3/01/2556

ไม่ยอมหรือไม่ปฏิเสธ



ไม่ยอม” หรือ “ไม่ปฏิเสธ”

                ปฏิบัติการแสดง หรือ performativity ในฐานะเป็นทฤษฎีมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับนักปรัชญาชาวอเมริกัน ชื่อจูดิธ บัตเลอร์ ซึ่งเขียนหนังสือที่โด่งดังหลายเรื่องและทำให้เธอพัฒนาแนวคิดที่เรียกว่า “ปฏิบัติการแสดง” เพื่อใช้ศึกษาภาษาและวัฒนธรรม    จุดสำคัญของแนวคิดดังกล่าวนี้มาจากความคิดของ เจ แอล ออสตินซึ่งเคยอธิบายเรื่องการแสดงเอาไว้     ความคิดของ  ออสตินอธิบายว่าภาษาเปรียบเสมือนการกระทำ   ภาษาสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้และทำให้เกิดสังคมชนิดใหม่  การแสดงตามแบบของออสตินเริ่มต้นจากการประกาศว่า “ฉันขอสัญญา”  อย่างไรก็ตาม ในบทสรุปของออสติน ไม่ได้อธิบายความแตกต่างระหว่างการแสดงกับการพูด  ออสตินประกาศว่าการพูดคือการแสดงที่แท้จริง

                การไม่แยกความแตกต่างระหว่างการพูดและการแสดงคือแนวคิดของออสตินซึ่งบัตเลอร์นำมาใช้ในการศึกษาของเธอ  บัตเลอร์สนใจเรื่องเพศสภาพ และยืนยันว่าการพูดที่แสดงว่า “เป็นผู้หญิง” มาจากคำพูดของแพทย์ที่บอกกับมารดาที่เพิ่งคลอดบุตรซึ่งมิใช่การอธิบาย  เหมือนกับพระที่พูดว่า “ฉันขอประกาศให้คุณเป็นสามีและภรรยา”  คำพูดที่อบกว่า “เป็นผู้หญิง” กำลังแสดงการกระทำออกมา  แต่มีบางอย่างในการวิเคราะห์ของบัตเลอร์   เธออธิบายว่าการตั้งชื่อเป็นการกระทำที่บังคับให้เด็กกลายเป็นผู้หญิง การตั้งชื่อเป็นการกระทำที่ถูกออกแบบไว้แล้วเพื่อให้สอดคล้องกับบรรทัดฐาน  เมื่อมีการตั้งชื่อจะทำให้เด็กมีเพศสภาพที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติทางวัฒนธรรม ซึ่งบุคคลจะถูกกำหนดไว้ว่าต้องแสดงอย่างไร ตั้งแต่การนั่งบนเก้าอี้ การแสดงอารมณ์ และตัดสินใจว่าจะรับประทานอาหารมื้อเย็นหรือไม่

                เรื่องที่เกี่ยวกับแนวคิดนี้อาจทำให้ผมมีข้อโต้แย้ง ก็คือ หลังจากบุคคลแสดงตามบทที่กำหนดแล้ว จะมีอะไรต่อไป  หนังสือของบัตเลอร์ในปี ค..1990 เรื่อง Gender Trouble อธิบายให้เห็นว่าปฏิบัติการแสดงกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในทุกเรื่อง   แนวคิดนี้แพร่กระจายไปสู่สาขาวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา หรือแม้แต่การศึกษาของอเลซซานโดร ดูแรนติ       ปัจจุบันนี้นักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์คิดว่าแนวคิดเรื่องการแสดงอาจกลายเป็นเรื่องแปลก   เพราะ ในขณะที่ “ปฏิบัติการแสดง” หรือ performativity  เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในหลายสาขาต่างๆ แต่ยังมีแนวคิดที่คล้ายกันซึ่งมีมานานแล้วพูดถึงการแสดงในทำนองเดียวกัน หรือย่างน้อยก็มีความคล้ายกัน แนวคิดนั้นคือ  performance หรือ การแสดง

                แต่ “การแสดง” ไม่เหมือนกับ “ปฏิบัติการแสดง”  ความแตกต่างก็คือ การแสดงหมายถึงการที่บุคคลทำบางสิ่งบางอย่าง  แต่ปฏิบัติการแสดงของบัตเลอร์เป็นกระบวนการที่มีบุคคลเกิดขึ้น  ความแตกต่างอย่างสำคัญนี้สูญหายไปจากข้อวิจารณ์การศึกษาหลายชิ้นของบัตเลอร์   ข้อโต้แย้งในระยะแรกๆต่อแนวคิดของบัตเลอร์ มองว่า “ปฏิบัติการแสดง”  เป็นสิ่งเดียวกับ “การแสดง” เพราะเชื่อว่าบุคคลสามารถเลือกหรือปฏิเสธเพศสภาพของตัวเองได้ คล้ายกับการเลือกใส่เสื้อผ้า ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด  “การแสดง” เป็นเพียงมิติเดียวของ “ปฏิบัติการแสดง”  แต่ทฤษฎีปฏิบัติการแสดงเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ถูกถ่ายทอดหรือแสดงออกมาในบริบทสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงถึงสิ่งที่ไม่ได้ถูกแสดง   การวิเคราะห์การกระทำหรืออัตลักษณ์ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกมาด้วย  นอกจากนั้น การนำแนวคิดปฏิบัติการแสดงไปศึกษาภาษา จะทำให้เกิดการตั้งคำถามวัฏจักรของภาษาในสังคม มิได้เพียงบอกว่าใครคือผู้มีอำนาจในการบังคับใช้ภาษา ภาษาถูกใช้อย่างไร ภาษามีอำนาจหรือไม่ ภาษาทำให้เกิดผลกระทบหรือไม่  และภาษาทำให้เกิดคนที่มีอำนาจหรือไม่

                การปฏิบัติการแสดงมิใช่แนวคิดทางภาษาศาสตร์  ออสตินก็มิใช่นักภาษาศาสตร์ แต่เขาเป็นนักปรัชญาเช่นเดียวกับบัตเลอร์ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้วงการภาษาศาสตร์ไม่ค่อยพูดถึงปฏิบัติการแสดง    มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับการแสดง แต่ไม่ค่อยมีการศึกษาเรื่อง “ปฏิบัติการแสดง”  ความแตกต่างระหว่างสองแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ผมพยายามจะนำเสนอในบทความนี้  ผมพยายามชี้ให้เห็นความแตกต่างโดยการตรวจสอบจากคำพูดเชิงปฏิเสธ หรือ คำว่า “ไม่”  สิ่งที่ผมสนใจคือการพูดว่า “ไม่” ในสถานการณ์สังคมบางอย่างจะทำให้เกิดสถานการณ์เกี่ยวกับเพศ  ผมสนใจว่าการพูดว่า “ไม่” อาจทำให้บางสิ่งบางอย่างกลายเป็นเรื่องเพศ  การพูดว่า “ไม่” ถูกจัดระเบียบโดยคำพูดซึ่งไม่จำเป็นต้องแสดงออกหรือถ่ายทอดออกมา  ผมต้องการถกเถียงและชี้ให้เห็นการพูดว่า “ไม่” ในสามสถานการณ์ที่ต่างกัน ได้แก่ 1) การข่มขืนและการล่วงเกินทางเพศ  2) การต่อต้านคนที่เป็นเกย์ และ 3) การมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนทารุณ (sadomasochistic sex)



                การข่มขืนและการล่วงเกินทางเพศ

                บริบทที่สำคัญที่สุดสำหรับการวิเคราะห์คำว่า “ไม่” ในสถานการณ์ทางเพศคือการวิจัยที่ตรวจสอบภาษาที่ใช้ในการข่มขืนและการล่วงเกินทางเพศ   งานวิจัยที่สนใจเรื่องการพูดปฏิเสธของผู้หญิง อธิบายว่าการปฏิเสธถูกกำหนดมาจากความคาดหวังและความต้องการของ “ความเป็นหญิง”   คำอธิบายที่มีพลังที่สุดคือการยืนยันว่าการปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ของผู้หญิงจะไม่ได้รับความสนใจจากวัฒนธรรมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่  ในวัฒนธรรมที่กำหนดให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ การพูดว่า “ไม่” ต่อการมีเพศสัมพันธ์ของผู้หญิงถูกขวางและถูกบิดเบือนให้เป็นเรื่องของ “การลองของ” หรือแม้แต่ทำให้เป็นเรื่อง “สมยอม”  ผู้ชายสามารถอ้างว่าไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้หญิงปฏิเสธ และผู้หญิงที่ถูกข่มขืนก็จะถูกประณามเพราะเธอไม่สามารถยืนยันการปฏิเสธได้อย่างแจ่มชัด  กรณีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อการข่มขืนไม่มีหลักฐานทางวัตถุ เช่น รอยฟกช้ำ หรือกระดูกหัก ซึ่งเป็นการยืนยันว่าผู้หญิงปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์จากผู้ชาย

                คำอธิบายตามทฤษฎี “ปฏิบัติการแสดง” กล่าวว่าการวิเคราะห์เชิงภาษาในเหตุการณ์ข่มขืนและการล่วงเกินทางเพศ “ผู้หญิง” จะถูกสร้างขึ้นจากคำพูดว่า “ไม่” เมื่อพบกับผู้ชายที่ต้องการข่มขืนเธอ  สิ่งนี้แตกต่างจาก “ผู้ชาย” ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าผู้หญิง “ไม่ปฏิเสธ”  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การที่ผู้ชายปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงโดยพูดว่า “ไม่” จะหมายถึงผู้ชายคนนั้นเป็นโฮโมเซ็กช่วล  เพื่อที่จะปกปิดการเป็นโฮโมเซ็กช่วล จำเป็นที่จะต้องมีพฤติกรรมอื่นมาแทนที่ เช่น มีรูปร่างหน้าตาที่น่าเกลียด ไม่เป็นที่หมายปองของผู้หญิง  รูปธรรมเหล่านี้เป็นไวยกรณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งการพูดว่า “ไม่” จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เพศหญิงมีตัวตนทางเพศ  และการพูดว่า “ได้” ทำให้ผู้ชายมีตัวตนทางเพศ

                คำว่า “ไม่” ในการแสดงการปฏิเสธและปกปิดจะทำให้เกิดการสร้างตัวตนและเพศวิถีแบบรักต่างเพศ   คำพูดที่เกิดขึ้นในการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จะทำให้ผู้ชายเป็น “ผู้ชาย” โดยการที่ผู้ชายจะตอบสนองต่อผู้หญิงและทำให้การปฏิเสธของผู้หญิงเป็นการยอมรับ ส่วนผู้หญิงก็จะทำให้ตัวเองเป็นเพศหญิงโดยการสนับสนุนหรือขยายสถานการณ์ทางเพศให้นานออกไป 

                การศึกษาภาษาด้วยแนวคิดปฏิบัติการแสดง อาจตั้งคำถามว่า ระบบความหมายมีขอบเขตสิ้นสุดหรือไม่  การพูดว่า “ไม่” พบข้อจำกัดก็ต่อเมื่อผู้หญิงมิได้พูดว่า “ไม่” แต่พูดว่า “ได้”  ในขณะที่นักวิเคราะห์การพูดทำให้เราเห็นว่าการพูดว่า “ได้” เป็นการตอบสนองแบบที่พึงประสงค์  เช่น ผู้หญิงตอบสนองให้มีเพศสัมพันธ์ แต่การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นที่พึงประสงค์ในทางวัฒนธรรม    ตัวตนทางเพศที่เกิดขึ้นในขณะที่พูดว่า “ได้”จะเป็นตัวบ่งชี้ในเชิงภาษาศาสตร์  หากมองจากแนวคิดของจาค็อบสันจะพบว่า ตัวตนมิได้มีแต่ผู้หญิง แต่ยังมีชื่ออีกหลายชื่อ และชื่อส่วนใหญ่ก็จะเป็นคำที่ไม่ดี       เมื่อผู้หญิงพูดว่า “ได้” เพื่อมีเพศสัมพันธ์  การพูดว่า “ได้” จะทำให้ตัวตนของผู้หญิงอยู่นอกบรรทัดฐานของรักต่างเพศ   ผมคิดว่าผู้หญิงที่พูดว่า “ได้” เพื่อจะมีเซ็กซ์ ก็ถูกประทับตราอยู่ในข้อเขียนทางวิชาการด้วย เพียงแต่เป็นการประทับตราที่มองไม่เห็น  เรามีการวิจัยที่ดีเกี่ยวกับการที่ผู้หญิงปฏิเสธมีเซ็กซ์ แต่การวิจัยเหล่านั้นไม่ค่อยมีข้อมูลที่ระบุว่าผู้หญิงยอมมีเซ็กซ์กับผู้ชาย 

                บทความหนึ่งเคยระบุว่าผู้หญิงหลายคนยอมมีเซ็กซ์กับผู้ชายโดยการพูดว่า “ไม่” (การวิจัยนี้ใช้แบบสอบถามความคิดเห็นซึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1980 มีการสอบถามผู้หญิง 610 คน ผู้หญิงกลุ่มนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ถึงแม้ว่าพวกเธอจะพูดว่า “ไม่” แต่พวกเธอก็ต้องการมีเพศสัมพันธ์  ในจำนวนนี้มีผู้หญิง 68.5 % บอกว่าเคยพูดว่า “ไม่” แต่พวกเธอหมายถึง “อาจจะ”   ประมาณ 39.3% เคยพูดว่า “ไม่” แต่หมายถึง “ได้” เมื่อถามว่าทำไมพวกเธอจึงพูด “ไม่” ทั้งๆที่มีความต้องการเซ็กซ์  ผู้หญิงเหล่านั้นตอบว่าเพราะไม่อยากให้ผู้ชายคิดว่าเธอส่ำส่อน หรือไม่อยากถูกมองว่าหมกมุ่น  หรือเพราะว่าพวกเธอต้องการควบคุมผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายทำให้เธอโกรธ หรือต้องการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของผู้ชายให้มีมากขึ้น หรือเพิ่มความก้าวร้าวทางร่างกายมากขึ้น)

                การศึกษาเกี่ยวกับ sexuality ทำให้เกิดการสร้างคำพูดว่า “ไม่” และทำลายข้อจำกัดเมื่อผู้ชายพูดว่า “ไม่” กับผู้หญิง  ผมได้กล่าวมาแล้วว่าการพูดว่า “ไม่” ของผู้ชายจะทำให้คิดไปว่าผู้ชายคนนั้นเป็น “เกย์”  แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ  คำว่า “ไม่” เป็นการขยายขอบเขตหรือยืดเวลา   ภาพยนตร์เรื่อง The Opposite of Sex ในปี ค..1998  มีตัวละครหลักเป็นผู้หญิงที่ต้องการล่อลวงเพื่อนชายของพี่ชายของเธอให้มามีเซ็กซ์กับเธอ    ผู้ชายคนนั้นพูดว่า “ไม่”  และสารภาพว่าเขาเป็นเกย์    ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอการพูดปฏิเสธเรื่องเพศโดยให้ผู้ชายเป็นฝ่ายพูดว่า “ไม่”

                ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดเมื่อระบบการบ่งชี้บทบาททางเพศพบข้อจำกัดของตัวเอง คือเมื่อผู้ชายถูกเชิญชวนให้มีเซ็กซ์โดยผู้ชายด้วยกัน  ตัวตนทางเพศในที่นี้มิใช่การที่ผู้ชายทำตามคำเชิญชวนนั้น  กล่าวคือผู้ชายจะเป็นผู้ที่เชิญชวนผู้อื่นให้มีเซ็กซ์   และตัวแบบทางวัฒนธรรมระบุว่าผู้ชายที่ต้องการมีเซ็กซ์กับชายอื่นคือคนที่มีกามราคะมากที่สุด (ผู้ชายในโลกของรักต่างเพศไม่นิยมการมีเซ็กซ์กับผู้ชาย ตราบใดที่โฮโมเซ็กช่วลไม่ลองมาเชิญชวนเขาก่อนการเริงระบำทางเพศในลักษณะนี้  ตัวตนที่ถูกกำหนดก็คือผู้ชายที่พูดว่า “ไม่”      ผู้ที่พูดว่า “ไม่”  กำลังทำให้ตัวตนทางเพศเป็นไปตามบรรทัดฐานของรักต่างเพศเพื่อตอบสนองผู้หญิง   การพูดว่า “ไม่” ผู้พูดจะสร้างตัวตนของความเป็นหญิงขึ้นมา  กล่าวคือผู้พูดมิได้ปฏิเสธการมีเซ็กซ์มากเท่ากับการอยากมีเซ็กซ์ แต่การพูดว่าไม่เป็นการสร้างคำเชิญชวน  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ   คำว่า “ไม่” เป็นกับดักและเป็นอุปสรรคให้กับผู้พูดที่เป็นชาย เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงเคยประสบมา  ความจริงก็คือ คำว่า “ไม่”เป็นกับดักที่ล่อให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงติดกับ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมการวิเคราะห์เรื่องนี้จึงไม่สามารถเข้าใจการแสดงการกระทำเชิงปฏิเสธ  สิ่งสำคัญเพื่อที่จะตรวจสอบคือการย้ำให้เห็นภาษาของการแสดงที่ทำให้เกิดตำแหน่งแห่งหนของตัวตน  ตำแหน่งแห่งหนที่อาจจะรองรับการแสดงของอัตลักษณ์ทางเพศที่เข้าคู่กัน

                การต่อต้านคนที่เป็นเกย์

                คำว่า “ไม่” อาจจะไม่ได้หมายถึง “ไม่”  และพลังของการปฏิบัติการแสดงของคำว่า “ไม่” ก็จะทำให้สถานการณ์เซ็กซ์ดำเนินต่อไป และจะปรากฏขึ้นอย่างแจ่มชัดในกระบวนการที่เป็นที่รู้จักกันดีในนาม การต่อต้านคนที่เป็นเกย์  กระบวนการนี้เป็นชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมายเกิดขึ้นมาเนื่องจากสาเหตุที่ผู้ชายถูกฆ่าโดยน้ำมือของผู้ชายซึ่งอ้างว่าถูกล่อลวงทางเพศจากผู้ชายคนที่ถูกฆ่า   ผลที่ตามมาก็คือกระบวนการต่อต้านคนที่เป็นเกย์ออกมาโต้แย้งว่าการล่อลวงทางเพศนั้นคือการกระทำที่ก้าวร้าว และผู้ที่ต่อสู้ป้องกันตัวก็จะต้องออกมาตอบโต้ด้วยความรุนแรง

                กระบวนการต่อต้านคนที่เป็นเกย์วางอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่า “ความหวาดกลัวโฮโมเซ็กช่วล”  นี่คือสภาพทางจิตซึ่งเกิดขึ้นมาครั้งแรกในปี ค..1920   ความเป็นมาของความหวาดกลัวโฮโมเซ็กช่วล มิใช่ความกลัวของผู้ชายที่จะถูกชายอื่นล่อลวงทางเพศ  แต่ความกลัวนี้มาจากสภาพแวดล้อมที่เริ่มมีชายรักชายเพิ่มมากขึ้น และสังคมเริ่มควบคุมไม่ได้   รากเหง้าของความไร้ระเบียบนี้มาจากการรักษากลุ่มทหารเรือและทหารบกในโรงพยาบาลในรัฐบาลสหรัฐช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  แต่ทหารเหล่านี้ไม่มีอันตราย ตรงกันข้าม พวกเขาเป็นฝ่ายถูกกระทำ  ความไร้ระเบียบเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมอ่อนแอ คนฆ่าตัวตาย การประณามตัวเอง และเก็บตัวเงียบๆ    ดังนั้น ความหวาดกลัวโฮโมเซ็กช่วลจึงเป็นอาการป่วยที่รักษาไม่หายซึ่งเกิดขึ้นกับคนที่มีจิตใจอ่อนแอ       ผู้ป่วยที่มีอาการของโฮโมเซ็กช่วลจะอยู่ในสภาพไร้จิตสำนึก แต่ไม่มีอันตราย   สิ่งที่เรียกว่า “ความตื่นกลัวโฮโมเซ็กช่วล” คือการรักษาผู้ชายที่ต้องการจะเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์และยอมรับสภาพจิตใจของตัวเอง  ในความเป็นจริง นักจิตวิทยารุ่นแรกๆหลายคนเข้าใจว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาอาการโฮโมเซ็กช่วลคือทำให้ผู้นั้นยอมรับความรู้สึกและการกระทำของตัวเอง

                สิ่งที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือความเข้าใจเรื่องราวของโฮโมเซ็กช่วลได้เปลี่ยนแปลงไป ความเข้าใจนี้ยังรวมถึงการที่ผู้ชายสร้างความรุนแรงให้กับโฮโมเซ็กช่วลด้วย   กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีการอธิบายให้เห็นถึงสถานการณ์ต่างๆที่ผู้ชายยอมให้ชายอื่นเชิญชวน หรือล่อลวงทางเพศ แต่ผู้ชายเหล่านั้นกลับทำร้ายและฆ่าผู้ชายที่เขาเชิญชวน  ในบันทึกทางจิตเวชศาสตร์ ไม่มีการคำนวณว่า “ความตื่นกลัวโฮโมเซ็กช่วล” จะเป็นสาเหตุให้เกิดการใช้ความรุนแรงแบบนี้หรือไม่  แต่ความโกรธเกลียดอาจถูกมองว่ามาจากความตื่นกลัวโฮโมเซ็กช่วล   ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นโฮโมเซ็กช่วลจะออกมาอธิบายความรุนแรงและท้าทายหรือล้มล้างภาพตัวตนของรักต่างเพศ

                กระบวนการต่อต้านคนที่เป็นเกย์ก่อร่างสร้างตัวขึ้นอย่างหลวมๆบนความเข้าใจเกี่ยวกับความตื่นกลัวโฮโมเซ็กช่วลในระยะหลัง  อาจโต้แย้งได้ว่าเหตุผลทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์คือเหตุผลที่ใช้ตัดสินความตื่นกลัวและพฤติกรรมของคนที่ออกมาต่อต้านและฆ่าเกย์     การศึกษาของอีฟ เซดจ์วิค(1990) อธิบายว่าการทำร้ายเกย์มาจากความเชื่อที่ว่าความรังเกียจเกย์เป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นเรื่องที่ผิดปกติ    เซดจ์วิคกล่าวว่าการทำร้ายเกย์จะเทียบได้กับกรณีที่ชาวเยอรมันซึ่งเหยียดสีผิวเผ่าพันธุ์ถูกนำตัวมารักษาในฐานะเป็นโรคที่หลาดกลัวและฆ่าชาวเติร์กถึงตายได้หรือไม่  หรือเทียบกับความตื่นกลัวบทบาททางเพศของผู้หญิงซึ่งใช้ปืนยิงผู้ชายที่ต้องการข่มขืนเธอได้หรือไม่  ความจริงคือกระบวนการต่อต้านเกย์เกิดขึ้นทุกที่ มิได้มีอยู่ในบุคคลที่หวาดกลัวเกย์เท่านั้น  กล่าวคือความเกลียดโฮโมเซ็กช่วลเป็นเรื่องสาธารณะและเป็นเรื่องธรรมดามากกว่าการเกลียดคนกลุ่มอื่นๆ

                การต่อต้านเกย์เกิดขึ้นในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย และแคนาดา ซึ่งการต่อต้านมีสองลักษณะ   ลักษณะแรกคือการต่อต้านแบบบ้าคลั่ง หมายถึงการต่อต้านที่อ้างว่าเกย์คือคนที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี หรือชอบทำอะไรตามใจตัวเอง  นักกฎหมายโต้แย้งว่ากระบวนการต่อต้านเกย์มิใช่การต่อต้านแบบบ้าคลั่ง เนื่องจากบุคคลสามารถแสดงความตื่นกลัวต่อโฮโมเซ็กช่วลได้ และพวกเขาก็ออกมาต่อต้านเพราะเชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นสิ่งที่ “ผิด”   ลักษณะที่สอง คือการต่อต้านที่แฝงมากับการปลุกระดมและยุยงส่งเสริม  การต่อต้านแบบนี้มีการโฆษณาชวนเชื่อว่าการโจมตีทางเพศและการล่อลวงทางเพศเป็นสิ่งเดียวกัน  ในความเป็นจริง กระบวนการต่อต้านเกย์ออกมาโต้แย้งว่าการล่อลวงทางเพศจากผู้ชายที่เป็นโฮโมเซ็กช่วลคือการโจมตีและทำร้ายทางเพศ  ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนล่อลวงจะถูกตัดสินโดยการถูกทำร้ายโทษฐานที่เขาพยายามจะล่วงเกินทางเพศต่อชายอื่น

                ในทางปฏิบัติ  กระบวนการต่อต้านเกย์ก่อตัวขึ้นโดยปราศจากการอ้างอิงความรู้ทางจิตวิทยา ตัวอย่างเช่น ตัวบ่งชี้ของความหวาดกลัวเกย์ในทางจิตวิทยา จะสัมพันธ์กับบุคคลที่มีแนวโน้มเป็นเกย์ซึ่งถูกกล่าวหาจากสังคม แต่กระบวนการต่อต้านเกย์ไม่สนใจประเด็นนี้  กรณีที่โด่งดังเมื่อไม่นานมานี้คือผู้ชายที่ชื่อโจนาธาน ชมิตซ์  อายุ 26 ปี เขาถูกนำตัวมาออกรายการโทรทัศน์ที่ชื่อ เจนนี โจนส์โชว์ เป็นรายการที่นำบุคคลมาพูดคุยและทำให้เพื่อน ครอบครัวและคนรักประหลาดใจ โดยการเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่คาดคิด และเรื่องลับๆเกี่ยวกับตัวเองที่สังคมรับไม่ได้    ชมิตซ์ได้รับการบอกกล่าวจากผู้ผลิตรายการนี้ว่ามีคนๆหนึ่งที่เขารู้จักแอบหลงรักเขาแบบลับๆ และเขาจะมาเปิดเผยตัวทางโทรทัศน์  ผลปรากฎว่าคนที่แอบรักชมิตซ์คือเกย์อายุ 32 ปีชื่อว่าสก็อตต์ อามีเดอร์    อามีเดอร์เคยเห็นชมิตซ์ในรายการโทรทัศน์และแอบชอบเขา  สามวันหลังจากนั้น ชมิตซ์ได้นำปืนพกติดตัวไปและขับรถไปที่บ้านของอามีเดอร์  จากนั้นก็ยิงเขา 2 นัดที่หัวใจ

                ในการสืบสวนคดีนี้ ชมิตซ์ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร ในกรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าการต่อต้านเกย์ถูกนำมาใช้  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทนายความของชมิตซ์มิได้อ้างว่าชมิตซ์มีจิตใจแบบเกย์ หรือสับสนในตัวตนทางเพศ   แต่ทนายอ้างว่าการออกมาสารภาพของอามีเดอร์ทางโทรทัศน์ว่าเขารักชมิตซ์นั้นทำให้เกิด “การโจมตี”   ทนายของชมิตซ์โต้แย้งว่าการหลงรักชมิตซ์ของอามีเดอร์เป็นการแสดงความก้าวร้าวซึ่งจะได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรง  คณะลูกขุนเห็นด้วยกับคำอธิบายในส่วนนี้ และความผิดที่ชมิตซ์ทำลงไปก็มิใช่การฆาตกรรมที่เตรียมการไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการฆาตกรรมเพราะความโกรธแค้น

                เมื่อหันกลับมาทบทวนเรื่องราวของการต่อต้านเกย์ที่เกี่ยวโยงกับสิ่งที่ผมอธิบายมาแล้ว เกี่ยวกับการพูดว่า “ไม่” ในกรณีของการข่มขืนและล่วงเกินทางเพศต่อสตรี  สิ่งแรกที่น่าคิดคือ ทั้งการข่มขืนและการต่อต้านเกย์อาจดูแตกต่างกัน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำไมผมจึงไม่เห็นการนำกรณีทั้งสองมาวิเคราะห์รวมกัน  ในกรณีของการข่มขืน  เหยือที่ถูกข่มขืนคือผู้หญิงซึ่งไม่ต้องการมีเซ็กซ์กับผู้ชาย  ในกรณีของการต่อต้านเกย์ เหยื่อคือผู้ชายที่ล่อลวงหรือเชิญชวนให้ชายอื่นมามีเซ็กซ์ด้วย

                ผมคิดว่าสิ่งที่เชื่อมสองกรณีเข้าด้วยกัน ก็คือคำว่า “ไม่”  ทั้งสองกรณี การเชิญชวนทางเพศเปรียบเสมือนเป็นการตั้งคำถาม ซึ่งทำให้เกิดการสร้างตัวตนทางเพศขึ้นมา    เช่นตัวอย่างของหลุยส์ อัลธูแซร์ (1971)  ที่พูดถึงเรื่องตำรวจที่พูดว่า “นี่คุณ” เป็นการพูดที่สร้างตัวตนให้กับคนที่ถูกเรียกและหันมามอง ตัวตนแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีการเรียก เมื่อคนที่ถูกเรียกตอบสนอง คนๆนั้นก็จะมีตัวตนใหม่ เช่นเดียวกับการเชิญชวนทางเพศจะทำให้คนที่ถูกเชิญชวนมีตัวตนทางเพศ   ทั้งในกรณีการข่มขืนและการต่อต้านเกย์ ถ้าหากมองจากแนวทฤษฎี “ปฏิบัติการแสดง” จะพบว่าคำว่า “ไม่” มิใช่การปฏิเสธตัวตน แต่เป็นการตระหนักว่ามีตัวตน กล่าวคือการตอบสนองต่อเสียงเรียกเป็นการยืนยันตัวตนของผู้ที่ถูกเรียก   คำว่า “ไม่” จะมีอยู่ในการอธิบายว่า “ฉันไม่รับรู้ว่าฉันเป็นอย่างที่คนอื่นเรียก”  แต่การไม่รับรู้นี้เกิดขึ้นพร้อมกับรูปแบบของการรับรู้   ในแง่ของโครงสร้างจะเห็นว่า  การ “ไม่” ยอมทำตามคำเชิญชวนทางเพศนั้น เป็นทั้งการปฏิเสธและการยอมรับในเวลาเดียวกัน

                ความหมายสองด้านของคำว่า “ไม่” คือการอนุญาตให้ผู้ชายตีความหมายผิดเมื่อผู้หญิงพูดว่า “ไม่” และยังทำให้การล่อลวงทางเพศจากชายอื่นกลายเป็นความรุนแรงที่ถูกตัดสินด้วยความรุนแรง สิ่งที่มีส่วนสร้างตัวตนทางเพศของชายคือการพูดว่า “ไม่” ของคนอีกคนหนึ่ง      เมื่อบุคคลเอ่ยคำว่า “ไม่” จะเป็นการบีบบังคับให้คนๆนั้นไม่มีตัวตนแบบผู้ชาย  ผมคิดว่าด้วยเหตุนี้ที่ทำให้มีกระบวนการต่อต้านเกย์เกิดขึ้น เพราะการทำร้ายเกย์มักจะไม่มีหลักฐานของการพูดว่า “ไม่” ปรากฏขึ้น     คำว่า “ไม่” คือการปฏิเสธ แต่ถ้าไม่มีการพูดว่า “ไม่” การอาจบ่งบอกว่าคนๆนั้นยอมให้มีการล่อลวงทางเพศและอาจทำให้มีการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย

                ผมหวังว่าจะมีความชัดเจนขึ้นจากการอธิบายดังกล่าว  ประเด็นหลักของผมก็คือ  คำว่า “ไม่” ไม่ได้มีส่วนในการสร้างสถานการณ์ทางเพศมากนัก แต่สถานการณ์ทางเพศที่มีการสร้างตัวตนทางเพศขึ้นมาจะทำให้เพศสภาพมีพลังมากขึ้น



                การมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนทารุณ

                การมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนทารุณ คือตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับการพูดว่า “ไม่” ซึ่งการตระหนักถึงตัวตนจะถูกสร้างมาเพื่อเรื่องเพศโดยตรง  เป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจว่าคำอธิบายหรือการวิเคราะห์การพูดคุยถึงเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนมักจะพูดถึงสิ่งที่เป็น “คำพูดขอความเห็นใจ”   คำหรือวลีที่ถูกใช้เพื่อการล่อลวงและเชิญชวนทางเพศ และถูกใช้โดยคนที่เป็นฝ่ายรุกและรับซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาต้องการหยุดการกระทำบางอย่าง    แง่มุมที่สำคัญที่สุด คือ คำที่ไม่สามารถเป็นตัวแทนของ “คำพูดที่ขอความเห็นใจ” ก็คือคำว่า “ไม่”

                ดูคำพูดต่อไปนี้ จะเห็นว่ามีการอธิบายการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนในคู่มือ

                “ฝ่ายรุกกล่าวว่า   โอ้ เจ้าหมาน้อยของผม ผมคิดว่าคุณเหมาะที่จะถูกฟาดด้วยแปรงสางผมอันนี้”

                “ฝ่ายรับ ตอบว่า (สวมบทบาทเป็นทาสที่เชื่อฟัง) ถ้าคุณชอบแบบนั้นก็ฟาดฉันเถอะ  แต่ถ้าฝ่ายรับเป็นเหยื่อที่ถูกบังคับก็จะตอบว่า อย่าทำฉันเลย ได้โปรด….”

                ในสองกรณีนี้ ฝ่ายรุกไม่มีคำแนะนำสำหรับการหยั่งรู้ความรู้สึกของฝ่ายรับ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้  ผู้เขียนคู่มือการมีเซ็กซ์อธิบายว่า เหตุผลที่เราต้องการก็คือ พวกเราหลายคนชอบเสแสร้งว่าเราไม่ต้องการให้การกระทำที่พิศดารแบบนี้เกิดขึ้นกับเรา  เราอาจเสแสร้งโดยการกรีดร้องว่า “ไม่  ไม่  ไม่”  เราจะต้องมีคำอื่นที่ใช้แทนคำว่าไม่

                หนังสือคู่มือการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนอีกเล่มหนึ่ง อธิบายว่า คำอื่นที่มิใช่คำว่า “ไม่” ได้แก่คำว่า “หยุด” “ช้าๆหน่อย” คำเหล่านี้ถูกใช้ระหว่างมีเซ็กซ์ เพราะเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนเป็นการกระทำทางเพศที่สมยอมกันในรูปแบบของการแสดง  ถ้าฝ่ายรับพูดว่า “หยุด” เพื่อที่จะเลิกมีเซ็กซ์  ฝ่ายรุกก็อาจเสียความมั่นใจ   ฝ่ายรับหลายคนสนุกกับการกรีดร้องและการมีเซ็กซ์แบบพิศดาร     การพูดว่า “ไม่  โปรดหยุดเถอะ” หรือคำอื่นๆที่มีผลทำให้การมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนดำเนินต่อไปได้ คือสิ่งที่ดี  แต่ถ้าฝ่ายรุกหยุดทารุณ ฝ่ายรับก็จะเสียความรู้สึก สับสนและโกรธ  คู่มือการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนอีกเล่มหนึ่งอธิบายว่าการพูดว่า “หยุดตีฉันเถอะ” อาจหมายถึง “ฉันชอบให้ตี จงตีฉันต่อไป”

                เป็นที่กระจ่างชัดว่าคำว่า “ไม่” ในสถานการณ์นี้หมายถึงการยอมรับ หรือไม่ปฏิเสธ  คำอธิบายในคู่มือกล่าวว่าคำพูดที่ขอความเห็นใจอาจจะเป็นคำอะไรก็ได้นอกเหนือจากคำว่า “ไม่” “หยุด” หรือ “อย่า”  คำที่อาจแทนคำเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงความเลวร้ายหรือความเจ็บปวด   คู่มือส่วนใหญ่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการส่งเสียงร้อง เช่น คำว่า “อีผักดอง” หรือ “อีผักกาด”   หรือคำที่เกี่ยวกับไฟจราจร เช่น “สีเหลือง” หมายถึง “ช้าๆ” คำว่า “แดง” หมายถึง “หยุด”

                ประเด็นของผมก็คือ การตระหนักถึงตัวตนขณะมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนจะเป็นการแสดงความหมายของคำว่า “ไม่” อย่างเข้มข้น เพื่อที่จะทำให้การมีเซ็กซ์ดำเนินต่อไป   ทั้งนี้ คำว่า “ไม่” มีความหมายสองด้านและยังทำให้เกิดลักษณะของเพศวิถี กล่าวคือ พรมแดนของเพศวิถีเต็มไปด้วยเรื่องของอำนาจ  ผู้ที่กระทำและดูการกระทำต่อเซ็กซ์แบบป่าเถื่อน จะเห็นพ้องกันว่าเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนทำให้เกิดกามารมณ์และอำนาจ  คู่มือเกี่ยวกับเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนมักจะพูดถึงอำนาจ  คู่มือเล่มหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมาก ผลิตโดยกลุ่มซามอยส์ หรือกลุ่มเฟมินิสต์ที่เป็นเลสเบี้ยนและสนับสนุนการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อน คู่มือนี้ชื่อว่า Coming to Power    นิยามของการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนคือการแลกเปลี่ยนอำนาจกามารมณ์ซึ่งกันและกัน

                คู่มือเล่มหนึ่งแยกความแตกต่างระหว่าง “อำนาจกดขี่” กับ “อำนาจเท่าเทียม”  กล่าวคือ อำนาจกดขี่คือการเอาเปรียบผู้อื่น ส่วนอำนาจเท่าเทียมหมายถึงการที่แต่ละฝ่ายสนับสนุนซึ่งกันและกัน  คู่มือเล่มนี้อธิบายว่าการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนคือการเล่นกับอำนาจเพื่อแสวงหาความสำราญ  อำนาจแบบเท่าเทียมในการแสวงหาความสุขทางเพศจะถูกสร้างมาจากแบบแผนของอำนาจที่ถูกจัดระเบียบแล้ว ซึ่งจะนำมาแสดงในบริบทใหม่ นอกจากนั้นคู่มือยังเสนอแนะว่าฝ่ายรับทุกคนควรจะทำความเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ที่มีอำนาจอย่างเต็มเปี่ยม

                เราอาจโต้แย้งว่าแนวคิดเรื่องการเป็นฝ่ายรับที่มีอำนาจอาจฟังดูมีเหตุผล  แต่คนที่ไม่เห็นด้วยเช่นเฟมินิสต์ ซึ่งยืนยันว่าการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนเป็นการตอกย้ำโครงสร้างอำนาจที่ไม่น่าพึงปรารถนา  ผู้ที่ไม่เห็นด้วยจะไม่ชอบการใช้อำนาจในการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อน   บทบาทสำคัญของคำว่า “ไม่” ที่เกิดขึ้นในการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนมิใช่บทบาทที่คิดเอาเอง     ในทางตรงกันข้าม  โครงสร้างของบทบาทของคำว่า “ไม่” ในการสร้างเหตุการณ์เซ็กซ์แบบป่าเถื่อนทารุณนี้ คือโครงสร้างของการเจียระไนและตกแต่งผู้ที่แสดงบทบาท “ไม่” ให้สวยงามให้เกิดขึ้นในชีวิตทางสังคม  บทบาทนี้มิใช่เป็นเพียง “การแสดง” หรือการผลิตสิ่งของ  แต่คำว่า “ไม่”ทำให้เกิดพรมแดนทางกามารมณ์ที่จับต้องได้ เป็นพรมแดนที่เต็มไปด้วยอำนาจ ซึ่งจะถูกกำหนดด้วยตำแหน่งทางสังคม  ตำแหน่งเหล่านั้นจะถูกทำให้มีเพศสภาพและเกี่ยวข้องกับคำว่า “ไม่” ในแบบที่ต่างกัน  

ตามที่ผมเคยกล่าวมาแล้วว่า ตำแหน่งแห่งตัวตนของ “ผู้หญิง” ถูกสร้างขึ้นจากการพูดว่า “ไม่” ตามบรรทัดฐานทางสังคมเมื่อเธอต้องเจอกับการลวนลามทางเพศ  สิ่งนี้แตกต่างจากตัวตนของ “ผู้ชาย” ซึ่งไม่รับรู้ความหมายของคำว่า “ไม่” ในสถานการณ์ของการมีเซ็กซ์ และตัวตนของผู้ชายจะถูกสร้างขึ้นโดยการพูดว่า “ไม่” ของผู้ชายอีกคนหนึ่ง  ส่วนการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนจะทำให้ตัวตนทางเพศมีความชัดเจนขึ้น เพื่อที่จะนำกามารมณ์มาจัดระเบียบ และสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งตัวตนเหล่านี้   เซ็กซ์แบบป่าเถื่อนทำให้เกิดพื้นที่สำหรับร่างกายแบบผู้ชายเพื่อที่จะทำให้การพูดว่า “ไม่” เกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีอื่นคำนี้อาจเกิดขึ้นไม่ได้  ในเวลาเดียวกัน เซ็กซ์แบบป่าเถื่อนก็สร้างพื้นที่ให้ร่างกายของผู้หญิงซึ่งจะถูกทำให้เป็นวัตถุโดยการพูดว่า “ไม่” จากปากของคนอื่น (ความลับจะไม่เกิดขึ้น ถ้าผู้ที่เป็นฝ่ายรับคือเพศชาย   และผู้ชายคนเดียวกันนี้ก็คือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในสังคม   ความลับที่อยู่เหนือชายกลุ่มนี้จะเป็นผู้หญิงที่เขายอมจ่ายเงินเพื่อที่จะกดขี่ได้หรือไม่   และ  คำที่จะระบุตัวตนของคนประเภทนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร)

ความคิดเชิงกามารมณ์ที่สร้างมาจากการมีเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนอาจถูกมองว่ารุนแรง ซึ่งเคยมีอยู่ในสถานการณ์ทางเพศที่มีการพูดว่า “ไม่” และเซ็กซ์แบบป่าเถื่อนทำให้เกิดการใช้ความรุนแรง แต่เป็นความรุนแรงแบบ “เล่นละคร” ซึ่งถูกกำกับและควบคุมโดยความขัดแย้งและอารมณ์ของผู้แสดง

ประเด็นหลักของบทความนี้มาจากสิ่งที่ผมคิดว่า “การแสดง” กับ “การปฏิบัติการแสดง” มีความต่างกัน  และแนวคิดทั้งสองนี้ก็เกี่ยวโยงกับเรื่องภาษา   และในจุดร่วมกันบางประการ ผมก็ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดของการแสดงต่างไปจากแนวคิดเรื่องการปฏิบัติการแสดง  แต่ยังมีความแตกต่างเฉพาะเรื่องที่เป็นสิ่งสำคัญในทัศนะของผม ซึ่งผมต้องการให้ความแตกต่างนี้จบลง  ความแตกต่างนี้มาพร้อมกับความคิดเรื่อง identity หรืออัตลักษณ์

ผมยกประเด็นเรื่องอัตลักษณ์มากล่าวในตอนท้ายนี้ เพราะอัตลักษณ์ถูกใช้อธิบายทางวิชาการเพื่อศึกษาเรื่องภาษาและเพศวิถี   เพศวิถี หรือ sexuality กลายเป็นแนวคิดในการศึกษาทางภาษาศาสตร์เชิงมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาซึ่งมองว่าเพศวิถีคือบ่อเกิดของอัตลักษณ์  นักวิจัยที่ใช้ข้อมูลทางภาษาศาสตร์เพื่อที่จะอธิบายว่าบุคคลแสดงอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะอัตลักษณ์ของเกย์และเลสเบี้ยน

แต่บางทีความแตกต่างระหว่างการศึกษาภาษาในมิติของการแสดง และมิติของการปฏิบัติการแสดงอาจอยู่ที่ มิติของการแสดงมองว่าภาษาจะเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของบุคคล ส่วนมิติการปฏิบัติการแสดงมองว่าบุคคลมีกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาอย่างไร  ความแตกต่างคือทั้งสองแนวคิดนี้มองอัตลักษณ์ไม่เหมือนกัน กล่าวคือการศึกษาทางมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์อธิบายว่าอัตลักษณ์ของบุคคลขึ้นอยู่กับสภานการณ์ทางสังคม   ส่วนกระบวนการสร้างอัตลักษณ์เป็นแนวคิดเชิงจิตวิทยา ที่มุ่งอธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติการของตัวตน   กระบวนการสร้างอัตลักษณ์คือการเปลี่ยนผ่านซึ่งบุคคลค่อยๆซึมซับคุณลักษณ์หรือท่าทางของคนอื่นมาไว้ในตัวเอง จากนั้นเขาก็จะค่อยๆเปลี่ยนสภาพไป

ความแตกต่างระหว่าง “อัตลักษณ์” และ “กระบวนการสร้างอัตลักษณ์” อยู่ที่กรณีหลังไม่เกี่ยวข้องกับจิตสำนึก  ในทางตรงกันข้าม กระบวนการสร้างอัตลักษณ์จะถูกควบคุมและจัดระเบียบโดยการปฏิเสธ และการไม่ยอมรับ  นอกจากนั้น กระบวนการสร้างอัตลักษณ์มิได้เป็นตัวแทนของระบบเหตุผล กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กระบวนการที่ทำให้บุคคลกลายเป็นตัวตนตามแบบที่กำหนดขึ้นมิใช่กระบวนการที่คงที่ แต่เป็นกระบวนการที่มีความขัดแย้ง อยู่เหนือการควบคุมของจิตใจและบ่อนทำลายตัวตนที่สมบูรณ์

อัตลักษณ์และกระบวนการสร้างอัตลักษณ์จึงไม่เหมือนกัน  นี่คือสิ่งสำคัญที่จะไม่นำสองสิ่งนี้มาปะปนกัน แนวคิดแบบปฏิบัติการแสดงที่ใช้ศึกษาเรื่องราวทางภาษามิได้ทำให้เห็นจุดเริ่มต้น หรือจุดจบของอัตลักษณ์  แต่จะทำให้เกิดการตรวจสอบกระบวนการของการสร้างอัตลักษณ์ซึ่งอาจถูกควบคุม ปิดกั้น ปลดปล่อย จัดระเบียบ ส่งเสริมเชิดชู หรือปราบปราม  ผมพยายามอธิบายด้วยแนวคิดของกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ โดยการยกเรื่องคำว่า “ไม่” ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา และตรวจสอบว่าการพูดว่า “ไม่” หรือไม่พูดว่า “ไม่” ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง มากกว่าจะถามว่า ใครคือคนพูด   การตรวจสอบดังกล่าวทำให้ผมพบกับบางสิ่งที่เป็นผลพวงของการพูด ผมไม่พบอัตลักษณ์ที่มาจากคำพูด แต่กลับนึกถึง “กระบวนการสร้างอัตลักษณ์” ที่เกิดจากการพูดของมนุษย์



แปลและเรียบเรียงโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก Don Kulick “ No” in Jennifer Robertson (ed.) Same-sex Cultures and Sexualities. Blackwell, Oxford. 2005. Pp.60-69.

ไม่มีความคิดเห็น: