3/27/2556

Studying Men and Masculinities



Studying Men and Masculinities
M. Ford and L. Lyons. Men and Masculinities in Southeast Asia. London, Routledge.
แปลและเรียบเรียงโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

การศึกษา “ผู้ชาย” และ “ความเป็นชาย” ที่มีความไม่ลงรอยจากเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สองซึ่งโต้แย้งว่าตัวตนของผู้หญิงได้หายไปจากการสร้างความรู้ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องพฤติกรรมและการปฏิบัติของผู้ชาย  ความรู้ที่เป็น “แบบผู้ชาย”ไม่ได้เพียงจะบดบังชีวิตของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังปฏิเสธความรู้ที่เป็นเรื่องของเพศภาวะด้วย  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มันทำให้ผู้ชายเป็นวัตถุของการวิจัยที่ปราศจากการมองเห็นการวางผู้ชายไว้ในตำแหน่งแห่งเพศภาวะ  นักวิชาการเฟมินิสต์พยายามท้าทายสมมุติฐานนี้โดยการทำให้เห็นความรู้ทุกอย่างมาจากความคิดเรื่องเพศภาวะ  การศึกษาเกี่ยวกับผู้ชายและความเป็นชายที่ผ่านมาสะท้อนความคิดของเฟมินิสต์ว่า การสนใจประสบการณ์ของผู้ชาย ทำให้เห็นถึงหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับความข่มขื่นในเพศภาวะของผู้ชาย และทำให้เกิดการศึกษาแนวใหม่ที่เรียกว่า Men’s Studies หรือบุรุษศึกษา  อย่างไรก็ตาม การศึกษาแบบนี้ก็ยังมีอันตรายซึ่งเลียนแบบ “สตรีศึกษา” การศึกษาผู้ชายจะมองข้ามบทบาททางการเมืองในวิชาสตรีศึกษา ซึ่งเป็นวิชาที่ผู้หญิงสามารถแสดงความรู้เชิงวิพากษ์จากการที่เป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่   ความสนใจต่อการศึกษาเพศภาวะและอำนาจอาจถูกบดบัง และวิชาบุรุษศึกษาอาจทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในฐานะเป็นเหยื่อของระบบปิตาธิปไตยและประโยชน์ของเฟมินิสต์  ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการหลายคนจึงปฏิเสธคำว่า “บุรุษศึกษา” และหันไปใช้คำว่า “การศึกษาบุรุษเชิงวิพากษ์” (critical studies on men) (CSM), critical men’s studies หรือการศึกษาบุรุษและความเป็นชาย (studies of men and masculinities)

คอนแนลล์(2005) อธิบายว่าการศึกษาบุรุษเชิงวิพากษ์ถูกสร้างขึ้นโดยไม่คู่ขนานกับการศึกษาผู้หญิงแบบเฟมินิสต์ คำอธิบายนี้ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย เช่น นักวิชาการที่ศึกษาบุรุษเชิงวิพากษ์จะสร้างความรู้อย่างไรที่สัมพันธ์กับการศึกษาบุรุษแบบเฟมินิสต์  ถ้าการศึกษาบุรุษเชิงวิพากษ์คือการวิจัยที่เกิดจากความคิดแบบเฟมินิสต์ อะไรที่จะทำให้การศึกษานี้ต่างจากการศึกษาเพศภาวะเชิงวิพากษ์  อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาบุรุษเชิงวิพากษ์กับงานวิจัยด้านเพศภาวะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเควียร์ศึกษาและหลังอาณานิคมศึกษา คำตอบหนึ่งต่อคำถามเหล่านี้โต้แย้งว่าการศึกษาบุรุษเชิงวิพากษ์คือศึกษาโดยผู้ชายในประเด็นผู้ชายและความเป็นชาย ในขณะที่เฟมินิสต์จะศึกษาผู้หญิงโดยผู้หญิง คำตอบแบบนี้ไม่ใช่การแบ่งแยกการวิจัยที่มาจากฐานเรื่องเพศที่แตกต่าง  แต่เป็นการชี้ให้เห็นสภาพของนักวิชาการที่ศึกษาผู้ชายและความเป็นชายซึ่งเฟมินิสต์จะไม่ค่อยศึกษาเรื่องนี้  จากการสำรวจการศึกษาเฟมินิสต์ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าคำตอบมักจะเป็นแบบนี้  ทฤษฎีเฟมินิสต์คือทฤษฎีที่ใช้ทำความเข้าใจการโยงใยกันระหว่างเพศภาวะและอำนาจ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คุณูประการสำคัญของเฟมินิสต์ต่อการศึกษาผู้ชายและความเป็นชายมักจะถูกมองข้ามจากการศึกษาบุรุษเชิงวิพากษ์ การไม่สนใจความคิดของเฟมินิสต์จะพบได้ในงานศึกษาผู้ชายและความเป็นชายที่ผ่านมาซึ่งปราศจากกการวิเคราะห์เพศภาวะ ผลก็คือทำให้การศึกษาไม่น่าเชื่อถือเท่าไร
ความไม่น่าเชื่อถือดังกล่าวนี้คือหลักฐานที่มีอยู่ในการโต้แย้งของการศึกษาบุรุษเชิงวิพากษ์ในประเด็นความหมายและความสำคัญของแนวคิดเกี่ยวกับ “ผู้ชาย” และ “ความเป็นชาย”  ความคิดเรื่อง “ความเป็นชาย”กลายเป็นเรื่องเดียวกับการศึกษาผู้ชาย และกลายเป็นสูตรสำเร็จสำหรับความหมายและประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับการเป็น “ผู้ชาย” ในบริบททางสังคมวัฒนธรรม (การสื่อความหมายเชิงวัฒนธรรม) ในประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้ชาย (การปฏิบัติและอัตลักษณ์) และในวิธีการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย และระหว่างผู้ชายด้วยกัน (อำนาจทางสังคม) ความหมายที่หลากหลายที่สัมพันธ์กับแนวคิดความเป็นชายทำให้เห็นความคลุมเคลือของแนวคิด จากประเด็นนี้ เฮิร์นและปริงเกล จึงพูดถึงเรื่องการปฏิบัติของผู้ชายทั้งที่เป็นปัจเจกและกลุ่มคน หรืออัตลักษณ์และวาทกรรมของผู้ชายมากกว่าจะพูดถึงความเป็นชายโดดๆ  อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนนี้คิดว่าความหมายของ “ความเป็นชาย” คือสูตรสำเร็จที่ใช้พูดถึงการปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อ การแสดงตัว และการสร้างภาพลักษณ์ของผู้ชาย
การเชื่อมโยงผู้ชายกับความเป็นชาย คือความคิดรากฐานในการแบ่งแยกคู่ตรงข้ามแบบรักต่างเพศ เช่น ชายกับหญิง ซึ่งให้ความสำคัญกับร่างกายที่มีเพศในการทำความเข้าใจการแสดงออกของเพศภาวะ  นักทฤษฎีเควียร์และเฟมินิสต์ทั้งหลายเคยวิจารณ์ความเข้าใจเรื่องเพศภาวะแบบตายตัวเช่นนี้ โดยการแย้งว่าการแยกขั้วหญิงชายไม่ใช่ความจริงที่มีแก่นแท้หรือมาจากชีววิทยา ร่างกายที่มีเพศไม่ใช่ “ความจริง” ที่มีอยู่ในตัวเอง แต่เป็นการสร้างขึ้นทางวัฒนธรรม คอร์นวอลล์และลินดิสฟราน(1994) อธิบายว่าในขณะที่การผลิตศร้างทางสังคมของการแบ่งประเภทของเพศภาวะมีการอธิบายถึงลักษณะเฉพาะอย่างระมัดระวัง ความคิดเกี่ยวกับประเภทของเพศภาวะทั้งหลายก็มักเชื่อในคู่ตรงข้ามที่โต้แย้งไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้วความคิดนี้มาจากความเชื่อในความแตกต่างทางชีววิทยา  ลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมถูกวางไว้กับความเป็นสากลทางชีววิทยาที่ใช้แยกร่างกายเพศหญิงและเพศชาย
การวิจัยในกลุ่มชนต่างๆได้แสดงให้เห็นว่าความหมายแต่ละอย่างของ ผู้ชาย/เพศชาย/ความเป็นชาย มีความซับซ้อนและคลุมเคลือซึ่งจะเปลี่ยนไปตามบริบทในช่วงเวลาต่างๆ การวิจารณ์ของเควียร์และเฟมินิสต์เกี่ยวกับความต่างกันของเพศสรีระและเพศภาวะจะไม่มีอิทธิพลต่อการศึกษาของบุรุษศึกษาเลย ซึ่งการศึกษาส่วนใหญ่จะเชื่อในความต่างกันระหว่างหญิงและชาย  สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานที่ชี้ว่าวิชาการศึกษาบุรุษเชิงวพากษ์ก่อตัวมาอย่างไร และชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องความเป็นชายถูกใช้อธิบายและโต้เถียงอย่างไร  คำว่า “ความเป็นชาย” มักจะถูกใช้เพื่อแสดงถึงคุณสมบัติเฉพาะของผู้ชาย  ความคิดดังกล่าวนี้เป็นการมองว่าความเป็นชายมีแก่นแท้มาจากปัจจัยชีววิทยาซึ่งมีมาแต่กำเนิดและผูกติดกับการสร้างเพศภาวะทางสังคม ความคิดนี้ทำให้นักวิชาการบางคนเรียกร้องให้มีการแยกระหว่าง “การเป็นชาย” ออกจาก “การเป็นผู้ชาย” และมองว่าคำต่างๆ ที่เป็น ผู้ชาย/เพศชาย/ความเป็นชาย และผู้หญิง/เพศหญิง/ความเป็นหญิง จะใช้อธิบายความแตกต่างที่พบเห็น และยังเป็นคุณลักษณะที่ต่างกันของร่างกายและพฤติกรรมของมนุษย์  ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ความเป็นชายจะช่วยทำให้เห็นภาพลักษณ์แบบชาย แต่สิ่งนี้ก็ไม่จำเป็นต้องปรากฎอยู่ในผู้ชายทุกคน และอาจจะมีอยู่ในผุ้หญิงด้วย  เซดจ์วิค(1995) เคยชี้ว่า “ในฐานะผู้หญิง ฉันยังแสดงความเป็นชาย แต่ฉันไม่มีความเป็นชายมากกว่าผู้ชาย ในฐานะที่ฉันเป็นผู้หญิง  ฉันก็สร้างและแสดงความเป็นชายเช่นเดียวกับผู้ชาย” ความเป็นชายและความเป็นหญิงมีความหมายต่างกัน ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตและประสบการณ์ที่เพศชายและเพศหญิงปฏิบัติ  อย่างไรก็ตาม การจับคู่ระหว่างผู้ชายและความเป็นชายที่ปรากฎอยู่ในการศึกษาบุรุษเชิงวิพากษ์ ก็มองข้ามความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเพศสรีระและเพศภาวะ

การศึกษาความเป็นชายส่วนใหญ่มักจะล้มเหลวในการนำความคิดเฟมินิสต์มาใช้เพื่ออธิบายเพศภาวะ เพศวิถี และอำนาจ  ความคิดของบัตเลอร์เรื่อง “ปฏิบัติการของการแสดง” (performativity) จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการของการสร้างกิริยาอาการที่แสดงออกมา  ในความคิดนี้ จะเห็นว่าการแสดงออกของเพศภาวะเป็นเรื่องที่อยู่ใต้จิตสำนึกและเกิดขึ้นเอง  คู่ตรงข้ามของเพศภาวะระหว่างความเป็นชายลความเป็นหญิง ถูกมองว่าเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่มาพร้อมกับกระบวนการตกผลึกมายาวนาน ซึ่งทำให้การแสดงออกในกิริยาท่าทางและการแสดงออกทางกายเป็นรูปแบบของการทำซ้ำๆจนเคยชิน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ร่างกายตามธรรมชาติมีความต่างกันจโดยเพศสรีระซึ่งดำรงอยู่ในคู่ตรงข้ามกันระหว่างชายหญิง  แทนที่เราจะมองว่าบุคคลเป็นเพศชายหรือเพศหญิง บัตเลอร์วิเคราะห์ว่าเพศภาวะของบุคคลเป็นสิ่งที่ถูกแสดงออก เพศภาวะของคนๆหนึ่งจะถูกสร้างผ่านปฏิบัติการของการแสดงที่ทำซ้ำๆกัน ตัวอย่างเช่น เพศภาวะเป็นเรื่องของกิริยาท่าทาง หรือการกระทำทางร่างกาย ซึ่งเป็นทั้งการแสดงและความตั้งใจ  การแสดงออกเหล่านี้ชี้ให้เห็นการสร้างความหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ แนวการวิเคราะห์นี้บอกให้รู้ว่าเพศภาวะไม่ใช่อัตลักษณ์ แต่เป็น วิธีการแสดงซ้ำๆกันภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัด
ข้อจำกัดของการวิจัยจากบุรุษศึกษาเชิงวิพากษ์อีกอย่างหนึ่ง คือมีการทำให้ผู้ชายกลายเป็น “เอกภาพ” ตามการจัดประเภทของความคิดแก่นแท้นิยม เฟมินิสต์เคยปฏิเสธว่าความคิดเรื่อง “ผู้หญิง” เป็นทั้งการจัดประเภทและการต่อสู้ทางการเมือง เพราะมันมีผลกระทบต่อการบดบังความหลากหลายของผู้หญิง และยังเป็นการมองข้ามวิธีที่ผู้ชายและผู้หญิงถูกทำให้มีตัวตนของเพศภาวะ ชนชั้น และเชื้อชาติ  แทนที่จะมองเพศภาวะเป็นต้นเหตุของการกดทับผู้หญิงและการกดขี่โดยผู้ชาย  เฟมินิสต์ในโลกที่สามและผู้หญิงผิวสีออกมาเรียกร้องการศึกษาที่มีการตรวจสอบวิธีการที่ผู้หญิงและผู้ชายได้ประโยชน์หรือถูกใช้ประโยชน์หรือมีส่วนกระทำจากการแสดงเพศภาวะหญิงและชาย  การศึกษาแนวนี้สามารถทำให้เข้าใจว่าผู้ชายมีประโยชน์ทางการเมืองเช่นเดียวกับผู้หญิง โดยเฉพาะในเรื่องความยากจน การจราจลและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  การศึกษานี้ต้องการสำรวจว่าชายและหญิงถูกวางในตำแหน่งสูงต่ำอย่างไร การศึกษานี้ไม่ได้แสวงหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทางเพศ ทางเชื้อชาติ และทางชาติพันธุ์ที่ถูกต้อง แต่ต้องการอธิบายตำแหน่งของชายหญิงในความสัมพันธ์แบบช่วงชั้นเชิงโครงสร้าง คอลลินส์(1999) ใช้คำว่า “การเกี่ยวโยงพัวพัน” (intersectionality) เพื่ออธิบายช่วงชั้นของอำนาจที่ปรากฎอยู่ และเพื่อชี้ว่าเพศภาวะที่อยู่ในการโยงใยเกี่ยวพันกันจะทำให้การตีความใหม่ว่าเพศภาวะคือชุดของความคิดและการปฏิบัติซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ และมันได้สร้างระบบของการกดขี่ข่มเหงที่ซับซ้อน  ถึงแม้ว่าแนวคิดเรื่องการเกี่ยวโยงพัวพันจะถูกใช้โดยนักวิชาการแนวบุรุษศึกษาบางคน แต่ความคิดเรื่อง “ความต่าง” ก็ยังคงถูกละเลย สิ่งนี้สามารถอธิบายได้โดยบทบาทสำคัญของแนวคิดที่คอนแนลล์เสนอไว้ในเรื่อง “ความเป็นชายที่ชี้นำสังคม” (Hegemonic Masculinity) ได้รับการพัฒนาขึ้นในการศึกษาผู้ชายและความเป็นชายเชิงวิพากษ์

ความเป็นชายที่ชี้นำสังคม
แนวคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคมเกิดขึ้นในความพยายามของคอนแนลล์ในการที่จะให้วิธีคิดอีกแบบหนึ่งต่อเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศภาวะและความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นชายกับอำนาจ    คอนแนลล์(1995) นิยามความเป็นชายที่ชี้นำสังคมว่าคือรูปแบบการปฏิบัติทางเพศภาวะซึ่งก่อตัวขึ้นเพื่อการตอบคำถามต่อปัญหาเกี่ยวกับการมีอำนาจของระบบปิตาธิปไตย ซึ่งยืนยันหรือใช้เพื่อการยืนยันตำแหน่งที่เหนือกว่าของผู้ชายและตำแหน่งที่ต่ำกว่าของผู้หญิง  ความคิดดังกล่าวนี้ มองว่าความสัมพันธ์ที่สร้างระเบียบแห่งเพศภาวะมาจากสองลักษณะ คือ หนึ่งการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงจากฝ่ายหนึ่ง และสองขบวนการสร้างอำนาจและทำให้อีกฝ่ายหนึ่งถูกเบียดขับ  ในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ จะมีรูปแบบของความเป็นชายลักษณะหนึ่งถูกให้คุณค่าเหนือกว่าแบบอื่นๆ  ถึงแม้ว่าคอนแนลล์จะเห็นความสอดคล้องกันบางอย่างระหว่างอุดมคติทางวัฒนธรรมและอำนาจเชิงสถาบัน แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดความคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคมจะเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจมากที่สุด  จากประเด็นนี้ จะเห็นว่าความเป็นชายที่ชี้นำสังคมจะเป็นเรื่องที่ไม่ปกติแต่เป็นเรื่องของบรรทัดฐาน ซึ่งก่อตัวอยู่ในการแสดงความเป็นผู้ชาย ความเป็นชายที่ชี้นำสังคมต้องการให้ผู้ชายทุกคนวางตำแหน่งตัวเองสัมพันธ์กับสิ่งนี้ และมันก็สร้างความชอบธรรมให้ผู้ชายในการกดทับผู้หญิง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อุดมการณ์ที่ชี้นำอาจจะไม่สอดคล้องกับการมีชีวิตของผู้ชาย แต่มันเป็นอุดมการณ์ที่ผู้ชายส่วนใหญ่อยากจะเห็น
ภายใต้ระเบียบของเพศภาวะ ตามมุมมองเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคม คอนแนลล์ได้ชี้ให้เห็นความเป็นชายที่อยู่ชายขอบและถูกกดทับ ซึ่งเกี่ยวโยงกับความเป็นชายที่ชี้นำสังคม คอนแนลล์อธิบายว่ากระบวนการเป็นชายขอบคือสิ่งที่สัมพันธ์กับกระบวนการสร้างอำนาจที่มาจากความเป็นชายแบบชี้นำของกลุ่มคนที่มีอำนาจ  ดังนั้น จะเห็นว่านักกีฬาผิวดำคือตัวอย่างที่ชัดเจนของความเป็นชายที่ชี้นำสังคม แต่ความร่ำรวยและชื่อเสียงของนักกีฬาไม่ได้เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ ผู้ชายผิวดำอีกจำนวนมากไม่สามารถมีสิทธิแบบนี้
ความเป็นชายที่ถูกกดทับจะสัมพันธ์กับการตีตราว่าเป็นคนเบี่ยงเบน เช่น เกย์ ในขณะที่ความเป็นชายแบบชายขอบจะถูกอธิบายในเรื่องชนชั้น สีผิวและเชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์  ความเป็นชายที่ถูกกดทับหรือมีค่าต่ำคือสิ่งที่ใช้ท้าทายความหมายของความเป็นชายที่เป็นอุดมคติทางสังคม  ความเป็นชายที่ไม่ได้รับการยอมรับจะมีความสำคัญน้อยกว่าความเป็นชายแบบอุดมคติ  คอนแนลล์(1995) ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งตายตัว แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เฉพาะในโครงสร้างความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป

การศึกษาของคอนแนลล์มีอิทธิพลอย่างสูง แต่ก็ไม่ได้ปราศจากการวิจารณ์  ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคอนแนลล์มักจะเป็นคนที่ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “ความเป็นชายที่ชี้นำสังคม”  เบสลีย์(2008) ได้แยกแยะให้เห็นสิ่งที่คอนแนลล์อธิบายไว้ 3 ประการ คือ 1)กระบวนการเชิงการเมือง(นำความคิดของแกรมชีเรื่องอำนาจชี้นำที่กล่าวถึงการชี้นำเชิงศีลธรรมและวัฒนธรรม) ซึ่งมีไว้เพื่อยืนยันว่ามวลชนจะเคารพกฎระเบียบ  2)รูปแบบความเป็นชายที่สังคมยกย่อง (ส่วนใหญ่จะได้รับการแพร่หลายและมีอำนาจ) และ 3)กลุ่มของผู้ชาย  เบสลีย์โต้แย้งว่าการเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจแนวคิดเรื่องอำนาจชี้นำที่ต่างกันนี้ ยังเป็นสิ่งที่คลุมเคลือ อย่างน้อยก็เป็นเพราะยังไม่มีการสร้างนิยามที่ชัดเจน
ปัญหาบางอย่างของแนวคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคมคือการนำความคิดนี้ไปใช้อธิบาย  นักวิจัยบางคนใช้แนวคิดนี้ไปอธิบายผู้ชายหรือกลุ่มผู้ชาย (เช่น ความเป็นชายของผู้ชายที่เป็นชนชั้นปกครองหรือผู้มีอำนาจในสังคม) มากกว่าจะอธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจจากการชี้นำทางสังคม   กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การศึกษาแบบนี้มองไม่เห็นว่าเพศภาวะคือชุดของความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากกว่าจะเป็นเพียงคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวคน  อุดมคติของความเป็นชายส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับความเป็นชายที่มาจากการศึกษาเพื่อยืนยันอำนาจที่เหนือกว่าของผู้ชาย และการศึกษาที่ให้ความชอบธรรมแก่ผู้ชาย ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับเทิดทูนหรือการยอมรับทางสังคม  จากเหตุนี้ทำให้เบสลีย์(2008) เรียกร้องความจำเป็นในการแยกความเป็นชายออกจากตัวบุคคลที่มีอำนาจ ออกจากผู้ชายหรืออกจากคุณลักษณะส่วนตัวของบุคคล  ลูเชอร์และโรบินส์ (2009) ชี้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการมองเพศภาวะในฐานะเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจเมื่อเทียบกับการมองว่าเพศภาวะคือคุณสมบัติส่วนบุคคล
แนวโน้มที่จะนำเอาความเป็นชายที่ชี้นำสังคมไปเทียบกับผู้ชายที่มีอำนาจ ถูกตอกย้ำโดยการใช้คำว่า “ความเป็นชายที่ชี้นำสังคม” แบบเอกเทศ  ในขณะที่การศึกษาเชิงความสัมพันธ์จะทำให้เห็นยุทธวิธีที่ซับซ้อนและเป็นไปตามบริบท คอนแนลล์และคนอื่นๆก็มองว่าความเป็นชายที่ชี้นำสังคมมีเพียงแบบเดียวในประวัติศาสตร์  ดังนั้น ปัญหาเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคมก็คือ ความคิดนี้วางอยู่บนความเชื่อเรื่องโครงสร้างที่ถาวรมากกว่าจะมองเป็นยุทธวิธีของการชี้นำซึ่งมีอยู่ในความขัดแย้ง การก่อตัวทางสังคมและความตึงเครียดระหว่างผู้ชายกับรูปแบบการชี้นำต่างๆที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ชายปฏิบัติตัวทางสังคม  ความคิดดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นประโยชน์ในการคิดเกี่ยวกับการต่อสู้แข่งขันที่ผู้ชายถูกทำให้มีอำนาจในระบบปิตาธิปไตย แต่ก็ยังมองไม่เห็นความซับซ้อนของความเป็นชายและวิธีการที่ความเป็นชายแบบต่างๆมาเกี่ยวโยงกัน  ถึงแม้ว่าแนวคิดของคอนแนลล์จะยืนยันในเรื่องตำแหน่งที่สูงกว่าของความเป็นชาย ซึ่งผู้ชายบางคนจะแสดงอำนาจออกมา และผู้ชายอื่นๆมีอำนาจน้อยกว่า แต่การเชื่อมโยงระหว่างความเป็นชายที่ชี้นำสังคมกับผู้ชายที่มีอำนาจก็ยังคงคลุมเคลืออยู่ เดมิทริอู(2001) วิจารณ์คอนนแนลล์ว่าความเป็นชายที่ชี้นำสังคมไม่ใช่วิธีการปฏิบัติของรักต่างเพศที่เป็นคนผิวขาวเท่านั้น แต่มันเป็นความย้อนแย้งซึ่งนำเอาความเป็นชายแบบต่างๆมารวมกันเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงให้กับระบบปิตาธิปไตย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความเป็นชายที่เป็นอุดมคติของสังคมกับความเป็นชายแบบชายขอบคือกระบวนการที่แลกเปลี่ยนกันไปมา

นักวิชาการท่าอื่นวิจารณ์ว่า ถึงแม้จะเข้าใจในความสำคัญของช่วงชั้นทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ในการสร้างความเป็นชายแบบ “ชายขอบ” คอนแนลล์ก็ยังมองข้ามความซับซ้อนในประเด็นที่ความเป็นหญิงและชายถูกสร้างขึ้นและมีอยู่ในเรื่องของการกดทับ  ความเป็นชายไม่ใช่แค่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง แต่เป็นเรื่องความเกี่ยวโยงที่ซับซ้อนของเชื้อชาติ ชนชั้น เพศวิถี ศาสนาและชาติพันธุ์ ถึงแม้ว่าความคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคมของคอนแนลล์จะช่วยให้เราเริ่มต้นทบทวนความวับซ้อนเหล่านี้ แต่ก็ยังยากที่จะนำไปอธิบายสิ่งที่ไม่คงที่ของอัตลักษณ์ที่หลากหลาย สิ่งนี้ทำให้นักวิชาการบางคนตั้งคำถามว่าแนวคิดของคอนแนลล์สอดคล้องกับความเข้าใจผู้ชายอื่นๆที่อยู่นอกบริบทแบบตะวันตกหรือไม่ ตัวอย่างเช่น อุซกาเนและมอร์เรลล์(2005) ออกมาเตือนในการนำเอาแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชายแบบตะวันตกไปใช้ศึกษาผู้หญิงและผู้ชายในสังคมแอฟริกัน ซึ่งมีเรื่องอายุเป็นดัชนีสำคัญในการตัดสินสิ่งต่างๆ
โอเซลล่าและโอเซลล่า(2006) ศึกษาผู้ชายในอินเดียก็ปฏิเสธความคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคม เพราะเป็นความคิดที่สนใจแต่เรื่องเอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียว  การศึกษานี้เปิดเผยให้เห็นรูปแบบความเป็นชายที่เป็นอดุมคติ 2 รูปแบบ แบบแรกคือความเป็นชายที่ใช้ควบคุมสังคม และแบบที่สองคือความเป็นชายที่ตอบสนองครอบครัว การเข้าสังคม และไม่ใช่พวกมังสวิรัติ  ทั้งสองอธิบายว่าแนวคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคมไม่สามารถนำไปใช้อธิบายความเป็นชายในอุดมคติของอินเดียได้ ทั้งคู่ยังปฏิเสธแนวคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคม และหันไปอธิบายเรื่องการมีอำนาจที่มาจากอุดมคติของความเป็นชายที่หลากหลาย แบนด์โยพัทธเย(2006) ศึกษาเรื่องห้องขังชายในอินเดีย อธิบายว่าแนวคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคมไม่ได้วางอยู่คู่กับความเป็นชายที่ถูกกดทับ แต่อยู่คู่กับความเป็นชายแบบอื่นๆที่พยายามแข่งขันซึ่งท้าทายความคิดที่ตายตัวเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคม  แบนด์ยัทธเยยอมรับว่าความเป็นชายที่ชี้นำสังคมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในความสัมพันธ์ที่มีต่อความเป็นชายที่ถูกกดทับและต่อผู้หญิง เธอชี้ให้เห็นว่าในคุกชาย ความเป็นชายที่ชี้นำสังคมจะถูกท้าทายอย่างเข้มข้น
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องย้ายวิธีคิดเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับความเป็นชายที่ชี้นำสังคมไปสู่การวิเคราะห์ว่าความเป็นชายหลายๆแบบถูกสร้างขึ้นอย่างไรและการแสดงความเป็นชายที่ต่างกันนั้นถูกนำเสนอและถูกจัดระเบียบอย่างไรในชีวิตของผู้ชาย นักวิชาการจำนวนมากเคยพิสูจน์มาแล้วว่าความเป็นชายไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ผู้ชายทุกคนมีเหมือนกัน แต่มันแตกต่างกันในการทำความเข้าใจ ในประสบการณ์ และการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  แนวคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคมมองเห็นโครงสร้างของความเป็นชายที่แยกระหว่างการเป็นชายขอบ การถูกกดทับและการมีอำนาจ โดยมองไม่เห็นชีวิตจริงของผู้ชาย  การมองว่าผู้ชายมีประสบการณ์ต่อเรื่องเพศภาวะอาจทำให้เห็นว่าผู้ชายที่อยู่ชายขอบจะมีความรู้สึกถึงอำนาจเมื่อสัมพันธ์กับผู้ชายคนอื่น  พริงเกิล(2005) นำความคิดนี้มาสรุปว่าถึงแม้แนวคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคมจะมีประโยชน์สำหรับทำความเข้าใจภาพใหญ่ๆ แต่มันก็อาจมีปัญหาสำหรับการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคล  มอลเลอร์(2007) ให้คำแนะนำว่าความคิดเรื่องความเป็นชายที่ชี้นำสังคมลดทอนความสามารถของเราในการทำความเข้าใจวิธีการแสดงออกของความเป็นชายซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตัวทางสังคมวัฒนธรรม ในการสร้างความหมาย ในการสร้างกลุ่มและสร้างอารมณ์ความรู้สึก  ถึงแม้ว่าคอนแนลล์จะยืนยันเสมอว่าธรรมชาติของระเบียบเพศภาวะและความเป็นชายที่ชี้นำสังคมมีการเปลี่ยนแปลง แต่การมองแบบนี้มองไม่เห็นความเป็นชายที่ชี้นำสังคมจะถูกล้มล้างอย่างไร

การศึกษาของคอนแนล์อีกเรื่องหนึ่งพยายามสนใจการสร้างอำนาจชี้นำของความเป็นหญิง  ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิงจะเป็นแนวเรื่องที่คงเดิมในการศึกษาของคอนแนลล์และคนอื่นๆ แต่ยังเห็นแนวโน้มที่จะมองความเป็นชายที่ชี้นำสังคมสัมพันธ์กับระบบปิตาธิปไตยและการมีอำนาจมากกว่าของผู้ชาย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือคอนแนลล์ไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิดเรื่องความเป็นชาย และการแยกคุณลักษณะของผู้ชาย/เพศชาย/ความเป็นชาย สิ่งนี้เป็นผลทำให้การศึกษาสนใจเฉพาะความเป็นชายของเพศชายอย่างเดียว ผลก็คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและความเป็นชายเป็นสิ่งที่คงอยู่ต่อไป ในการตอบโต้คำวิจารณ์นี้ คอนแนลล์และคนอื่นๆเข้าใจว่าการศึกษายังไม่มีการพูดถึงบทบาทของผู้หญิงในการสร้างความเป็นชายที่ชี้นำสังคมมากนัก และยังไม่สนใจบทบาทของสิ่งที่เรียกว่าความเป็นหญิงที่ชี้นำสังคม แต่กลับไปเน้นเรื่องความเป็นหญิง  คอนแนลล์และเมซเซอร์ชมิดต์เรียกร้องให้ทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นการปฏิบัติของผู้หญิงและการเกี่ยวข้องกันของความเป็นหญิงและชายในประวัติศาสตร์ และการดำรงอยู่ร่วมกันของความเข้าใจเกี่ยวกับช่วงชั้นของเพศภาวะ เพื่อที่จะมองเห็นตัวตนของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่พร้อมๆกับอำนาจของกลุ่มที่มีอำนาจ และสภาพของพลวัตแห่งเพศภาวะและสังคม
นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ละทิ้งทฤษฎีของคอนแนลล์แต่พยายามขยายแนวทางการวิเคราะห์เกี่ยวกับความเป็นชายที่ชี้นำสังคมออกไป  นักวิชาการที่ใช้แนวคิดของบูร์ดิเยอเรื่อง “ความเป็นนิสัย” มาเป็นแนวทางศึกษาบทบาทของการกระทำเชิงร่างกายในการสร้างเพศภาวะ     ไลท์(2003) โต้แย้งว่าการมองเพศภาวะเป็นรูปแบบของสิ่งที่ตกผลึกจะช่วยให้เห็นการปกครองเชิงร่างกายเพื่อที่จะสร้างรูปแบบความเป็นชายที่มาจากชนชั้นและวัฒนธรรม  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่เพียงแต่ร่างกายจะถูกจารึกด้วยวัฒนธรรมแล้ว แต่การใช้ร่างกายในการปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรมยังกำหนดรสนิยมและอุปนิสัยต่างๆที่สร้างพฤติกรรม การปฏิบัติทางสังคม และการเข้าถึงทรัพยากร
การมองดูวิธีการที่อัตลักษณ์ของผู้ชายเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา ทำให้นักวิชาการคนอื่นนำความคิดเรื่องการปฏิบัติการของการแสดงของบัตเลอร์มาใช้วิเคราะห์เรื่องความเป็นชาย อีแวนส์(2005) กล่าวว่าความเป็นชายคืออัตลักษณ์ทางสังคมที่ถูกแสดงออก มากกว่าจะเป็นสิ่งที่มีตัวตน ลำดับชั้นของการแสดงความเป็นชายกับการแสดงที่มีลักษณะพิเศษถูกนำมารวมกันในเรื่องความเป็นชายที่มีลักษณะพิเศษ  การที่บุคคลแสดงออกและการแสดงเหล่านั้นจะเป็นตัวบ่งบอกถึงตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลในช่วงชั้นของความเป็นชาย และตำแหน่งนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์  สำหรับผู้ชาย เช่นเดียวกับผู้หญิง ไม่เพียงแต่จะแสดงออกถึงเพศภาวะเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของสิ่งที่แสดงออกซ้ำแล้วซ้ำอีก มันคือการทำซ้ำและเป็นการแสดงในพื้นที่สังคม
ความคิดของบัตเลอร์ทำให้เรามองเห็นว่าความเป็นชายเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ และเป็นแนวคิดที่ถูกสร้างจากสังคมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาละเทศะ การมองแบบนี้จะทำลายคู่ตรงข้ามของเพศภาวะโดยการหันไปเน้นการศึกษาความเป็นชาย และเปลี่ยนความสนใจไปสู่เรื่องการรื้อสร้างความคิดเรื่องเพศภาวะในฐานะเป็นความหลากหลาย ความคิดดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เห็นความเป็นชายของเพศหญิงและความเป็นหญิงของเพศชายเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการตรวจสอบว่าผู้ชายต่อรองกับความเป็นชายในชีวิตประจำวันอย่างไร
ในขณะที่แนวคิดเรื่องการปฏิบัติการของการแสดงช่วยให้เข้าใจอัตลักษณ์แห่งเพศภาวะที่ลื่นไหล แต่การศึกษาเรื่องความเป็นชายที่ต่อสู่แข่งขันกันและมีความหลากหลายก็เสี่ยงต่อการมุ่งอธิบายว่าผู้ชายจะมีประสบการณ์ของความเป็นชาย การวิจัยทางชาติพันธุ์ชี้ให้เห็นว่า สำหรับผู้ชายหลายคน “ความเป็นชาย” เป็นแนวคิดที่แปลกหู และเมื่อนักวิชาการขอให้พูดถึงความเป็นชาย พวกเขาก็นึกไม่ออกว่าจะอธิบายสิ่งนี้อย่างไร ความคิดเกี่ยวกับ “วิธีการเป็นผู้ชาย” ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจได้มากกว่า ถึงแม้ทางวิชาการจะมีการสนใจเรื่องอัตลักษณ์ที่หลากหลายและลื่นไหล แต่ผู้ชายส่วนใหญ่ก็ยังอธิบายเพศภาวะของตัวเองในฐานะที่เป็นสิ่งคงที่และมีเอกภาพ  ในการศึกษาผู้ชายอพยพในออสเตรเลีย โดนัลสันและฮอว์สัน(2009)อธิบายว่าผู้ชายคิดว่าความเป็นชายของตนเป็นสิ่งที่ถาวรชัดเจน เชื่อถือได้ ไม่เปลี่ยนแปลง คงทนและนำติดตัวไปได้ มากกว่าจะคิดว่ามันคือตัวเขา ในขณะที่ประสบการณ์ของการอพยพอาจจะท้าทายสำนึกแห่งอัตลักษณ์ของผู้ชาย พวกเขาก็ยังมองเห็นและตอบสนองต่อแบบแผนความเป็นชายอย่างที่เขาคุ้นเคย สิ่งนี้บ่งบอกว่าเราจำเป็นต้องมองข้ามความเป็นท้องถิ่นเพื่อที่จะเข้าใจปฏิบัติการเชิงโครงสร้างที่คอยกำกับกฎระเบียบของเพศภาวะในระดับสากล

โลกาภิวัตน์ของความเป็นชาย
ความสนใจในเรื่องโลกาภิวัตน์คืออีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้การศึกษาความเป็นชายของคอนแนลล์ยังคงดำเนินต่อไป  คอนแนลล์ยืนยันว่า “ระเบียบของเพศภาวะของโลก” ยังมีอยู่ซึ่งเกี่ยวข้องกับระเบียบแห่งเพศภาวะของสังคมท้องถิ่นที่วางอยู่บนมาตรวัดของโลก  คอนแนลล์อธิบายว่ามีสิ่ง 2 สิ่งที่เชื่อมโยงกันซึ่งทำให้เกิดระเบียบแห่งเพศภาวะสากล อย่างแรกคือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างระเบียบของเพศภาวะซึ่งมาสัมพันธ์กัน (ระเบียบที่มาพร้อมกับลัทธิจักรววรดินิยม, ลัทธิอาณานิคมใหม่, โลกาภิวัตน์และการอพยพของแรงงาน) และประการที่สอง การสร้างพื้นที่ข้ามชาติแบบใหม่ (เช่น ความร่วมมือกันระหว่างชาติต่างๆ ตัวแทนของรัฐและสื่อระดับสากล)  ระเบียบแห่งเพศภาวะที่เป็นสากล ซึ่งถูกอธิบายด้วยการจัดระเบียบสังคมโดยปิตาธิปไตย ถูกกำกับโดยการสร้างความเป็นชายของจักรวรรดิและการปกครองของตะวันตก และสร้างมาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่และลัทธิหลังอาณานิคม  คอนแนลล์มองว่าประวัติศาสตร์โลกและกระบวนการโลกาภิวัติในปัจจุบันคือสิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นชาย เพราะสองสิ่งนี้เชื่อมโยงกัน มีปฏิสัมพันธ์กันและมีความไม่เท่าเทียม มีความปั่นป่วนของความสัมพันธ์ของเพศภาวะ พร้อมกับการเข้าถึงโลกและผลกระทบที่ไม่เท่ากัน สิ่งนี้คือบริบทที่เราต้องคิดเกี่ยวกับการสร้างและการออกกฎของความเป็นชาย
ความคิดเกี่ยวกับระเบียบเพศภาวะของโลกบ่งบอกให้ทราบว่าความเป็นชายที่ชี้นำสังคมเป็นความคิดที่มีหลายระดับซึ่งปรากฎอยู่ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาคและระดับสากล และความเป็นชายในแต่ละระดับก็เชื่อมถึงกันและมีอิทธิพลต่อกัน  คอนนแนลล์และมาสเซอร์ชมิดต์(2005) ชี้ว่าความเป็นชายที่ชี้นำสังคมในระดับภูมิภาคทำให้เกิดรูปแบบความเป็นชายที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งมีอิทธิพลต่อการสร้างความสัมพันธ์ทางเพศภาวะและความเป็นชายที่ชี้นำสังคมที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ทั้งคู่ยังชี้ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การอพยพย้ายถิ่นและนโยบายการพัฒนา มีส่วนกำกับแบบแผนของความเป็นชายและหญิงในท้องถิ่น ซึ่งชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นชายระดับภูมิภาคกับระดับท้องถิ่น กล่าวคือ ความหลากหลายของท้องถิ่นคือคู่ต่อสู้กับความเป็นหนึ่งเดียวของความเป็นชายที่ชี้นำสังคมที่ปรากฎอยู่ในภูมิภาคหรือในสังคมระดับใหญ่  ความเหมือนกันของครอบครัวที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่างๆจะถูกแสดงออกโดยสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่มีอยู่ในระดับภูมิภาค แต่จะไม่ถูกแสดงโดยตัวแบบที่หลากหลาย
ความเป็นชายระดับสากลถูกหล่อหลอมอยู่ในระเบียบเพศภาวะของโลกซึ่งให้สิทธิแก่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง  ในขณะที่มีข้อยกเว้นในระดับท้องถิ่น  ผลพวงจากระบบปิตาธิปไตยทำให้ผู้ชายสามารถเข้าถึงอำนาจได้เช่นเดียวกับการมีสิทธิทางเพศและทางวัฒนธรรม  กระบวนการโลกาภิวัตน์ได้สร้างสภาพที่เอื้อให้กับการสร้างความเป็นชายที่ชี้นำสังคมในระดับโลก รูปแบบของความเป็นชายที่ชี้นำซึ่งก่อตัว ปฏิบัติการ และจัดระเบียบการมีอำนาจของผู้ชายจะมีในระเบียบแห่งเพศภาวะระดับโลก คิมเมลอธิบายในทำนองเดียวกันว่ากระบวนการโลกาภิวัตน์คือการเปลี่ยนความเป็นชายและทำให้ชีวิตของผู้ชายเปลี่ยนโฉมหน้าไป  คิมเมลยืนยันว่าแบบแผนของความเป็นชายจะก่อตัวขึ้นในสถาบันแห่งเพศภาวะ โดยกล่าวว่าสิ่งนี้เป็นตัวแบบของความเป็นชายที่ชี้นำสังคมในระดับโลก ซึ่งสวนทางกับความเป็นชายระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาคและระดับชาติซึ่งมีการแสดงออกและอ้างถึงมากขึ้น  กระบวนการโลกาภิวัตน์และการมาถึงของความเป็นชายที่ชี้นำสังคมระดับโลกมีผลกระทบของการต่อต้านจากเพศภาวะระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เพราะกลัวจะตกเป็นเหยื่อของอำนาจที่มาจากระดับโลก
ความคิดของคิมเมลที่ว่าเพศภาวะกำลังเรื่องสำคัญสำหรับการต้านทานกระบวนการโลกาภิวัตน์ คล้ายๆกับความคิดของเดอร์นี(2002,2005) ซึ่งศึกษาผู้ชายอินเดียทางภาคเหนือและผู้ชายในฟิจิ ชี้ให้เห็นว่าเพศภาวะได้รับผลกระทบทั้งจากอิทธิพลข้ามชาติและการจัดการของท้องถิ่น  เดอร์นีพบว่าผู้ชายอินเดียสนใจการนำเสนอความเป็นชายจากสื่อต่างชาติ ซึ่งในเวลาเดียวกันผู้ชายอินเดียก็เอาตัวออกห่างจากการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของผู้หญิงในสื่อต่างชาติ  ความคิดนี้สนับสนุนความคิดของคอนแนลล์ที่ว่าอำนาจของโลกาภิวัตน์ที่ท้าทายอัตลักษณ์และอำนาจของผู้ชาย ทำให้ผู้ชายยืนยันช่วงชั้นและอำนาจของเพศภาวะในท้องถิ่น  ตรงข้ามกับฮูเปอร์(2000) ซึ่งไม่ได้มองว่าโลกาภิวัตน์จะมาทำให้ระเบียบแพศภาวะแบบปิตาธิปไตยเปลี่ยนแปลง ฮูเปอร์ชี้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่และการแบ่งแรงงานแบบใหม่อาจจะทำลายบทบาทหัวหน้าครอบครัวของผู้ชายและทำให้ความเป็นชายที่ชี้นำสังคมอ่อนตัวลง

นักวิชาการหลายคนเคยวิจารณ์ต่อการยืนยันเกี่ยวกับระเบียบโลกที่เป็นเพศภาวะ สิ่งที่มีการพูดถึงคือความหมายต่างๆที่มาพร้อมกับแนวคิดเรื่องโลกาภิวัตน์ เช่นอะไรที่กำหนดพรมแดนของโลก โลกอยู่ตรงไหน ถ้าเราเชื่อว่ามีโลก และความเป็นชายที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นคืออะไร  นักวิชาการคนอื่นวิจารณ์เรื่องนี้โดยมองไปที่ระดับชุมชนและแย้งว่าการศึกษาเรื่องโลกาภิวัตน์ของคอนนแนลล์วางอยู่บนความเข้าใจอย่างจำกัดเกี่ยวกับท้องถิ่น  ตัวอย่างเช่น ลูอี(2003)วิจารณ์คอนแนลล์ที่มองหาการศึกษาระดับโลกต่อการอธิบายความเป็นชาย ซึ่งในการสร้างแนวคิดเรื่องความเป็นชายระดับโลก ทำให้คอนแนลล์มองไม่เห็นความสำคัญของตัวแปรในท้องถิ่นและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดในท้องถิ่น  ลูอีอธิบายว่าสิ่งที่ตามมาจากการอธิบายของคอนนแนล์เรื่องระเบียบเพศภาวะระดับโลก ก็คือ ทำให้เกิดพื้นที่วิจัยที่น่าตื่นเต้น ซึ่งมีการเปรียบเทียบความเป็นชายในวัฒนธรรมต่างๆในเอเชีย สิ่งนี้นำไปสู่การจัดหมวดหมู่โดยปัจจัยของโลกาภิวัตน์  เรายังต้องเปลี่ยนพื้นที่ของนักวิจัยใหม่ ในขณะที่เรายินดีกับวิสัยทัศน์แบบนานาชาติ เราก็ยังเชื่อว่าพื้นฐานของความเข้าใจความเป็นชายในท้องถิ่นยังเป็นสิ่งจำเป็น
ลูอีไม่ได้มองข้ามความสำคัญของกระบวนการโลกาภิวัตน์ต่อการศึกษาผู้ชายและความเป็นชาย และมองว่ากระบวนการสร้างความผสมผสานจะมีอยู่ในส่วนผสมของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันซึ่งจะสร้างความเป็นชายในระดับโลก  แต่ลูอีโต้แย้งว่า การศึกษาของคอนแนลล์ในเรื่องความเป็นชายระดับโลกคือความคิดจากตะวันตก สำหรับลูอีมองว่าการทำความเข้าใจโลกจะต้องวางอยู่บนความรู้ของท้องถิ่น   ฮิบบิ้นคิดเช่นเดียวกับลูอี โดยมองว่ามีความลำเอียงทางชาติพันธุ์ที่ปรากฎอยู่ในความพยายามที่จะจัดหมวดหมู่ของความเป็นชายที่ชี้นำสังคมระดับโลก เขากล่าวว่าสิ่งนี้จะทำให้เรามองข้ามความหลากหลายและความแตกต่าง มันจะทำลายสิ่งที่จะเป็นรูปแบบที่แตกต่างของความเป็นชายที่พบในวัฒนธรรมต่างๆ และจะทำลายอำนาจของความเป็นชายที่ถูกเบียดขับและถูกกดทับออกไป
ลูอีและฮิบบิ้นชี้ว่ามีความจำเป็นสำหรับการวิเคราะห์การแสดงความเป็นชายของท้องถิ่นในบริบทที่ไม่ใช่ตะวันตก อย่างไรก็ตาม พวกเขาเตือนว่าการวิเคราะห์ดังกล่าวไม่ควรนำเอาความคิดเรื่องความเป็นชายแบบตะวันตกมาใช้แบบผิวเผินหรือเปรียบเทียบความแตกต่างของความเป็นชายอย่างหยาบๆ  การศึกษาของลูอีเกี่ยวกับความเป็นชายของชาวจีนทำให้เห็นว่ารูปแบบเพศชายที่ฉลาดจะครอบงำผู้ชายที่มีผิวคล้ำและบึกบึน  กระบวนทัศน์แบบตะวันตกเกี่ยวกับความเป็นชายจึงไม่เหมาะกับการศึกษาชาวจีน เพราะจะทำให้เห็นว่าผู้ชายจีนไม่ใช่ชายแท้ เนื่องจากผู้ชายจีนไม่ปฏิบัติตัวตามแบบความเป็นชายอย่างตะวันตก
การเชื่อมโยงความเป็นชายกับตัวแบบของตะวันตก ทำให้นักวิชาการบางคนชี้แนะว่าแนวคิดตะวันตกที่ไม่ค่อยสำคัญในสังคมอื่น  เฮย์วู้ด(2007) เตือนว่าในขณะที่แนวคิดเรื่องความเป็นชายน่าเชื่อถือในตะวันตก มันอาจจะไม่น่าเชื่อถือสำหรับการศึกษาในสังคมอื่น  บริบททางวัฒนธรรมที่ต่างกัน ทำให้เราต้องระมัดระวังที่จะไม่นำเอาความคิดแบบจักรวรรดินิยมมาใช้ซึ่งการจัดหมวดหมู่จะถูกนำไปใช้กับสังคมอื่น  ทางเลือกอื่นในการสร้างกระบวนทัศน์และการตั้งคำถามจะต้องมาจากบริบททางวัฒนธรรมนั้นๆ  การวิจัยแนวนี้จะท้าทายความคิดเกี่ยวกับผู้ชาย ความเป็นชาย และเพศวิถีแบบเหมารวม สิ่งนี้ไม่ได้บอกว่าการวิจัยแนวนี้จะเปิดเผยพื้นที่ที่ยังไม่เคยแปดเปื้อน เป็นไปไม่ได้ที่จะรับรู้โลกของความไม่ใช่ตะวันตกแบบสวยงามบริสุทธิ์ หรือปราศจากปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมทางประวัติศาสตร์  แต่การศึกษาต้องชี้ให้เห็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นในณะเดียวกันก็มองเห็นปฏิสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกับระดับโลก การศึกษานี้จะมีการวิเคราะห์วิธีการที่ความเป็นชายถูกจัดระเบียบโดยการเกี่ยวโยงถึงลัทธิจักรวรรดินิยม ลัทธิอาณานิคม การสร้างชาติและโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อน การวิจัยข้ามวัฒนธรรมจะช่วยอธิบายเรื่องกระบวนการเหล่านี้โดยแสดงให้เห็นว่าการจัดประเภทของเพศภาวะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: