3/25/2556

Negotiating Hegemonic Masculinity



Negotiating Hegemonic Masculinity: The Rhetorical Strategy of  “Straight-Acting” among Gay Men
Eguchi, Shinsuke (2009) Journal of Intercultural Communication Research Vol.38, No. 3, November 2009, pp.193-209
แปลและเรียบเรียงโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

การศึกษานี้เป็นการสำรวจการใช้คำและภาษาที่บ่งบอกถึงการเป็นผู้ชายของกลุ่มเกย์ โดยการวิเคราะห์เว็บไซต์ที่ชื่อ Straight-Acting.com  ภาษาที่บอกความเป็นผู้ชายจะเกิดขึ้นเมื่อเกย์ต้องการใช้ความเป็นชายที่สังคมชี้นำมาลบล้างภาพของการเป็นหญิง  เกย์ที่แสดงออกแบบหยิงจะเป็นคนที่ไม่มีเสน่ห์สำหรับเกย์ที่แสดงตัวเป็นชาย เพราะเกย์แบบหญิงทำลายการแสดงเพศภาวะตามบรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งเกย์แบบชายจะยกย่องให้คุณค่า  ทัศนคติดังกล่าวนี้เรียกว่า “การเกลียดเกย์สาว” หรือ Sissyphobia  สมาชิกในเว็บไซต์บางคนมองว่าการแสดงตัวแบบชายเป็นสิ่งที่ลื่นไหล บางคนคิดว่าการแสดงตัวเป็นชายมีความคงที่ การศึกษาในที่นี้ต้องการทำความเข้าใจการแสดงบทบาทของเพศภาวะที่มีอยู่ในการต่อรองการสร้างอัตลักษณ์ของเกย์และมีอยู่ในความสัมพันธ์ที่เกย์มีต่อกัน

เพสภาวะคือเรื่องใหญ่ในการติดต่อสัมพันธ์ทางสังคม  บอริซอฟฟ์และวิคเตอร์(1998) อธิบายว่าเพศภาวะทำให้เกิดการตั้งความหวังเกี่ยวกับการที่หญิงและชายจะปฏิบัติตัวอย่างไร และจะตอบสนองความสัมพันธ์และสถานการณ์ต่างๆอย่างไร  ชายและหญิงถูกคาดหวังทางวัฒนธรรมและสังคมในการที่จะพัฒนา ต่อรองและแสดงตัวตามข้อกำหนดแห่งเพศภาวะในการสื่อสารกับคนอื่นๆ  ดังนั้น อุดมการณ์ที่ชี้นำสังคมที่ทำให้หญิงและชายควรและไม่ควรทำจึงเป็นเรื่องหลักของการสื่อสารของมนุษย์  นอกจากนั้น อุดมการณ์ของเพศภาวะที่สังคมชี้นำจะทำหน้าที่เหมือนต้นเหตุของการสร้างความขัดแย้งในกระบวนการสื่อสาร โดยเฉพาะเมื่อหญิงและชายทำลายพรมแดนของเพศภาวะที่สังคมกำหนดในบางสถานการณ์
สังคมผลักดันให้ผู้ชายสื่อสารกับคนอื่นตามการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เกี่ยกวับความเป็นชายที่สังคมกำหนด  ผู้ชายทั้งหลายต้องแสดงออกว่าตนเองเป็นรักต่างเพศเพื่อที่จะถูกมองว่า “เป็นชาย”  เชสโบร(2001) ชี้ว่าบุคคลจะมองว่าผู้ชายมีความเป็นชายน้อยถ้าเขาคนนั้นมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น  อาจกล่าวได้ว่า เกย์จะถูกมองว่าไม่มีความเป็นชายเพียงพอเพราะเกย์ทำลายพรมแดนของบรรทัดฐานแห่งรักต่างเพศ  ดังนั้น สังคมจึงกดดันให้เกย์ต้องต่อรองว่าตนเองคือใครเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นชายที่สังคมกำหนด เพื่อที่จะกลบเกลื่อนและชดเชยความรู้สึกรักชอบเพศเดียวกัน
ภาษาของการแสดงความเป็นชายเกิดขึ้นในกลุ่มเกย์ในบริบททางสังคมดังกล่าวมาแล้ว  คาร์กสัน(2005,2006,2008) อธิบายว่าเกย์ที่แสดงตัวเป็นชายจะแสดงออกด้วยการรับเอาตัวแบบความเป็นชายที่สังคมชี้นำไว้  เป็นที่น่าสังเกตว่าเกย์ที่แสดงตัวเป็นชายจะไม่แสดงออกตามแบบแผนของเกย์ที่เป็นหญิง  คาร์กสัน(2006) อธิบายว่าอัตลักษณ์ของเกย์แบบชายจะเกิดขึ้นในแบบคู่ตรงข้ามที่โฮโมเซ็กช่วลถูกประเมินว่ามีความเป็นหญิง  จากประเด็นนี้จะพบว่าเกย์ที่แสดงออกแบบชายจะถูกมองว่าเป็นผู้ชายที่เข้มแข็ง และในเวลาเดียวกันเกย์ที่แสดงออกแบบหญิงจะถูกตีตราว่าเป็นพวกแตกสาว  คริสเตียน(2005) มองว่าคำว่า fem จะหมายถึงเกย์ที่ออกสาวหรือเหมือนหญิง และผู้ชายที่แสดงออกแบบหญิงจะถูกมองว่าเป็น sissies  ดังนั้นคำเรียกเชิงเพศภาวะนี้บ่งบอกให้เห็นการต่อสู้ของเพศภาวะซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในกระบวนการต่อรองแห่งอัตลักษณ์ของเกย์และในความสัมพันธ์ที่เกย์มีต่อกันในชีวิตประจำวัน
เรารับรู้ว่าภาษาของการแสดงความเป็นชายอาจมีบทบาทคู่ขนาน คือ สร้างและผลิตซ้ำความรู้สึกรังเกียจความเป็นหญิงและเกลียดโฮโมเซ็กช่วลให้ปรากฎอยู่ในการสื่อสารของเกย์  กล่าวคือ โครงสร้างอำนาจของเพศภาวะที่สังคมกำหนดอาจถูกสร้างและถูกจัดระเบียบโดยวิธีการสร้างคำพูดเกี่ยวกับการเป็นชายที่เกย์ใช้สื่อสารกัน  ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่จะตรวจสอบภาษาคำพูดของการแสดงความเป็นชายเพื่อที่จะเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของความเป็นชายที่สังคมชี้นำในกระบวนการต่อรองเชิงอัตลักษณ์ของเกย์
การศึกษานี้จะใช้การวิพากษ์เชิงภาษาเพื่อตรวจสอบคำพูดในเว็บไซต์ straightacting.com เพื่ออธิบายคุณค่าและความเชื่อเกี่ยวกับเพศภาวะ เพศวิถีและร่างกายของชาวเกย์  คลาร์กสัน(2008) อธิบายว่าการศึกษาเว็บไซต์นี้มีคุณค่ามากเพราะพื้นที่นี้ทำหน้าที่สำหรับการยืนยันตัวตนของเกย์ที่แสดงออกแบบชายซึ่งปรากฎต่อเกย์คนอื่น  การศึกษานี้จะสำรวจว่าสมาชิกของเว็บไซต์จะใช้ภาษาเกี่ยวกับการแสดงออกแบบชายเพื่อสร้างและผลิตซ้ำความเป็นชายที่สังคมกำหนดอย่างไรบ้าง รวมทั้ง   การศึกษานี้จะพิจารณาถึงรูปแบบที่สมาชิกของเว็บไซต์ได้พูดถึงผู้ชายที่เป็นหญิง  ที่สัมพันธ์กับการพูดถึงการแสดงออกแบบชายว่าเป็นอย่างไร  อัตลักษณ์ขึ้นอยู่กับบริบท การมองดูความสัมพันธ์ระหว่างเกย์ที่เป็นชายและเกย์ที่เป็นหญิงจะมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจของเราเกี่ยวกับยุทธวิธีของการสร้างความเป็นชายผ่านภาษา  ดังนั้น การศึกษานี้จะสำรวจว่าความเป็นชายที่สังคมกำหนดนั้นทำหน้าที่อย่างไรในการติดต่อสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่มเกย์

ความเป็นชายที่ชี้นำโดยสังคม
แนวคิดเรื่องความเป็นชายถูกแสดงออกต่างกันและเหมือนกันในหลายวัฒนธรรม  เชสโบร(2001) ชี้ว่า “ความเป็นชาย” เป็นแนวคิดเชิงการสื่อสารที่ลึกซึ้ง เป็นความคิดที่ถูกสร้างจากสัญลักษณ์และสังคม ซึ่งทุกวัฒนธรรมและทุกช่วงสมัยต่างนิยามและให้ความหมายต่อความเป็นชายต่างกันไป  ตัวอย่างเช่น ชาวกรีกโบราณมองว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ชายเพื่อที่จะทำให้เขาพัฒนาอัตลักษณ์ความเป็นชาย  ในบางวัฒนธรรมในลาตินอเมริกา ผู้ชายที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายรุกเมื่อมีเซ็กส์กับชายอื่น ถูกมองว่ามีความเป็นชาย  ในเวลาเดียวกัน ผู้ชายที่เป็นฝ่ายรับก็จะถูกมองว่าไม่เป็นชาย  นอกจากนั้น ในปัจจุบัน สังคมอเมริกัน ผู้ชายต้องเป็นรักต่างเพศเพื่อที่จะถูกว่าเป็นชาย   เพราะการเป็นโฮโมเซ็กช่วลได้ท้าทายอุดมการณ์ของบรรทัดฐานและบทบาทเพศภาวะของรักต่างเพศ  ความคิดที่ต่างกันเกี่ยวกับความเป็นชายในเชิงเวลาและสถานที่ ทำให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องความเป็นชายเป็นผลผลิตแห่งการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่หยุดนิ่งและไม่คงที่
ภาพลักษณ์และคุณลักษณะเชิงสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นตัวแทนนิยามเกี่ยวกับความเป็นชายที่ปรากฎอยู่ในวัฒนธรรมอเมริกัน คือรูปแบบของความเป็นชายเชิงอุดมคติ   คอนเนลล์(1990)เคยกล่าวว่าภาษาของความเป็นชายแบบอเมริกันตอกย้ำความบึกบึนแข็งแรงและการแข่งขัน นอกจากนั้นยังทำให้ผู้หญิงถูกกดทำบและทำให้เกย์ถูกเบียดขับจากสังคม  การรับรู้เรื่องความเป็นชายตามที่สังคมกำหนดถูกสร้างตามเงื่อนไขทางกายภาพที่แข็งแรงของผู้ชาย สร้างตามบทบาทของการทำงาน สร้างตามระบบปิตาธิปไตยและสร้างตามบรรทัดฐานรักต่างเพศ
รูปแบบที่แน่นอนของกายภาพจะสัมพันธ์กับแนวคิดความเป็นชายแบบอเมริกันที่ต้องมีความแข็งแกร่งทางร่างกาย ตัวอย่างเช่น การมีร่างกายใหญ่โตและมีกล้ามจะแสดงถึงพละกำลัง สิ่งนี้จะบ่งชี้ถึงความเป็นชายที่สังคมกำหนด  ลักษณะทางกายภาพแบบอื่นเช่น การมีหนวดเครา มีโทนเสียงทุ้มและขนาดของอวัยวะเพศก็เป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นชายด้วย จากแนวคิดนี้ ผู้ชายจึงถูกคาดหวังว่าต้องเล่นกีฬาเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแกร่งซึ่งจะแสดงถึงความเป็นชาย  เมื่อเป็นเช่นนี้ กีฬาที่ต้องออกแรงก็จะกลายเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างและผลิตซ้ำอุดมการณ์ของความเป็นชายที่สังคมกำหนด
ระบบรักต่างเพศในสหรัฐคือฐานของการสร้างความเป็นชายแบบที่สังคมกำหนด  แฟรงคลิน(1984) อธิบายว่าถ้าผู้ชายเลือกผู้ชายเป็นคู่เซ็กส์ คนหลายคนก็จะตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นชายของเขา ผู้ชายถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่เป็นพ่อและมีอำนาจในครอบครัว ในขณะที่ต้องเลี้ยงดูภรรยาและลูกๆ  บัตเลอร์(1993) อธิบายว่าระบบเพศภาวะของรักต่างเพศไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการอ้างอิงอัตลักษณ์ของเกย์และเลสเบี้ยน  กล่าวคือ สำหรับผู้ชาย แนวคิดเรื่องการเป็นเกย์จะคอยกำกับให้เขามองว่าการเป็นชายรักต่างเพศควรจะเป็นอย่างไร
ในแง่นี้ จะเห็นว่าการรับรู้ของสังคมเกี่ยวกับเกย์สัมพันธ์กับการแสดงออกแบบหญิงในปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเกย์ ในสหรัฐอเมริกา  ตัวแบบของการเป็นเกย์เชื่อมโยงกับคุณลักษณะแบบหญิงทั้งท่าทาง การแสดงออก การแสดงบทบาทและการทำงาน  เกย์ถูกมองในฐานะเป็น “เหมือนหญิง” พูดมาก ชอบสังคม เปิดเผยและสนใจเรื่องรูปร่างหน้าตา  อาจกล่าวได้ว่า ตัวแบบของความเป็นหญิงนี้มีความสำคัญในการสื่อสารต่อการนิยามว่าอะไรคือความเป็นชายที่สังคมคาดหวังและอะไรไม่ใช่ความเป็นชาย  ในอีกแง่หนึ่งจะเห็นว่าภาพลักษณ์ของเกย์ที่เหมือนหญิงจะเป็นตัวบ่งชี้ถือความล้มเหลวในการต่อรองกับการแสดงความเป็นชายซึ่งได้สร้างและจัดระเบียบโครงสร้างอำนาจของการเมืองเรื่องเพศ
อคติแบบรักต่างเพศ การเกลียดโฮโมเซ็กช่วลและการซึมซับการเกลียดโฮโมเซ็กช่วล
ภาษาของการกดทับความรู้สึก พฤติกรรมและการปฏิบัติของการรักเพศเดียวกัน ช่วยทำให้อุดมการณ์ความเป็นชายของรักต่างเพศเป็นปกติวิสัย  ตัวอย่างเช่น การไม่ชอบพฤติกรรมรักเพศเดียวกันบ่งชี้ถึงอาการเกลียดโฮโมเซ็กช่วลและการมีอคติแบบรักต่างเพศ  บลูเมนฟีลด์และเรย์มอนด์(1988) มองว่าอคติแบบรักต่างเพศคือระบบที่รักต่างเพศถูกทำให้เป็นสิ่งที่ยอมรับและเป็นทางเลือกในชีวิต  นอกจากนั้น การเกลียดโฮโมเซ้กช่วลถูกนิยามว่าเป็นความกลัวหรือความเกลียดเกย์และเลสเบี้ยนที่ไร้เหตุผล  คิมเมล(1994) กล่าวว่าการเกลียดโฮโมเซ็กช่วลคือกฎเกณฑ์ของการนิยามความเป็นชายในทางวัฒนธรรม  การสร้างอคติแบบรักต่างเพศและการเกลียดโฮโมเซ็กช่วลคือพื้นที่ของการสื่อสารที่ทำให้ผู้ชายมีโอกาสที่จะประเมินความเป็นชายของตัวเองและยืนยันความคิดเกี่ยวกับการเป็นผู้ชาย  ดังนั้น ผู้ชายจึงเรียนรู้ความเป็นชายแบบรักต่างเพศโดยการใช้ภาษาที่บ่งบอกถึงอาการเกลียดโฮโมเซ็กช่วลและการมีอคติแบบรักต่างเพศที่มีอยู่ในการติดต่อทางสังคม  นอกจากนั้น การซึบซับภาษาแห่งการเกลียดกลัวต่อพฤติกรรมรักเพศเดียวกันยังทำให้ผู้ชายตอกย้ำและจัดการกับตัวเองเพื่อที่จะพัฒนาภาพลักษณ์ความเป็นชายแบบรักต่างเพศของเขา
การอยู่ในสังคมรักต่างเพศ เกย์จะเผชิญกับอาการเกลียดกลัวโฮโมเซ็กช่วลและอคติของรักต่างเพศที่ถูกซึมซับในสมอง สิ่งนี้กลายเป็นที่มาของความขัดแย้งสำหรับเกย์ในช่วงที่ต้องต่อรองกับอัตลักษณ์ของตัวเอง ตัวอย่างเช่น การซับซึมอาการเกลียดโฮโมเซ็กช่วลถูกอธิบายว่าเป็น “การไม่พอใจ” ในการเป็นเกย์และสิ่งนี้ก็เกี่ยวข้องกับการเกลียดตัวเองและไม่นับถือตัวเอง  ลักษณะนี้ทำให้เกย์บางคนอาจมีแรงกดดันและหันไปสู่การอออกำลังกายเพื่อทำให้ตนเองแสดงออกตามบรรทัดฐานของความเป็นชายที่สังคมยอมรับ
ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างเกย์กับการสร้างความเป็นชายตามที่สังคมกำหนด  เมสเนอร์(1997) ชี้ว่าเกย์ที่แสดงออกแบบชายอย่างเต็มที่มักจะปฏิเสธภาพลักษณ์ความเป็นเกย์แบบเดิม  กล่าวคือ เกย์จะปฏิเสธความเป็นหญิงว่าไม่ใช่ภาพลักษณ์ของเกย์  ในประเด็นนี้ วอร์ด(2000) อธิบายว่าเกย์ที่แสดงออกในความเป็นชายอาจจะรังเกียจเกย์ที่ออกสาวซึ่งเป็นผลมาจากการแสดงเพศภาวะของเกย์เหล่านั้น  โดยเฉพาะเกย์ที่แสดงความเป็นชายอาจจะสร้างและผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจของความเป็นชายที่สังคมชี้นำ ซึ่งกีดกันผู้หญิงและกดทับเกย์และคนผิวสี  ดังนั้น อุดมการณ์เกี่ยวกับเพสภาวะที่สังคมชี้นำจึงถูกสร้างและถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องผ่านการแสดงความเป็นชายหรือความเป็นหญิงในการติตด่อทางสังคม
ด้วยเหตุนี้ การแสดงออกในเพศภาวะจึงเป็นคุณลักษณะสำคัญที่บอกว่าเกย์แต่ละคนจะต่อรองกับสำนึกของตัวตนที่สัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร  เราสามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกถึงเพศภาวะคือเรื่องที่เปราะบางสำหรับกระบวนการต่อรองเชิงอัตลักษณ์ของเกย์

เว็บไซต์ straightacting.com
การศึกษานี้จะสนใจสิ่งที่ปรากฎขึ้นในเว็บไซต์ straightacting.com  เว็บไซต์นี้เกิดในปี 2000 โดยต้องการสร้างพื้นที่สำหรับเกย์ที่ไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นเกย์สาว ได้มีพื้นที่ในการสื่อสารกับเกย์คนอื่น  เว็บไซต์นี้ประกอบด้วยบอร์ดสนทนา คำถาม เพจส่วนตัว ตั้งแต่ที่เปิดบริการมา  การถามตอบของเว็บไซต์นี้ได้รับความนิยมมาก  คำถามหลายคำถาม เช่น คุณเป็นเกย์แบบผู้ชายอย่างไร คำตอบของคำถามนี้จะแสดงให้เห็นการทดสอบระดับของการเป็นชาย เช่น ระดับ 0 คือมีความเป็นชายเต็มที่ ระดับ 4 คือมีการแสดงความเป็นชายบ้าง และระดับ 5 คือมีการแสดงความเป็นหญิงบ้าง และระดับ 10 คือ มีความเป็นหญิงเต็มที่  สื่อหลายชนิดเช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ต่างพูดถึงเว็บไซต์นี้ ในเดือนเมษายนปี 2009 คำถามของเว็บไซต์นี้ก็ถูกนำไปเผยแพร่ใหม่ในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ้ค
บอร์ดแถลงการณ์ของเว็บไซต์นี้ มีชื่อว่า Butch Board ถูกใช้สำหรับการศึกษาในที่นี้ บอร์ดแห่งนี้ทำให้คนที่มาใช้เห็นการสนทนาโต้ตอบกันโดยไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์  อย่างไรก็ตาม คนที่เข้าไปใช้จะได้เป็นสมาชิกเมื่อเขาเข้าไปสนทนาในบอร์ด  บอร์ดแห่งนี้มีประเด็นพูดหลายหลายเรื่อง เช่น เรื่องการแสดงความเป็นชาย การแสดงความเป็นหญิง ภาพตัวแทน สุขภาพและไลฟสไตล์ การเมือง การหาคู่ การสร้างสัมพันธ์และผูกมิตร การท่องเที่ยว อาหาร และการใช้เวลาว่าง  อาจกล่าวได้ว่า สมาชิกของเว็บไซต์สามารถสื่อสารถึงความเชื่อ คุณค่า และความฝันของเขาเกี่ยวกับสังคมที่สัมพันธ์กับเกย์คนอื่นและเกย์ที่แสดงความเป็นชาย
กรอบการศึกษา
การวิเคราะห์ในที่นี้จะใช้ทฤษฎีการต่อรองเชิงอัตลักษณ์และการแสดงเชิงเพศภาวะ ซึ่งเป็นกรอบความคิดในการสำรวจการใช้ภาษาของการสร้างความเป็นชายที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์
ทฤษฎีการต่อรองเชิงอัตลักษณ์
คำอธิบายเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับการต่อรองเชิงอัตลักษณ์ปรากฎครั้งแรกในสาขาวิชาการสื่อสารในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เมื่อสเตลล่า ทิง-ทูมีย์ เริ่มพูดถึงการให้เหตุผลของอัตลักษณ์   ทิง-ทูมีย์ (1986)อธิบายว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างและถูกกำกับ ในขณะเดียวกันก็ถูกต่อรองระหว่างตัวคนกับคนอื่น ภายใต้การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  จะเห็นว่า ทิง-ทูมีย์ได้สำรวจการศึกษาเรื่องอัตลักษณ์และกระบวนการสื่อสาร พร้อมกับพัฒนาทฤษฎีการต่อรองเชิงอัตลักษณ์
ทฤษฎีการต่อรองเชิงอัตลักษณ์มองว่าตัวตนคือผลผลิตของกระบวนการสื่อสาร  ทิง-ทูมีย์(2005) อธิบายว่าการสร้างอัตลักษณ์มีสองระดับ  การเป็นสมาชิกทางชาติพันธุ์และทางวัฒนธรรมเช่น เชื้อชาติ เพศภาวะ เพศวิถี ชนชั้นและสภาพของความไร้ความสามารถซึ่งทิง-ทูมีย์(2005)เรียกสิ่งเหล่านี้ว่าอัตลักษณ์ทางสังคม  ในเวลาเดียวกัน อัตลักษณ์ส่วนบุคคลก็วางอยู่บนตัวคน  ทฤษฎีนี้เชื่อว่าอัตลักษณ์คือภาพสะท้อนของตัวตนที่ถูกสื่อสาร ถูกสร้าง และถูกรับรู้ผ่านปัจเจกในสถานการณ์ของการติดต่อสัมพันธ์   จากนั้น บุคคลจะสร้างและผลิตซ้ำสำนึกเกี่ยวกับตัวตนในขณะที่สื่อสารกับคนอื่น  กระบวนการติดต่อสัมพันธ์ทางสังคมนี้เกิดมาจากความคิดเรื่องการต่อรอง   ทิง-ทูมีย์(2005) ชี้ว่าเมื่อผู้สื่อสารพยายามสร้างอัตลักษณ์ที่พึงปรารถนาของตัวเอง ในขณะที่กำลังสื่อสารกับคนอื่น บุคคลก็จะพยายามท้าทายหรือสนับสนุนอัตลักษณ์ของคนอื่นด้วย  ดังนั้น อัตลักษณ์จึงเป็นสัมพัทธ์  การต่อรองเชิงอัตลักษณ์จึงเป็นกิจกรรมเชิงการสื่อสารระหว่างมนุษย์
ปฏิบัติการของการแสดง (Performativity)
หนังสือของบัตเลอร์เรื่อง Bodies That Matter(1993) อธิบายว่าเพศภาวะคือสิ่งที่ถูกสร้างทางสังคมในฐานะเป็นตัวแทนที่แสดงถึงเพศภาวะ  กล่าวคือ บัตเลอร์เชื่อว่าปฏิบัติการของการแสดงมิใช่การปลดปล่อยการกระทำออกไปแบบโดดๆ แต่เป็นการผลิตซ้ำและการอ้างอิงถึงคำที่มีอยู่แล้วซึ่งเป็นวาทกรรมที่ทำให้เกิดผลบางอย่างต่อ “คำเรียกชื่อ” ทั้งหลาย  นอกจากนั้น บัตเลอร์(1997) ยังชี้ว่าปฏิบัติการของการแสดงคือหนทางที่ทำให้ตัวตนมีอยู่อย่างชัดเจน และถูกนำไปเผยแพร่ต่อสังคมโดยผ่านการสร้างคำอธิบายในหลายรูปแบบ  ปฏิบัติการของการแสดงจึงเป็นกระบวนการสื่อสารซึ่งตัวตนทางสังคมจะแสดงให้เห็นเพศภาวะ    บัตเลอร์มองว่าเพศภาวะคือการทำภาระกิจที่บ่งบอกให้รู้ถึงปฏิสัมพันธ์ของการครอบงำและการถูกครอบงำของร่างกายที่เป็นเพศภาวะ
บัตเลอร์(1993) อธิบายให้เห็นบทบาทของอัตลักษณ์ทางเพศที่มีอยู่ในปฏิบัติการของการแสดงแห่งเพศภาวะ เนื่องจากปฏิสัมพันธ์ของเพศภาวะ เพศวิถี และร่างกายเป็นตัวแทนที่ใช้นิยามสิ่งที่เป็นเพศภาวะตามบรรทัดฐาน  บัตเลอร์เชื่อว่าความคิดคู่ตรงข้ามของรักต่างเพศและรักเพศเดียวกันจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับปฏิบัติการของการแสดงเพศภาวะเกิดขึ้น จะเห็นว่า ตัวตนทางสังคมจะถูกจัดวางให้เลียนแบบนิยามของเพศภาวะเพื่อที่จะสื่อสารถึงอัตลักษณ์ของเพศภาวะ  ในกระบวนการเลียนแบบเพศภาวะนี้  ระบบรักต่างเพศคือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการนิยามว่าอะไรคือเพศภาวะตามบรรทัดฐานเพราะเราอยู่ในสังคมที่ทำให้เราต้องแสดงออกถึงเพศภาวะที่แตกต่าง       ดังนั้น การสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับอัตลักษณ์เกย์และเลสเบี้ยนจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะมันเป็นสิ่งที่ต่างไปจากการแสดงออกแบบรักต่างเพศ  กล่าวคือ ความตึงเครียดระหว่างรักต่างเพศและรักเพศเดียวกันล้วนสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงเพศภาวะตามบรรทัดฐานรักต่างเพศทั้งสิ้น

การวิพากษ์เชิงความคิด
การศึกษานี้พยายามมองว่า การแสดงแบบแผนของความเชื่อที่จะเข้าใจการตีความของกลุ่มคนเกี่ยวกับลักษณะบางประการของโลก จะมีอยู่ในเว็บไซต์ straightacting.com หรือไม่  ผู้วิจัยจะสำรวจความเชื่อ คุณค่าและความฝันที่ถูกสื่อสารออกมา คำถามในการวิจัยสองอย่าง คือ ความเป็นชายที่สังคมกำหนดได้กำกับควบคุมภาษาของการแสดงความเป็นชายของเกย์ในลักษณะใด และ วิธีการใดที่เกย์นำไปใช้ในการต่อรองกับความเป็นชายของพวกเขา
ในการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยจะเริ่มแยกแยะว่าอะไรเป็นสมมุติฐาน อะไรเป็นหลักฐานที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้น และหลักฐานจะทำเห็นความคิดได้อย่างไร  ผู้วิจัยจะมุ่งไปที่ข้อถกเถียงสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องภาษาและหลักฐานที่อยู่ในการสนทนาในเว็บไซต์และจะแยกแยะมันออกมา รวมทั้งจะสำรวจความหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่แสดงออกมา เพราะความหมายเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นที่รวมของความคิด จากนั้นจะวิเคราะห์ว่าความคิดสำคัญๆมีอะไรบ้าง
คำถาม 3 อย่างต่อการศึกษาความคิดที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้ คือ 1) อะไรคือการแสดงออกแบบชายและอะไรที่ไม่ใช่  2)คุณค่าและความเชื่ออะไรที่ถูกนำเสนอในเว็บไซต์นี้ และ 3) เว็บไซต์นี้สื่อสารอะไรที่เป็นที่ยอมรับ เป็นภาพเชิงบวก เป็นที่ปรารถนา และมีความสำคัญทางสังคมวัฒนธรรม   หลังจากนั้น ผู้วิจัยจะมีคำถามอีก 3 ข้อเพื่อวิเคราะห์หน้าที่ของความคิด คือ 1)เว็บไซต์นี้มีอิทธิพลทำให้ผู้ใช้เปลี่ยน ควบคุมและตอกย้ำคุณค่าและความเชื่อของตนหรือไม่  2) เว็บไซต์นี้สื่อสารเรื่องที่เป็นปกติวิสัยแก่ผู้ใช้หรือไม่ และ 3) เว็บไซต์นี้ได้นำเสนอความคิดแบบชายขอบซึ่งคนที่เข้ามาใช้ควรจะมองเห็นหรือไม่  เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ต้องเข้าใจว่าหน้าที่ของอุดมการณ์ความคิดที่แสดงอยู่ในเว็บไซต์นี้คืออะไร  จะเห็นว่า ยุทธวิธีของการแสดงความเป็นชายโดยผ่านภาษานั้นถูกปรับแต่งโดยเกย์เพื่อที่จะต่อรองกับร่างกาย เพศภาวะและเพศวิถีของเขาซึ่งดำรงอยู่ในสังคมรักต่างเพศ
ข้อโต้แย้งเรื่องความเป็นชาย และความเป็นหญิง
บล็อกที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์นี้เปิดเผยให้เห็นภาษาของการแสดงความเป็นชายที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านการรับรู้ถึงอัตลักษณ์เกย์ในภาพลักษณ์ของหญิง  เกย์ที่แสดงตัวเป็นชายจะแสดงออกด้วยคุณลักษณะแบบชายที่สังคมกำหนด เกย์เหล่านี้จะไม่นำตัวเองไปเชื่อมโยงกับภาพลักษณ์แบบหญิงในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
โดยทั่วไป เกย์จะถูกมองว่าเป็นหญิง กล่าวคือ เกย์จะถูกมองว่ามีความเป็นชายน้อยกว่าผู้ชายแท้ หรือชายรักต่างเพศ   ภายใต้ความคิดดังกล่าวนี้ การรับรู้ทางสังคมเกี่ยวกับเกย์ที่เป็นหญิงจะกลายเป็นที่มาของความขัดแย้งสำหรับเกย์ที่แสดงออกแบบชายซึ่งมีการต่อรองในสำนึกตัวตนในการสื่อสารกับคนอื่น   สมาชิกของเว็บไซต์นี้ เช่น “กลาส สก็อต” ปฏิเสธภาพลักษณ์แบบเกย์สาว  เขาคิดว่าการเป็นเกย์ไม่ได้หมายถึงเขาต้องแสดงตัวแบบเกย์สาว  การับรู้ทางสังคมเช่นนี้กลายเป็นปัญหาสำหรับเกย์บางคนที่นิยามตัวเองด้วยคำว่า “เกย์” เพราะคำนี้ไม่ได้สะท้อนว่าเขาคือใคร เช่น สมาชิกชื่อ “โคลเพรสตี78”  เข้าใจในพฤติกรรมและอารมณ์รักเพศเดียวกันของเขา อย่างไรก็ตาม การรับรู้ทางสังคมเกี่ยวกับการเป็นเกย์ก็ไม่สะท้อนตัวตนของเขาเมื่อเขากำลังต่อรองกับสำนึกแห่งตัวตน เพราะเขามีความเป็นชายและเป็นนักกีฬา ซึ่งตรงข้ามกับภาพลักษณ์เกย์สาว  จะเห็นว่า การต่อรองในการแสดงอัตลักษณ์แบบชายท้าทายเขาอย่างมาก  อาจกล่าวได้ว่าเกย์ที่แสดงออกแบบชายต้องต่อรองว่าเขาคือใครโดยการเชื่อมโยงความหมายของความเป็นชายและความเป็นหญิงเข้าด้วยกัน  ดังนั้น ความตึงเครียดของความเป็นชายกับความเป็นหญิงทำให้เกิดการสร้างความหมายเกี่ยวกับคำอธิบายของการแสดงความเป็นชายในหมู่เกย์

คุณลักษณะของเกย์ที่แสดงออกแบบชาย
เกย์ใช้ภาษาของการแสดงความเป็นชายเพื่อบ่งชี้ลักษณะส่วนตัวของเขาซึ่งมีความเป็นชายมากกว่าความเป็นหญิง การใช้ภาเพื่อแสดงความเป็นชายจะตอกย้ำรูปแบบความเป็นชายเชิงอุดมคติ และเป็นสิ่งที่สังคมกำหนดไว้ สมาชิกชื่อ “ชโลเดส” อธิบายว่าเขาชอบการแข่งรถและสร้างรถ และยังชอบการขับรถผจญภัยในที่กันดาร  ส่วน “โซลิทารีแมน 1969” บอกว่าเขาสนุกกับการซ่อมบ้าน ซ่อมห้องใต้ดินหลังจากถูกน้ำท่วมมาหลายปี นอกจากนั้น “บีตันเจย” ยังบอกว่าเกย์ที่แสดงออกแบบชายมีเสน่ห์ เชาคิดว่าเขาชอบผู้เกย์ที่สวมเสื้อเชิ้ตที่เป็นสักหลาด เกย์ที่ดื่มเบียร์และทำงานบนรถ  “บลู” พอใจในเกย์ที่แสดงตัวเป็นชายที่สวมเสื้อผ้าหลวมๆ  การแสดงออกสิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ชายที่มีความเป็นชายเข้มข้นควรจะมีอยู่ในสังคม หรือกล่าวได้ว่า เกย์ที่แสดงออกแบบชายต่อรองกับอัตลักษณ์แบบชายผ่านการแสดงตัวตนและการทำกิจกรรมที่กล่าวมานี้
เกย์ที่แสดงออกแบบชายต้องต่อรองกับอารมณ์ของตัวเองตามที่แบบแผนการเป็นชายที่เข้มข้นที่สังคมคาดหวังให้เป็น ตัวอย่างเช่น สมาชิกชื่อ “คอลเลจเปปเปอร์” กล่าวว่าเขาถูกกดดันให้เลียนแบบผู้ชายที่เงียบขรึม เก็บอารมณ์และเข้มแข็งเพื่อเขาจะได้แสดงความเป็นชายได้    บอริซอฟฟ์และเมอร์ริล(1998) อธิบายว่าเนื่องจากผู้ชายถูกสอนให้ยึดถือคุณค่าของการมีเหตุผล การทำจริง และมีความคิดเพื่อมิให้ตกอยู่กับการใช้อารมณ์  ผู้ชายหลายคนพบว่ามันยากที่จะแสดงอารมณ์นอกจากแสดงความโกรธเท่านั้น   ตัวอย่างอีกอันหนึ่ง ของการรับรู้ทางสังคมเกี่ยวกับการแสดงบทบาทผู้ชาย คือภาพตัวแทนของผู้ชายที่เงียบขรึมและแข็งแกร่ง   ในแง่นี้จะเห็นว่าคำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงออกแบบชายมักถูกใช้เพื่อแยกแยะลักษณะของเกย์ที่เป็นชาย ซึ่งเลียนแบบจากความเป็นชายที่สังคมกำหนด  ภาษาของการแสดงความเป็นชายเปิดเผยให้เห็นความแตกต่างระหว่างชายรักต่างเพศกับเกย์ที่แสดงตัวเป็นชายซึ่งวางอยู่บนความปรารถนาทางเพศ  อาจกล่าวได้ว่า ทั้งผู้ชายรักต่างเพศและเกย์ที่แสดงตัวเป็นชายล้วนต่อรองว่าตนเองเป็นใครโดยการซึมซับและแสดงให้เห็นคำอธิบายถึงความเป็นผู้ชายที่สังคมชี้นำในการสื่อสารกับคนอื่น    ดังนั้น คำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นชายแบบอุดมคติจะผนวกรวมกันเพื่อสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงออกแบบชายในกลุ่มเกย์

เกย์ที่แสดงตัวเป็นชายตอบโต้กับเกย์ที่แสดงตัวเป็นหญิง
คำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงความเป็นชายถูกสร้างและถูกกำกับพร้อมกับภาพตัวแทนของเกย์ที่แสดงตัวเหมือนหญิง ตัวอย่างเช่น “ดาบอนสตีด” อธิบายว่าเกย์ที่เหมือนหญิงเหมือนกับผู้ชายที่แต่งตัวในชุดสตรีที่หรูหราฟูฟ่อง สวมถุงน่อง โยกย้ายส่วยสะโพก จีบปากจีบคอ มือไม้อ่อน ทาลิปสติกมันๆ แสดงอาการขยะแขยง เอาตัวเองเป็นใหญ่ เรียกร้องความสนใจ ต้องการการดูแล ส่งเสียงกรีดร้อง ขี้บ่น เห็นแก่ตัว ยึดมั่นในตัวเอง และชอบร้องเพลง
สมาชิกอีกคนหนึ่ง “สเปนดิ่งซัมไทม์” เชื่อว่า การเป็นหญิงเป็นเรื่องการยึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอก ยึดในระเบียบแบบแผน  ชอบต่อปากต่อคำ ติดแฟชั่น   สัญลักษณ์ของผู้ชายที่เหมือนหญิงในแนวนี้บ่งบอกให้ทราบว่าการกระทำของผู้ชายที่แสดงตัวเหมือนหญิงจะไม่ใช่การกระทำที่ผู้ชายถูกคาดหวังให้ปฏิบัติในทางสังคมและวัฒนธรรม  อาจกล่าวได้ว่า ชายที่แสดงตัวเหมือนหญิงถูกมองว่าเป็นคนที่แสดงออกแบบผู้หญิง  ดังนั้น ความคิดเรื่องการแสดงออกทางเพศภาวะก็ทำให้เกิดพรมแดนระหว่างเกย์ที่แสดงตัวเป็นชายและเกย์ที่แสดงตัวเป็นหญิง
คำอธิบายของการแสดงความเป็นชายยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่าชายที่แสดงตัวเหมือนหญิงคือคนที่ไร้เสน่ห์และไม่น่าปรารถนาสำหรับการมีคู่ เพราะจะทำลายการแสดงออกของเพศภาวะ  ตัวอย่างเช่น “ฟีนิกซ์6570” ตั้งคำถามว่าคุณจะเลือกผู้ชายที่ออกสาวเป็นคู่รักหรือไม่  เขาคิดว่าเป็นไปได้ที่จะพบกับผู้ชายที่ออกสาวซึ่งเขาชอบ  อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เขาจะปฏิเสธ เขารู้สึกว่าถ้าเขาต้องการผู้หญิงเขาก็จะเลือกจีบผู้หญิง แต่ความชอบผู้ชาย ซึ่งความเป็นชายคือสิ่งที่เขาชอบ  เขาคิดว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาเคยรู้จักกับชายที่ออกสาว เมื่อเรียนอยู่ในวิทยาลัย  เขาเห็นเกย์ที่แสดงออกแบบหญิงอย่างเต็มที่ เกย์คนนั้นทำให้เขาหนักใจเพราะมักจะแสดงออกแบบน่ารังเกียจ เสียงดังและไม่เป็นชาย  เขาเชื่อว่าคงเป็นไปได้ที่เขาจะพบกับชายที่ออกสาวซึ่งเขาอาจติดต่อสัมพันธ์ด้วยแต่เขาไม่แน่ใจในสิ่งนี้
จากตัวอย่างนี้แสดงว่าชายที่เหมือนหญิงเป็นสิ่งที่ไร้เสน่ห์เพราะไม่มีความเป็นชายเพียงพอ อาจกล่าวได้ว่าเกย์จะนิยามแรงดึงดูดทางเพศจากการที่เขามีเสน่ห์ต่อชายอื่นซึ่งมีความเป็นชาย  ทัศนคติที่มีต่อเกย์ออกสาวสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลใจที่มาจากการแสดงแบบหญิงในที่สาธารณะ  สมาชิกอีกคนหนึ่งคือ “ชิโค” เล่าประสบการณ์ของเขาเมื่อติดต่อกับเกย์สาว เขาต้องการจะเลิกติดต่อกับเกย์สาว แม้ว่าเกย์สาวจะเป็นคนที่เอาอกเอาใจก็ตาม  เขาเป็นคนที่มีงานทำที่ดี มีการศึกษา มีมารยาท อ่อนโยน เอาใจใส่ซึ่งเป็นสิ่งที่ชิโคติดใจ แต่เกย์สาวไม่มีเสน่ห์สำหรับเขาเพราะมีการแสดงออกแบบหญิง  เกย์สาวจะแสดงออกเหมือนหญิงและชอบช้อปปิ้ง  ชิโคมองว่าอัตลักษณ์ของตนเองไม่เหมือนเกย์สาว  การรับรู้เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของเกย์สาวทำให้เสน่ห์ทางเพศหดหายไป จะเห็นว่าชิโคไม่สบายใจที่จะอยู่กับภาพลักษณ์เกย์ที่เหมือนหญิง 
สมาชิกอีกคนคือ “บีอาร์ซีเอชเอสอาร์” ซึ่งนิยามตนเองว่าเป็นเกย์ที่แสดงออกแบบชายคิดว่าเขาจะไม่ติดต่อกับเกย์สาว เขาเปิดเผยตัวเฉพาะเพื่อนและญาติบางคนเท่านั้น เขาคิดว่าถ้าเขาแสดงตัวแบบหญิง สังคมจะตีตราว่าเขาเป็นเกย์ เขาเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวประหลาดจากคนที่ขับรถผ่านมาในขณะที่เขากำลังยืนอยู่ด้านหน้าคลับเกย์ แต่ถ้ายืนอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าจะไม่มีใครกล่าวหา ที่คลับเกย์จะมีเพื่อนเกย์คอยปกป้องคุ้มครอง แต่ในสังคม เราต้องพึ่งตัวเอง  คนส่วนใหญ่เป็นชายรักต่างเพศ และบางคนก็เป็นเกย์ เรื่องยากก็คือเราจะรู้ว่าใครเป็นเกย์ได้อย่างไร   ความคิดดังกล่าวนี้ทำให้เห็นว่าการเป็นเกย์จะได้รับการยอมรับตราบที่เพศวิถีไม่แปลกแยก กล่าวคือ อุดมการณ์ของการแสดงความเป็นชายช่วยทำให้ลบเลือนความเป็นเกย์ เมื่อเกย์แสดงบทบาทของชายตามระบบรักต่างเพศ  อย่างไรก็ตาม เกย์ที่แสดงเหมือนหญิงจะถูกลงโทษเพราะเพสภาวะของเขาตอกย้ำภาพลักษณ์ของการมีเพศวิถีแบบชายรักชาย   มาดอน(1997) อธิบายว่าอคติที่มีต่อเกย์อาจจะมีเพิ่มขึ้นเมื่อรับรู้ว่าเกย์ได้ทำลายความหมายของการเป็นชายมากกว่าที่จะรับรู้ว่าเกย์มีคุณลักษณะที่น่าชื่นชมที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง  ในความคิดนี้ จะเห็นว่าเกย์ที่แสดงตัวแบบชายอาจจะซึมซับอาการเกลียดโฮโมเซ็กช่วลมาไว้กับตัวเมื่ออยู่ในสังคมของรักต่างเพศ    ดังนั้น การตัดขาดจากเกย์สาวก็อาจเป็นวิธีการอธิบายสำหรับเกย์ที่เป็นชายบางคนซึ่งต้องต่อรองกับการกดทับทางสังคมที่เกิดจากเรื่องเพศวิถีของเขา  จะเห็นว่าเพศภาวะมีการใช้อย่างเข้มข้นในการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงออกแบบชายในหมู่เกย์

การเกลียดเกย์สาว (Sissyphobia)
การรับรู้ของเกย์ที่แสดงตัวเป็นชายเกี่ยวกับเกย์สาว พบว่ามีเกย์ที่เป็นชายบางคนสร้างทัศนคติเชิงลบให้เกิดขึ้นในการติดต่อสื่อสารกับเกย์ที่เหมือนหญิง  เบิร์กลิ่ง(2001) อธิบายว่าการตีตราเกย์สาวดังกล่าวนี้คืออาการเกลียดเกย์สาว  ตัวอย่างเช่น “เลิร์นนิ่ง” อธิบายว่าการเกลียดเกย์สาวมาจากความความคิดและความรู้สึกเชิงลบที่สัมพันธ์กับการแสดงความเป็นหญิง  เขากล่าวว่านักเรียนมัธยมปลายพูดถึงเกย์อีกคนหนึ่งว่าเขาไม่มีปัญหากับเกย์ แต่เขาไม่ชอบถ้าเกย์แสดงแสดงออกแบบผู้หญิง   สมาชิกอีกคนคือ “ไมเคิลเค69” อธิบายว่าเมื่อเขายังเป็นวัยรุ่นและเริ่มเข้าใจอารมณ์ทางเพศของตนเอง เขากลุ้มใจจากอาการเกลียดเกย์สาว  อาการ “เกลียด” จะเกืดขึ้นกับเขาเมื่อเห็นแดร็กควีนและเกย์สาว เขาไม่กล้าที่จะพูดคุย สุงสิง หรืออยู่กับเกย์เหล่านั้น แม้แต่การดูในทีวีก็ทำให้เขาวิตกกังวล  เขารู้สึกถึงความรุนแรงที่จะมีกับเกย์สาว เช่นเขาอยากต่อยหน้าเกย์สาวหรือจับโยนจากสะพาน เขาอยากอยู่ห่างๆเกย์สาว
ความคิดดังกล่าวนี้สัมพันธ์กับคำอธิบายของจูเลีย ที วู้ด เรื่องการขัดเกลาทางสังคมของเพศภาวะ  วู้ด(2003) กล่าวว่าเด็กผู้ชายมักจะถูกสั่งสอนว่าต้องไม่ตุ้งติ้ง และจะต้องแสดงความแข็งแรง  มีอิสระและต้องประสบความสำเร็จ  อาจกล่าวได้ว่า ในขณะที่เด็กชายเติบโตขึ้นมา พวกเขาจะเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรและอะไรบ้างที่จะทำให้เขาเป็นผู้ชายซึ่งต่างจากภาพลักษณ์ความเป็นหญิง  ในสถานการณ์แบบนี้ อาการเกลียดโฮโมเซ็กช่วลก็จะแสดงตัวออกมาในขบวนการขัดเกลาทางสังคมของเพศภาวะตามบรรทัดฐานรักต่างเพศ   คิมเมล(1996) ชี้ว่า “อาการเกลียดโฮโมเซ็กช่วล” คือความกลัวว่าชายคนอื่นจะมาเปิดเผยตัวเรา มาทำให้เราอ่อนแอ  กลัวเขาจะมาแสดงตัวต่อเราและสังคมซึ่งเราไม่ต้องการเห็น  และกลัวว่าเขาจะมาเปิดเผยว่าเราไม่ใช่ชายแท้  จากประเด็นนี้ ทำให้ผู้ชายต้องปฏิเสธความเป็นหญิงเพื่อที่จะเป็นชาย
อาจกล่าวได้ว่า ความคิดเรื่องการเกลียดเกย์สาวจะเกิดขึ้นในรูปแบบของการซึมซับความเกลียด  เกย์มีแรงกดดันที่จะต้องแสดงออกตามมาตรฐานความเป็นชายที่สังคมกำหนด  กล่าวคือ การไม่ยอมรับความเป็นหญิงคือหนทางของเกย์บางคนที่จะไปให้ถึงความเป็นชายแบบรักต่างเพศ  ดังนั้น คำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงออกแบบชายจึงถูกสร้างและถูกนิยามพร้อมๆกับการรับรู้ถึงภาพตัวแทนของเกย์สาว
การแสดงความเป็นชายในฐานะเป็นความคิดที่คงที่กับความคิดที่ลื่นไหล
การศึกษานี้พบว่าสมาชิกของเว็บไซต์จะถกเถียงกันว่าการแสดงตัวเป็นชายจะเป็นความคิดที่คงที่หรือความคิดที่ลื่นไหล  สมาชิกบางคนเชื่อว่าการแสดงตัวเป็นชายจะสำเร็จได้โดยการแสดงตามบทบาทเพศภาวะผู้ชายตามที่สังคมกำหนด เกย์สามารถเรียนรู้ว่าเขาจะแสดงออกอย่างไรตามนิยามของความเป็นชายที่สังคมสร้างไว้  ส่วนสมาชิกคนอื่นเชื่อว่าเกย์ที่เป็นชายและเกย์ที่เหมือนหญิงต่างมีคุณลักษณะที่จะทำให้เขาแสดงตัวตามแบบที่เขาต้องการ เกย์จะแสดงตัวเป็นชายตามพฤติกรรมที่เป็นมาแต่กำเนิด กล่าวคือ เกย์จะเป็นในแบบที่เขาเป็น  ดังนั้น การศึกษานี้จะสำรวจว่าสมาชิกของเว็บไซต์จะพูดคุยเกี่ยวกับการแสดงความเป็นชายอย่างไร จะเป็นความคงที่หรือเป็นความลื่นไหล
สมาชิกบางคนคิดว่าการแสดงความเป็นชายคือสิ่งที่ไม่คงที่และเกย์ก็จะแสดงเพศภาวะออกมาตามการติดต่อสัมพันธ์ทางสังคมที่หลากหลาย เช่น “อัลเทอรีโกรอน” อธิบายว่าเขาแสดงตัวเป็นชายซึ่งเป็นสิ่งเตือนใจว่าเขาต้องไม่ไขว้ขา   บางครั้งเขาจะร้องเพลง บางครั้งเขาต้องหักห้ามใจที่จะซื้อเทียน การแสดงความเป็นชายคือบทบาทที่เขาพยายามปฏิบัติ เพราะเขาต้องการเห็นตัวเองเป็นชาย  เขาจะแสดงตัวเป็นชายอย่างระมัดระวังในการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นโดยการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องซึ่งอาจจะไม่ตรงกับแบบแผนของความเป็นชายมากนัก  เขาพูดถึง “ผู้สร้างสรรค์” ซึ่งเป็นการสร้างลักษณะของความเป็นชาย เขาจะเปลี่ยนเสียงเมื่อพูดกับคนบางคน เขาจะไปออกกำลังกายเพื่อทำให้มีกล้ามและกินยาที่เร่งกล้ามเนื้อให้ใหญ่ขึ้น เพราะการออกกำลังปกติจะไม่ทำให้มีกล้ามใหญ่  เขามั่นใจในการแสดงตัว การแต่งกายและการแสดงออกภายนอก ทั้งนี้จะทำให้เขาไม่ถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอ
คุณลักษณะของการแสดงความเป็นชายบางอย่างจะเกิดขึ้นได้โดยการตอกย้ำความเป็นชาย ในสถานการณ์บางอย่างอาจมีอิทธิพลต่อเกย์ในการแสดงความเป็นชาย เช่น “เอลชิโค124” กล่าวว่าการอยู่ในกองทัพ ทำให้เขาต้องแสดงตัวต่างออกไป เมื่ออยู่กับเพื่อนเขาจะแสดงตัวอีกแบบหนึ่ง เขาคิดว่าเขาไม่ได้หลอกลวงแต่เขาเพียงเปลี่ยนบทบาท เมื่ออยู่กับเพื่อนเขาจะแสดงตัวเป็นสาว   ในสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ไม่สนับสนุนสิทธิของเกย์ เขาจะไม่แสดงตัวมาเขาเป็นเกย์ตามแบบที่สังคมรับรู้ การแสดงตัวเป็นเกย์สาวอาจทำให้เขาตกงาน  เขาเรียนรู้ว่าจะแสดงออกแบบชายตามบรรทัดฐานรักต่างเพสอย่างไร  จะเห็นว่า เกย์บางคนเชื่อว่าการแสดงออกแบบชายคือสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นซึ่งเกย์จะเรียนรู้ที่จะทำตาม  ตามที่จูดิธ บัตเลอร์(1993) อธิบายไว้ว่าเพศภาวะคือการเลียนแบบที่ทำให้เกิดความคิดเรื่องต้นกำเนิด ซึ่งความคิดนี้จะส่งผลต่อการเลียนแบบในตัวมันเอง
สิ่งที่ตรงข้ามกับความคิดนี้ มีสมาชิกบางคนเชื่อว่าการแสดงความเป็นชายคือความคงที่ โดยเชื่อว่าเกย์ทุกคนไม่ว่าจะแสดงตัวเป็นชายหรือเป็นหญิงก็จะเป็นแบบนั้นเสมอ  ตัวอย่างเช่น “เดวี” อธิบายว่า เกย์ที่เป็นชายและเกย์สาวมีความคงที่  “รูน” กล่าวว่าเขาแสดงออกอย่างที่เขาเป็น  “ฮุเซียร์ฟัสส์” กล่าวว่าเขาไม่ต้องเสปสร้งในการแสดงออก เขาแค่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเขาจะมีภาพลักษณ์ตรงกับผู้ชายมากกว่าการเป็นเกย์  “ฟิลลีอเจนดา” คิดว่าการแสดงความเป็นชายของเขาเป็นเรื่องตามธรรมชาติ เขาเชื่อว่าเขาไม่ต้องแกล้งทำตัวเป็นชาย แต่เขามีความเป็นชายอยู่แล้ว เขาไม่มีลักษณะแบบผู้หญิง เมื่อเขาบอกคนอื่นว่าเขาเป็นเกย์ คนอื่นรู้สึกตกใจเล็กน้อย ไม่ใช่เพราะว่าเขามีภาพลักษณ์แบบนักกีฬาที่มีแฟนผู้หญิงหลายคน หรือภาพลักษณ์ที่ตรงตามแบบผู้ชายรักต่างเพศ หากแต่คนอื่นไม่เคยคิดว่าเขาเป็นเกย์เท่านั้น  เขาไม่เคยเปลี่ยนวิธีการแสดงออกหรือการพูดจาใดๆเลย
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าเกย์บางคนไม่ได้พยายามแสดงความเป็นชาย  กล่าวคือ เกย์ที่พยายามแสดงตัวเป็นชายจะเป็นเกย์ที่ไม่มีความเป็นชาย เพราะพวกเขาจะแสดงตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  เกย์ที่แสดงตัวเป็นชายที่เชื่อว่าเป็นตามธรรมชาติอาจจะปฏิเสธความคิดเรื่องการเลียนแบบความเป็นชาย  เพราะเขาคิดว่าเพศวิถีไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ว่าเขาคือใคร  กล่าวคือ เพศวิถีเป็นเพียงมิติหนึ่งของการเป็นตัวตนของเขา    ดังนั้น เกย์ที่เป็นชายบางคนจึงเชื่อว่าคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นชายจะเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นชายของเขาที่ตรงข้ามกับภาพลักษณ์เกย์สาวเพราะเกย์ที่เป็นชายไม่ได้แสดงท่าทางที่เหมือนผู้ชาย
บทวิเคราะห์
จากการสำรวจเว็บไซต์ straightacting.com พบว่าความเป็นชายตามที่สังคมกำหนดได้ควบคุมกำกับคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นชายของเกย์ คำอธิบายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นวิธีการที่เกย์เผชิญหน้ากับความท้าทายที่มีอยู่ในการต่อรองกับความเป็นชายตามมาตรฐาน ซึ่งทำให้เกย์รู้ว่าเขาคือใครในสังคมที่ยึดในเพศภาวะจากบรรทัดฐานรักต่างเพศ  การไม่หยุดนิ่งของอำนาจเกี่ยวกับการเป็นชายและการเป็นหญิงส่งผลกระทบต่อการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงความเป็นชายเพราะเกย์ได้รับแรงกดดันทางสังคมที่จะต้องรับเอาการแสดงตัวเป็นชายมาปฏิบัติ  ในแง่นี้จะเห็นว่า คุณลักษณะของการแสดงความเป็นชายจะถูกนิยามขึ้นในขณะที่มีการโยงไปถึงภาพตัวแทนของความเป็นชายตามมาตรฐาน  นอกจากนั้น คุณลักษณะของการแสดงความเป็นชายยังถูกสร้าง ถูกประดิษฐ์ และถูกควบคุมพร้อมกับการปฏิเสธภาพตัวแทนแบบหญิงของเกย์  ประเด็นนี้สะท้อนว่าเกย์ที่แสดงตัวเป็นชายบางคนมีความคิดเชิงลบต่อการสื่อสารกับเกย์สาว ซึ่งเป็นอาการของการเกลียดเกย์สาว  นอกจากนั้น เกย์บางคนก็เชื่อว่าการแสดงความเป็นชายคือสิ่งที่ลื่นไหลซึ่งเกย์สามารถเรียนรู้ที่จะแสดงความเป็นชายได้ ในเวลาเดียวกัน เกย์บางคนเชื่อว่าการแสดงความเป็นชายเป็นสิ่งที่มั่นคงซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ  ดังนั้น คำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงความเป็นชายจึงเป็นผลผลิตจากการสื่อสารของสังคมที่ยึดในเพศภาวะแบบรักต่างเพศ
เป็นเรื่องสำคัญที่จะสำรวจความเป็นไปได้ว่าการแสดงออกของเพศภาวะจะส่งผลต่อคู่รักเกย์อย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้าความเป็นชายและหญิงที่ไม่หยุดนิ่งเกิดขึ้นกับคู่รักเกย์แล้ว คู่เกย์นั้นจะผลิตซ้ำและตอกย้ำเพศภาวะแบบรักต่างเพศให้ปรากฎอยู่ในความสัมพันธ์ของเขาอย่างไร  คู่รักเกย์จะจัดการกับความสัมพันธ์ของเขาให้สอดคล้องกับระบบเพศภาวะแบบรักต่างเพศหรือไม่  บางที ระบบเพศภาวะอาจจะไม่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของเขาก็ได้เพราะเขาทั้งคู่คือผู้ชายที่ไม่ต้องสนใจว่าจะแสดงออกทางเพศภาวะอย่างไร
นอกจากนั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะพิจารณาว่าปัจจัยด้านชนชั้น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์จะมีบทบาทอย่างไรในการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงความเป็นชายในหมู่เกย์ ยกตัวอย่างในวัฒนธรรมอเมริกัน ผู้ชายอเมริกันเชื้อสายเอเชียจะถูกมองว่ามีความเป็นหญิง ในเวลาเดียวกันผู้ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจะถูกมองว่ามีความเป็นชายสูง  การมองแบบนี้มาจากความคิดของคนผิวขาว เป็นสิ่งสำคัญที่จะตรวจสอบว่าคำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงความเป็นชายจะมีบทบาทอย่างไรในการติดต่อสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม เช่นชนชั้น เชื้อชาติ สีผิว  คำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นชายจะเกิดขึ้นนอกความคิดแบบคนผิวขาวหรือไม่ เมื่อสมาชิกของเกย์และบรรทัดฐานส่วนใหญ่ยังเป็นชาวผิวขาว   จะมียุทธวิธีของการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นชายต่างกันในแต่ละวัฒนธรรมหรือไม่  นอกจากนั้น คำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นชายจะทำหน้าที่อย่างไรในฐานะเป็นยุทธวิธีในการสื่อสารเพื่อให้มีชีวิตรอดของเกย์ที่ต้องอยู่ในบริบทของรักต่างเพศ เช่น ในที่ทำงาน หรือในองค์กรทางศาสนา  การวิจัยในประเด็นนี้ต้องเปรียบเทียบในแต่ละวัฒนธรรมซึ่งจะทำให้เห็นความเป็นไปได้ในการยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพสภาวะ เพศวิถีและร่างกาย

นักวิชาการด้านการสื่อสารของคนหลากหลายทางเพศเช่น เย็พ, โลวาส และอีเลีย(2003) อธิบายว่าเกย์บางคนกำลังมองหาการผสมกลมกลืนเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลักโดยการทำให้เพศวิถีของตัวเองเป็นไปตามบรรทัดฐานเหมือนกับรักต่างเพศ  ความคิดนี้ชี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะค้นหาว่าคำอธิบายเกี่ยวกับการแสดงความเป็นชายนั้นจะช่วยให้การผสมกลมกลืนกับสังคมได้อย่างไร  คำอธิบายเกี่ยวกับการสร้างความเป็นชายจะทำหน้าที่อย่างไรในฐานะเป็นยุทธวิธีการสื่อสารสำหรับเกย์ที่จะทำให้เพศวิถีของตนตรงตามบรรทัดฐานและได้รับการยอมรับในวัฒนธรรมกระแสหลัก  คำอธิบายเกี่ยวกับการสร้างความเป็นชายจะมีอิทธิพลอย่างไรต่อเกย์ที่สร้างและผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจของการเกลียดโฮโมเซ็กช่วล การซึมซับความเกลียดมาไว้กับตัวและการรังเกียจความเป็นหญิงโดยการทำให้ตนเองเป็นสิ่งที่ตรงกับบรรทัดฐาน  การวิจัยชุมชนเกย์ควรจะสนใจการศึกษาคำอธิบายเกี่ยวกับการสร้างความเป็นชายของเกย์ต่อไป
สรุป
เพศภาวะคือบ่อเกิดของความขัดแย้งในการสร้างและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพราะอุดมากรณ์ของเพศภาวะกดดันบุคคลให้แสดงออกว่าเขาเป็นใครตามคำนิยามแห่งเพศภาวะบนบรรทัดฐานของรักต่างเพศ  เมื่อบุคคลแสดงออกว่าเขาเป็นใครโดยไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐาน คนเหล่านั้นก็จะถูกลงโทษทางสังคมและวัฒนธรรม  กล่าวคือ ความเป็นชายแบบที่สังคมกำหนดทำให้เกย์สาวกลายเป็นผู้ชายที่ล้มเหลว  การมองแบบนี้ทำให้เกย์บางคนต้องแสดงตัวเป็นชาย และแสดงทัศนคติเชิงลบต่อเกย์ที่แสดงออกแบบหญิง     อย่างไรก็ตาม เกย์แต่ละคนล้วนทุกข์ใจจากระบบเพศภาวะของรักต่างเพศซึ่งเบียดขับคนบางคนไปตลอดชีวิตไม่ว่าเขาจะแสดงออกทางเพศแบบไหนก็ตาม  จะเห็นว่าเกย์ก็คือเกย์ไม่ว่าเขาจะแสดงออกแบบชายหรือไม่ก็ตาม   ดังนั้น ความหวังก็คือ การให้เกย์ต่อสู้กับอุดมการณ์แห่งเพศภาวะแบบรักต่างเพศที่ทำให้ชุมชนเกย์แตกแยกกัน    กล่าวคือ  เกย์ต้องรวมตัวกันต่อต้านและท้าทายการนำเอาระบบเพศภาวะแบบรักต่างเพศมาใช้กับตัวเอง   ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะสร้างสะพานเชื่อมเข้าหากันเพื่อสื่อสารซึ่งกันและกัน และมองหาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 21

ไม่มีความคิดเห็น: