุบันนี้ รัฐบาลกัมพูชายอมให้มีการเปิดบาร์เกย์ในเมืองท่องเที่ยวเช่นเสียมเรียบ เพราะคิดว่าธุรกิจเกี่ยวกับเกย์สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ  ในปี 2011 กระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชาก็เริ่มเปิดตลาดในกลุ่มเกย์มากขึ้น   ทำให้บริษัทท่องเที่ยวจำนวนมากจัดโปรแกรมเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเกย์ต่างชาติให้เดินทางมากัมพูชา   ในขณะเดียวกันก็มีองค์กรเกย์ที่ออกมารณรงค์เรื่องสิทธิของเกย์เลสเบี้ยน ได้แก่ กลุ่ม Cambodia GLBT Pride, Rainbow Community Kampuchea, RoCK, และ M Style ซึ่งมีบทบาทในการจัดการเดินพาเหรดเกย์ครั้งแรกในกัมพูชาในปี 2003 แต่จัดต่อเนื่องทุกๆปี    กลุ่ม RoCK เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของเกย์ เลสเบี้ยนและคนข้ามเพศที่ชัดเจนที่สุดในกัมพูชา ในปี 2004 กษัตริย์นโรดม สีหนุ แสดงความคิดเห็นว่าการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริม เพราะพระองค์เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโฮโมเซ็กช่วลให้เท่าเทียมกับผู้ชายและผู้หญิง
                ในประเทศลาว ไม่มีกฎหมายลงโทษพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล เช่นเดียวกับไม่มีการจัดตั้งองค์กรของเกย์เลสเบี้ยนและสาวประเภทสอง รวมถึงไม่มีสถานบันเทิงเช่นบาร์หรือไนท์คลับที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน    ปัจจุบัน บุคคลที่เป็นคนข้ามเพศและรักเพศเดียวกันในลาวสามารถพบเห็นได้ในเวียงจันทน์ คนเหล่านี้จะมีที่นัดพบกันในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะริมแม่น้ำ ลานน้ำพุ  ตลอดจนดิสโก้เธคของชายหญิง  อย่างไรก็ตาม เกย์และเลสเบี้ยนในลาวยังไม่เปิดเผยตัวมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับสาวประเภทสอง  ในการศึกษาของ Doussantousse และ Keovongchith (2004) อธิบายว่าผู้ชายที่มีพฤติกรรมเหมือนหญิง หรือ “กะเทย” จะทำงานเกี่ยวกับความสวยงาม เช่น ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า รวมถึงทำงานขายบริการทางเพศให้กับผู้ชายลาวและนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มกะเทยนี้จะรวมตัวกันเพื่อสร้างสังคมของตัวเอง คล้ายๆกับกะเทยในประเทศไทย   ปัจจุบันองค์กรที่ทำงานด้านเอดส์ได้เข้าไปศึกษาชีวิตทางเพศของคนกลุ่มนี้เพื่อที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยในกลุ่มกะเทย  ซึ่งทำให้เห็นอัตลักษณ์และการแสดงออกทางสังคมของกะเทยและเกย์ในลาวมากขึ้น   ในสังคมลาวมีการแยกประเภทกะเทยเป็น 2 แบบ เช่นเดียวกับกัมพูชา คือกะเทยผมสั้น หมายถึง ผู้ชายที่แสดงออกแบบชายแต่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย และกะเทยผมยาว หมายถึงผู้ชายที่แสดงออกและแต่งตัวเป็นหญิง และมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย
                ในประเทศเวียดนาม ไม่มีข้อห้ามหรือกฎหมายที่เอาผิดบุคคลที่มีพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล  แต่ในทางวัฒนธรรม ชาวเวียดนามถูกสอนให้เชื่อในลัทธิขงจื้อที่ยึดมั่นในความเป็นชายหญิง   รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามจึงมีท่าทีปฏิเสธพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ในปี 2002 รัฐบาลได้สร้างโฆษณาที่ต่อต้านโฮโมเซ็กช่วลโดยระบุว่าเป็น “ปีศาจของสังคม” เช่นเดียวกับการเป็นโสเภณี นักเล่นพนัน และคนค้ายาเสพติด  นอกจากนั้น สื่อกระแสหลักก็ออกมาประณามว่าเกย์เป็นโรคร้ายของสังคม หรือเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน    ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการปราบปรามผู้ที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ครบอครัวของชาวเวียดนามก็ไม่ต้องการให้ลูกหลานของตนเป็นคนรักเพศเดียวกัน     อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเกิดธุรกิจและสถานประกอบการของเกย์ในเมืองโฮจิมินฮ์ และฮานอย เนื่องจากการเติบโตของการท่องเที่ยวในช่วงทศวรรษ 2000   รวมทั้งคนรุ่นใหม่ในเวียดนามยอมรับบุคคลที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสองมากขึ้น
          ในประเทศไทย รัฐไม่ได้ควบคุมหรือมีกฎหมายลงโทษผู้ที่มีพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล ยกเว้นในช่วงเวลาสั้นเมื่อรัชกาลที่ 5จัดทำประมวลกฎหมายลักษณะอาญา พ..2452 ได้นำเอาความคิดตะวันตกมาใช้กับสังคมไทยโดยลอกกฎหมายโซโดมีที่ลงโทษโฮโมเซ็กช่วลมาใส่ไว้ในกฎหมายไทย แต่ระบุโทษไม่รุนแรงเท่าตะวันตก โดยกำหนดโทษผู้ที่กระทำชำเราผิดมนุษย์ จำคุกตั้งแต่ 3เดือนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 50 บาทถึง 500 บาท แต่กฎหมายนี้ยกเลิกไปในปี 2499 หลังจากนั้นมาผู้ที่มีพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกันก็ค่อยๆปรากฎตัวในพื้นที่สาธารณะ  อย่างไรก็ตามพฤติกรรมข้ามเพศหรือกะเทยมีอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว แต่การแสดงอัตลักษณ์เกย์สมัยใหม่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ1960-1970  เห็นได้จากการเกิดขึ้นของบาร์เกย์ในกรุงเทพฯ และในคอลัมน์ของโก้ปากน้ำที่ตอบจดหมายให้กับกะเทยและคนรักเพศเดียวกัน          จนถึงทศวรรษ 1980 นิตยสารมิถุนาได้ตั้งกลุ่มชื่อมิถุนาคลับเพื่อให้เกย์ไทยได้มาทำกิจกรรมทางสังคม และกิจกรรมแรกเกิดขึ้นในปี 2528 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เกิดกลุ่มหญิงรักหญิงชื่ออัญจารี จัดตั้งในปี 2529 (Sinnott, 2011, p.207.) ได้รวมตัวกันเพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรกที่ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม    ต่อมาในปี 2532  นที ธีระโรจนพงษ์ ได้สร้างกลุ่มละครเส้นสีขาวและตั้งกลุ่มภราดรภาพยับยั้งโรคเอดส์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ความรู้โรคเอดส์ในสถานประกอบการของชาวเกย์
                ในปี 2542 กลุ่มเกย์ในย่านสีลมรวมตัวกันจัดงานพาเหรดครั้งแรก ภายใต้ชื่อ Bangkok Gay Festival ในปีเดียวกันนี้กมลเศรษฐ์ เก่งการเรือก็ร่วมมือกับเพื่อนๆตั้งกลุ่มเส้นทางสายรุ้ง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสมาคมฟ้าสีรุ้ง  และในปี 2545 มีการตั้งองค์กรบางกอกเรนโบว์ ทั้งสององค์กรนี้ทำงานรณรงค์ให้ความรู้โรคเอดส์ในชุมชนเกย์ รวมทั้งทำงานในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน  และส่งเสริมให้สื่อนำเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกแก่คนกลุ่มนี้  ส่วนกลุ่มสาวประเภทสองมีการรวมตัวกันตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยและมีการตั้งสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทยในปี 2553   เนื่องจากปัญหาของกะเทยค่อนข้างชัดเจนกว่าเกย์และเลสเบี้ยน ตัวอย่างเช่น เมื่อกะเทยไปคัดเลือกเข้ารับราชการทหาร พวกเธอจะถูกตรวจร่างกายและถูกจัดให้อยู่ประเภท “โรคจิตถาวร”  ซึ่งจะเขียนไว้ใน สด.43 และเมื่อกะเทยไปสมัครงานและยื่นหลักฐานเกณฑ์ทหารนี้ พวกเธอก็จะถูกมองว่าเป็นคนป่วยทางจิต     ปัญหานี้ทำให้กะเทยออกมาต่อสู้เพื่อให้เปลี่ยนคำเรียก และได้รับชัยชนะในปี 2554 เมื่อศาลพิจารณาว่ากะเทยมิใช่ผู้ป่วยทางจิต และการระบุว่ากะเทยเป็นโรคจิตถาวรถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  และสั่งให้กระทรวงกลาโหมเปลี่ยนคำใหม่ที่เหมาะสม โดยกลุ่มกะเทยเสนอให้ใช้คำว่า “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”
                นอกจากนั้น ในปี 2554 เกิดกลุ่มหญิงรักหญิง ชื่อ กัลยาสโมสร เพื่อทำงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเลสเบี้ยน ทอมดี้     ในขณะที่ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศได้รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนการตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งจะขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายและสวัสดิการของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกัน ปัจจุบันองค์กรที่ทำงานในประเด็นเกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสองในประเทศไทยมีประมาณ 20 แห่ง แต่ส่วนใหญ่จะได้รับงบประมาณจากโครงการเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์และสุขภาวะทางเพศ  การศึกษาของแจ็คสัน (1995) และนฤพนธ์(2553) ชี้ให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของอัตลักษณ์เกย์ในสังคมไทยอาศัยพื้นที่วัฒนธรรมบริโภคที่ช่วยให้ผู้ชายที่รักเพศเดียวกันสามารถแสดงตัวตนทางเพศของตนเอง เช่น ในบาร์ ผับ ดิสโก้เธค ซาวน่า ฯลฯ แต่เมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะเกย์ไทยจะแสดงบทบาทผู้ชายตามที่สังคมคาดหวัง สิ่งนี้ทำให้การเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์ไทยต่างไปจากตะวันตก เพราะไม่ได้ต่อสู้กับรัฐหรือแก้กฎหมายที่ลงโทษโฮโมเซ็กช่วล แต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้มี “พื้นที่” ในการแสดงออกทางสังคมและวัฒนธรรม และทำให้สังคมยอมรับในพื้นที่สาธารณะ  นฤพนธ์(2553) ได้ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของเกย์ไทยสะท้อนภาพชีวิตสองด้านระหว่างการเป็นเกย์กับการเป็นผู้ชาย และกลุ่มและองค์กรเกย์ต่างๆออกมาเคลื่อนไหวโดยอาศัยพื้นที่ทางวัฒนธรรม เช่น พาเหรด ค่ายทักษะชีวิต และการสร้างสื่อชนิดต่างๆ เพื่อที่จะทำให้สังคมมองเห็นความรู้ความสามารถของเกย์และยอมรับเกย์ในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้สะท้อนว่า “การปรากฎตัวในพื้นที่สาธารณะ” เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเกย์ กะเทย และเลสเบี้ยน
                ในประเด็นเกี่ยวกับหญิงรักหญิง การศึกษาของ Sinnott (2004,2008) ชี้ให้เห็นว่าหญิงรักหญิงในไทยนิยามตัวเองเป็นทอมกับดี้ ทอมหมายถึงผู้หญิงที่แสดงท่าทางเหมือนผู้ชายและแสดงความรักกับผู้หญิง  ส่วนดี้หมายถึงผู้หญิงที่แสดงความเป็นหญิงแต่สนใจเพศเดียวกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้วางอยู่บนเรื่องเพศภาวะ หรือการแสดงบทบาทหญิงชายโดยทอมจะแสดงความเป็นชาย (ฝ่ายรุก) และดี้จะแสดงความเป็นหญิง(ฝ่ายรับ)  ความสัมพันธ์เหมือนกับคู่ชายหญิงที่เป็นรักต่างเพศ  ซินนอตต์อธิบายว่าสิ่งที่ทำให้คู่ทอมดี้ต่างไปก็คือ ทอมจะเป็นฝ่ายปรนเปรอความสุขทางเพศให้กับดี้ ซึ่งต่างจากชายไทยที่มีเซ็กส์กับผู้หญิงที่ไม่สนใจว่าผู้หญิงคนนั้นจะมีความสุขหรือถึงจุดสุดยอดหรือไม่    การศึกษานี้ทำให้เข้าใจว่าความสัมพันธ์ของทอมดี้จะมีการแสดงออกที่ต่างไปจากบรรทัดฐานรักต่างเพศแต่ยังคงอาศัยวิธีคิดเรื่องเพศภาวะชายหญิงเป็นที่อ้างอิงเพื่อที่จะต่อเติมความหมายใหม่ๆให้กับความสัมพันธ์แบบคนรักเพศเดียวกัน (Sinnott, 2008, p.143.) ความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงจึงให้ความสนใจต่ออารมณ์ความรู้สึกและเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งต่างไปจากคู่สัมพันธ์ของเกย์และกะเทย
                ความคับข้องใจของเกย์ กะเทย และเลสเบี้ยนในสังคมไทย เป็นผลผพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องเพศในช่วง 100ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ยุคสร้างรัฐไทยใหม่และอุมการณ์ชาตินิยมในช่วงรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา (Reynolds, 1999,p.262.) ถึงแม้ว่าไทยจะไม่ใช่อาณานิคมของตะวันตก แต่ผู้นำและราชวงศ์ไทยก็นำเอาความคิดตะวันตกมาใช้กับสังคมไทย หรือเป็นอาณานิคมทางความคิด ซึ่งนักวิชาการบางคนเรียกว่าเป็นกึ่งอาณานิคม(semicolonialism)  ความคิดเรื่องบทบาทชายหญิงจากตะวันตกจะเข้ามาครอบงำการแสดงออกทางเพศของคนไทย  เช่น การแต่งกายและการแสดงกิริยามารยาทที่เหมาะสมของหญิงชาย  เห็นได้ชัดเจนในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต้องการสร้างชาติให้ทันสมัยเหมือนตะวันตก ในยุคนี้รัฐจะเข้ามาควบคุมร่างกายของพลเมือง เช่น ส่งเสริมการออกกำลังกาย บริหารร่างกาย เล่นกีฬา  และดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ผู้ชายต้องแสดงความเป็นชาย ผู้หญิงต้องแสดงความเป็นหญิง  มีการประกวดชายฉกรรจ์ (ชายงาม) และประกวดสาวงาม เป็นต้น นโยบายรัฐนิยมนี้แพร่ออกไปโดยหน่วยงานราชการและมีโรงเรียนเป็นผู้นำไปปฏิบัติ เช่น การจัดให้มีวิชาพลศึกษา ฯลฯ  นโยบายดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องร่างกายและความเป็นชายและหญิงของคนไทย  ชายไทยหลายคนเลิกสักลายตามร่างกายเพราะถูกมองว่าล้าสมัย  และเปลี่ยนไปนิยมร่างกายที่สะอาดเกลี้ยงเกลาเพราะเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของการมีสุขภาพที่ดี    ทั้งนี้วัฒนธรรมบริหารร่างกาย หรือ Physical Culture เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่หลายมากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีการประกวดผู้ชายที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง และสมส่วน  วัฒนธรรมการประกวดชายงามและหญิงงามจึงแพร่หลายในช่วงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม  นอกจากนั้นหญิงชายไทยหันมาแต่งกายและไว้ผมตามแบบตะวันตกเพื่อที่จะทำให้ตนเองดูทันสมัย  การแต่งกายแบบเดิมจะถูกมองว่าไม่มีอารยะ เช่น การนุ่งโจงกระเบนและใช้ผ้าคาดอก   (ก้องสกล กวินรวีกุลฒ,2545)   ทั้งนี้รัฐพยายามรณรงค์และโฆษณาให้คนไทยแต่งกายถูกต้องเพื่อสร้างวัฒนธรรมชาติ การจัดระเบียบหญิงชายยังรวมไปถึงการใช้คำสรรพนามและคำสำหรับผู้หญิงผู้ชาย เช่น ผู้ชายต้องเรียกตัวเองว่า “ผม” และลงท้ายประโยคด้วย “ครับ”  ผู้หญิง เรียกตัวเองว่า “ฉัน” และลงท้ายประโยคด้วย “ค่ะ” เช่นเดียวกับวางกฎเกณฑ์ในการตั้งชื่อว่าชายหญิงจะต้องตั้งชื่อให้ต่างกันเพื่อบ่งบอกความเป็นเพศชายเพศหญิง 
                จะเห็นว่ารัฐไทยสมัยใหม่แยกเพศชายและหญิงออกจากกันอย่างเด็ดขาด และ ไม่สนใจร่างกายของคนข้ามเพศหรือรักเพศเดียวกัน เพราะมองว่าเป็นร่างกายที่ไม่ใช่ผู้ชายและผู้หญิง ทำให้บุคคลที่เป็นกะเทยเริ่มกลายเป็น “คนประหลาด” หรือ “ตัวตลก” เป็นร่างที่ไม่มีระเบียบวินัยและไม่ส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นพลเมืองในอุดมคติ  เห็นได้จากพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการแสดงละคร พ..2485 ซึ่งให้ผู้แสดงลิเกต้องเป็นผู้ชายผู้หญิงแท้ ห้ามมิให้ผู้ชายแสดงเป็นหญิง และผู้หญิงแสดงเป็นชาย  กฎเกณฑ์นี้สะท้อนวิธีคิดเรื่องเพศในยุครัฐนิยมที่กีดกันและห้ามการแสดงพฤติกรรมข้ามเพศ ทั้งในพื้นที่ชีวิตประจำวันและพื้นที่การแสดง

ตารางเปรียบเทียบ ข้อห้ามทางสังคมกับการเคลื่อนไหวของเกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสองกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศ
ข้อห้ามทางสังคม
การเคลื่อนไหวของเกย์ เลสเบี้ยน
สาวประเภทสอง
มาเลเซีย
กฎหมายลงโทษพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล
ศาสนาอิสลามไม่ยอมรับโฮโมเซ็กช่วล
 จัดเทศกาล  Seksualiti Merdeka
เกิดกลุ่ม The Pink Triangle
อินโดนีเซีย
ศาสนาอิสลามไม่ยอมรับโฮโมเซ็กช่วล
เกิดองค์กรเกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสอง
43 องค์กร
ฟิลิปปินส์
ศาสนาคริสต์ไม่ยอมรับโฮโมเซ็กช่วล
เกิดองค์กรเกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสอง
17 องค์กร
เกิดพรรคการเมืองชื่อ Ang Ladlad (2007)
สิงคโปร์
กฎหมายลงโทษพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล
รัฐบาลมองว่าเกย์เลสเบี้ยนทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม
เกิดกลุ่ม People Like Us
เกิดชุมชนในอินเตอร์เน็ต
ไทย
ทัศนคติชนชั้นกลางมองว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นความผิดปกติ และป่วยทางจิต (รับรู้แต่ไม่ยอมรับ)
เกิดองค์กรเกย์ เลสเบี้ยน สาวประเภทสอง
ประมาณ 20 องค์กร
พม่า
กฎหมายลงโทษพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล
เกิดกลุ่ม Committee for Lesbigay Rights in Burma  ทำงานในประเทศไทย
ลาว
ค่านิยมสังคมยกย่องความเป็นชายและหญิง
ไม่ยอมรับเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน
ไม่มีองค์กรเกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสอง
กัมพูชา
ค่านิยมสังคมยกย่องความเป็นชายและหญิง
ไม่ยอมรับเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน
เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวในกลุ่มเกย์
เกิดกลุ่ม Cambodia GLBT Pride, Rainbow Community Kampuchea และ M Style
เวียดนาม
ลัทธิขงจื้อไม่ยอมรับโฮโมเซ็กช่วล
รัฐบาลคอมมิวนิสต์มองโฮโมเซ็กช่วลเป็นปีศาจสังคม
เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวในกลุ่มเกย์

บทส่งท้าย พื้นที่ของคนข้ามเพศและรักเพศเดียวกัน

                ในการศึกษาของแจ็คสัน(2011) พบว่าเกย์ กะเทยไทยในปัจจุบันสามารถแสดงตัวตนทางเพศได้ภายใต้วัฒนธรรมบริโภค เมื่อเป็นเช่นนี้ เกย์ กะเทยไทยจึงไม่ค่อยสนใจการเรียกร้องสิทธิในเชิงกฎหมาย เพราะพื้นที่บริโภคให้อิสระแก่เกย์และกะเทย    ปรากฎการณ์เช่นนี้พบได้ในเมืองใหญ่ๆหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง กรุงเทพ สิงคโปร์ โฮจิมินฮ์ ฮานอย จาร์กาตาร์ มะนิลา พนมเปญ และกัวลาลัมเปอร์  สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมบริโภคจะนำสินค้าและบริการมาตอบสนองการแสดงตัวตนทางเพศของเกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสอง แต่สินค้าและบริการเหล่านั้นก็ได้เปิดพื้นที่ให้กับการแสดงออกเรื่องสิทธิของคนเหล่านี้ด้วย  วัฒนธรรมบริโภคจึงไม่ได้บ่อนทำลายสำนึกทางการเมืองหรือการเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม เช่น การที่สาวประเภทสองถูกห้ามไม่ให้เข้าไปใช้บริการในดิสโก้เธคหรูในโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ส่งผลให้องค์กรเกย์รณรงค์ให้เกย์ กะเทยเลิกใช้บริการสถานที่แห่งนี้ แต่ต่อมาเจ้าของกิจการต้องออกมาขอโทษสาวประเภทสองในการห้ามดังกล่าว สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าพื้นที่บริโภคเป็นกระจกสะท้อนเรื่องสิทธิของเกย์และกะเทย (Jackson, 2011, p.201.)
                การทำความเข้าใจคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  จำเป็นต้องเข้าใจวิธีคิดเรื่องเพศที่ปรากฎอยู่ในแต่ละวัฒนธรรม  การมองสถานการณ์ปัจจุบันที่พบเห็นเกย์ กะเทย เลสเบี้ยนออกมาแสดงตัวตนในพื้นที่ต่างๆนั้น อาจเป็นการมองเห็นแค่ “สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่” ภายใต้วาทกรรมสิทธิมนุษยชนและโลกาภิวัตน์   หากแต่ยังมีการแสดงบทบาทของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันในบริบทอื่นๆ ซึ่งปฏิบัติอยู่ในท้องถิ่นและมีมาก่อนหน้านั้น แต่รูปแบบพฤติกรรมข้ามเพศและรักเพศเดียวกันไม่ได้หายไปหรือถูกแทนที่ด้วยอัตลักษณ์เกย์ สาวประเภทสอง หรือเลสเบี้ยน  รูปแบบการแสดงออกทางเพศที่มีมาก่อนยังคงดำรงอยู่ในปริมณฑลต่างๆและดำเนินควบคู่ไปกับการแสดงออกใหม่ๆ  ซึ่งอาจจะท้าทายซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะผสมกลมเกลียวเป็นเอกภาพเดียวกัน (Sullivan, 2001, p.264.)   สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประสบการณ์ส่วนบุคคล คนแต่ละคนจะมีวิธีการแสดงบทบาททางเพศที่หลากหลาย   อิทธิพลของระบบทุนนิยม เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่  อุดมการณ์ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการแพร่ระบาดของโรคเอดส์มีอิทธิพลสำคัญต่อการแสดงตัวตนทางเพศ เช่นเดียวกันอิทธิพลของความรู้วิทยาศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณี      
                ความหมายของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันในวัฒนธรรมต่างๆในเขตเอเชียตะวันออกกเฉียงใต้ มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง และมีคำเรียกที่ไม่เหมือนกัน ต่างไปจากความหมายโฮโมเซ็กช่วลของตะวันตก(Sullivan, 2001, p.257.)  การปรากฎขึ้นของอัตลักษณ์เกย์ เลสเบี้ยน และสาวประเภทสองสมัยใหม่ในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ทางสังคม เช่น กฎหมาย กฎศาสนา และกฎทางศีลธรรม เป็นต้น  รวมทั้งปัจจัยด้านฐานะทางเศรษฐกิจ อาชีพ และการศึกษาของบุคคลที่เอื้อให้เกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสองแต่ละคนมีโอกาสทางสังคมไม่เท่ากัน  ด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อนเหล่านี้ ทำให้รูปแบบหรือแนวทางการต่อสู้เพื่อสิทธิของเกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสองในแต่ละพื้นที่/ท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน หรือเป็นการสร้างแนวทางของตัวเอง      ดังนั้นการทำความเข้าใจสิทธิของคนเหล่านี้จึงต้องพึงระวังที่จะไม่นำเอาโมเดลตะวันตกมาอธิบาย หรือตกเป็นเหยื่อของการมองแบบสูตรสำเร็จ เช่น เชื่อว่าทุนนิยมและโลกาภิวัตน์จะทำให้เกิดความเป็นสากลของเกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสอง (global homogenization)     หรือเชื่อว่าวัฒนธรรมของเกย์ เลสเบี้ยนและสาวประเภทสองในแต่ละแห่งมีรากเหง้าหรือแก่นแท้ในแบบของตัวเอง  (local essentialism)  การมองแบบแยกขั้วเชิงสูตรสำเร็จในการศึกษาเกย์ เลสเบี้ยน และสาวประเภทสองตามกรอบเหล่านี้อาจไม่ทำให้เข้าใจการไกล่เกลี่ยต่อรองของบุคคลที่ไม่ได้ตกเป็นผู้ถูกกระทำจากสังคมเพียงฝ่ายเดียว  แต่บุคคลจะเลือกนิยามและสร้างความหมายจากโลกาภิวัตน์และความรู้ท้องถิ่น (Martin and Others, 2008, p.6) การไกล่เกลี่ยต่อรองนี้มิใช่เป็นสิ่งที่ตายตัวแต่เป็นยุทธวิธีที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ในสังคมได้      ซุลลิแวน(2001) ตั้งข้อสังเกตว่าการคาดเดาด้วยมุมมองแบบตะวันตกไม่สามารถนำไปอธิบายชีวิตของคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันในที่อื่นๆได้   ปัจจุบันนี้ การแสดงออกของคนข้ามเพศและคนรักเพศเดียวกันจึงมีหลายโฉมหน้าในเวลาเดียวกัน หรือมีลักษณะเป็น “ลูกผสม” (hybridity) (Martin and Others, 2008, p.6)  แต่ละโฉมหน้าก็มีเงื่อนไขที่ต่างกัน  เช่น ในประเทศที่ยากจนและบุคคลยังต้องพึ่งครอบครัว การแสดงออกในความเป็นเกย์เลสเบี้ยนและสาวประเภทสองอาจมีไม่เท่ากับประเทศที่มีฐานะที่เศรษฐกิจที่ดีกว่าซึ่งสมาชิกที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน และสาวประเภทสองจะมีอิสระจากครอบครัวเพราะพึ่งพาตัวเองได้   เงื่อนไขเหล่านี้มีผลต่อการสร้างกลุ่มและการเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิเสรีภาพ

บรรณานุกรม

ก้องสกล กวินรวีกุล.(2545) การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ..2481-2487.
                วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา                 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ.(2553) ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขา                บริหารสังคม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Baba, Ismail. (2001). “Gay and Lesbian Couples in Malaysia” in  Sullivan, Gerard and Jackson, Peter A. (eds.) Gay and      Lesbian Asia. Binghamton, Harrington Park Press. pp.143-163.
Bolin, Anne.(1996). “Traversing Gender: Cultural Context and Gender Practices” in  Ramet, Sabrina Petra (ed.) Gender      Reversals Gender                 Cultures. London, Routledge. pp.22-51.
Cambodian Centre for Human Rights. (2010). Coming Out in the Kingdom: Lesbian, Gay, Bisexual and Transgender People               in Cambodia. Phnom Penh, CCHR.
Coleman, Eli, Colgan, Philip, and Gooren, Louis. (1997). “Male Cross-Gender Behavior in Myanmar (Burma): A Description
                 of the Acault” in Comstock, Gary David  and Henking, Susan E.(eds.) Queerying Religion: A Critical Anthology.
                 New York, Continuum.
Davies, Sharyn Graham. (2006) Challenging Gender Norms: Five Genders Among Bugis in Indonesia, Wadsworth                Publishing,
Doussantousse, Serge and Keovongchith, Bea (2004). Male Sexual Health: Kathoeys in the Lao PDR, South East Asia.       Unpublished Paper.
Garcia, J. Niel C.(2008). Philippine Gay Culture: Binabea To Bakla, Silahis to MSM. UP Press.
Garcia, J. Niel C.(2008). “Villa, Montano, Perez: Postcoloniality and Gay Liberation in Philippines” in Martin, Fran and   Others (eds.) Asiapacific Queer: Rethinking Genders and Sexualities. Chicago, University of Illinois Press. pp.163-   180.
Jackson, Peter A. (1995). Dear Uncle Go: Male Homosexuality in Thailand. Bangkok, Bua Luang.
Jackson, Peter A.(2011). “Capitalism, LGBT Activism, and Queer Autonomy in Thailand” in Peter A. Jackson (ed.)
                Queer Bangkok: 21th Century Markets, Media, and Rights. Hong Kong, University of Hong Kong Prress. pp.195-    204.
Offord, Baden and Cantrell, Leon. (2001). “Homosexual Rights as Human Rights in Indonesia and Australia” in Sullivan,   Gerard and Jackson, Peter A. (eds.) Gay and Lesbian Asia. Binghamton, Harrington Park Press. pp.233-252.
Peletz, Michael. “Transgenderism and Gender Pluralism in Southeast Asia Since Early Modern Times” in Current             Anthropology. Vol.47, No.2, April 2006. pp.309-340.
Ramet, Sabrina Petra.(1996). “Gender Reverals and Gender Cultures” in Ramet, Sabrina Petra (ed.) Gender Reversals Gender           Cultures. London, Routledge. pp.1-21.
Reynolds, Craig J. (1999). “On the Gendering of Nationalist and Postnationalist Selves in Twentieth-Century Thailand” in
                Jackson, Peter A. and Cook, Nerida M. (eds.) Genders & Sexualitites in Modern Thailand. Chiang Mai, Silkworm                Books. pp.261-274.
Russell Heng Hiang Khng. (2001). “Tiptoe Out of the Closet: The Befroe and After of the Increasingly Visible Gay             Community in Singapore” in  Sullivan, Gerard and Jackson, Peter A. (eds.) Gay and Lesbian Asia.   Binghamton, Harrington Park Press. pp.81-97.
Sinnott, Megan. (2008). “The Romance of the Queer: the Sexual and Gender Norms of Tom and Dee in Thailand” in
                Martin, Fran and    Others (eds.) Asiapacific Queer: Rethinking Genders and Sexualities. Chicago, University of Illinois Press. pp.131-148.
Sinnott, Megan.(2011). “The Language of Right, Deviance, and Pleasure” in Peter A. Jackson (ed.)
                Queer Bangkok: 21th Century Markets, Media, and Rights. Hong Kong, University of Hong Kong Prress.pp.205-     224.
Sullivan, Gerard. (2001). “Variation on a Common Theme? Gay and Lesbian Identity and Community in Asia” in
                Sullivan, Gerard and Jackson, Peter A. (eds.) Gay and Lesbian Asia. Binghamton, Harrington Park Press.               pp.253-269.
Tan, Michael. (2001). “Survival Through Pluralism: Emerging Gay Communities in the Philippines” in Sullivan, Gerard and             Jackson, Peter A. (eds.) Gay and Lesbian Asia. Binghamton, Harrington Park Press. pp.117-142.
Yik Koon the.(2008). “Politics and Islam: Factors Determining Identity and the Status of Male-to-Female Transsexuals in                 Malaysia” in Martin, Fran and Others (eds.) Asiapacific Queer: Rethinking Genders and Sexualities. Chicago,            University of Illinois Press. pp.85-98.

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

กลุ่มคนในภูมิภาคนี้คุ้นเคยกับการแสดงออกแบบ “ข้ามเพศ” หรือ พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงบทบาททางเพศตรงข้ามกับเพศสรีระหรือเพศกำเนิด เช่น ผู้ชายแสดงบทบาทและอารมณ์ความรู้สึกแบบผู้หญิง แต่งตัวเป็นหญิง ทำหน้าที่เหมือนกับสตรี พฤติกรรมดังกล่าวนี้พบได้ในหลายกลุ่มและได้รับการยอมรับทางสังคม เช่น อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

Unknown กล่าวว่า...

ก่อนที่จะมีความคิดเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีแบบตะวันตกซึ่งเข้ามาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ กลุ่มคนในภูมิภาคนี้ยอมรับการแสดงพฤติกรรม “ข้ามเพศ” แต่หลังจากที่อิทธิพลความรู้แบบตะวันตกแพร่เข้ามา ผู้ปกครองในดินแดนแถบนี้เริ่มนำเอาวิธีคิดเรื่องเพศแบบตะวันตกมาอธิบายและควบคุมการแสดงบทบาททางเพศของหญิงชาย ส่งผลให้การแสดงพฤติกรรม “ข้ามเพศ” กลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากสังคม