2/27/2556

On/Offline: Gender, Sexuality, and the Techno-Politics of Everyday Life



ออนไลน์-ออฟไลน์ เพศสภาพ เพศวิถี 
และการเมืองเทคโนโลยีของชีวิตประจำวัน

            ทฤษฎีเควียร์มักจะถูกคิดจากชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนเสมอๆ
            การวิจัยเกี่ยวกับผู้ใช้สื่อ คือเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต ซึ่งแต่ละประเภทจะถูกตรวจสอบว่าอะไรคือกระบวนทัศน์ที่แยกจากกัน แต่ไม่ค่อยมีการถามถึงว่าสื่อต่างๆเหล่านี้ถูกสอดแทรกเข้าหากันอย่างไร และไม่ค่อยมีการมองด้วยความคิดหลายๆแบบเพื่อที่จะศึกษาสื่อมวลชนในหลายแขนง (Mackay and Ivey 2004)
            ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  สื่อประเภทออนไลน์และอินเตอร์เน็ตกลายเป็นตัวแทนที่ได้รับความสนใจจากนักคิดแนวเฟมินิสต์และเควียร์ทั้งหลาย   จุดประกายด้วยความหวังและความกลัวต่อความเป็นไปได้ของการเมืองเพศวิถี เพศสภาพแนวเสมือนจริง สิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเป็นการศึกษาที่อธิบายจากแนวคิดเดิมๆซึ่งมุ่งสนใจไปที่เรื่องเทคโนโลยีสื่อออนไลน์และรูปแบบของการวิเคราะห์ตัวบท /เนื้อความ  อย่างไรก็ตาม การสนทนาระหว่างทฤษฎีเควียร์และสังคมวิทยาเกิดขึ้นในการศึกษานี้ และสนใจเรื่องมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของพื้นที่ไซเบอร์เควียร์ สิ่งนี้เป็นโอกาสที่จะปล่อยให้การศึกษาไซเบอร์เควียร์หันเหไปจากซอกหลืบของตัวบทและภาพเสมือนจริงดูจะเป็นสิ่งที่กำลังเดิมพัน
            ในการค้นหาหนทางเอาชนะภาพนามธรรมและการแยกกันอยู่ เพื่อที่จะก้าวไปสู่การสนทนาต่อไปนั้น บทความนี้จะสำรวจและตรวจสอบความเชื่อมโยงบางประการ ระหว่างเพศสภาพและเพศวิถี ระหว่างมุมมองเควียร์และเฟมินิสต์ที่อธิบายเรื่องเพศสภาพ /เพศวิถี ระหว่างอัตลักษณ์และการปฏิบัติทางเทคโนโลยี ระหว่างสื่อแบบเก่าและแบบใหม่ และประสบการณ์ชีวิตประจำวันของการออนไลน์และออฟไลน์  ความตั้งใจอย่างหนึ่งในการสร้างความเชื่อมโยงก็คือการนำงานวิจัยและความรู้ที่แยกกันอยู่มารวมกันซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีสื่อสาร  พฤติกรรมการบริโภค และการสร้างอัตลักษณ์    การเน้นให้เห็นความเชื่อมโยงทางทฤษฎีที่เกิดขึ้นในสื่อสมัยใหม่ การบริโภคสื่อ เพศสภาพ และทฤษฎีเควียร์ เช่นเดียวกับการชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องที่เป็นไปได้ในอนาคต   สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้เกิดการวิจัยเชิงประจักษ์เกี่ยวกับสื่อสมัยใหม่ต่อไป
            ในการข้อถกเถียงเกี่ยวกับเพศสภาพ เพศวิถี และเทคโนโลยีจะมีเรื่องอยู่ 3 อย่าง หนึ่ง การถกเถียงว่าการศึกษาการใช้สื่อสมัยใหม่ที่มีเพศสภาพจะนำทฤษฎีเควียร์มาอธิบายได้และยืนกรานว่าเพศวิถีเป็นหน่วยในการวิเคราะห์ที่เหมาะสมมากกว่าจะมองว่าเป็นแค่เรื่องเพศสภาพ   แคร์ เฮมมิงเคยชี้ว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าพอใจและมีปัญหาต่อการทำให้เรื่องเพศวิถีมีความสำคัญเหนือเพศสภาพ  จากจุดนี้อาจถกเถียงได้ว่าการสร้างและการเชื่อมโยงของเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางเพศจำเป็นต้องกล่าวถึงในงานวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคสื่อสมัยใหม่ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการผลิตสมมุติฐานเกี่ยวกับการดำเนินไปข้างหน้าระหว่างเพศสรีระและพฤติกรรมทางเพศสภาพเมื่อเกิดการถกเถียงการใช้สื่อที่มีเพศสภาพเกี่ยวข้อง
            สอง มีการอธิบายว่าเพื่อที่จะประเมินคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพที่เกิดจากการใช้สื่อออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะตระหนักว่าสื่อออนไลน์นั้นถูกบริโภคแบบแยกต่างหาก  สื่อประเภทนี้เป็นตัวแทนการปฏิบัติทางเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันและเทคโนโลยีสื่อสาร  การอ้างงานวิจัยของผู้เขียนเกี่ยวกับครัวเรือนที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง จะทำให้เห็นว่าการับรู้และการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่คือสิ่งที่เชื่อมโยงกับการเมืองเรื่องพื้นที่และเวลาของชีวิตประจำวันและความเป็นส่วนตัวและสาธารณะ ซึ่งถูกทำให้มีเพศสภาพและเป็นเรื่องเพศในทางใดทางหนึ่ง
            สาม ถ้าเรานำข้อสังเกตของอีเลียที่ว่า “อะไรก็ตามที่เสมือนจริงล้วนเป็นเควียร์” มาพิจารณาในที่นี้ จะพบคำถามเกี่ยวกับ เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่จะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างไร  จากจุดนี้  คำอธิบายและความคิดของทฤษฎีเควียร์อาจถูกตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรม

สร้างแผนเพื่ออนาคตเกี่ยวกับเควียร์

            เฮลเพอริน (2003) กล่าวว่า  ถ้าทฤษฎีเควียร์เป็นเรื่องของอนาคต เราจะค้นพบหนทางของการแก้ไขศักยภาพของเควียร์ สิ่งนี้หมายถึงการไม่ได้แบ่งแยกว่ามีการสร้างทฤษฎีเก่าหรือใหม่ แต่เป็นการทำให้เควียร์มีพลังใหม่ที่จะสร้างความแปลกใจ ช่วยให้เราคิดว่าอะไรที่ยังไม่มีการคิดมาก่อน        ข้อสังเกตของเฮลเพอรินเหมือนกับข้อคิดทางวิชาการที่มีต่อประวัติศาสตร์และอนาคตของทฤษฎีและปฏิบัติการแบบเควียร์        เฮลเพอรินคิดเกี่ยวกับ คำว่าเควียร์ไม่ได้เป็นเพียงการตั้งคำถามเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนศึกษา หรือแรงบันดาลใจของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบใหม่เท่านั้น   แต่เควียร์ยังค่อยๆถูกซึมซับเข้ามาอยู่ในการสร้างความรู้ของเราและทำให้ตัวมันเองถูกนักวิชาการทำให้เป็นหลักการ ข้อคิดเกี่ยวกับการมาอยู่รวมกันในทฤษฎีเควียร์นี้หมายถึงการสูญเสียศักยภาพแบบวิพากษ์วิจารณ์ของทฤษฎีเควียร์ต่อการทำให้ทฤษฎีเพศสภาพและเพศวิถีสั่นคลอน และยังหมายถึงการชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มที่จะทำให้บุคลและกลุ่มบุคคลกลายเป็นชายขอบอีกครั้งโดยการจัดเป็นพวกๆ เช่น เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือการปฏิบัติและความสนใจทางเพศแบบอื่นๆให้อยู่ภายใต้ “ร่ม”ของเควียร์ศึกษา   เฮลเพอรินเป็นคนเดียวที่ตั้งคำถามถึงอนาคตของทฤษฎีเควียร์และการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเควียร์ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษใหม่  ประมาณ 15 ปีหรือมากกว่านั้นที่มีการสร้างทฤษฎีและการเมืองเควียร์ขึ้นมา  ปัจจุบันนี้มีการเน้นถึงการขยายและการทำให้เควียร์ดีขึ้นเพื่อที่จะนำไปศึกษาเรื่องการสื่อสารทางการเมือง และเพื่อที่จะทำให้เควียร์รวมอยู่ในการศึกษาโลกทางวัตถุ และการเมืองที่ส่งผลต่อความเสี่ยงและสาเหตุของสิ่งต่างๆ   การพัฒนาในสิ่งที่เคยถูกวิจารณ์ว่าทฤษฎีเควียร์ให้ความสนใจต่อการตีความตัวบทและสิ่งที่แอบแฝงมากเกินความจริง  และการสร้างทฤษฎีเรื่อง “ไฮเปร์” จากนักคิดหลังโครงสร้างนิยมอาจจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนไปสู่การใช้วิธีการศึกษาเชิงประจักษ์และมองไปที่การปฏิบัติและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตประจำวันมากขึ้นในงานวิจัยในอนาคต
            สิ่งที่เฮลเพอรินเป็นห่วง ก็คือ ทฤษฎีเควียร์จะถูกกลืนเข้าไปอยู่ในสาขาวิชาที่สำเร็จรูปได้ง่ายๆและจะถูกนำไปใช้สร้างหัวข้อและการทำวิจัยซึ่งเป็นการสูญเสียพลังของการวิพากษ์  อย่างไรก็ตาม บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่ายังคงมีเรื่องราวอีกมากมายที่จะนำทฤษฎีเควียร์ไปอธิบาย เช่น การศึกษาเพศสภาพ เพศวิถีและการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ โดยเฉพาะการศึกษาในเชิงสังคม การศึกษาเกี่ยวกับการใช้สื่อสมัยใหม่ที่มีเรื่องเพศสภาพ ส่วนมากมักจะใช้ทฤษฎีเฟมินิสต์ในสกุลหลังโครงสร้างซึ่งสามารถจัดเพศวิถีให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มเพศสภาพและนำเพศวิถีเข้าไปอยู่ในการสร้างอัตลักษณ์เพศสภาพซึ่งมองไม่เห็นเมื่อจะนำมาวิเคราะห์  ในเวลาเดียวกัน ความสนใจในการสำรวจเชิงประจักษ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ออนไลน์-ออฟไลน์ของผู้ใช้สื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังเติบโต  แต่ยังมีเรื่องที่ขาดหายไปในการศึกษาสื่อสมัยใหม่ ที่สัมพันธ์กับอัตลักษณ์แบบแปลกแยก    นีน่า เวคฟอร์ดเคยชี้ว่า ยังเป็นเรื่องยากที่จะค้นหางานวิจัยที่มีการถกเถียงในเชิงวิธีวิทยาและญาณวิทยาเกี่ยวกับความซับซ้อน ความไม่สอดคล้อง และความไม่ยุติธรรมของความรู้ที่อยู่นอกพื้นที่ทางวัฒนธรรมและกลุ่มคนทางสังคมกระแสหลัก  การถกเถียงเกี่ยวกับเพศสภาพและเทคโนโลยี  ยังเป็นเรื่องชายขอบของการศึกษากระแสหลักที่สนใจกระบวนการของการบริโภคเทคโนโลยีสื่อสาร หรือสนใจการประเมินว่าผู้ชาย ผู้หญิง เด็กชาย เด็กหญิงทำอะไรกับเทคโนโลยีสื่อสาร  คำถามที่ยังคงค้างคาอยู่ในเรื่องนี้คือ  อัตลักษณ์เพศสภาพแบบไหนที่ถูกสร้างขึ้นในกระบวนการ และอัตลักษณ์ทางเพศจะเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์เพศสภาพอย่างไรภายใต้การใช้เทคโนโลยี
            บทความนี้จะอธิบายว่าทฤษฎีเควียร์มีการเคลื่อนตัวไปสู่การวิจัยสื่อสมัยใหม่ในกระแสหลัก ถึงแม้ว่าเควียร์จะยังไม่ได้เข้าไปในเร็วๆนี้ก็ตาม หัวข้อต่อไปจะเป็นการอธิบายเกี่ยวกับความสำคัญของเพศวิถีที่สัมพันธ์กับเพศสภาพ ปัญหาและความเป็นไปได้ที่เกิดจากการมองแบบเควียร์ต่อเรื่องตัวบท เช่นเดียวกับการเคลื่อนไปสู่การใช้สังคมวิทยาแบบเควียร์

การใช้เทคโนโลยีสื่อสารที่มีเพศสภาพ และคำถามเกี่ยวกับเพศวิถี

            ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 สองทศวรรษก่อนจะมีทฤษฎีเควียร์เกิดขึ้นมาเพื่ออธิบายการทำงานทางวิชาการซึ่งอุทิศให้กับการศึกษาเพศวิถี  นักคิดแนวเฟมินิสต์หลายคนนำตัวเองไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพกับการใช้สื่อ  ข้อวิจารณ์ที่สำคัญในช่วงนั้นคือเฟมินิสต์มองว่าสื่อเป็นสาเหตุหลักของการผลิตความสัมพันธ์ทางเพศที่ให้อำนาจผู้ชาย  ในช่วงหลายปีของการศึกษาวิเคราะห์ตัวบทและการรับรู้ ทำให้เข้าใจว่าตัวตนของความเป็นหญิงที่ถูกสร้างผ่านตัวบท ไม่ได้ถูกรับรู้โดยผู้หญิงที่เป็นผู้อ่านและผู้ชม   เฟมินิสต์หลายคนไม่ได้แต่เพียงสำรวจบุคลิกของเพศสภาพที่แสดงผ่านพฤติกรรมเรื่องเล่าและผู้ชมเท่านั้น แต่ยังตั้งคำถาม และอธิบายให้เข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีในมิติสังคม  ความคิดที่เกิดจากการศึกษาเพศสภาพในฐานะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้โลกมีโครงสร้างและสัญลักษณ์ และกำหนดโครงสร้างความคิดที่เรามีต่อเทคโนโลยี ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพสสภาพและเทคโนโลยี       ซินเธีย ค็อกเบิร์น ยืนยันว่าความสัมพันธ์ทางสังคมของเทคโนโลยีคือความสัมพันธ์เชิงเพศสภาพ ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้าไปอยู่ในอัตลักษณ์เพศสภาพ จะไม่สามารถเข้าใจเทคโนโลยีได้ถ้าปราศจากการอ้างเพศสภาพ สิ่งนี้ยังคงเป็นส่วนเล็กๆและอาจยังไม่มีการศึกษามากนัก
            งานวิจัยที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพและเทคโนโลยียังไม่ค่อยสนใจความเชื่อมโยงระหว่างเพศสภาพและเพศวิถีเท่าใดนัก    แม้ว่าแนวคิดเฟมินิสต์ไซเบอร์จะยังคงสนใจที่จะวิเคราะห์เพศสภาพ ในขณะที่ไซเบอร์เควียร์จะสนใจเรื่องความแปลกแยกของอัตลักษณ์ กลุ่มทางสังคม และพื้นที่ทางวัฒนธรรม  นอกจากนั้น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้นกับการวิจัยกระแสหลักเกี่ยวกับเทคโนโลยีและชีวิตประจำวัน   ถึงแม้ว่าการวิจัยเหล่านี้จะสนใจว่าผู้คนมีปฏิสัมพันธ์และใช้เทคโนโลยีอย่างไรซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างความเป็นหญิงและความเป็นชายที่ยึดติดกับร่างสรีระของเพศชายและเพศหญิง  ในแง่นี้ เพศวิถีจะถูกเชื่อว่าเป็นรักต่างเพศ ซึ่งยังคงไม่ถูกตั้งคำถามและไม่ถูกตรวจสอบ   กัสต์ เย็ป เขียนบทความเรื่อง The Violence of Heteronormativity in Communication Studies อธิบายว่าถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในช่วงเวลาของการยืนยันและการประกาศก้องของความแตกต่างหลากหลาย แต่รักต่างเพศก็ยังคงถูกใช้ในฐานะเป็นแนวคิดเพียงหนึ่งเดียว ความซับซ้อนของสิ่งเหล่านี้ถูกมองข้ามไป
            หากมองที่ประวัติศาสตร์ของการศึกษาเพศสภาพและเทคโนโลยี พร้อมกับการเกิดขึ้นของเควียร์ศึกษา วัฒนธรรมศึกษา และไซเบอร์ศึกษา  เราจะพบคำอธิบายเกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องสถานะและการเติบโตของเพศสภาพหรือเพศวิถีในฐานะที่เป็นประเภทของการวิเคราะห์อีกแนวหนึ่ง และความตึงเครียดระหว่างเพศสภาพและเพศวิถี   เอลิซาเบ็ธ วีด ชี้ในบทนำที่เธอเขียนในหนังสือ Feminism Meets Queer Theory ว่าถึงแม้ทฤษฎีเควียร์และเกย์เลสเบี้ยนศึกษาจะตระหนักว่าได้รับความคิดจากทฤษฎีเฟมินิสต์และสตรีศึกษา แม้จะเป็นความจริงที่ว่าเฟมินิสต์และเควียร์จะเป็นแนวคิดสองแบบที่แยกกันภายใต้กลุ่มตระกูลความรู้และการเมืองเดียวกัน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองก็ยังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก   วี้ดอธิบายว่าปัญหามิใช่การที่ทฤษฎีเควียร์มีไว้เพื่ออะไร แต่ปัญหาอยู่ที่ทฤษฎีเควียร์นำเสนอความคิดเฟมินิสต์แบบปกปิด    วี้ดกล่าวว่าไม่ว่าทฤษฎีเควียร์จะรีรอที่จะนำตัวเองไปอยู่ในการแนวร่วมของสร้างแนวคิดทฤษฎี  มันก็ดูเหมือนว่าจะมีเรื่องแน่นอนอยู่อย่างหนึ่งคือการพิจารณาว่าเซ็กส์และเพศวิถีไม่สามารถบรรจุอยู่ในการจัดประเภทของเพศสภาพได้  แต่การที่จะนำเรื่องเพศวิถีเข้าไปอยู่ในการศึกษาของเกย์เลสเบี้ยนเหมือนกับทฤษฎีเควียร์อาจจะต้องแลกกับการเสียการศึกษาเพศสภาพและการมองแบบสังคมวิทยาและภาวะวิสัยหรือไม่   นักเฟมินิสต์หลายคนเช่นเกียวกับนักเฟมนิสต์เควียร์ที่ได้ปูทางมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เพื่อที่จะพูดถึงว่าอะไรที่จะทำให้การทำลายการจัดแบ่งประเภทมีประสิทธิภาพ   จึงใช้เรื่องเพศสภาพในสายตาของเฟมินิสต์และแนวคิดสตรีนิยมและเพศวิถีเพื่อใช้ในการศึกษาของเกย์เลสเบี้ยนและเควียร์  จูดิธ บัตเลอร์ อธิบายในหนังสือ Gender Trouble(1990) ในฐานะเป็นการแสดงความลำบากใจกับเรื่องที่ว่ากรอบความคิดของเฟมินิสต์มากมายดูเหมือนเป็นการละทิ้งหรือทำให้การท้าทายเพศสภาพที่เกิดจากเควียร์เป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ หลังจากนั้น บัตเลอร์ก็วิจารณ์ว่าประวัติศาสตร์เฟมินิสต์ในช่วงที่ผ่านมา  ไม่เข้าใจแนวคิดสตรีนิยมและมองเป็นแค่เพียงเรื่องเพศสภาพ ท่ามกลางเรื่องอีกมากมายที่เป็นการทำลายความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเฟมินิสต์ผู้ที่นิยมใช้แนวคิดเพศสภาพกับเฟมินิสต์ที่มองเรื่องความแตกต่างทางเพศ
            บัตเลอร์อธิบายว่าการวิเคราะห์เพศสภาพเป็นการอธิบายแบบสังคมวิทยา ที่ไม่สนใจสัญลักษณ์หรือเรื่องทางจิตวิเคราะห์ ซึ่งความเป็นชายและหญิงถูกสร้างจากภาษา ก่อนที่จะมีการสร้างเป็นตัวตนทางสังคม ข้อมูลสำหรับความแตกต่างทางเพศจะเกี่ยวข้องกับสถานะของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศกับสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์และพรมแดนสังคมที่แยกตัวอยู่ต่างหาก ในขณะที่สัญลักษณ์ถูกเข้าใจว่าเป็นมาตรชี้วัดสังคม ความตึงเครียดระหว่างสัญลักษณ์กับสังคมถูกอธิบายในงานวิจัยของเฟมินิสต์และเควียร์ ตัวอย่างเช่น สเตวี แจ็คสัน ศึกษาพฤติกรรมและอารมณ์ของรักต่างเพศด้วยแนวคิด materialist feminist และสังคมวิทยาซึ่งมองว่าเควียร์เป็นความคิดที่น่าสงสัย   สเตวีเชื่อว่าทฤษฎีเควียร์เป็นการเดินรอยตามสังคมวิทยา และการมุ่งไปที่เรื่องวัฒนธรรมและการหาข้อสรุปจำกัดขอบเขตอยู่ในความไม่สนใจโครงสร้างสังคมและการปฏิบัติทางสังคมเชิงภาวะวิสัย  สเตวีสรุปว่าสังคมของทฤษฎีเควียร์และเฟมินิสต์ เป็นเรื่องที่มีคำถามเกี่ยวกับความเป็นธรรมชาติและความหลีกเลี่ยงไม่ได้ของรักต่างเพศ ซึ่งมีสถานะที่ได้รับการยอมรับ   นอกจากนั้น นักคิดแนวเควียร์และสตรีนิยมได้นำคู่ตรงข้ามระหว่างรักต่างเพศ/รักเพศเดียวกันมารวมกับเรื่องเพศสภาพ ไม่ว่าจะมีความแตกต่างทางทฤษฎีปรากฎอยู่ใน หรือระหว่างแนวคิดทั้งสองนี้ก็ตาม แต่สมมุติฐานที่มีร่วมกันก็คือ พรมแดนเพศสภาพและพรมแดนระหว่างรักเพศเดียวกันกับรักต่างเพศจะไม่ถูกกำหนดจากธรรมชาติ      ทั้งเควียร์และเฟมินิสต์ต่างเชื่อมโยงเข้ากับระเบียบทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งยกย่องรักต่างเพศที่ให้อำนาจผู้ชายเป็นใหญ่โดยไม่มีการตั้งคำถาม
            การแสวงหาความเชื่อมโยงและกลุ่มก้อนระหว่างเฟมินิสต์กับเควียร์เฟมินิสต์ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่สิ้นสุด  แอนนามารี จากอส และดอน คูลิค อธิบายว่าถ้าการศึกษาของเกย์เลสเบี้ยนยืนยันในความแตกต่างระหว่างเพศสภาพและเพศวิถี  ซึ่งความไม่ลงรอยจะถูกตรวจสอบโดยคนหลายคนที่คัดค้านความพยายามที่จะแยกงานวิจัยทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับเพศสภาพและเพศวิถีออกจากกันอย่างเป็นปกติ  ถึงแม้ว่าเราอาจเคยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพและเพศวิถีเพื่อที่จะทำให้เกิดการมองแบบใหม่  ซึ่งจากอสและคูลิคมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องตั้งใจอย่างหนึ่งของการศึกษาแนวเฟมินิสต์และเกย์เลสเบี้ยน  การศึกษาของอาร์ลีน สไตน์ซึ่งวิจารณ์การแบ่งแยกระหว่างเพศสภาพและเพศวิถีในอดีต  สไตน์มองว่าเพศวิถีที่มีเพศสภาพ และเพศสภาพที่เป็นเพศวิถีเป็นสิ่งที่รับรู้เมื่อเรากำลังนำมันมารวมกันและเมื่อเรากำลังทำให้มันแยกจากกัน  สไตน์แนะนำว่าการมองเพศสภาพและเพศวิถีในแนวนี้เป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาเชิงสังคมและเชิงประจักษ์ เช่นเดียวกับการมองเชิงเนื้อความและเชิงเปรียบเปรยเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างเพศสภาพและเพศวิถี เช่นเดียวกับการไม่ใช้แนวคิดใดๆเพื่ออธิบายเพศสภาพและเพศวิถีที่จะโจมตีแนวคิดอื่นๆ
            นีน่า เวคฟอร์ด (2000) เคยกล่าวว่ามีความเงียบคงอยู่กับเรื่องเพศวิถีในการศึกษาเทคโนโลยีในมิติทางวัฒนธรรม ถ้าคำและการกระทำของไซเบอร์เควียร์จะนำมาขยายความตัวมันเอง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อต้านในโฉมหน้าของการถูกกดขี่    เราควรถามว่าอะไรและอย่างไรที่จะมองด้วยสายของของไซเบอร์เควียร์ซึ่งสนใจเรื่องการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์จะสามารถย้ายไปสู่การศึกษากระแสหลักที่อธิบายเรื่องการบริโภคและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เป็นเพศสภาพ  ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้เทคโนโลยีสื่อสารและอัตลักษณ์เพศสภาพไม่ควรจะเป็นแค่เรื่องไซเบอร์สเปซ แต่ควรจะเป็นการตรวจสอบเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์ และการใช้สื่อแบบเก่าและใหม่ที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน  ผลจากการศึกษาแบบองค์รวมนี้จะนำไปสู่การปิดกั้นความคิดเชิงอุดมคติเกี่ยวกับไซเบอร์สเปซและเพศสภาพและเพศวิถีที่เกิดจากอิเล็คทรอนิกแบบใหม่  ในเวลาเดียวกัน จะช่วยให้เราทบทวนและเชื่อมโยงความเป็นไปได้ต่างๆที่ถูกคาดการณ์โดยนัดคิดแนวเฟมินิสต์เควียร์ที่เป็นโพสต์มอเดิร์นและหลังโครงสร้างนิยม เข้ากับความลื่นไหลและกระบวนการแสดงของเพศสภาพและเพศวิถี และประเมินบทบาทของเทคโนโลยีที่ปรากฎอยู่ในพรมแดนนี้  บทความนี้เห็นด้วยกับแคร์ เฮมมิงส์ ซึ่งศึกษาประสบการณ์ของไบเซ็กช่วลที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยยืนยันถึงความสำคัญของเฟมินิสต์หลังโครงสร้าง และญาณวิทยาแบบเควียร์ในการให้กรอบความคิดที่จะทำความเข้าใจชีวิตประจำวัน  สิ่งที่เกิดขึ้นจากความคิดแบบเควียร์และเฟมินิสต์หลังโครงสร้างเป็นการบ่งบอกเชิงวิธีวิทยาของการตั้งคำถามต่อตัวตนทางเพศและเพศสภาพ
            คำถามที่เราต้องถามไม่ควรจะเป็นการถามว่า “อะไรคือประสบการณ์ของผู้หญิงหรือเลสเบี้ยน” หรือ “อะไรคือการมองแบบเควียร์และเฟมินิสต์ในเรื่องเพศ”  คำถามแนวนี้วางอยู่บนความคิดที่ว่ามีประสบการณ์โดดๆ หรือความคิดโดดๆที่จะถูกค้นหาและค้นพบ  คำถามควรจะเป็นการตรวจสอบความรู้ซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวตนทางเพศและเพศสภาพ และมองดูคุณค่าทางจริยธรรมและการเมืองของความรู้เหล่านั้น  เพื่อที่จะพูดถึงความรู้ซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวตนทางเพศและเพศสภาพ บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่าการศึกษาเชิงสังคมวิทยาโดยทั่วไปและการศึกษาเชิงชาติพันธ์เกี่ยวกับชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ช่วยได้  กล่าวคือเราต้องประเมินความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีเควียร์กับสังคมวิทยาตั้งแต่ที่มันยังไม่ถูกกล่าวถึงหรือไม่ได้เป็นผลลัพธ์ของความสัมพันธ์นี้ ซึ่งจำเป็นต้องนำออกมาปฏิบัติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   ทฤษฎีเควียร์มีต้นกำเนิดมาจากการถูกโจมตีว่าเป็นเรื่องของการสนใจเรื่องตัวบทมากเกินไป  เอ็บสตีนอธิบายว่าเรื่องของตัวตน การศึกษาแบบเควียร์เน้นงานเขียน และงานทางวัฒนธรรม โดยใช้เทคนิควิเคราะห์แบบนักคิดรื้อสร้างและจิตวิเคราะห์    การเคลื่อนไปพูดถึงเรื่องนี้และการไม่ใช้กรอบสังคมวิทยาแบบเดิมๆ  นักคิดเควียร์ทั้งหลาย เช่น ซีดแมนและเอ็บสตีน อธิบายให้เห็นว่าการศึกษาทางสังคมวิทยาในทศวรรษ 1960-1980 สะท้อนภาพงานศึกษารุ่นแรกๆที่อธิบายเรื่องเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนอย่างไร (เช่น กรอบคิดแบบผลิตสร้างทางสังคมที่อาศัยทฤษฎีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์และทฤษฎีตีตรา)  อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 แนวคิดแบบผลิตสร้างทางสังคมถูกท้าทายด้วยทฤษฎีเควียร์ที่เปลี่ยนการถกเถียงจากการอธิบายโฮโมเซ็กช่วลสมัยใหม่ไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับงานศึกษาที่พยายามแบ่งแยกรักต่างเพศกับรักเพศเดียวกัน  คี นามัสเต ชี้ว่าทฤษฎีเควียร์แบบหลังโครงสร้างนิยมเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการมองแบบแคบๆที่มองแต่ตัวตนของรักเพศเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่การศึกษาความเป็นรักต่างเพศในเชิงสังคมวิทยา
            นามัสเต(1996) กล่าวว่าแทนที่จะมองเกย์ เลสเบี้ยน และไบเซ็กช่วลเป็นตัวตนหรือชุมชนที่จะถูกค้นหา สังคมวิทยาแนวหลังโครงสร้างจะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับอาการที่ความเป็นรักต่างเพศถูกสร้างมาจากสังคม  ในกรณีนี้ เช่นเดียวกับการใช้คำระหว่าง “ข้างนอก” “ข้างใน” เคยมีประโยชน์ในการมองดูพัฒนาการของชุมชนรักเพศเดียวกัน เช่นเดียวกับการสร้างอำนาจครอบงำของรักต่างเพศ  นามัสเตชี้ว่ามีความจำเป็นที่จะใช้แนวคิดแบบสังคมวิทยาหลังโครงสร้างในการศึกษาเพศวิถี เพื่อที่จะมองเห็นว่ามีการแสดงตัวตนที่มิใช่รักต่างเพศอีกมากมาย  สิ่งนี้จะช่วยให้เราตระหนักถึงอันตรายเกี่ยวกับการอธิบายความเป็นรักต่างเพศและรักเพศเดียวกันซึ่งต้องพิจารณาถึงการแสดงออกทางเพศและเพศสภาพที่มีอยู่อีกมากมาย
            ผู้เขียนพบว่ามันช่วยสนับสนุน บนพื้นฐานของการเข้าใจระหว่างเวทีพูดคุยและบรรยายภายใต้หัวข้อ Queer Today....? ซึ่งทำให้เห็นความสำคัญที่ว่า การเน้นย้ำของเควียร์ต่อเรื่องการทำลายล้าง และตัวตนเควียร์ที่ถูกนิยามแบบแคบๆ  (เกย์ และเลสเบี้ยน) เช่นเดียวกับวัตถุวิสัย เช่นเพศวิถีและชุมชน  แคร์ เฮมมิงและฟีลิซิตี เกรซมองว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ต่อการทำให้ความสนใจต่อการหาตั้งคำถามกว้างขึ้นไป  ต่อมาในการเสวนาครั้งที่สองเรื่อง Queer Too....? เริ่มด้วยเรื่องการปฏิบัติและประสบการณ์ในชีวิตประจำวันซึ่งช่วยสร้างชีวิตแบบเควียร์ให้เรา การนำความคิดเควียร์มามองชีวิตประจำวันช่วยให้เราเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและเพศวิถีได้  สิ่งนี้จะทำให้เราตั้งคำถามต่อความเกี่ยวข้องและอัตลักษณ์ซึ่งมองเห็นอาณาบริเวณของการปฏิบัติและขบวนการในชีวิตประจำวัน รวมทั้งความสัมพันธ์ที่เรามีต่อการเทคโนโลยีสื่อสาร  ในการมองแบบนี้ ผลลัพธ์จากการศึกษาเชิงชาติพันธุ์ในฐานะเป็นวิธีการตรวจสอบชีวิตประจำวันควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนได้ประโยชน์

ปฏิบัติการทางเทคโนโลยีของการออนไลน์และออฟไลน์ในชีวิตประจำวัน

            ซิลเวอร์สโตน(1995) กล่าวว่า ภายในอาณาบริเวณชีวิตประจำวันซึ่งบุคคลและกลุ่มคนสามารถเป็นผู้กระทำด้วยตัวเอง ซึ่งความเป็นตัวเองของพวกเขาและอุปสรรคที่มีต่อพวกเขา จะช่วยให้เกิดการสร้างและการจรรโลงโลกแห่งชีวิต วัฒนธรรมและคุณค่าที่พวกเขามี ในอาณาบริเวณชีวิตประจำวันซึ่งความเป็นปกติของโลกจะถูกแสดงออก ซึ่งกิจกรรมต่างๆจะเกิดขึ้นอย่างมีบุคลิกที่สำคัญและมองเห็นได้ ในการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งเราสามารถสังเกตและพยายามเข้าใจเรื่องเด่นๆของข้อมูลและเทคโนโลยีในการกระทำของมนุษย์ที่จะเข้าใจโลก ทั้งที่เป็นส่วนตัวและสาธารณะ
            เมื่อ 15 ปีที่แล้วมา โรเจอร์ ซิลเวอร์สโตน, อีริค เฮิร์ช และเดวิด มอร์ลีย์ ทำงานเชิงชาติพันธุ์เกี่ยวกับการปฏิบัติในการใช้เทคโลโนยีสื่อสารในครอบครัวเดียว  การศึกษาของพวกเขาเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การศึกษาผู้ดูโทรทัศน์แตกกระจายด้วยการเผชิญหน้ากับความซับซ้อนทางสังคมและวัฒนธรรม  การตีความเนื้อเรื่องและการศึกษาการรับรู้ของผู้ชมเป็นเช่นเดียวกับการแยกพิจารณาแต่เรื่องสื่อและตัวบท ซึ่งดูเหมือนไม่ค่อยน่าสนใจ  ในแง่หนึ่งการศึกษาแบบนี้ช่วยให้เกิดการสะท้อนวิธีวิทยาที่พัฒนามาจากการเข้าไปเก็บข้อมูลการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น คำถามที่สนใจความเป็นไปได้และข้อจำกัดของการสัมภาษณ์เชิงคุณภาพ การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม การทำให้เป็นรูปธรรม และการสะท้อนกลับซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยและนักวิจัยเอง  ในอีกแง่หนึ่ง  ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับครัวเรือนและพรมแดนในครัวเรือนในฐานะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเชิงศีลธรรม ซึ่งเต็มไปด้วยเทคโนโลยรสื่อสารสมัยใหม่และเก่า และการใช้สื่อในฐานะเป็นตัวบท เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวโยงกับระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคมภายในการทำงานทางเศรษฐกิจแบบเป็นทางการและมีเป้าหมายชัดเจนและสังคมของสาธารณะ  การศึกษาเช่นนี้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการเชิงเพศสภาพของครัวเรือนและครอบครัว เพื่อที่จะสร้างและค้ำจุนอำนาจและอัตลักษณ์ของครอบครัว (สำหรับสมาชิกในครัวเรือนที่จะทำแบบเดียวกัน)ในฐานะเป็นหน่วยทางวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจ   ไอลีน กรีนเคยชี้ว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ที่จะพูดถึงความแตกต่างและในช่วงเวลาของเศรษฐกิจเชิงศีลธรรมที่มีความขัดแย้งกัน มากกว่าที่จะมองแค่เศรษฐกิจของครัวเรือนอย่างเดียว  การศึกษาเชิงชาติพันธุ์ของซิลว่า(2000) เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว ชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจเชิงศีลธรรมที่มีอิทธิพลต่อการซื้อเทคโนโลยีสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีนั้น
            บ้านในฐานะเป็นพื้นที่เฉพาะของชีวิตประจำวัน  ถึงแม้ว่าจะมีความซับซ้อนในเชิงแนวคิด แต่ก็พิสูจน์ว่าเป็นการเห็นถึงแนวที่หลากหลายของการตั้งคำถามต่อเรื่องการใช้สื่อ การจัดสรรสื่อ และการรับสื่อ และสิ่งเหล่านี้ก็ยังต้องค้นหาต่อไป  ในเรื่องดังกล่าว เราต้องระมัดระวังที่จะไม่ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับครอบครัว ครัวเรือนและบ้านกลายเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง ในหลายปีที่ผานมา ความตั้งใจมีให้กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ครัวเรือนและครอบครัว  และการใช้เทคโนโลยีสื่อสารในครัวเรือนซึ่งทำให้เกิดงานวิจัย เป็นการย้ำถึงตำแหน่งที่เราต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางสื่อทุกๆด้านมากกว่าจะถามเกี่ยวกับการใช้สื่อแบบแยกส่วน หรือมองไปที่การเมืองในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและการปฏิบัติทางเทคโนโลยีเฉพาะ   สิ่งที่เป็นหลักฐานจากการศึกษานี้คือ สื่อทุกอย่างเป็นตัวแทนของโลกชีวิตของเรา และสื่อบางอย่างอาจมีบทบาทในทางที่ต่างกัน ในเวลาที่ต่างกัน สื่อชนิดใหม่ไม่ได้แทนที่สื่อชนิดเก่า แต่จะมีที่ทางของมันเองในบ้านผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยของการบริโภคที่ซับซ้อนเช่นเดียวกับการมาบรรจบกันของเทคโนโลยีต่างๆ
            งานวิจัยบางเรื่องที่พูดถึงกระบวนการเกี่ยวกับการทำให้เทคโนโลยีสื่อสารเป็นเรื่องครัวเรือน และการเมืองเชิงเทคโนโลยีของชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปโดยมองไปที่การจัดสรรสื่อชนิดใหม่ที่เน้นย้ำการตรวจสอบเพศสภาพในแง่ที่ว่าผู้หญิงและผู้ชายทำอะไรกับเทคโนโลยี    มุมมองนี้ช่วยให้เรามองเห็นว่าเทคโนโลยีในครัวเรือนสามารถท้าทายความสัมพันธ์ทางเพศสภาพที่มีอยู่ก่อนได้อย่างไรโดยมองไปที่การแบ่งแรงงานในครัวเรือนเช่นเดียวกับเทคโนโลยีในครัวเรือนที่เหมาะกับเพศสภาพบางแบบ การเข้าถึงทรัพยากรของครัวเรือนโดยดูจากความเป็นเพศ และความแตกต่างทางเพศสภาพที่จะมีเวลาว่างจากงานประจำวันในครัวเรือน    อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนต้องการที่จะอธิบายว่ามุมมองนี้บอกให้เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับความเป็นหญิงและความเป็นชายที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้หญิงและผู้ชายในบริบทของการใช้เทคโนโลยีสื่อสารในชีวิตประจำวัน หรือละเลยที่จะทำความเข้าใจว่าอัตลักษณ์เพศสภาพนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ลอยๆหรือนำไปเทียบกับร่างกายตามธรรมชาติได้ง่ายๆ  นอกจากนั้น อาจโต้แย้งได้ว่าการศึกษาเหล่านี้ยังคงมองไปที่ครอบครัวเดี่ยวที่อาจมีลักษณะหลากหลายของการมีพ่อหรือแม่คนเดียวในบ้าน  ประเด็นก็คือ ไม่ใช่การตั้งคำถามต่อความถูกต้องของครัวเรือนและรูปแบบของครอบครัว แต่บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นภาพมืดบอดที่เกิดกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตรวจสอบและดูเหมือนจะยังเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับโดยทั่วไปหรือถูกเข้าใจแค่ความเป็นรักต่างเพศเท่านั้น  ในทางตรงกันข้าม สิ่งนี้อาจทำให้เราไม่เข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกัน ซึ่งถูกต่อรองและถูกสร้างแบบอ้อมๆผ่านการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร การสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและเพศสภาพควรจะพิจารณาในแนวทางที่ความสัมพันธ์นี้อาจเป็นเรื่องเซ็กส์ การตั้งคำถามไม่ใช่แค่เรื่องผลกระทบของเพศวิถีนอกกรอบที่โยงใยถึงเพศสภาพ แต่ควรรื้อสร้างอัตลักษณ์เพศสภาพของรักต่างเพศด้วย   เศรษฐกิจเชิงศีลธรรมในครัวเรือน ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะ ประสบการณ์ของชีวิตการงานและเวลาว่างของเราได้สร้างข่ายใย ซึ่งอัตลักษณ์เพศสภาพจะทำให้เกิดการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศ  เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ในวิถีทางที่มันเกี่ยวข้องในฐานะตัวบทและเทคโนโลยี ได้ทำให้เกิดวิธีการของการแสดงออก การเชื่อมโยง และการให้รายละเอียดอัตลักษณ์เหล่านี้และจะถูกทำให้มีตัวตนอีกในระหว่างที่เกิดกระบวนการเหล่านี้ ในแง่นี้ เราอาจไม่เพียงแต่จะถามว่าอะไรที่กลายเป็นคอมพิวเตอร์และการปฏิบัติเชิงคอมพิวเตอร์ที่ออนไลน์และออฟไลน์ ด้วยการมองไปที่แม่ ภรรยา ลูกๆ และคนอื่นๆ แต่ยังถามว่าครัวเรือน ครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวได้นำสิ่งที่เทคโนโลยีได้มอบไว้ให้ไปใช้ในการสร้างสำนึกของการปฏิบัติต่างๆได้อย่างไร และความเป็นไปได้และข้อจำกัดอะไรที่อาจเกิดขึ้นมา  เทคโนโลยีสื่อสารไม่ได้เป็นเพียงเครื่องบ่งชี้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่มีเพศสภาพเท่านั้น แต่มันสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจรักต่างเพศซึ่งในความเป็นวัตถุวิสัยและความเป็นตัวบทของมันจะกลายเป็นตัวบ่งชี้ของความแตกต่างทางเพศซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจการเมืองเชิงเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน
            การมองแบบชาติพันธุ์แนวเควียร์สามารถทำให้พรมแดนระหว่างสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มีความคลุมเคลือเพื่อที่จะศึกษาชีวิตประจำวัน เพศสภาพ และเพศวิถี ตัวอย่างเช่น การใช้ทฤษฎีของบัตเลอร์เรื่องการแสดงของเพศสภาพ (1990) และการตรวจสอบด้วยการตั้งคำถามเชิงประจักษ์ การทำให้สิ่งนี้เชื่อมโยงกันผ่านพรมแดนของสาขาวิชาต่างๆจะทำให้เราตั้งคำถามต่อสมมุติฐานที่ยืนยันในความต่อเนื่องระหว่างด้านที่เป็นเพศสรีระและการปฏิบัติเชิงเพศสภาพ โดยไม่มองวิธีคิดแบบสัมพัทธ์นิยมหลังโครงสร้างที่อยู่อีกด้านหนึ่ง  นอกจากนั้น การมองแบบชาติพันธุ์เควียร์ทำให้เราสามารถมองเห็นพื้นที่ ตำแหน่งแห่งที่ สภาพของชีวิต และรูปแบบของการอยู่ร่วมกันของคำถาม ถึงแม้ว่าศักยภาพของคุณค่าที่จะเข้าใจการปฏิบัติเชิงเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันยังคงห่างไกลจากความสนใจทางสังคมวิทยากระแสหลักก็ตาม

การศึกษาแบบองค์รวมต่อการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร

การศึกษาในหัวข้อไซเบอร์เควียร์ นีน่า เวคฟอร์ดให้ความสำคัญกับปัญหามากมายที่มีอยู่ในงานวิจัยในช่วงปัจจุบัน  ปัญหามีตั้งแต่ความลังเลที่จะข้ามพ้นไปจากกระบวนทัศน์กระแสหลักของทฤษฎีเควียร์ ซึ่งเพศวิถีกลายเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเชื้อชาติและเพศสภาพยังคงเป็นสิ่งคงที่ ไปจนถึงการเฉลิมฉลองของอัตลักษณ์แบบโพสต์มอเดิร์นซึ่งมีความลื่นไหลและเป็นการแสดง และขาดความสนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อคอมพิวเตอร์ถูกเปิดและถูกปิดลง  บทความนี้ต้องการเสนอแนะว่าเรื่องท้าทายที่มาจากการตั้งคำถามแบบไซเบอร์เควียร์เกิดมาจากงานศึกษากระแสหลักเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตและพื้นที่เสมือนจริง ความตึงเครียดและปัญหาบางอย่างซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่จะทำให้ประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์แยกจากกัน หรือการให้ความสำคัญกับการออนไลน์มากกว่าการออฟไลน์  มาเรีย บัคคาร์จีวา(2005) อธิบายเกี่ยวกับชุมชนเสมือนจริงว่าการศึกษาที่นำเอาประสบการณ์ออนไลน์ไปรวมกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้สื่อ รวมทั้งงานทางมานุษยวิทยาที่ศึกษาเชิงประจักษ์ยังมีไม่มากนัก  มาเรียอ้างถึงงานของเวลแมนและกูเลีย(1999) โดยกล่าวว่าการอธิบายในเรื่องนี้ถูกมองผ่านการแบ่งแยกขั้วระหว่างชุมชนเสมือนจริงกับชุมชนในชีวิตจริงแบบผิดเพี้ยน  การแยกขั้วแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น   นักวิชาการหลายคนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวิจัยอินเตอร์เน็ตในช่วงเวลาต่างๆซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990  ตัวอย่างเช่น แคที วอร์ด อธิบายให้เห็นว่าการถกเถียงในยุคแรกๆสนใจเรื่องความจริงที่ปรากฎอยู่ในการออนไลน์ ซึ่งมักจะมองแบบอุดมคติและมองโลกแง่ดี และมักจะมีความคิดว่าโลกทางกายภาพและโลกเสมือนจริงอยู่กันคนละด้านในความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้าม  เราสามารถพบความกระตือรือรนที่จะมีหวังแบบนี้เช่นเดียวกับการพัฒนาข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในงานวิจัยกระแสหลัก เช่นเดียวกับในงานของเฟมินิสต์และเควียร์     ลีช ลีฟโรว์ ชี้ว่า ในระดับวงเล็กๆ กรอบคิดแบบการผลิตสร้างทางสังคมและการศึกษาเชิงชาติพันธุ์ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมานั้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถกเถียงและความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับ “เรื่องภายใน” ของการใช้และการสร้างความหมายของสื่อชนิดใหม่   ลีชเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มีอิทธิพลมากต่อวัฒนธรรมศึกษาของอเมริกา และสื่อมวลชนศึกษาของอังกฤษ ซึ่งท้าทายการศึกษาแบบนักชี้วัดโดยนักวิชาการ เช่น จอห์น ไนส์บิต, อัลวิน ทอฟเลอร์ และโฮเวิร์ด ไรน์โกลด์   บทความนี้ต้องการเสนอแนะว่า ข้ามพ้นไปจากความพยายามที่จะให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องระหว่างประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์ซึ่งเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากการพิจารณาแบบสะท้อนตัวตนและความเข้าใจภายในเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการศึกษาเชิงชาติพันธุ์ต่อประเด็นการใช้อินเตอร์เน็ตและชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับการศึกษาของ จอร์แดน (1999) และมาร์คแฮม(1998) ซึ่งชี้ว่ายังมีแนวคิดอีกมากที่จะขยายขอบเขตเกี่ยวกับการวิจัยเชิงประจักษ์บนฐานของการทำงานภาคสนามแบบชาติพันธุ์
            การศึกษาเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศได้ค้นพบ “วัตถุแห่งรัก” ในสื่อชนิดใหม่และอินเตอร์เน็ตที่มีลักษณะเฉพาะ  อิทธิพลของทฤษฎีเควียร์ที่มีมายาวนานเกี่ยวกับการศึกษาตัวบท (Textualism)  สามารถสืบค้นไปในงานวิจัยเควียร์ที่ศึกษาพื้นที่และปฏิสัมพันธ์ของการออนไลน์  ในขณะที่มีการตีความเชิงวิพากษ์ของการศึกษาแนวนี้ สามารถช่วยให้เราเข้าใจว่าปฏิสัมพันธ์แบบไหนที่จะเกิดขึ้น และมันจะถูกจัดการและถูกแสดงออกอย่างไรบ้าง (เช่น เซ็กส์เสมือนจริง การหาคู่ออนไลน์ และสลับขั้วเพศสภาพ) การศึกษาในแนวนี้ทำให้เราคาดเดาเกี่ยวกับความหมายเชิงการเมืองและวัฒนธรรมของชีวิตประจำวันแบบเควียร์และแบบรักต่างเพศ  ทางที่ปูไว้ให้ในงานวิจัยกระแสหลักเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างตัวตนในชีวิตจริงของชีวิตในโลกเสมือนจริง เช่นเดียวกับการศึกษาชีวิตของเควียร์ในอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น สนใจเรื่องการย้ายสถานที่และย้ายความสัมพันธ์ ในวัฒนธรรมและชุมชนเกย์ “ในโลกความจริง” ไปสู่กิจกรรมออนไลน์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกันเช่นเดียวกับการแยกจากกัน  การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อศึกษาวัฒนธรรมเกย์ในญี่ปุ่น มาร์ค แม็คเลลแลนด์ พบว่าคำอธิบายในอินเตอร์เน็ต(ข้อมูลส่วนตัวในอินเตอร์เน็ต) สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซ็กส์ในชีวิตจริงได้อย่างรวดเร็ว  มาร์คชี้ให้เห็นอย่างวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนความเข้าใจของเขาที่มีต่ออินเตอร์เน็ต โดยกล่าวว่าจากข้อมูลเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันในญี่ปุ่นไปจนถึงพื้นที่สังคมในชุมชนเกย์ซึ่งบอกให้เรารู้เกี่ยวกับเซ็กส์ระหว่างชายกับชายซึ่งถูกต่อรองในการออนไลน์และบ่งบอกเป็นนัยว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวก็ได้  สิ่งสำคัญคือ มาร์คชี้ว่าเป็นความจริงที่เขาติดตามความสัมพันธ์ในโลกเสมือนโดยไปดูการพบเจอกันแบบตัวจริงซึ่งทำให้เขาตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการคาดหวังในโลกเสมือนจริงกับโลกความจริง    สิ่งที่ตามมาคือ การเผชิญหน้าในการออนไลน์กลายเป็นประสบการณ์เซ็กส์ในชีวิตจริง คู่ขาของมาร์คจะกลายเป็นผู้ให้ข้อมูลและความพยายามของมาร์คเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลในโลกเสมือนจริงเปลี่ยนเป็นการศึกษาชีวิตออนไลน์และออฟไลน์แบบองค์รวม    คริส เบอร์รีและฟราน มาร์ติน ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของไซเบอร์สเปซในกลุ่มเควียร์ไต้หวันและเกาหลี เป็นการศึกษาที่ดีสำหรับความต้องการที่จะย้ำเรื่องความเกี่ยวโยงกันระหว่างกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ ในบริบทของการวิจัยนี้ พวกเขาพบว่าชุมชนออนไลน์แบบไม่เป็นทางการไม่ใช่ถูกรวมอยู่กับกิจกรรมออฟไลน์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่มีการออนไลน์แบบใหม่ เช่นเดียวกับการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของเควียร์ ซึ่งมาพบเจอกันในเครือข่ายออนไลน์และออฟไลน์
            บทความนี้จะนำข้อสังเกตเหล่านี้มาพิจารณาโดยเสนอความคิดเห็นและข้อสังเกตหลายประการที่วางอยู่บนงานวิจัยซึ่งมีการอ้างการวิจัยทางชาติพันธุ์ของผู้เขียนบทความเอง ที่อธิบายเกี่ยวกับการกระทำทางเทคโนโลยีของครัวเรือนที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางในเมืองบริจตัน ประเทศอังกฤษ  ประการแรก  จะชี้ให้เห็นว่าความสำคัญของการศึกษาเพศวิถีแบบเควียร์เริ่มเกิดขึ้นในอินเตอร์เน็ตก่อนและเกี่ยวข้องกับกิจกรรมและประสบการณ์ต่างๆ  เราอาจมองไม่เห็นสื่อเทคโนโลยีแบบอื่น และการปฏิบัติทางสาธารณะและส่วนตัวในชีวิตประจำวันที่มีการสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพ  ดังที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีความจำเป็นที่จะชี้ให้เห็นถึงเพศสภาพและเพศวิถีที่อยู่ในงานวิจัยกระแสหลักที่ศึกษาเทคโนโลยีสื่อสารและชีวิตประจำวัน ตราบเท่าที่ยังมีความต้องการการศึกษาแบบเควียร์เพื่อที่จะเข้าใจความจริงที่เห็นเป็นประจำเกี่ยวกับชีวิตเกย์เลสเบี้ยน ซึ่งเฮลเพอรินเคยพูดถึงมาแล้ว  ในบริบทนี้ สถานที่และจุดเริ่มต้นอื่นๆที่เป็นไปได้สำหรับการตั้งคำถามเชิงวิจารณ์ต่อการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร เพศสภาพ และเพศวิถี สามารถหาได้ในพื้นที่ครัวเรือนและครอบครัว ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ยังไม่มีการวิจัย ไม่เหมือนกับเรื่องครัวเรือนของครอบครัวเดี่ยว  การเลือกศึกษาครัวเรือนที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางสำหรับผู้เขียนเอง พบว่าสถานที่ที่ผู้หญิงแสดงตัวตนว่าเป็นเลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล หรือรักต่างเพศเป็นพื้นที่ศูนย์กลางและจุดเริ่มต้นสำหรับการตั้งคำถามเชิงประจักษ์ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ซึ่งทำให้เรามองไปที่การศึกษาเรื่องราวชีวิตที่หลากหลายและรูปแบบของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเคยถูกทำให้ตกขอบหรือถูกทำเป็นสัญลักษณ์ตามธรรมเนียมของการศึกษาสื่อและสังคมวิทยา  พื้นที่ครัวเรือนนี้ทำให้เกิดการประเมินซ้ำถึงพฤติกรรมของกระบวนการทำให้เป็นเพศสภาพที่กำลังล่มสลาย โดยมองไปที่ร่างกายทางเพศที่อยู่ในฐานะผู้รบกวนความเป็นชายและหญิง เช่นเดียวกับคู่ตรงข้ามระหว่างรักต่างเพศและรักเพศเดียวกัน  การศึกษานี้ยังช่วยให้มองเห็นแบบองค์รวมและมีความเฉพาะเกี่ยวกับการกระทำทางเทคโนโลยีที่ถูกเชื่อมอยู่กับแรงงานในครัวเรือน การใช้เวลาว่าง และการทำงาน  นอกจากนั้น การมองดูบริบทนี้สามารถช่วยให้เรามองเห็นการปฏิบัติทางเพศสภาพในแง่ของบบรทัดฐานรักต่างเพศและการเผชิญหน้ากับเทคโนโลยี
            ประการที่สอง ยังคงมีความพร้อมในงานวิจัยไซเบอร์เควียร์ที่จะมองหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวตนของเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กช่วลและคนข้ามเพศ  จึงมีการใช้ “เควียร์” ในฐานะเป็นการอธิบายแบบสั้นๆเพื่อบ่งบอกถึงคนหลายกลุ่มซึ่งจะถูกมองว่าเป็นพวกนอกกรอบ สิ่งนี้อาจจะเถียงกันได้ อาจเป็นการสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างเควียร์กับรักต่างเพศโดยการชี้ให้เห็นความซับซ้อนและการท้าทายของการสร้างตำแหน่งแห่งตัวตนทุกๆแบบ เช่นเดียวกับการปล่อยให้ตัวตนตามกรอบไม่ถูกตรวจสอบ  การตัดสินใจมิใช่การจำกัดขอบเขตหรือตีตราครัวเรือนให้อยู่กับเลสเบี้ยนหรือเควียร์ที่แสดงตัวตนเป็นหญิง แต่เป็นการมองไปที่การแสดงออก การสร้าง และการเชื่อมโยงอัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพในช่วงเวลายาวนานและต่อเนื่องซึ่งจะทำให้เข้าใจธรรมชาติที่ไม่แน่นอนและความไม่คงที่ของตำแหน่งตัวตนใดๆก็ตาม ผู้หญิงบางคนได้ต่อรองและแก้ไขนิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองตลอดช่วงเวลาหลายปี
            ประการที่สาม อาจอธิบายได้ว่าเพศสภาพที่อยู่ภายใต้เพศวิถี หรือเพศแบบอื่นๆซึ่งถูกวิเคราะห์จะขัดขวางเราในการประเมินความตึงเครียดที่เกิดจากการทำงานที่มีเรื่องของการเกี่ยวโยงสิ่งต่างๆ  วิถีทางที่อัตลักษณ์ของเพศสภาพกลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นหญิงและความเป็นชายที่ตายตัวสามารถถูกสำรวจได้มากขึ้นเมื่อมันถูกมองในบริบทของอัตลักษณ์ทางเพศ  ตัวอย่างเช่น มีความแตกต่างทางอำนาจระหว่างการแสดงความเป็นหญิงแบบเลสเบี้ยน  ผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยน หรือความเป็นหญิงแบบรักต่างเพศ (ถึงแม้ว่า บางเวลามีการแสดงออกโดยผู้หญิงที่นิยามว่าตนเองเป็นเลสเบี้ยน หรือถูกปฏิเสธโดยผู้หญิงที่นิยามว่าตนเองเป็นรักต่างเพศ)  ผู้หญิงทุกแบบในการศึกษาของผู้เขียนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการแสดงตัวตนภายใต้กรอบความคิดเพศสภาพตามบรรทัดฐานของรักต่างเพศ  การเข้าแทรกแซงและการก้าวล่วงของผู้หญิง เช่นเดียวกับการพลาดพลั้งที่จะมองหาทางหลีกหนีหรือทำลายตัวแบบทางเพศและเพศสภาพ เป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญในระหว่างที่มีการสัมภาษณ์พวกเธอ  อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการสัมภาษณ์ในตัวมันเองทำให้ผู้หญิงมีความตระหนักและสะท้อนตัวตนมากขึ้นกว่าการที่พวกเธอใช้ชีวิตอยู่ในยามปกติในแต่ละวัน  ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่าข้อค้นพบของผู้เขียนมาจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการสนทนาแบบไม่เป็นทางการที่เปิดเผยให้เห็นการชักจูงของตำแห่งเพศสภาพตามจารีตแบบอ้อมๆ และเชิญให้ผู้หญิงรู้จักคิดเช่นเดียวกับการสร้างแบบไม่รู้ตัว
            การเมืองของชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือเรื่องบ้านและครัวเรือน เทคโนโลยีสื่อสารเป็นผู้เล่นสำคัญในการเชื่อมโยงและสร้างความคลุมเคลือให้กับพรมแดนเพศสภาพระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะ  แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเข้าถึงโลกเสมือนจริงยังต้องการแนวคิดที่จะทำความเข้าใจการบริโภคสื่อเทคโนโลยีในมิติองค์รวม  เมื่อพิจารณาถึงการใช้คอมพิวเตอร์ อีเมล์และอินเตอร์เน็ต ผู้หญิงในการศึกษาของผู้เขียนได้ท้าทายให้มีการสร้างพรมแดนของการใช้เวลาว่างและการทำงาน เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงอัตลักษณ์ของเพศสภาพในการเป็นผู้หญิง เป็นแม่ เป็นคนทำงาน และเป็นคู่ชีวิตของความสัมพันธ์ทางเพศ เข้ากับการปฏิบัติทางเทคโนโลยีของพวกเธอ ในบริบทนี้ การใช้สื่อแบบเก่าและเทคโนโลยีสื่อสาร เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และโทรศัพท์บ้านล้วนมีผลกระทบในทางที่พวกเธอถูกทำให้เป็นเพศสภาพและถูกมองว่ามีตำแหน่ง การทำให้เป็นปกติเช่นนี้ส่งผลต่อการปฏิบัติในชีวิตประจำวันในแง่ของการแสดงบุคลิกลักษณะตามพื้นที่และตามเวลาของพวกเธอ

เทคโนโลยีและอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศสภาพ

            แซง(2000) กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและเพศวิถีคือสิ่งที่อยู่ร่วมกัน  บทความนี้ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพ เพศวิถี ทฤษฎีเฟมินิสต์และเควียร์ เพื่อที่จะชี้แนะและสร้างแรงบันดาลใจถึงวิธีการและพื้นที่ของการตั้งคำถาม ซึ่งมองไปที่การศึกษาเทคโนโลยีสื่อสารชนิดใหม่  อาจกล่าวได้ว่า ถึงแม้เฟมินิสต์ และนักวิชาการกระแสหลักทั้งหลายจะตรวจสอบวิธีการซึ่งการใช้เทคโนโลยีสื่อสารและตัวบทในสื่อซึ่งถูกมองเป็นเรื่องเพศสภาพ แต่ไม่มีการเน้นย้ำถึงการตรวจสอบวิธีการที่อัตลักษณ์เพศสภาพจะเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ทางเพศ และบทบาทของเทคโนโลยีสื่อที่ปรากฎอยู่ในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์นี้เท่าใดนัก   การไม่สนใจนี้ทำให้มีการผลิตซ้ำของการวิเคราะห์แบบมิติเดียวต่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพและเทคโนโลยี   มันเป็นการกดทับการประเมินเกี่ยวกับความแตกต่างของการแสดงออกระหว่างความเป็นหญิงและชายแบบตายตัว ซึ่งเกิดขึ้นในการจัดเตรียมประสบการณ์ของความหลากหลาย และทำให้ประสบการณ์ของเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเปลี่ยนไป แต่ที่สุดแล้วมันบดบังความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้เรื่องตัวตนทางเพศและเพศสภาพซึ่งปรากฎขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี
            ทฤษฎีเควียร์ มีการสร้างกรณีศึกษาที่โน้มน้าวใจสำหรับการพูดถึงเพศวิถีในฐานะเป็นชุดความคิดในการวิเคราะห์ ซึ่งยังคงทุกข์ทรมานจากการมองไม่เห็นเพศสภาพ  จากแนวโน้มของการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับ “ไฮเปอร์” และจากความนิยมการมองเชิงตัวบทและนัยยะแฝงเร้นตามแนวการศึกษาทางสังคมวิทยา  ในบริบทนี้ อาจกล่าวได้ว่าการมองตามทฤษฎีและการปฏิบัติแบบเควียร์ที่ยังคงดำเนินต่อไปนั้น วิธีวิทยาและแนวคิดทฤษฎีจำนวนมากสามารถถูกสำรวจต่อไปได้  ประการแรก ถึงแม้ความเป็นประโยชน์ของเพศวิถีในฐานะหน่วยของการวิเคราะห์ จะไม่ถูกคาดคะเนมากเกินไป  มันไม่ควรจะถูกนำไปใช้แบบแยกต่างหาก และไม่ควรจะเป็นผลของการเลือกและการมองแต่เพศวิถีที่อยู่นอกกรอบ  แต่ยังต้องตั้งคำถามและตรวจสอบความเป็นรักต่างเพศอีกมากมาย  ผู้เขียนเชื่อว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแบบเควียร์ที่พยายามให้ความสนใจและการเข้าไปแทรกซึมอยู่ในการวิจัยกระแสหลัก หนทางหนึ่งที่จะเข้าไปสู่ความคิดนี้ คือการให้ข้อมูลและการทำให้ทฤษฎีของเพศสภาพขยายกว้างออกไป โดยการตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ  ภาระกิจนี้ไม่สามารถทิ้งไว้กับนักทฤษฎีเฟมินิสต์เพียงลำพังได้
            ประการที่สอง การศึกษาสื่อและเทคโนโลยีสื่อสารเป็นสิ่งทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพ ซึ่งกำลังเริ่มต้นที่จะสร้างตัวในการพุ่งไปที่เรื่องสภาพแวดล้อมและปฏิบัติการของการออนไลน์ เช่นเดียวกับการวิจัยที่เกิดขึ้นตามประเพณีอันยาวนานของการสำรวจตัวบททางวัฒนธรรม  ข้อถกเถียงในบริบทนี้ก็คือ ยังคงมีแนวคิดอีกมากในการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ ซึ่งเน้นย้ำและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการออนไลน์และออฟไลน์  ระหว่างการปฏิบัติและประสบการณ์ของสื่อชนิดเก่าและชนิดใหม่  การเน้นเรื่องการตีความตัวบทอาจบอกให้เรารู้บางส่วนเกี่ยวกับเรื่องราวโดยการละทิ้งสิ่งที่มุ่งไปสู่การสร้างตัวบทและสภาพการณ์เกี่ยวกับการใช้สื่อ   ในที่นี้จะแนะนำว่าการเปลี่ยนมุมมองเควียร์ให้เหมาะกับการตรวจสอบการปฏิบัติทางเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นส่วนของชีวิตประจำวัน     ดังนั้นการเมือง ปฏิบัติการและอัตลักษณ์ของเควียร์ต้องได้รับการกล่าวถึงในฐานะเป็นตัวแทนที่สร้างขึ้นโดยวัฒนธรรมของชีวิตประจำวัน  มากกว่าจะถูกทำให้เป็นตัวตนหรือรูปแบบของความเป็นบุคคลและการขับเคลื่อนทางการเมือง  ในบริบทนี้ ต้องการชี้ให้เห็นว่าเราสามารถขยายความเข้าใจและการค้นพบเกี่ยวกับการปฏิบัติเชิงเทคโนโลยีแบบเควียร์โดยการนำวิธีเชิงชาติพันธุ์ไปศึกษาครัวเรือนและสภาพแวดล้อมการทำงาน  พื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะเพื่อที่จะสร้างคำอธิบายที่เกี่ยวกับการสร้างความหมายทางเพศและเพศสภาพในชีวิตประจำวัน   เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว เราไม่ได้แค่เรียนรู้เกี่ยวกับการทำให้เทคโนโลยีชนิดใหม่มีความเป็นเพศ  และเพศนอกกรอบของไซเบอร์สเปซ เท่านั้น แต่ยังเป็นการเริ่มที่จะตั้งคำถามต่อการปฏิบัติของผู้คนที่ใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีด้วย  เราสามารถพิสูจน์ความหมายและการเป็นตัวบทเชิงสัญลักษณ์ เช่นเดียวกับความสามารถที่จะสร้างและท้าทายความหมายของบรรทัดฐานรักต่างเพศ    ตัวอย่างเช่น เราอาจใช้เชือกที่หรูหราเพื่อที่จะทำให้โทรทัศน์เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีเควียร์ และเปลี่ยนการไหล่บ่าของอำนาจที่มีอยู่ครัวเรือนผสมผสานระหว่างรักต่างเพศและเควียร์ หรือเราสามารถจัดวางโทรทัศน์ให้เป็นศูนย์กลางของห้องนั่งเล่นที่จัดขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “ความเป็นปกติ” เช่นเดียวกับกรณีแม่ที่เป็นเลสเบี้ยนที่ไม่มีคู่  เทคโนโลยีเก่าและใหม่จะถูกควบคุมและเป็นสิ่งที่ควบคุมอัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพของเรา  ประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์ และการต่อรองเป็นสัญญาณของการดำเนินไปเรื่อยๆเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลง มากกว่าจะเป็นแค่รอยแยกในวัฒนธรรมและการปฏิบัติทางเทคโนโลยีของชีวิตประจำวันของเรา

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก Irmi Karl. On/Offline: Gender, Sexuality, and the Techno-Politics of Everyday Life. In O'Riodan & Phillips. (eds.). Queer Online. New York, Peter Lang Publishing. 2007. pp.45-64.

ไม่มีความคิดเห็น: