3/01/2556

Writing Queer Cultures: An Impossible Possibility?



Writing Queer Cultures: 
An Impossible Possibility?

                งานวิจัยที่สำคัญของแคธ เวสตัน เรื่องเกี่ยวกับเกย์ เลสเบี้ยน และครอบครัวเริ่มต้นด้วยการอธิบายที่อุทิศให้แก่จูลี คอร์เดล (..1960-1983)  การอุทิศครั้งนี้มีความน่าพิศวง เนื่องจากมีการกล่าวถึงความสัมพันธ์และประสบการณ์ซึ่งเวสตันเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญแต่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง  คำอุทิศให้จูลี คอร์เดลจึงมีเรื่องราวต่างๆที่อยู่เบื้องหลัง  ผมไม่เคยรู้จักเรื่องราวของจูลี คอร์เดล แต่โชคดีที่ได้ยินเรื่องนี้มาจากเวสตันเมื่อครั้งที่เธอไปเสนอบทความในการประชุม OutWrite Conference ในปี ค..1991  เรื่องของจูลี คอร์เดลเป็นเรื่องราวชีวิตและโศกนาฏกรรมของผู้หญิงสาวซึ่งต้องการสร้างครอบครัวของตัวเองเพื่อทดแทนกับครอบครัวเดิมที่ปฏิเสธเธอ เพราะว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน  แต่วิถีชีวิตที่เสี่ยงของเกย์และเลสเบี้ยนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 เป็นชีวิตที่ถูกทอดทิ้ง  จูลีจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย   เวสตันอธิบายว่าความทรงจำเกี่ยวกับจูลีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่องานวิจัยของเธอทั้งในแง่ศีลธรรม การเมือง และความคิด   เนื่องจากจูลีสร้างครอบครัวที่ฉีกประเพณีซึ่งล้มเหลว เวสตันอธิบายด้วยความซื่อสัตย์ว่าเรื่องราวของจูลีทำให้เธอวิจารณ์งานศึกษาของตัวเอง ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เธอต้องเล่าเรื่องราวครอบครัวของเกย์และเลสเบี้ยนเพื่อที่จะทำให้เกย์เลสเบี้ยนในอนาคตเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น
            ในขณะที่ผมฟังเรื่องราวของเวสตัน ผมก็เริ่มมีคำถามว่าจะมีนักมานุษยวิทยาที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนสักกี่คนที่สามารถเขียนถึงชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนจากการทำวิจัยของตัวเองได้  เป็นเวลาหลายปีที่ผมได้คุยกับนักมานุษยวิทยาที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน ผมก็เริ่มคิดว่ามีนักมานุษยวิทยามากแค่ไหนที่มีประสบการณ์การทำวิจัยที่สัมพันธ์กับอัตลักษณ์ทางเพศของเขา และเขาก็ไม่สามารถนำประสบการณ์นี้มาเขียนอย่างเปิดเผยได้   ถ้ายอมรับว่าการศึกษาทางมานุษยวิทยาตามจารีตเดิมไม่ยอมให้มีการเล่าเรื่องของตัวเอง(นักมานุษยวิทยา) ในงานวิจัย การที่นักมานุษยวิทยาเกย์ไม่นำเรื่องตัวเองมาเขียนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก  แต่สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ที่วงการศึกษาเกย์พยายามที่จะเข้าใจ โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับวาทกรรมของเกย์
            ประเด็นของผม ไม่ต้องการที่จะทำให้งานวิจัยทางมานุษยวิทยาเป็นเรื่องของการสารภาพ หรือการเล่าเรื่องตัวเอง ถึงแม้ว่าบางคนอาจต้องการทดลองเขียนเรื่องตัวเองในงานวิจัยก็ตาม  ข้อเสนอของผมก็คือ การที่เกิดความเข้าใจตัวเองระหว่างที่มีการทำวิจัยทางมานุษยวิทยา เป็นการเปิดเผยกระบวนการทางวัฒนธรรมโดยใช้คำนามเพื่อแสดงให้เห็นถึงการต่อรองและหล่อหลอมให้เกิดอารมณ์แบบโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งจะปรากฎอยู่ในอัตลักษณ์ทางสังคมและรูปแบบทางวัฒนธรรม   ถ้างานวิจัยเกี่ยวกับเกย์มีความก้าวหน้า นักมานุษยวิทยาก็จะใช้งานวิจัยนี้เป็นข้อมูล   ในเวลาเดียวกันในวงวิชาการก็ยังมีการปิดกั้นนักวิชาการที่เป็นเกย์ งานวิจัยเกี่ยวกับเกย์จึงเป็นไปไม่ได้
            คำว่า cultural studies เป็นการศึกษาที่กว้างขวางและเป็นสหวิทยาการที่ศึกษาวัฒนธรรมโดยมิได้แบ่งแยกว่าอะไรวัฒนธรรมชั้นสูงหรือชั้นต่ำ   เจริญหรือล่าหลัง  ประณีตหรือฉาบฉวย  การศึกษาแนววัฒนธรรมจะมีความสนใจเรื่องพรมแดนความรู้     พรมแดนหรือขอบเขตเป็นเรื่องของพื้นที่ในมิติทางภูมิศาสตร์ สังคม และจิตวิทยาซึ่งมีความซับซ้อน การศึกษาแนวนี้เห็นได้จากงานของแอนซัลดัว (1987) เกี่ยวกับชีวิตของเลสเบี้ยนลูกผสมที่ถูกอธิบายด้วยแนวคิดเฟมินิสต์   เรื่องพรมแดนความจริงในยุคหุ่นยนต์ในงานเขียนของฮาราเวย์(1991) และการศึกษาของการ์เบอร์ (1992) เกี่ยวกับพรมแดนทางเพศของคนแต่งตัวสลับเพศ  ในคำอธิบายของแอนซัลดัว กล่าวว่าเขตแดนคือเส้นบางๆที่ใช้แบ่งแยก  พรมแดนหมายถึงสถานที่ที่ถูกกำหนดขึ้นจากความรู้สึกซึ่งอาจจะไม่มีจริงในธรรมชาติ พรมแดนจึงเป็นสภาวะที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้และมีกฎข้อห้ามในตัวเอง
            โรซัลโด(1989) เคยสำรวจประเด็นเกี่ยวกับพรมแดนเพื่อใช้ศึกษาทางมานุษยวิทยา  โรซัลโดอธิบายว่าวัฒนธรรมในความคิดทางมานุษยวิทยาเป็นเรื่องของระบบที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดการศึกษาสังคมที่ห่างไกลขนาดเล็กที่มีองค์ประกอบที่หลากหลายของความเชื่อ ความหมายและพฤติกรรม  การไกล่เกลี่ยความหลากหลายนี้จะเกิดขึ้นในมิติของสถาบันและขนบธรรมเนียมต่างๆซึ่งจะช่วยให้สมาชิกในสังคมรู้ว่าตนเองเป็นใคร  วัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องของความหมายที่รับรู้ร่วมกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์วัฒนธรรมแบบแยกส่วน  แต่วัฒนธรรมของมนุษย์ไม่เคยมีความลงตัวหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   โรซัลโดอธิบายว่าในชีวิตประจำวันของเราล้วนเต็มไปด้วยพรมแดนที่ซับซ้อนและขัดแย้งตลอดเวลา ดังนั้นพรมแดนทั้งหลายจึงมิใช่พื้นที่ว่างเปล่าแต่เต็มไปด้วยการกระทำและสร้างสรรค์ที่ต้องสำรวจตรวจสอบ
            จนถึงบัดนี้ ผมเริ่มคิดว่านักมานุษยวิทยาเกย์ไม่ค่อยรู้จักพรมแดนหรือเขตแดน เช่นเดียวกับไม่รู้ว่ามีช่องทางเชื่อมโยง ตัดผ่าน และรุกล้ำในพรมแดนทั้งหลาย  นอกจากนั้นผมคิดว่าการมองดูตัวเองในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผจญภัยข้ามพรมแดนและขจัดความคลุมเคลือ จะช่วยให้นักมานุษยวิทยาเกย์มองเห็นโอกาสและอุปสรรคที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ในขณะที่กำลังศึกษาความหลากหลายทางเพศ   สิ่งที่ต้องตระหนักคือยังมีพรมแดนความแตกต่างระหว่างตัวเรากับคนอื่น ระหว่างนักมานุษยวิทยากับสิ่งที่นักมานุษยวิทยาศึกษา  เมื่อนักมานุษยวิทยาเกย์เอาตัวเองไปผูกติดกับสิ่งที่ศึกษามากเกินไป จะนำไปสู่ความคลุมเคลือและทำให้มองไม่เห็นว่าอะไรคือ ความเป็นอื่นและ ความเป็นตัวเรา   ผลที่ตามมาก็คืออาจทำให้การศึกษาทางมานุษยวิทยาสูญเสียความเป็นศาสตร์ หรืออาจไปถึงเป้าหมายของการสร้างสัมพันธ์ระหว่างมานุษยวิทยากับสิ่งที่ศึกษาในแนวคิดหลังพ้นสมัยอาณานิคม
            พรมแดนอีกอย่างหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาเกย์ต้องข้ามผ่านไป คือพรมแดนระหว่างการสนทนาและมีส่วนร่วม  ในที่นี้ผมมิได้หมายถึงวิธีการเก็บข้อมูล แต่หมายถึงการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับสัมพันธ์ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง   ถึงแม้ว่าการไม่เข้าไปแทรกแซงเป็นเรื่องสำคัญของมานุษยวิทยา แต่ในทางปฏิบัติ นักมานุษยวิทยาหลายคนมักจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างๆตลอดเวลา  แม้แต่การตั้งคำถามก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับตัวเองของบุคคล ดังนั้นทุกๆที่ที่นักมานุษยวิทยาเดินทางไปล้วนทิ้งร่องรอยของตัวตนเอาไว้ไม่ว่าจะเป็น ตัวตนของสัญชาติ เผ่าพันธุ์ หรือเพศสภาพ
            หากมองในระดับที่เป็นทางการจะพบว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมของนักมานุษยวิทยาจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เมื่อนักมานุษยวิทยาต้องการเปลี่ยนหรือสร้างสิ่งต่างๆ   ความหมายของวัฒนธรรมในการศึกษา cultural studies หมายถึงระบบของสัญลักษณ์เพื่อจัดระเบียบแบบแผนของความคิด พฤ๖กรรม และเหตุการณ์ต่างๆ  ถ้าภาษาเป็นตัวสร้างองค์ความรู้ตามที่ฟูโก้เคยกล่าวไว้ ดังนั้นการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกย์ก็เป็นการสร้างความรู้เกี่ยวกับเกย์  วัฒนธรรมเกย์จึงเป็นเรื่องของการแข่งขันต่อสู้ทางการเมืองและทางสติปัญญา การทำวิจัยเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกย์จึงหลีกหนีไม่พ้นการถกเถียงเรื่องการเมืองและความรู้
            ประเด็นดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับพรมแดนการศึกษาเกย์ในมิติมานุษยวิทยา กล่าวคือ พรมแดนระหว่างแนวคิดทางสังคมและแนวคิดความเป็นแก่นแท้เป็นเรื่องที่นักมานุษยวิทยาต้องเผชิญ  ผมกล่าวถึงสิ่งนี้เพื่อที่จะย้ำความเชื่อของตัวเองที่ว่าความตึงเครียดของแนวคิดที่ต่างกันสองด้านนี้มีอยู่ในงานวิจัยและงานเขียนเกี่ยวกับเกย์  แฮร์รี เฮย์ ซึ่งเป็นคนสำคัญในกระบวนการเคลื่อนไหวของสมาคมแมตตาชินในช่วงทศวรรษที่ 1950 เคยกล่าวว่า        โฮโมเซ็กช่วลกำลังหาประวัติศาสตร์ซึ่งในการศึกษาเรื่องราวของเกย์ การสร้างประวัติศาสตร์นี้มีสมมุติฐานอยู่บนเวลาปัจจุบัน และเชื่อว่ารูปแบบความรักของคนเพศเดียวกันก็มีอยู่ในช่วงเวลาในอดีตด้วย  แต่ประวัติศาสตร์ของคนรักเพศเดียวกันจะถูกลบไปจากบันทึกของสังคม   ความเชื่อดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในงานวิจัยของนักมานุษยวิทยาเกย์ ซึ่งมีวิธีคิดที่หยิบยืมมาจากทฤษฎี essentialism  และ constructionism
            พรมแดนอีกอย่างหนึ่งคือพรมแดนระหว่างวิชาการและสาธารณะ  ถึงแม้ว่านักมานุษยวิทยาเกย์หลายคนพยายามต่อสู้เพื่อให้วงวิชาการยอมรับการศึกษาเกย์ แต่สาธารณะก็อยากอ่านเรื่องราวของเกย์ที่เขียนโดยนักมานุษยวิทยา  สำนักพิมพ์ทางวิชาการค่อนข้างอ่อนไหวกับการขายหนังสือที่ไม่ค่อยมีคนอ่าน แต่ปัจจุบันนักวิชาการเกย์สามารถนำงานวิจัยเกี่ยวกับเกย์มาพิพม์เผยแพร่ได้ง่าย   ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลทางการเงิน  นักมานุษยวิทยาเกย์หลายคนต่างทำลายพรมแดนระหว่างการเป็นนักวิชาการและการเป็นคนที่สาธารณชนรู้จัก
            ผมเชื่อว่าการรวมตัวของกลุ่มเกย์มาจากการที่พวกเขาถูกมองว่าเป็นคนแปลกประหลาดจากสังคม  ชาวเกย์จึงเปรียบเสมือนผู้เฝ้ามองดูวัฒนธรรมของคนที่เป็นรักต่างเพศ ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่อื่นๆ  ชาวเกย์จะมีชีวิตอยู่ได้จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้ในทุกพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนทางสังคมหรือวาทกรรม  อาจกล่าวได้ว่า   เรื่องราวของโพสต์มอเดิร์นซึ่งมีอัตลักษณ์ที่หลากหลายอาจเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาเกย์ต้องนำมาเป็นแนวทางเพื่อเขียนวัฒนธรรมของชาวเกย์
            คุณค่าของการทำความเข้าใจตัวเองตามกรอบนี้ เป็นคุณค่าที่ให้ความสนใจกับประสบการณ์ของคนชายขอบ ซึ่งนักมานุษยวิทยาเกย์ต้องการจะแยกประสบการณ์นี้ออกมาจากรายงานวิจัยแบบทางการ  สิ่งนี้ยังรวมถึงคนอื่นๆที่อัตลักษณ์และอารมณ์ทางเพศส่วนตัวถูกเบียดบังด้วยอาชีพการงาน  ปฏิสัมพันธ์ลักษณะนี้คือการหล่อหลอมและไกล่เกลี่ยนความหมายของตัวตนทางเพศ ซึ่งเกิดขึ้นกับนักมานุษยวิทยาและสิ่งที่นักมานุษยวิทยาศึกษา  หากมองจากการศึกษาแนว cultural studies จะพบว่าสิ่งนี้คือประสบการณ์ที่ควรถูกบันทึก แต่น่าเสียดาย ที่นักมานุษยวิทยาไม่สามารถทำเช่นนี้ได้เนื่องจากอุปสรรคบางประการ    ประมาณ 2 ทศวรรษหลังจากเหตุการณ์ที่สโตนวอลล์ การเขียนวัฒนธรรมของเกย์ยังคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
            ท่ามกลางอุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวาทกรรมของเควียร์ อุปสรรคสำคัญที่สุดคือการกีดกันทางสังคมมิให้มีการพูดถึงโฮโมเซ็กช่วล  พวกเรายังคงไร้เสียงและไม่สามารถพูดถึงโฮโมเซ็กช่วลได้อย่างอิสระ  นักมานุษยวิทยาเกย์ค้นพบคุณค่าของวาทกรรมเมื่อมีการเขียนเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล  ใครก็ตามที่พูดว่า ผมก็เป็นเกย์ก็จะถูกแยกประเภทและถูกละเลยโดยทันที   เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นเหมือนการประชดประชัน เพราะการบอกตัวตนที่แท้จริงก็เหมือนกับการบอกอารมณ์ความรู้สึก    แต่ในธรรมเนียมตะวันตกยอมรับแค่อารมณ์แบบรักต่างเพศเท่านั้น  หากมีการพูดถึงอารมณ์แบบโฮโมเซ็กช่วลสังคมก็ยังคงหวาดกลัว
            นักมานุษยวิทยาเกย์ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันทางอาชีพและสังคมเพื่อที่จะเยียวยารักษาตัวตนที่ซับซ้อนระหว่างการเป็นทั้งคนนอกและคนใน   เพื่อที่จะเน้นให้เห็นความกำกวมของการข้ามผ่านพรมแดน เพื่อที่จะหลีกหนีตัวตนทางเพศของผู้ที่ติดต่อสัมพันธ์ด้วย และเพื่อนำเรื่องราวของตนเองมาเขียน   การเป็นเกย์และการเขียนเรื่องเกี่ยวกับเกย์คือการสร้างบันทึกที่แหกกฏ ซึ่งจะทำให้นักมานุษยวิทยาเกย์กลายเป็นคนชายขอบต่อไปเรื่อยๆ  พอล ราบินาวกล่าวว่า เรื่องเขียนเกี่ยวกับตัวเองจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตนเองมีสิทธิซึ่งดูน่าสมเพช  แต่การเขียนเรื่องตัวเองเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งนิตเช่เคยเตือนให้เราระมัดระวังมาแล้ว
            บางที ผมอาจทำให้เรื่องเสี่ยงนี้มีความกระจ่างขึ้น ถ้าผมยกตัวอย่างนักมานุษยวิทยาบางคนที่เขียนเรื่องวัฒนธรรมเกย์ และเขาก็เปิดเผยความรู้สึกของตัวเองในงานเขียนนั้น     หรือเอาความเป็นเกย์ของตัวเองมาสร้างเป็นความรู้  คนที่ผมนึกถึงได้แก่โทเบียส ชนีบูม และจูดี้ แกรน  ทั้งสองท่านนี้เข้าใจความรู้สึกของตัวเองและนำเรื่องของตัวเองมาเขียน     ในบทนำในเรื่อง Another Mother Tongue แกรนเคยอธิบายว่าเธอเป็นคนที่อ่านมา คิดมาก ค้นหาประวัติศาสตร์ และบ่นกับตัวเอง  สิ่งนี้มิใช่การสารภาพที่จะพบเห็นในบทนำของนักมานุษยวิทยา  ส่วนชนีบูมจะมีการเขียนเรื่องราวการมีเพศสัมพันธ์ของชนีบูมกับคนพื้นเมือง  บุคคลทั้งสองนี้จุดระเบิดให้เกิดการโต้เถียงว่างานเขียนของพวกเขาเป็นงานมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์หรือไม่  แต่ผมเชื่อว่าการเขียนในทำนองนี้ ไม่ว่ามันจะเป็นการวิจัยหรือไม่ แต่มันก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบและอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่งานวิจัยทางมานุษยวิทยา แต่เป็นเพียงเรื่องเล่าจากการเดินทาง เป็นความทรงจำส่วนตัว หรือเรื่องรักๆใคร่ๆ  การพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับเกย์อาจต้องการความอดทนในการทำงานซึ่งมีวิธีการของตัวเองและมีความเสี่ยงในการที่จะนำเสนออารมณ์แบบโฮโมเซ็กช่วลในวาทกรรม
            นอกจากนั้นนักมานุษยวิทยาเกย์ยังมีอุปสรรคส่วนตัวและเชิงจริยธรรมติดตัวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากนักมานุษยวิทยาเกย์ไม่สามารถเขียนถึงผู้ที่เขาเกี่ยวข้องด้วยโดยไม่เปิดเผยตัวเอง  หากนักมานุษยวิทยาเกย์ทำงานกับคนที่เป็นรักต่างเพศในชุมชน คนเหล่านั้นอาจไม่พูดเรื่องราวของโฮโมเซ็กช่วลในวัฒนธรรมของเขา  ซึ่งอาจทำให้โฮโมเซ็กช่วลถูกลบทิ้งไป       ในเวลาเดียวกัน การนำเรื่องราวของขบวนการเรียกร้องเสรีภาพของชาวเกย์มาผนวกกับข้อวิจารณ์ของโพสต์มอเดิร์นซึ่งโจมตีอำนาจของการเขียน ช่วยให้เห็นว่านักมานุษยวิทยาเกย์จะต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล และความเป็นเกย์ของตนเองด้วย   หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวที่นักมานุษยวิทยาเกย์มีต่อคนอื่นๆที่มีเพศสภาพเหมือนกับตน 
            ความล้มเหลวต่อการตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศมีผลกระทบต่อผู้อื่นมากพอๆกับการเปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์ เช่นเดียวกับงานวิจัยของนักมานุษยวิทยาชายหญิงที่ต้องถูกตรวจสอบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสามีภรรยาที่เป็นนักมานุษยวิทยา   คำถามคือชาวบ้านที่ถูกศึกษาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อนักมานุษยวิทยาที่แสดงบทบาททางเพศแบบชาวตะวันตก  คนพื้นเมืองจะจัดการกับพฤติกรรมและคำพูดของตนเองอย่างไรเพื่อให้นักมานุษยวิทยาตะวันตกเข้าใจ
            คำตอบต่อคำถามนี้  เราต้องหาอุปสรรคต่างๆที่มีอยู่นอกและในวาทกรรมเกี่ยวกับเควียร์  ปัจจุบันนี้ แบบแผนที่ดีที่สุดของนักมานุษยวิทยาเกย์ก็คือการอยู่ในสองวัฒนธรรม เหมือนกับชนพื้นเมืองในอเมริกาที่เข้ามาอยู่ในเมือง  นักมานุษยวิทยาเกย์อาจทำงานวิจัยเพื่อรักษาสถานะทางวิชาการ และในเวลาเดียวกันเขาก็ต้องมีอิสระที่จะศึกษาค้นคว้าประสบการณ์ชีวิตของเกย์   สื่อและสิ่งพิมพ์ของนักมานุษยวิทยาเกย์คือตัวอย่างของการสร้างพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว   เรื่องราวที่น่าหลงใหลแต่อยู่ชายขอบในประวัติศาสตร์มานุษยวิทยาในอเมริกาก็คือ มีนักมานุษยวิทยาส่วนหนึ่งทำงานเป็นนักเขียนและกวี  สิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดต่อปัญหาส่วนตัวซึ่งจะถูกนำไปเขียนเป็นนิยาย มากกว่าจะเป็นงานวิจัย  ในวงวิชาการอาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่อาจมีหนทางอื่นๆที่นักมานุษยวิทยาเกย์จะบันทึกและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชีวิตและวัฒนธรรมของเกย์
            ส่วนปัญหาภายในของวาทกรรมเควียร์ จะเกี่ยวข้องกับการแสวงหาความจริงเชิงมานุษยวิทยาแบบจารีตนิยมซึ่งใช้ไม่ได้เมื่อนำมาศึกษาเรื่องเกย์  นักมานุษยวิทยาเกย์ไม่สามารถนำเรื่องราวของคนที่มีรสนิยมเหมือนกันที่พบในพื้นที่มาเขียนในเชิงวิชาการ หรือเชิงจินตนาการได้หมด   ในงานวิจัยที่ผมทำ ผมได้พบทางเลือกใหม่ในการทำงานร่วมกับชาวบ้าน โดยการสังเกตจากวิธีปฏิบัติและตัวตนทางอาชีพของชาวบ้าน  ตัวอย่างเช่น การเป็นนักสังคมสงเคราะห์ นักสื่อสารมวลชน หรือนักบำบัด  ชาวบ้านที่มีอาชีพต่างๆกันนี้จะสร้างความสัมพันธ์ และรักษาสมดุลของภาระหน้าที่ระหว่างชาวบ้านกับการเป็นนักมานุษยวิทยาและสถาบันที่นักมานุษยวิทยาทำงานอยู่
            การเรียนรู้เรื่องราวจากการเป็นนักมานุษยวิทยา อาจช่วยให้มองเห็นวิธีการที่ชาวพื้นเมืองต่อต้านนักมานุษยวิทยา  ตัวอย่างเช่น ชาวซูนีเรียนรู้ว่าการเป็นคนพื้นเมืองคือการเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรม แต่ชาวตะวันตกมองว่าพวกเขาไม่มีประวัติศาสตร์   ดังนั้นหากคิดว่าพวกเขาคือนักประวัติศาสตร์ ก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง  การอนุรักษ์วัฒนธรรมและการวิจัยทางมานุษยวิทยาอาจจะได้ข้อสรุปที่เหมือนๆกัน แต่ยังคงมีความแตกต่างในวิธีการคิดและทัศนคติระหว่างการอนุรักษ์ และงานวิจัยทางมานุษยวิทยา  เนื่องจากการอนุรักษ์เป็นเรื่องที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั่วโลกต่างเผชิญอยู่ ส่วนการวิจัยทางมานุษยวิทยาเป็นวิธีการแสวงหาความจริงของชาวตะวันตกที่ไปศึกษาคนอื่น
            ข้อถกเถียงของมานุษยวิทยาแนวโพสต์มอเดิร์น ก็คือการตอกย้ำความคิดที่มาจากการเขียนถึงประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยา  ยังมีวิธีการหลายอย่างที่จะอธิบายปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อน โดยไม่ต้องพึ่งวิธีการเขียนแบบนวนิยาย โดยเฉพาะเมื่อมีสื่อแขนงต่างๆเกิดขึ้นมากมาย  ด้วยเหตุนี้ นักมานุษยวิทยาอาจได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น  ผมกำลังคิดถึงภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์  งานศิลปะและวรรรณกรรมของชาวบ้าน  สื่อที่ใช้สอน ประวัติศาสตร์บอกเล่า การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และโครงการอื่นๆที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน
            ผมคิดว่ารูปแบบการทำงานของนักมานุษยวิทยาที่มีประโยชน์ที่สุดน่าจะเป็นการที่นักมานุษยวิทยาทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรม และนักมานุษยวิทยาเกย์ทำหน้าที่เป็นผู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม   ครั้งหนึ่งที่ผมเดินทางไปศึกษาชาวซูนี ผมนำรูปภาพที่ถ่ายจากงาน Folsom Street Fair ไปให้ชาวซูนีดู  งานนี้เป็นงานของชาวเกย์ในซานฟรานซิสโก  เมื่อผมได้คุยกับชาวซูนีโดยใช้ภาพถ่ายเป็นตัวช่วย ผมก็เริ่มเรียนรู้คำศัพท์ทางเพศของพวกเขา  อีกตัวอย่างหนึ่งมาจากการทำงานของเพื่อนผม คือวิลล์ โดเฮอร์ตี้  ซึ่งเขาเข้าไปศึกษาคนเพศที่สามในอินเดียหรือ hijra   การศึกษาของวิลล์เป็นการศึกษาทางมานุษยวิทยาแต่ตัวเขาจะไม่แสดงตัวว่าเป็นนักมานุษยวิทยา  แต่เขาได้นำภาพถ่ายของชาวเกย์ในอเมริกาที่เดินขบวนเรียกร้องสิทธิไปให้ฮิจาราดู  วิลล์อธิบายให้ฮิจาราเข้าใจว่าภาพถ่ายเหล่านี้คืออะไรเพื่อที่จะให้ฮิจาราพูดถึงเรื่องของเขาบ้าง 
            บทบาทการเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมและการติดต่อแลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมอื่นจะทำให้เกิดการร่วมมือ โดยส่วนตัวผมเห็นว่าการศึกษาด้วยวิธีการนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นเมื่อการสนทนาทำให้รู้สึกอึดอัดที่จะตอบคำถามหรือการเปิดเผยตัวเอง  บรูโน ลาทัวร์(1987) เคยกล่าวว่ามานุษยวิทยาแบบจารีตเป็นการสร้างความรู้ตามแบบสังคมอุตสาหกรรม    วัตถุดิบของนักมานุษยวิทยาคือการสังเกตวัฒนธรรมอื่นที่อยู่ห่างไกล โดยนักมานุษยวิทยาจะเข้าไปเก็บข้อมูลและนำออกมาสู่โลกตะวันตกเพื่อที่จะเขียนเป็นงานวิจัย  บางทีนักมานุษยวิทยาในอนาคตอาจวิเคราะห์การทำงานของนักมานุษยวิทยายุคปัจจุบันว่าเป็นการให้บริการทางเศรษฐกิจในยุคหลังอุตสาหกรรม
            หากเป็นเช่นนั้น การศึกษาทางมานุษยวิทยาต้องเปลี่ยนจากการเก็บข้อมูล ไปสู่การส่งต่อข้อมูล  นักมานุษยวิทยาในอนาคตอาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งต้องก้าวข้ามพรมแดนต่างๆเพื่อที่จะนำเรื่องราวทางวัฒนธรรมมาเผยแพร่ต่อสาธารณะทั้งที่มาจากดินแดนห่างไกลและโลกตะวันตก  เมื่อนักมานุษยวิทยาเข้าใจการทำงานของตัวเองว่าเป็นงานที่จะต้องสร้างและข้ามผ่านพรมแดนต่างๆ นักมานุษยวิทยาในอนาคตก็อาจทำงานเหมือนนักมานุษยวิทยาเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล หรือ คนข้ามเพศในปัจจุบัน   นักมานุษยวิทยาอาจรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการคือการสนับสนุน การอำนวยความสะดวก และอิสระต่อการแสดงออก เพื่อที่จะสามารถทำวิจัยเกี่ยวกับเควียร์ที่เป็นไปได้จริง

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก Will Roscoe. “Writing Queer Culture” in Ellen Lewin and William L. Leap. (eds). Out in the Field. University of Illinois Press, Chicago. 1996. Pp.200-208.

ไม่มีความคิดเห็น: